ชาวบ้านแฉถูกยัดเยียดถังปุ๋ยหมักผลิตก๊าซ-ตู้เย็นโครงการพอเพียง ไม่อยากได้ถูกคะยั้นคะยอ เลยทิ้งไร้ค่า


พบ10ชุมชนกทม.ในโครงการพอเพียงโดนยัดเยียดถังปุ๋ยหมักผลิตก๊าซ-ตู้เย็น ชาวบ้านไม่ได้ร่วมคิดปล่อยทิ้งอย่างไร้ค่า ผู้นำท้องถิ่นยันไม่อยากได้แต่ถูกคะยั้นคะยอ เคยใช้ก๊าซออกน้อย ตู้เย็นใหญ่เกินความจำเป็น

ทีมข่าว "มติชน" ยังคงเดินหน้าตรวจสอบโครงการทุจริตการจัดซื้อสินค้าโครงการชุมชนพอเพียงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการตรวจสอบสินค้าชนิดอื่นๆ นอกเหนือจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญพลังงานแสงอาทิตย์ เสาไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ปุ๋ยอินทรีย์ รถนวดสีข้าว แล้ว ล่าสุดตรวจสอบโครงการเครื่องผลิตปุ๋ยหมักและก๊าซชีวภาพ และตู้เย็นชุมชนในชุมชนประมาณ 10 แห่ง ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) อาทิ ดินแดง ห้วยขวาง และบางกะปิ ปรากฏพฤติกรรมไม่ชอบมาพากลของนักการเมืองท้องถิ่น ตัวแทนบริษัทขายสินค้าเข้ามาจัดการทุกอย่างผ่านผู้นำชุมชน ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการทำประชาคมอย่างถูกต้อง เมื่อคนในชุมชนส่วนใหญ่ไม่มีส่วนร่วม จึงทำให้สินค้าดังกล่าวถูกตั้งทิ้งไว้สูญเปล่า


นายฉลาด เพชรี ประธานชุมชนคลองจั่น แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ ซึ่งได้โครงการเครื่องผลิตปุ๋ยฯ กล่าวว่า นายพงษ์ศักดิ์ วุฒิวัย สมาชิกสภาเขต (ส.ข.) บางกะปิมาเสนอสินค้าให้ อ้างว่าสินค้าได้ฟรี เห็นว่าเมื่อเป็นของฟรี และชุมชนน่าจะได้ประโยชน์ ก็เลือกสินค้า 2 ชิ้น คือ ตู้น้ำดื่ม และเครื่องผลิตปุ๋ยฯ ราคาเครื่องละ 250,000 บาท รวมราคา 500,000 บาท ตู้น้ำดื่มใช้ประโยชน์ได้ แต่เครื่องผลิตปุ๋ยฯตั้งไว้เฉยๆ ไม่ได้ใช้งานอะไร เพราะชุมชนยังไม่มีเวลาใช้ประโยชน์ร่วมกัน


"ผมไม่รู้ว่าราคาสินค้าเท่าไหร่ จนกระทั่งเอาของมาส่งและให้เซ็นรับสินค้า จึงรู้ว่าราคาสินค้าก็สูงพอสมควร เมื่อได้มาฟรีๆ ก็ต้องรับเอาไว้เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย" นายฉลาดกล่าว


