กสม.จี้สางปมเขื่อนบ้านกุ่มก่อนซ้ำรอยเขาพระวิหาร หารือ กษิตยกแม่น้ำโขงสู่เวทีอาเซียน

กสม.จี้รัฐสางปมสร้างเขื่อนบ้านกุ่มจะเดินต่อหรือยกเลิก จี้ตรวจสอบเอ็มโอยูสมัยรัฐบาลชุดก่อนหวั่นซ้ำรอย"เขาพระวิหาร" เผยหารือ "กษิต" แล้ว หยิบยกแม่น้ำโขง-สาละวินสู่เวทีอาเซียนทำแผนเศรษฐกิจ-สังคม-วัฒนธรรมร่วมกัน

เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่โรงแรมลายทอง จ.อุบลราชธานี มีการจัดเวทีสาธารณะเรื่อง "การพัฒนาแม่น้ำโขงและการประเมินผลกระทบทางสุขภาพข้ามแดน" โดย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) กล่าวเปิดเวทีว่า คนอีสานเคยเจ็บช้ำน้ำใจมาแล้วกรณีสร้างเขื่อนปากมูลและราษีไศล หรือแม้กระทั่งกรณีของยายไฮ ขันจันทรา ที่เคยคัดค้านการสร้างเขื่อนมาเมื่อ 30 ปีก่อน แต่จนวันนี้พึ่งได้ค่าชดเชยจนแทบไม่ได้ใช้เงิน ดังนั้น ต่อไปการทำโครงการอะไร โดยเฉพาะในลุ่มน้ำโขง ควรประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของชุมชน


นพ.นิรันดร์กล่าวว่า การพัฒนาแม่น้ำโขงนั้น ชุมชนและองค์กรท้องถิ่นต้องคิดถึงการใช้อำนาจที่เป็นธรรม อย่าให้รัฐแปรเปลี่ยนแม่น้ำโขงเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรหรือแหล่งพลังงานเพราะทุกเขื่อนต่างส่งผลกระทบต่อชุมชนทั้งสิ้น อย่างกรณีโครงการสร้างเขื่อนบ้านกุ่มกั้นแม่น้ำโขงช่วง จ.อุบลราชธานี มูลค่าแสนล้านบาทที่เป็นเงินกู้ ซึ่งเป็นพยายามจับมือกันระหว่างกลุ่มธุรกิจการเมืองและภาครัฐ ดังนั้น ต้องทำให้เกิดความสมดุลกับชุมชน เพราะเขื่อนไม่ได้ช่วยอะไร และในรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจรัฐปู้ยี้ปู้ยำหรือทำอะไรก็ได้ แต่ต้องให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจ โดยการพัฒนาแม่น้ำโขงต้องอยู่บนฐานการพัฒนาของชุมชนที่แท้จริง และต้องทบทวนว่าการพัฒนานี้ผลประโยชน์ตกอยู่กับรัฐและนายทุน หรือตกอยู่ที่ประชาชนกันแน่


นพ.นิรันดร์กล่าวว่า การดำเนินโครงการใดๆ ต้องประเมินด้านผลกระทบด้านสิทธิสุขภาพและชีวิตของชุมชนซึ่งใหญ่กว่าการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยกลไกรัฐต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่ผ่านมาทั้งรัฐและนายทุนพยายามบิดเบือนการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยอ้างว่าทำประชาคมแล้ว แต่กลับทำให้ชุมชนแตกแยก อย่างกรณีโครงการสร้างเขื่อนบ้านกุ่มก็มีกำนันคนหนึ่งพยายามลงไปในพื้นที่แล้วเอาผลประโยชน์ไปล่อชาวบ้านโดยเฉพาะเรื่องของราคาที่ดิน จนทำให้เกิดความแตกแยก


"เรื่องโครงการเขื่อนบ้านกุ่มรัฐบาลชุดนี้ต้องประกาศให้ชัดเจนว่าจะเอาอย่างไร และเอ็มโอยูที่ลงนามไว้ตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อนถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้องก็ต้องยกเลิก แต่หากเป็นความผูกพันแล้วจะทำอย่างไร หรือมีใครบ้างที่ทำผิดก็ต้องถูกลงโทษ อย่าปล่อยให้เป็นเหมือนกรณีเขาพระวิหาร" นพ.นิรันดร์กล่าว


กรรมการ กสม.กล่าวว่า เคยหารือกับนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึงกรณีการพัฒนาแม่น้ำโขงเพราะไม่อยากให้มองแค่เรื่องสร้างเขื่อนหรือไม่สร้างเขื่อน แต่ควรมีแผนรวมทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมร่วมกัน เพราะแม่น้ำโขงไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่ยังมีจีน ลาว พม่า กัมพูชาและเวียดนาม เช่นเดียวกับกรณีของแม่น้ำสาละวิน ควรมีการหยิบยกเข้าไปหารือในอาเซียนเพื่อสร้างกลไกร่วมกัน


ด้านนายอนุชา เพียรชนะ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวว่า ทุกเขื่อนต่างมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมหมดโดยให้มหาวิทยาลัยท้องถิ่นเข้าไปดำเนินการ แต่ปัญหาคือในภาคอีสานมีอาจารย์อยู่เพียงคนเดียวในมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มีใบอนุญาตทำอีไอเอ หากมีการสร้างเขื่อนบ้านกุ่มจะทำให้น้ำท่วมกว่า 100 เมตร ทำให้เกิดผลกระทบมากมาย แม้จะได้ไฟฟ้า แต่ผลกระทบที่ตามมาคือมีตะกอนเกิดขึ้นมากมายและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ รวมทั้งผลกระทบต่อวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวบ้าน แม้กระทั่งภาพเขียนเก่าแก่ที่มีอยู่มากมาย เช่น ผาแต้ม ก็อาจร่อนออก


นายแสง ภูไซ ผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและชุมชน และปัญญาชน สปป.ลาว กล่าวว่า ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ริมแม่น้ำโขง ซึ่งสมัยก่อนคนทั้ง 2 ฝั่งต่างไปมาหาสู่กันและเป็นความผูกพัน แต่ภายหลังรัฐบาลมีนโยบายใหม่เปิดประเทศมากขึ้น ทำให้สถานการณ์แม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไป และในช่วง 10 ที่ผ่านมาเริ่มมีโครงการสร้างเขื่อนโดยตอนแรกประชาชนก็ไม่เข้าใจว่าเขื่อนเป็นอย่างไร ยิ่งบอกว่าเป็นเขื่อนไฟฟ้าก็ยิ่งไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร


"ข้าพเจ้าเชื่อในภูมิปัญญาชาวบ้าน เมื่อมีนกนางนวลบินมา คนเฒ่าคนแก่จะรู้ว่าเดี๋ยวจะมีปลาชนิดไหนตามมา เรามีประเพณีขอบคุณสายน้ำ เอาไก่เอาเหล้าไปไหว้ผี สิ่งเหล่านี้เป็นวิถีชีวิตที่สวยสดงดงามของชุมชนแถวนี้ แต่เมื่อการพัฒนาเข้ามา ทำให้คนมีความต้องการสูง มีการสร้างเขื่อน ทำให้เกิดผลกระทบด้านลบ"  นายแสงกล่าว และว่า หากมีการสร้างเขื่อนในลาวกว่า 10 แห่งกั้นแม่น้ำโขง ย่อมทำให้ปลาลดลง


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์