มาร์ค-แม้วเปิดแนวรบเน็ตเวิร์ก

รายงานพิเศษ



การที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ลงมาลุยเองเปิดเว็บทวิตเตอร์ หวังขยายฐานเสียงมวลชนถึงคนรุ่นใหม่ ในวันฉลองแซยิดของตัวเองเมื่อ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา

อ้างว่าเพื่อใช้สื่อสารถึงแฟนคลับได้โดยตรง รวมทั้งเอาไว้ตอบโต้หรือชี้แจงข้อเท็จจริงหากถูกข่าวลือต่างๆ โจมตี

การลงมาเล่นเอง ย่อมสั่นสะเทือนรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เป็นอย่างยิ่ง

เพราะทวิตเตอร์ เป็นโซเชียล เน็ตเวิร์กกิ้ง (Social Networking) หรือเครือข่ายสื่อสารระดับสังคม ทั้งระหว่างบุคคล-บุคคล และบุคคล-กลุ่มคน เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบการสื่อสารแบบไร้ขีดจำกัดและรวดเร็วทันใจ

ส่งผลให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแลสื่อของรัฐ ต้องออกมาบลัฟกลับทันที

ตั้งแต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯในฐานะหัวหน้าพรรค ไล่เรียงจนถึงสมาชิกพรรค ต่างมีเว็บเหล่านี้อยู่ในมือนานแล้ว

ต่างฝ่ายต่างเปิดเกมรุก หวังช่วงชิงกระแสไฮเทค

จึงมีเสียงสะท้อนถึงการเปลี่ยนยุทธวิธีของแต่ละฝ่าย ดังนี้



สุกัญญา สุดบรรทัด

ส.ว.สรรหา



การใช้เทคโนโลยีของกลุ่มการเมือง ทั้งการทำเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าแต่ละฝ่ายนำมาใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบ

แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า เทคโนโลยีสารสนเทศชนิดนี้เริ่มมีขึ้นไม่นานนัก อีกทั้งการเข้าถึงสื่อตัวนี้เป็นไปอย่างจำกัด โดยเฉพาะคนรากหญ้าที่ไม่อาจเข้าถึงหรืออยู่ในวงจำกัด เพราะการจะเข้าถึงได้ต้องใช้อินเตอร์เน็ตเท่านั้น

ฉะนั้น การคาดหวังกับเทคโนโลยีกรณีนี้จึงเป็นเพียงตัวเสริมสื่อหลักที่มีอยู่เท่านั้น

ส่วนจะเป็นการเจาะจงไปยังกลุ่มวัยรุ่น เป็นการเฉพาะหรือไม่ ดิฉันเห็นว่าคงไม่ เพราะวัยรุ่นปัจจุบันสนใจการเมืองน้อยมาก จะเข้าถึงก็เฉพาะแฟนคลับที่สนใจ และใช้อินเตอร์เน็ตอยู่เป็นประจำ






หากถามถึงข้อได้เปรียบเสียเปรียบของรัฐบาล ต่อการเคลื่อนไหวผ่านสื่อของพ.ต.ท.ทักษิณ ขอเรียนว่าไม่ว่าฝ่ายไหน หากได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาล ย่อมมีความได้เปรียบอยู่แล้ว เพราะรัฐมีทั้งสื่อทีวี สื่อวิทยุ รวมถึงการเซ็นเซอร์ เพื่อสกัดกั้นฝ่ายตรงข้าม

แต่หากรัฐใช้สื่อของตัวเองมากไป โดยเฉพาะการใช้สื่อรัฐโจมตีฝ่ายตรงกันข้าม ชนิดแบบซ้ำซาก ไม่มีอะไรแปลกใหม่ หรือตอบโต้แบบทุกเม็ด ยกตัวอย่างการให้มีตำแหน่งโฆษกประจำหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมา

ยิ่งทำให้ประชาชนเกิดความสงสารในตัวพ.ต.ท.ทักษิณ มากขึ้น โดยเชื่อว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ถูกกลั่นแกล้ง และไม่ได้รับความเป็นธรรมจริง

