ผลวิจัยป.ป.ช.ยำเละ พฤติกรรมตร. ซ้อมผู้ต้องหา-เป่าคดี-เรียกเงิน ลูกน้องชอบนายใจถึง ไม่ต้องเถรตรง


เปิดผลวิจัย"ป.ป.ช."ยำตำรวจเละ ซ้อมผู้ต้องหา เป่าคดี เรียกเก็บเงินแลกตั้งตู้แดง ซูเอี๋ยบริษัทรถยกชักเปอร์เซ็นต์ ชี้ค่านิยม ตร.จบใหม่เลือกตำแหน่งผลประโยชน์-ตามนาย-หาอาชีพเสริม ชอบผู้บังคับบัญชา"ใจถึง-พึ่งได้" ไม่เน้นตรงไปตรงมา ซื้อสัตย์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 25 กันยายน ที่โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดบรรยายและนำเสนอร่างผลวิจัยเรื่อง "มาตรการป้องกันเพื่อปรับปรุงกระบวนการใช้อำนาจเกินขอบเขต กรณีเจ้าพนักงานตำรวจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ" เป็นการสำรวจวิจัยเชิงคุณภาพจากการเตรียมโครงร่าง 1 ปี และใช้เวลา 6 เดือน ลงพื้นที่สัมภาษณ์ประสบการณ์ทรรศนะและความเห็นตำรวจทั่วประเทศ มีเนื้อหาร่างวิจัยที่น่าสนใจตอนหนึ่งระบุว่า ตำรวจเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมในฐานะเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายอาญาทุกฉบับ มีอำนาจหน้าที่ครอบคลุมกว้างขวาง ซึ่งอำนาจที่กว้างขวางทำให้การทำงานตำรวจต้องสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับประชาชน การปฏิบัติจึงมีโอกาสกระทบต่อสิทธิเสรีภาพประชาชนได้ง่าย รวมทั้งมีช่องทางในการทุจริตได้ง่ายเช่นกัน เช่น รับสิ่งตอบแทนที่มีมูลค่าสำหรับกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ข่มขู่เรียกเงินจากอาชญากร รวมถึงพฤติกรรมซูฮกนักการเมือง


พ.ต.ท.เกษมศานต์ โชติชาครพันธ์ รักษาการรองคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ผู้ทำวิจัย บรรยายว่า เป็นเพียงผลวิจัยพฤติกรรมของตำรวจบางส่วนเท่านั้นซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่ารูปแบบการประพฤติมิชอบของตำรวจ ประกอบด้วย 1.การใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขต เช่น ซ้อม ทรมาน เพื่อให้ผู้ต้องหารับสารภาพ 2.การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยเฉพาะไม่รับคำร้องทุกข์ หรือเป่าคดี เมื่อมีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์ ซึ่งสาเหตุมาจากปริมาณคดีมาก ไม่สมดุลกับพนักงานสอบสวน การกำหนดยอดคดีในแต่ละปี ทำให้กดตัวเลขคดีไม่ให้เกินเป้าหมายที่กำหนด และความยุ่งยากในการทำสำนวน รวมถึงกรณีที่ตำรวจใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้บุคคลอื่น เช่น การเรียกรถยก กรณีเกิดอุบัติเหตุเพื่อรับเปอร์เซ็นต์จากบริษัทรถยก ซึ่งจะเรียกเก็บเงินค่ายกรถจากเจ้าของรถในราคาสูง


พ.ต.ท.เกษมศานต์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมที่ยังคลุมเครือว่าเป็นการทุจริตหรือไม่ เช่น การรับสินน้ำใจจากร้านค้า การรับเงินจากห้างสรรพสินค้าใหญ่ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจร และการเก็บเงินค่าตู้แดงในจุดเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมเป็นรายเดือน ซึ่งตำรวจส่วนใหญ่มองว่าไม่ใช่การทุจริตคอร์รัปชั่น