จากนั้นนายฉลาดนำเอกสารการมาให้ผู้สื่อข่าวดู เป็นใบสั่งซื้อสินค้าเครื่องผลิตปุ๋ยหมักและก๊าชชีวภาพ แสดงให้เห็นว่า มีบริษัท 2 รายซึ่งอยู่ในเครือเดียวกันเป็นนายหน้า ไม่ใช่ผู้ผลิต แต่ใช้วิธีสั่งซื้อต่อกันมาเป็นทอด เอกสารระบุเล่มที่ 066 เลขที่ PO.PG 0206/51 ชื่อลูกค้าผู้สั่งซื้อ บริษัท บีเอ็นบี อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่อยู่ 1213/343 ถนนลาดพร้าว ซอยลาดพร้าว 94 แขวงและเขตวังทองหลวง กทม. ออกใบสั่งซื้อ โดยบริษัท ซันไชน์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด 155 หมู่ 2 ถนนรัตนโกสินทร์สมโภช แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กทม. นอกจากนี้ บริษัท ซันไชน์ฯ ยังระบุโรงงานผลิตเครื่องผลิตปุ๋ยฯ ที่อยู่ 92/2 หมู่ 7 ถนนมิตรภาพ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี อีกส่วนเป็นใบตรวจส่งมอบสินค้า และใบตรวจรับการสาธิต อย่างละ 1 ใบ ออกโดยบริษัท คาร์เทล เทคโนโลยี จำกัด 111/206 หมู่ 11 ซอยเรวดี ถนนติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมืองนนทบุรี มีชื่อนายฉลาดเซ็นรับ


ด้านนายปรุง ฤทัยธรรม ประธานชมรมผู้สูงอายุ ในฐานะอดีตประธานชุมชนดินแดง 1 (แฟลต 21-32) เขตดินแดง กล่าวว่า นายจเด็จ โพธิมาก สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ได้มาเสนอสินค้าเครื่องผลิตปุ๋ยฯ และห้องเย็นให้ชุมชน บอกให้ตนเซ็นรับ แต่ช่วงนั้นเป็นช่วงเลือกตั้งประธานชุมชนใหม่ จึงไม่กล้ารับ แต่นายจเด็จบอกว่าเป็นของฟรีที่ชุมชนต้องได้ จึงตัดสินใจรับเอาไว้ หลังจากนั้นได้ประมาณ 15 วัน บริษัทนำเครื่องผลิตปุ๋ยฯ 1 เครื่อง มาวางไว้ที่ชุมชน อีก 15 วันก็นำมาลงให้อีก 1 เครื่อง และพยายามติดต่อขอเข้ามาสาธิตการใช้งาน แต่ตนปฏิเสธที่จะรับฟัง หลังจากเลือกตั้งได้ประธานชุมชนคนใหม่ บริษัทจึงนำเครื่องผลิตปุ๋ยฯมาให้ประธานคนใหม่ไว้ใช้ประโยชน์ แต่ประธานชุมชนปฏิเสธ เครื่องจึงวางไว้ที่ข้างแฟลต ไม่ได้มีใครมาใช้งานใดๆ 


ส่วนห้องเย็นชุมชนขนาด 3 เมตรนั้น นายปรุงกล่าวว่า ได้ปฏิเสธที่จะรับสินค้า เนื่องจากไม่ได้เป็นประธานชุมชนแล้ว แต่เจ้าหน้าที่บริษัทบอกว่าถ้าอย่างนั้นเปลี่ยนเป็นเสาไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 6 ตัว มาใช้ในชุมชน ต่อมาก็ส่งคนมาติดตั้งระหว่างแฟลต 21-32 รวม 12 แฟลต เฉลี่ย 1 ต้น ต่อ 2 แฟลต 


ด้านนายพูนผล สังข์สูงเนิน ประธานชุมชนเคหะดินแดง 1 (แฟลต 1-20) เขตดินแดง กล่าวว่า นายจเด็จเข้ามาเสนอสินค้า 2 ชิ้นให้ คือ เครื่องผลิตปุ๋ยฯ และห้องเย็นชุมชน แต่เนื่องจากชุมชนไม่ต้องการห้องเย็นชุมชน เพราะเป็นเพียงตลาดเล็กๆ ไม่ได้ต้องการตู้แช่ขนาดใหญ่ จึงขอเปลี่ยนเป็นตู้น้ำหยอดเหรียญแทน เพราะน่าจะใช้ประโยชน์ได้มากกว่า เจ้าหน้าที่จึงนำเครื่องผลิตปุ๋ยหมักฯ และตู้น้ำหยอดเหรียญ แถมพัดลมไอน้ำอีก 2 ตัว รวมมูลค่าทั้งสิ้น 250,000 บาท มาให้ ปัจจุบันตู้หยอดน้ำยังใช้การได้ แต่เครื่องผลิตปุ๋ยนั้นวางไว้ใต้ถุนแฟลต 14 ไม่มีใครใช้งานแต่อย่างใด จากเดิมตั้งใจจะให้โรงเรียนแห่งหนึ่ง แต่พอเกิดข่าวอื้อฉาว ผู้อำนวยการโรงเรียนขอให้เรื่องยุติลงก่อน จึงจะรับไปใช้ประโยชน์


