จากสปก.4-01ถึงงบชุมชน จุดสลบรัฐบาลปชป.?!







พลเดช ปิ่นประทีป/จรัส สุวรรณมาลา/สมพงษ์ จิตระดับ

ปัญหาการทุจริตโครงการชุมชนพอเพียง ของสำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน(สพช.) ที่มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบ

มีนายสุมิท แช่มประสิทธิ์ เป็นผอ.สพช. และนายประโภชฌ์ สภาวสุ น้องชายนาย กอร์ปศักดิ์ เป็นรองผอ.สพช.

สำหรับนายประโภชฌ์ เคยเล่นการเมือง เป็นส.ส.ศรีสะ เกษ แต่ระยะหลังวางมือไปทำธุรกิจ

ก่อนจะกลับมามีชื่อในหน่วยงานสพช.

และเกิดเรื่องราว กลายเป็น "เผือกร้อน" ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พยายามหาทางออกปัดให้พ้นตัว

หลังพรรคเพื่อไทยออกมาเปิดประเด็นร้อน ว่าได้รับร้องเรียนจากประชาชนหลายเขตในพื้นที่กทม. ถึงความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อสิ่งของให้ชุมชนตามโครงการดังกล่าว

เพราะยิ่งสาวก็ยิ่งส่อให้เห็นถึงพฤติกรรมในทางทุจริตและเอื้อประโยชน์ให้บุคคลในรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการจัดซื้อตู้หยอดน้ำโซลาร์เซลล์ ที่ไม่ตรงกับความต้องการของชุมชน

และการสั่ง 3 เจ้าหน้าที่ในทีมสอบสวนชุดของ พล.อ.ชัชวาลย์ ทัตตานนท์ รองผอ.สพช. ที่เข้าไปตรวจสอบแล้วพบความไม่โปร่งใสที่จ.พระนครศรีอยุธยา พ้นจากสพช.

แม้นายกฯจะยืนยันว่าผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบผู้ทุจริตโครงการชุมชนพอเพียงใน 2 ระดับ คือจากนักการเมืองท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่โครงการ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่มีปัญหามาตั้งแต่โครงการเอสเอ็มแอลในสมัยรัฐบาลยุคก่อน

และโครงการที่ถูกวิจารณ์อยู่ในวงเงินเพียง 50 ล้านบาท หรือร้อยละ 1 ของโครงการที่อนุมัติงบประมาณไปแล้ว 5,300 ล้านบาทเท่านั้น

ย้ำด้วยว่าหากใครเกี่ยวข้อง พร้อมจัดการแน่

แต่ในทางกลับกัน บรรดาสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ต่างออกมาให้สัมภาษณ์ในทำนอง "อุ้ม" ทั้งนายกอร์ปศักดิ์และนายประโภชฌ์

ขณะที่ผลสำรวจของเอแบคโพลต่อกรณีดังกล่าว นอก จากจะเห็นว่าปัญหาการทุจริตจะกระทบต่อแนวคิดหลักเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ยังต้องการให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อปัญหานี้ หาคนผิดมาลงโทษ และให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องลาออกทั้งคณะ

รวมทั้งกระแสสังคมที่เริ่มนำปัญหาทุจริตในโครง การชุมชนพอเพียง มาเทียบเคียงกับกรณีการแจก ส.ป.ก.4-01 ที่ทำให้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นต้องประกาศยุบสภา

รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จะเดินย่ำซ้ำรอยอดีตหรือไม่ เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายจับตาเฝ้าดู



พลเดช ปิ่นประทีป

เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

อดีตรมช.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ผมดูแล้วน่าเป็นห่วงรัฐบาล เพราะโครงการแบบนี้หากไม่พิถีพิถันเรื่องกระบวนการความโปร่งใสก็เป็นจุดอ่อนได้ เพราะวันนี้มีขั้วทางการเมืองที่ต่อสู้กันอยู่ อีกขั้วพยายามหาหลักฐาน การตรวจสอบก็มีประสิทธิภาพ เพราะมีเป้าหมายทางการเมือง

หากรัฐบาลใส่ใจน้อยในโครงการนี้อาจเป็นจุดพลาดหรือจุดตายได้ เพราะหากมีหลักฐานมาแล้วการแก้ตัวต่อสังคมจะลำบาก โครงการดีๆ โปร่ง ใส ผมว่ามีเยอะมากกว่า แต่พอมีจุดเสียคนก็ต้องจับจ้องมาก ภาคประ ชาชน ภาคสังคมอดเป็นห่วงไม่ได้

โครงการชุม ชนพอเพียงเป็นโครงการต่อเนื่องจากเอสเอ็มแอล แต่เปลี่ยนวิธีการนิดหน่อย คือ ชุมชนพอเพียง เพิ่มเป็น 7 ระดับ วิธีการกระบวนการให้ชาวบ้านประชุมกัน

แต่เอาเข้าจริงก็ไม่มีการเตรียมชาวบ้านดีพอ เร่งรัดเวลา ไม่มีการประชุมกันจริง แต่ให้เซ็นชื่อกัน

เงื่อนไขโครงการต้องให้ชาวบ้าน 60-70% ประ ชุมกันเพื่อพิจารณาโครงการ เมื่อไม่มีการประชุมแต่ไปเอาลายเซ็นกันมา เป็นการโกหก