พ.ต.ท.เกษมศานต์ กล่าวว่า ปัจจัยที่เอื้อให้เกิดพฤติกรรมการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจากการที่ตำรวจได้รับเงินเดือนน้อย หากเทียบกับหน่วยงานด้านกระบวนยุติธรรมในระดับเดียวกัน การสมยอมระหว่างตำรวจกับผู้กระทำผิดในลักษณะที่เรียกว่าเมื่อมีการเสนอจึงมีการสนอง


"นอกจากนี้ ยังพบว่าบุคคลที่มีอิทธิพลต่อการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจมี 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มพ่อค้าที่มีความสนิทกับตำรวจระดับสูง 2.นักการเมือง 3.เจ้านายเก่า ขณะที่ค่านิยมของตำรวจจบใหม่มี 3 อย่างคือ 1.ขอไปอยู่ตำแหน่งที่สามารถหาผลประโยชน์ได้มาก 2.ขอไปติดตามนาย เพราะก้าวหน้าเร็วกว่า 3.ประกอบอาชีพอื่นควบคู่ไปกับอาชีพตำรวจ ถือเป็นค่านิยมที่น่าตกใจมาก ทำให้น่ากังวลว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะขาดตำรวจมืออาชีพในอนาคต" พ.ต.ท.เกษมศานต์ กล่าวและว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ วัฒนธรรมของตำรวจ จากการทำวิจัยสอบถามความเห็นของตำรวจพบว่าผู้บังคับบัญชาที่ดีในสายตาตำรวจ ไม่ใช่คนที่ทำงานตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์ แต่ต้องเป็นคนที่ใจถึง พึ่งได้ นับเป็นเรื่องน่ากังวลใจมาก


ด้าน พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ กล่าวว่า ตำรวจไม่ว่าสมัยใดก็ใช้อำนาจเกินขอบเขตหน้าที่ ไม่เว้นแม้กระทั่งต่างประเทศ เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ทั้งนี้ การใช้อำนาจเกินขอบเขตของตำรวจที่เกิดขึ้นไม่อยากให้เรียกว่า เป็นวัฒนธรรมองค์กร แต่อยากเรียกว่าอัปรีย์ธรรม เกิดจากความอัปรีย์กับจริยธรรม ยอมรับว่าที่ผ่านมาโครงการอบรมจริยธรรมของตำรวจล้มเหลว เพราะดูจากการกระทำของตำรวจไม่ดีขึ้น ส่วนการเรียนการสอนในโรงเรียนตำรวจนั้น อยากตั้งข้อสังเกตว่ามีหลักสูตรเกี่ยวกับศีลธรรมหรือด้านศาสนาหรือไม่ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ ควบคุมการใช้อำนาจตนเอง ไม่ให้เป็นไปโดยมิชอบ


ด้านนายสุทิน นพเกตุ ประธานกรรมการสถาบันพิทักษ์และพัฒนาสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาต้องทบทวนระบบความไม่เท่าเทียม โดยยกเครื่องกระบวนการศึกษา ยกเครื่องการพัฒนาบุคลากร ให้มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพิ่มขึ้น รวมถึงปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ให้เกิดความชอบธรรมทุกกระบวนการ โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมีส่วนร่วม 


"นอกจากนี้ ตำรวจยังถูกการเมืองพันธนาการ ดังนั้น ตำรวจต้องลุกขึ้นสู้ อย่าทำตัวเหมือนไก่ในเข่ง ผลวิจัยที่ออกมายังไม่เพียงพอ เพราะยังมีปัญหาการเมืองเข้าไปครอบ เหยียบตำรวจให้หล่นไปทีละคน โดยเฉพาะการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่ชัดเจนว่าการเมืองเข้ามาแทรกแซง สังคมวันนี้บอบช้ำ ถูกย่ำยี เพราะตำรวจอ่อนแอ" นายสุทิน กล่าวและว่า ขณะที่เราพูดถึงตำรวจทำการละเมิด แต่ขณะเดียวกันตำรวจถูกละเมิดจากการเมือง หากตำรวจไม่ปรับปรุงตัวเองจะถูกละเมิดต่อไป คนเป็นนายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้าย ทำไม ผบ.ตร.จึงเลือกกันไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของการช่วงชิงอำนาจ โดยใช้ฐานของตำแหน่งของ ผบ.ตร.


นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ที่ฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ตำรวจต่างกลัวเจ้าหน้าที่ จนต้องมีการนำพยานไปหลบซ่อน หรือฟ้องร้องนอกพื้นที่ เพื่อความปลอดภัย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของตำรวจว่า ควรหยุดการทำงานละเมิดสิทธิมนุษยชน และเห็นด้วยกับการรื้อระบบการสอบเข้าควรเปลี่ยนน้ำหนักจากที่วัดเอาแต่ความรู้ ให้มีการวัดเรื่องอารมณ์ด้วย เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีคุณภาพมากขึ้น


ด้านนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวว่า ประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้อำนาจของตำรวจ สมัยเป็นผู้พิพากษา จ.แพร่ ได้ขี่จักรยานกับเพื่อนไปเจอตำรวจกำลังซ้อมผู้ต้องหา ใช้เท้ากระทืบ จึงเข้าไปถามว่า ทำไมต้องทำรุนแรงขนาดนั้น แต่โดนสวนกลับว่ามายุ่งอะไร เสือกอะไร ให้ถอยไป เพื่อนตนที่มาด้วยทนไม่ไหว จึงชักบัตรผู้พิพากษาให้ดู ตำรวจตกใจรีบขอโทษ แล้วอ้างว่าเดี๋ยวมันไม่เข็ด ต้องสั่งสอนเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม บางครั้งก็รู้สึกเห็นใจตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะทราบมาว่าคอมพิวเตอร์ที่ตำรวจนำมาใช้ก็ต้องซื้อเอง บางครั้งโต๊ะ เก้าอี้ ก็ยังซื้อเองด้วย ทั้งที่ได้เงินเดือนนิดเดียว ตำรวจไทยจึงน่าสงสารที่สุดในโลก ทำให้เกิดการรับสินบน


นายวิชา ให้สัมภาษณ์ถึงผลวิจัยว่า มีเรื่องส่งมายัง ป.ป.ช.เกี่ยวกับตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจำนวนมาก พบว่าส่วนหนึ่งไม่ใช่เรื่องทุจริตโดยตรง แต่เป็นเรื่องประพฤติมิชอบผิดจริยธรรม ไม่รับแจ้งความ ใช้กำลังรุนแรงเกินขอบเขต ส่วนหนึ่งมาจากวัฒนธรรมองค์กรตำรวจเอง และการหล่อหลอม เป็นกลไกทั้งระบบในการทำงาน ส่วนข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.คือ ต้องแก้ตั้งแต่การเล่าเรียน เช่น อย่าเรียนแบบทหารดีหรือไม่ ไม่มียศดีหรือไม่ มีหลายส่วนที่จะต้องนำมาวิเคราะห์อีกครั้ง รวมทั้งการให้เกียรติศักดิ์ศรีตำรวจสูงขึ้น เนื่องจากพบว่าเงินเดือนตำรวจต่ำสุดในหมู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งที่เป็นไปไม่ได้เพราะตำรวจต้องรับผิดชอบจับกุมที่เกี่ยวข้องกับเงินทองมหาศาล เช่น จับกุมผู้ค้ายาเสพติด 10 กว่าล้านบาท แต่ตำรวจมีเงินเดือนแค่หมื่นกว่าบาท แล้วจะทนทานต่ออำนาจเงินได้หรือไม่


"จากผลวิจัยชิ้นนี้เป็นความมุ่งหวังของเราที่ไม่อยากเห็นตำรวจถูกคดี ต้องชอกช้ำใจ ชาวบ้านไม่เข้าใจ ดังนั้น เพื่อความสบายใจด้วยกันทุกฝ่าย เราต้องแก้ไขต้องแก้ได้ ด้วยการออกมาตรการป้องกัน อีกทั้ง ป.ป.ช.มีหน้าที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และสภา หากจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายระเบียบข้อบังคับก็ทำได้" นายวิชา กล่าว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์