"ผมไม่รู้ว่าสินค้าแต่ละชิ้นราคาเท่าไร รู้แต่ตอนที่เจ้าหน้าที่ให้ไปเปิดบัญชีบอกว่าของทั้งหมดราคารวม 250,000 บาท คิดว่าราคาอาจจะสูงไป เมื่อรับสินค้ามาแล้ว และเกิดเรื่องตรวจสอบขึ้น ผมและชุมชนคุยกันว่า ต่อจากนี้การรับสินค้าจากโครงการใดๆ ก็ตาม ประชาชนจะเอากรณีนี้เป็นบทเรียนและจะรอบคอบให้มากขึ้น" นายพูนผลกล่าว 


ที่ชุมชนซอยแสนสุข ถนนประชาสงเคราะห์ 24 เขตดินแดง ได้รับโครงการห้องเย็นชุมชนไว้ แต่ไม่ได้เอาไว้ใช้ในชุมชน เนื่องจากห้องเย็นมีขนาดใหญ่ และไม่ใช่สิ่งที่ชุมชนต้องการ จึงนำไปให้โรงเรียนวิชูทิศ เขตดินแดงได้ใช้ประโยชน์


นางเพทาย ปทุมจันทรัตน์ ประธานชุมชนซอยแสนสุข กล่าวว่า บริษัทนำแค็ตตาล็อกมาให้ดูบอกว่าตู้แช่ผักผลไม้ขนาดประมาณ 1.5 เมตร แต่เมื่อนำมาติดตั้งจริง กลับมีขนาด 3 เมตร บอกว่าไม่รับไว้เนื่องจากขนาดใหญ่เกินไป ในชุมชนไม่มีที่วางตู้แช่ขนาดใหญ่ แต่บริษัทอ้อนวอนให้รับเอาไว้ จึงใจอ่อนนำไปให้โรงเรียนวิชูทิศใช้ประโยชน์ บริษัทยังบอกอีกว่าจะเอาตู้น้ำเย็นมาให้ชุมชนอีก พอเอามาเข้าจริงๆ กลายเป็นตู้หยอดเหรียญพลังแสงอาทิตย์ซึ่งไม่ตรงกับที่ตกลงเอาไว้ บริษัทคะยั้นคะยอให้รับอ้างว่าเป็นของฟรี ก็ใจอ่อนยอมรับเอาไว้


"ตอนเซ็นรับสินค้า พอเห็นราคาห้องเย็น 500,000 บาท ตู้น้ำหยอดเหรียญราคา 200,000 บาท ก็ตกใจ ไม่คิดว่าจะแพงขนาดนี้ หลังจากเซ็นรับ บริษัทเอาเอกสารมาให้เซ็นเปิดบัญชีธนาคารออมสิน โดยฝากเงินและถอนออกหมดวงเงินเพื่อไปจ่ายค่าสินค้าภายในวันเดียว" นางเพทายกล่าว      
นางกุลธิดา ชื่นวัฒนา ครูโภชนาการ โรงเรียนวิชูทิศ กล่าวว่า ใช้ห้องเย็นได้หลายเดือนแล้ว โดยนำน้ำดื่ม ผัก นม ไข่มาแช่ ในอุณหภูมิ 5-6 องศา พนักงานติดตั้งอ้างว่ากินไฟเพียง 800-900 บาทต่อเดือนเท่านั้น ก็ไม่เคยคำนวณว่าเสียค่าไฟเท่านั้นจริงหรือไม่ แต่ยังใช้งานได้ตามปกติ


