19ก.ย.49และ7ต.ค.52สัญญาณต่อสู้รอบใหม่


แม้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศจะแก้ไขได้ แต่บทเรียนในอดีตบอกให้เราได้คิดว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในแต่ละครั้งนั้นไม่ง่ายเลย
   
หลาย ๆ ครั้งที่มีการแก้ไขมักจะเกิดความรุนแรงหรือไม่ก็เกิดการปฏิวัติรัฐประหารขึ้น ครั้งนี้ก็ไม่ง่ายเช่นกัน แม้รัฐบาลผสมที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีจะแสดงความปรารถนาที่จะใช้เวทีร่วม 2 สภาระดมความเห็นเกี่ยวกับแนวทางและข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธานเพื่อนำไปการสร้างความสมานฉันท์ ซึ่งในที่นี้น่าจะหมายถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
   
พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค พรรคฝ่ายค้าน อย่างพรรคเพื่อไทย ส.ว.เลือกตั้งบางส่วนล้วน เห็น พ้องในบางประเด็นที่จะมีการแก้ไข แต่สำหรับนายอภิสิทธิ์แล้ว ไม่ได้เน้นไปที่ประเด็นใดประเด็นหนึ่งแต่เน้นที่หลักการว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชน   
   
ผมคิดว่านักการเมืองถ้าไปสมคบกันทำอะไรที่เสียหายกับประชาชน ประชาชนก็เปลี่ยนแปลงนักการเมืองได้ เพราะฉะนั้นนักการเมืองที่มาในระบบนี้ ต้องตอบคำถามของประชาชนว่าที่ตัดสินใจทำแต่ละเรื่อง มีเหตุผลรองรับอย่างไร ถ้าเหตุผลไม่ดี ทำเพื่อตัวเอง ผมเชื่อว่าประชาชนจะไม่ยอมรับนายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา
   
ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า ประชาชนจะว่าอย่างไรกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะประเด็นที่ถูกเสนอขึ้นมาล้วนเป็นเรื่องของนักการเมืองทั้งสิ้น
   
1 ในภาคประชาชนที่มีความเข้มแข็งคือ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือกลุ่มคนเสื้อเหลือง ที่มี นายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นหัวหอก ที่วันนี้ออกโรงมาแสดงความเห็นไว้หลายเรื่อง ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาเพราะเป็นการเคลื่อนไหวหลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความ  ผิดในเหตุการณ์ความวุ่นวายหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551
   
จากที่คิดว่าจะเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ในวันที่ 20 ก.ย. ก็เปลี่ยนไปใช้วันที่ 7 ตุลาคม 2551 เป็นสัญลักษณ์จัดงานรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในวันที่ 7 ตุลาคม 2552 และเลือกหัวหน้าพรรค การเมืองใหม่ในวันที่ 8 ตุลาคม ที่สำคัญในวันนั้นกลุ่มพันธมิตรฯ จะรวบรวมรายชื่อประชาชน 20,000 รายชื่อ ยื่นถอดถอน ส.ส. และ ส.ว. ที่ลงชื่อเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรม นูญด้วย
   
นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ระบุว่า ได้หารือกับนักกฎหมายถึงกรณีที่ ส.ว. และ ส.ส. ลงชื่อ ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขัดต่อมาตรา 122 ซึ่งเรื่องนี้ ส.ส. จำนวน 1 ใน 4 สามารถจะยื่นเรื่องเพื่อถอดถอนต่อประธานวุฒิสภา ได้ ตามมาตรา 270, 271 เพื่อส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถยื่นต่อ ป.ป.ช. ตามมาตรา 272, 274 หาก ป.ป.ช. พิจารณาว่าผิดจริง ส.ส. และ ส.ว. ที่ร่วมเซ็นชื่อก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที หรืออาจนำไปสู่
การพ้นจากตำแหน่งเมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินว่าผิด
   
กรณีมาตรา 122 นี้นายอภิสิทธิ์ยังปรารภในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 8 ก.ย. โดยสอบถามเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะเกรงจะขัดมาตรา 122 ก่อนจะได้รับคำตอบว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนรวม
   
เสื้อแดงใช้วันที่ 19 ก.ย. 2549 เสื้อเหลืองใช้วันที่ 7 ต.ค. 52 แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ซะแล้ว.
 

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์