ความจริงเรื่องแบบนี้เป็นมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เพราะข้าราชการสอนชาวบ้านทำกันมา

ทั้งข้าราชการฝ่ายพัฒนาชุมชนหรือสายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถูกเร่งรัดโดยเวลามาอีกทอดให้ทำเสร็จตามกรอบเวลา โกหกกันไปมาตลอด

เรื่องความผิดหรือถูกเป็นส่วนของการปฏิบัติ เพราะเรื่องนี้ผ่านกลไกข้าราชการประจำสายมหาดไทย พัฒนาชุมชน เป็นปัญหาของระดับนี้ ไม่ใช่รัฐบาล นายกฯ หรือรองนายกฯ เพราะเขาไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ

เว้นแต่มีหลักฐานเชื่อมโยงว่ามีพล พรรคการเมือง นักธุรกิจ พ่อค้าผลิตภัณฑ์ที่ขายผ่านเข้าโครงการมาแล้วมีปัญหาผลประโยชน์

ถ้าไปเจอหลักฐานก็เป็นจุดอ่อนจุดตายของรัฐบาลได้

ส่วนจะถึงขั้นไปซ้ำรอยเหตุการณ์ ส.ป.ก.4-01 หรือไม่ ต้องคอยติด ตามดู



จรัส สุวรรณมาลา

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

การที่ฝ่ายค้านยกประเด็นทุจริตโครงการชุมชนพอเพียงขึ้นมาในช่วงนี้ ต้องดูว่าข้อมูลที่ฝ่ายค้านได้มานั้นมากแค่ไหน เก็บมาเพื่อทำวิจัยหรือไม่ หรือว่ามีคนร้องเรียนเพียง 1-2 ราย

การคอร์รัปชั่นไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฝ่ายค้านหรือองค์ กรอื่นจะหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น เพราะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน เมื่อเกิดขึ้นแล้วรัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหา

แต่หากจะเทียบเคียงกับกรณีส.ป.ก. 4-01 ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เคยมีปัญหาจนทำให้รัฐ บาลอยู่ไม่ได้ ต้องยุบสภานั้น คิดว่าต้องดูด้วยว่ากรณีชุมชนพอเพียง มีคนในฝ่ายการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่

เพราะกรณีส.ป.ก.4-01 มีคนในวงการเมือง คนในรัฐบาลขณะนั้นเกี่ยวข้องด้วย ฉะนั้นหากโครงการชุมชนพอเพียงมีนัก การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแสดงว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบ

แต่การเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกนั้น ผมมองว่ามากเกินไป หากเป็นแค่ระดับปฏิบัติการหรือระดับชุมชนหรือชาวบ้าน รัฐบาลก็ต้องเข้าไปแก้ตรงนั้น และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก

เมื่อเทียบกัน กรณีส.ป.ก.4-01มีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่โครงการนี้ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่านักการเมืองเกี่ยวข้องหรือไม่

ถ้าเกี่ยวข้องด้วยรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบโดยตรง



สมพงษ์ จิตระดับ

นักวิชาการด้านสังคมและการศึกษา

โครงการชุม ชนพอเพียงเป็นโครงการที่ดี ในแง่ของหลักการนั้นรัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว เพราะงบประมาณที่ทุ่มลงไปนั้นสามารถตอบโจทย์ได้ดี

แต่เมื่อมีการทุจริต มีคนเข้าไปเกี่ยวข้องกับเงินในโครงการ

แต่นายกฯบอกว่าใช้เงินไป 50 ล้านบาทจากงบทั้งหมดที่ลงไปแล้วกว่า 5 พันล้านบาทนั้น เราจะดูจากยอดเงินอย่างเดียวไม่ได้ เพราะแนวโน้มว่าจะมีการทุจริตจริงนั้นเกิดขึ้นในหลายพื้นที่

การทุจริตนั้นเงินหายไปเพียง 10 บาทก็ถือว่าทุจริตแล้ว

รัฐบาลควรเอาจริงเอาจังลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ให้มากกว่านี้ ไม่ ใช่ไปเอาผิดจากเจ้าหน้าที่เพียง 3-4 คน

ที่สำคัญโครงการชุมชนพอเพียงมีหลักการและวิธีการเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ นำหลักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ หากเกิดปัญหาทุจริตขึ้นไม่เพียงแต่จะทำให้รัฐบาลเสียชื่อเสียง

แต่ถือเป็นเรื่องมิบังควรและเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก

รัฐบาลควรเร่งแก้ไขโดยมีมาตราการที่เข้มข้นมากกว่านี้ในการตรวจสอบ ควรตัดไฟแต่ต้นลม นำสิ่งที่เลวร้ายออกไป ด้วยวิธีการป้องกันไม่ให้เลือดมันไหล

หากยังปล่อยไว้โดยไม่แก้ไขจะทำให้มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก อาจซ้ำรอยเรื่องที่ดินส.ป.ก.4-01 เพราะเรื่องดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รัฐบาลควรให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบอีกทาง หรือไม่ก็สรรหาคนที่มีหลักธรรมาภิบาลประมาณ 10-12 คน เข้ามาตรวจสอบ และคนที่ตั้งขึ้นควรเป็นคนที่มีหลักความยุติธรรม

การตั้งคณะกรรมการของพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาดูแลอย่างเดียวไม่เพียงพอแน่นอน





ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย:
หนังสือพิมพ์ข่าวสด


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์