ขณะที่ชาวบ้าน ชุมชนบึงพระราม 9 เขตห้วยขวาง นายอานนท์ สันลี ประธานชุมชนคนใหม่ กล่าวว่า นายซอลีม บินเจริญ อดีตประธานชุมชน เป็นผู้รับสินค้าห้องเย็นชุมชน และตู้น้ำหยอดเหรียญเมื่อ 1 เดือนที่แล้ว นายซอลีมบอกว่าเป็นของฟรีก็รับเอาไว้ ประกอบกับชุมชนมีชาวไทยมุสลิมมาก ทำบุญกันบ่อย จึงรับห้องเย็นชุมชนไว้ใช้แช่ของทำบุญ แต่จนถึงขณะนี้ก็ไม่มีใครใช้งาน อุปกรณ์ยังวางกองระเกะระกะในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก บึงพระราม 9 (โรงเรียนยามิอุ้ลอิสลาม ปากคลองลาดพร้าว) ไม่ได้ติดตั้งอะไร เพราะไม่มีใครกล้าใช้ กลัวจะจ่ายค่าไฟฟ้าแพง ชุมชนอยากให้เอาไปไว้ที่อื่นด้วยซ้ำ


กรรมการชุมชนบึงพระราม 9 ผู้หนึ่ง กล่าวว่า นึกไม่ออกเลยว่าตู้เย็นใหญ่ขนาดแช่วัวแช่ควายได้ 2-3 ตัวจะเอามาทำอะไรได้บ้างในชุมชน หนำซ้ำบริษัทยังบอกว่ามีตู้นี้แล้วชุมชนจะเจริญขึ้น รัฐบาลก็คิดดูว่าจะทำให้ชุมชนเจริญได้อย่างไร เพราะไม่ใช่เครื่องผลิตเงินที่จะทำให้ชุมชนมีรายได้งอกเงยขึ้นมาเลย นอกจากเป็นแค่เศษเหล็กสนิมเกาะ ไม่มีใครใช้ประโยชน์ได้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทพยายามติดต่อเข้ามาสาธิตการใช้งาน แต่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ยอมรับการใช้งานดังกล่าว ทำให้ภายในตู้มีเพียงตะแกรงแช่สินค้า และเครื่องทำความเย็นตั้งไว้ โดยปราศจากการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มแต่อย่างใด


จากการตรวจสอบเอกสารคุณสมบัติห้องเย็นชุมชน รุ่น CB-500 ราคา 280,373.83 บาท ภาษี 19,626.17 บาท รวมราคาสุทธิ 300,000 บาทถ้วน ตู้น้ำหยอดเหรียญ รุ่น W-50 ระบุราคา 186,915.89 บาท ภาษี 13,084.11 บาท รวมราคาสุทธิ 200,000 บาทถ้วน ใบส่งมอบสินค้าระบุชื่อบริษัท เอ็นเนอร์ยี โปร เทคโนโลยี จำกัด เลขที่ 27/73 หมู่ 3 ถนนเลียบวารี แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กทม. ซึ่งเป็นบริษัทกลุ่มเดียวกับที่ขายสินค้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้ชุมชนทั่ว กทม.


ขณะที่ชุมชนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเครื่องผลิตปุ๋ยฯ และตู้เย็น คงมีเพียงชุมชนสามัคคีพัฒนา แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ ที่ได้มอบให้ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนภายในชุมชนนำไปใช้ประโยชน์


นางสะละเมาะห์ เจ๊ะดิ แม่ครัวศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ชุมชนสามัคคีพัฒนา กล่าวว่า ได้ทดลองใช้เครื่องผลิตปุ๋ยฯ โดยนำเศษอาหาร และเปลือกผลไม้ต่างๆ ใส่ลงไปในถังตามขั้นตอน หลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์จึงนำสายยางมาต่อนำแก๊สมาใช้หุงต้มอาหาร แม้ว่าถังจะใหญ่มาก แต่จำนวนแก๊สที่ออกมานั้นน้อยเกินไป และเอื่อยมาก ใช้ต่อได้เพียงหัวแก๊สเล็กๆ เท่านั้น ใช้ได้ 2 วันก็หมดแล้ว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์