สล้างโต้ป.ป.ช.เปิดผลวิจัยตร. ซัดให้ดูตัวเอง คดีหมดอายุอื้อ ปชป.ลั่นควรให้เกียรตินายกฯ เลือกผบ.ตร.


"สล้าง"โต้ป.ป.ช.เปิดผลวิจัย สงสัยทำทำไม ซัดกลับให้ดูตัวเองคดีค้างจนหมดอายุความเพียบ ปชป.ลั่นควรให้เกียรตินายกฯ ตัดสินใจเลือก ผบ.ตร.คนเดียว ถ้าเลือกไม่ทัน ก็ไม่แปลก

นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเมื่อวันที่ 26 กันยายน ถึงการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนใหม่ว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจในการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ถ้าพ้นวันที่ 30 กันยายนไปแล้ว ยังไม่สามารถตั้งผบ.ตร.ตัวจริงได้ ต้องมีการแต่งตั้งรักษาการผบ.ตร.มาทำหน้าที่แทนตามกฏหมาย ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะในอดีตก็เคยมีการแต่งตั้งในลักษณะนี้มาแล้ว คือ ตั้งพล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ รองผบ.ตร.ทำหน้าที่รักษาการผบ.ตร.นานถึง 7 เดือน ส่วนการที่นายกฯ จะตั้งบุคคลใดขึ้นมาทำหน้าที่รักษาการผบ.ตร.ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ คนที่ไม่เกี่ยวข้องไม่ควรแสดงความเห็นหรือเคลื่อนไหวในลักษณะปล่อยข่าวลือ


นายเทพไท กล่าวถึงกรณีที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทวิตข้อความกล่าวหาตำรวจยุคนี้ต้องซื้อตำแหน่งส่งส่วยว่า ตำรวจและรัฐบาลยุคนี้ ไม่มีการซื้อขายตำแหน่งและส่งส่วยโดยเด็ดขาด แต่รัฐบาลนี้ตั้งกรรมการสอบสวนการซื้อขายตำแหน่งและการส่งส่วยให้นาย ที่เป็นมาตั้งแต่ยุครัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ต้องการสถาปนารัฐตำรวจให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ถือเป็นยุคที่วงการตำรวจตกต่ำมากที่สุดมากกว่ายุคใด


นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องการแต่งตั้งผบ.ตร.คนใหม่ควรให้เกียรตินายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว ส่วนกระแสข่าวเรื่องพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจนั้น คิดว่าใครที่เป็นคนปล่อยข่าวเรื่องนี้ ควรออกมารับผิดชอบ อย่าพูดแค่ให้เป็นข่าว


นายเฉลิมชัย กล่าววถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง มาตรการป้องกันและปรับปรุงกระบวนการใช้อำนาจเกินขอบเขต กรณีเจ้าหนักงานตำรวจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบว่า ผลการวิจัยดังกล่าวต้องให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการตำรวจ โดยเฉพาะการที่ระบุว่า นายตำรวจรุ่นใหม่มักไม่สนใจความซื่อสัตย์และมักจะนิยมนายใจถึงพึ่งได้  ซึ่งมองว่าเป็นธรรมดาของข้าราชการ เพราะอย่างไรก็ตามการปฏิบัติหน้าที่ก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายอยู่แล้ว เช่นเดียวกับทหารในยุคหนึ่งที่มักจะยึดคำว่า "ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน"


"ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร จะหยิบยกผลวิจัยดังกล่าวขึ้นมาหารือในการประชุม กมธ.การตำรวจฯ เพื่อหาจุดอ่อนของปัญหา และช่วยกันคิดหาแนวทางแก้ไขเสนอต่อฝ่ายบริหารต่อไป" นายเฉลิมชัย กล่าวและว่า ส่วนที่ระบุว่านักการเมืองคือหนึ่งในกลุ่มอิทธิพลเข้าไปก้าวก่ายการโยกย้ายข้าราชการนั้น ตนมองว่า เป็นธรรมดาของสังคมไทย หากวิถีทางใดที่ทำให้ตนเองได้เจริญก้าวหน้าก็ต้องยอมทำ ดังนั้น จึงเห็นภาพผู้ไม่มีอำนาจมักจะเข้าหาผู้มีอำนาจ


พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ(รองอ.ตร.) กล่าวว่า ยังไม่อ่านงานวิจัยที่ป.ป.ช.นำมาเปิดเผย  จึงไม่อยากวิจารณ์ แต่สงสัยว่า การลงทุนใช้งบประมาณรัฐ เพื่อนำเสนองานวิจัยนี้ ในห้วงที่ตำรวจเพิ่งได้รับความไม่เป็นธรรมจากป.ป.ช. มีความไม่เข้าใจกันและเกิดความขัดแย้งกันอยู่ ทำเพื่อเหตุผลใดกันแน่ การนำผลการศึกษาที่เสนอด้านลบของตำรวจออกมาช่วงนี้ เป็นการติเพื่อก่อหรือไม่ หรือเพื่อเหตุผลอะไรกัน 


"ทำไมป.ป.ช.ไม่ดูตัวเองบ้าง ตัวเองดีแล้วหรือ ทำงานโดยยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ อีกทั้งสำนวนคดีให้ความรับผิดชอบก็ค้างอยู่มาก  มากกว่าตำรวจเสียอีก สำหรับคดีค้างจนหมดอายุความ ก็เกิดคำถามว่านั่นหมายถึงการล้มคดีหรือไม่ ซึ่งเสียหายมาก"พล.ต.อ.สล้าง กล่าวและว่า ตำรวจมีกรรม เพราะทำงานสัมผัสประชาชนโดยตรง จึงต้องมีจุดที่เกิดความไม่พอใจ  ทั้งนี้ ผลการประเมินของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ที่ผ่านมาก็ออกมาว่าตำรวจทำงานดี ซึ่งขัดแย้งกับงานผลวิจัยของป.ป.ช.ที่ออกมา


ด้านพล.ต.อ.วิสุทธิ์ กิตติวัฒน์ อดีตรองผบ.ตร. ในฐานะนายกสมาคมตำรวจ กล่าวว่า ได้อ่านงานวิจัยแล้วพบว่าเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ นำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่ผู้วิจัยก็ออกตัวว่าเป็นตำรวจส่วนหนึ่ง ซึ่งมองว่า หากตำรวจส่วนรวมมีพฤติกรรมแบบผลงานวิจัยที่ออกมาประชาชนคงเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า และกระบวนการยุติธรรมไทยคงล้มครืน แต่หลายคนก็เข้าใจข้อจำกัดหลายๆอย่างของตำรวจอย่างดี เช่น เงินน้อย ฯลฯ โดยต่างก็มองว่ามีข้อจำกัดที่นำมาสู่ปัญหา


"การออกมาตอกย้ำซ้ำเติมประเด็นนี้ในห้วงเวลาที่ตำรวจส่วนใหญ่กำลังไม่พอใจการตัดสินของ ป.ป.ช.  กำลังมีความขัดแย้งกันนั้น มีวัตถุประสงค์แท้จริงอย่างไรกันแน่ ต้องการออกมาตอบโต้ตำรวจให้ตำรวจดูไม่ดีใช่หรือไม่ มีเจตนาต้องการดิสเครดิตตำรวจหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่เป็นธรรมกับตำรวจส่วนใหญ่ที่ต้องถูกมองด้วยภาพที่ไม่ดี" พล.ต.อ.วิสุทธิ์ กล่าวและว่า คนที่อ่านงานวิจัยนี้ต้องอ่านดีๆว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับตำรวจส่วนหนึ่งเท่านั้น


พล.ต.อ.วิสุทธิ์ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ที่ผู้บริหาร ตร.ต้องรับทราบปัญหาและรับไปแก้ไข และต้องพิจารณาว่าเพราะเหตุใดตำรวจเป็นขนาดนี้ เพราะอะไรทำไมสังคมมองตำรวจขนาดนี้  ซึ่งตนอยากมองว่าให้มองว่าตำรวจก็เป็นส่วนหนึ่งในสังคม คนไทยเป็นอย่างไรตำรวจไทยก็เป็นอย่างนั้น ดังนั้นอย่าเพ่งเล็งและมองตำรวจแยกออกมา ตำรวจก็อยู่ในสังคมนี้ สิ่งแวดล้อมแบบไทยๆ วัฒนธรรมแบบไทยๆนี่แหละ เป็นตำรวจในประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นในระดับสูง


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์