ต้องเข้าใจว่าทุกวันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ สื่อสารไปยังประชาชน ในสื่อหลัก ทั้งโทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ การโฟนอิน วิดีโอลิงก์ ที่ให้ประชาชนเกิดความรู้สึกโหยหาอดีต ยิ่งในช่วงนี้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ ยิ่งเข้าทาง พ.ต.ท.ทักษิณ

หากรัฐบาลไม่ต้องการความสงสารและการโหยหาของประชาชนที่มีต่อพ.ต.ท.ทักษิณ มาเป็นอุปสรรคต่อเสถียรภาพของรัฐบาลแล้ว รัฐบาลจึงไม่ควรตอบโต้พ.ต.ท.ทักษิณ ทุกเรื่อง

แต่ควรเร่งทำผลงานเพื่อพิสูจน์ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาปากท้อง เพราะทุกวันนี้ ประชาชนเริ่มบ่นกันแล้วว่า รัฐบาลชุดนี้ดีแต่พูดและสร้างภาพ



ปาริชาติ สถาปิตานนท์

อาจารย์นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ



การนำสื่อออนไลน์ เทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในทางการเมืองในขณะนี้ เป็นลักษณะเดียวกับการช่วงชิงตลาดในเชิงธุรกิจทั้งในตลาดมือถือ รถยนต์ ซึ่งแต่ละฝ่ายจะต้องสร้างความแตกต่าง โดดเด่น โชว์ภาวะของความเป็นผู้นำ ให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น

วิธีการเหล่านี้จะได้ผลและดึงความสนใจจากกลุ่มแฟนคลับ หรือแฟนพันธุ์แท้ได้มาก เพราะเป็นช่องทางที่สามารถได้ติดตามความเคลื่อนไหวของบุคคลที่ตนเองสนใจได้อย่างใกล้ชิดมากกว่าเดิม

ในอนาคตบทบาทของสื่อไฮเทคกับการเมือง จะน่าจับตามองอย่างมาก เพราะจะมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น เช่นเดียวกันสังคมอเมริกันที่สื่อและเทคโนโลยีเหล่านี้จะเติบโตอย่างรวดเร็วและเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้ไปใช้อย่างแพร่หลาย เป็นช่องทางสื่อสารให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง พรรคพวก สร้างความน่าเชื่อถือ สร้างเครดิตให้ตนเอง รวมทั้งดิสเครดิตคู่ต่อสู้ไปในเวลาเดียวกันด้วย

การแข่งขันครั้งนี้จะเห็นกันบ้างแล้วว่า ทั้งสองฝ่ายจะบอกว่าตนเองมีภาวะความเป็นผู้นำ และต่างจะบอกว่าตัวเองเริ่มใช้วิธีการเหล่านี้ก่อนคู่แข่ง ถ้ามองเป็นโปรดักชั่นก็น่าสนุก แต่หากมองในมุมของผู้นำประเทศชาติก็น่าห่วงอยู่บ้าง เพราะประเทศชาติเวลานี้ต้องการความสามัคคี ต้องการผู้เข้ามาแก้ไขปัญหาในสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชนมากกว่า

โดยรวมแล้วสื่อเทคโนโลยีเหล่านี้เมื่อนำมาใช้ในทางการเมือง มีข้อดี คือจะเป็นช่องทางใหม่ที่จะทำให้สังคมได้รู้สึกว่าเป็นคนที่ทันสมัย ติดตามความเคลื่อนไหว และเทคโน โลยีต่างๆ ขณะเดียวกันให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นช่องทางทำให้ได้ติดต่อกันโดยตรงและใกล้ชิดมากขึ้น

แต่ก็มีข้อเสีย เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา สิ่งที่จะทำคือจะต้องมีการลองผิดลองถูก เรียนรู้กันไป ซึ่งปรากฏการณ์และช่องทางการต่อสู้ทางการเมืองจะมีมากขึ้น และต้องมีทีมงานใหญ่มากขึ้น เพื่อคอยติดตามและดูแลช่องทางเหล่านี้



ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ



ปรากฏการณ์สื่อออนไลน์มีมานานแล้ว ทั้งเว็บไซต์ วิดีโอคอนเฟอ เรนซ์ โฟนอิน ที่นำมาใช้ต่อสู้ทางการเมือง

พรรคการเมืองทุกพรรคหลักๆ มีเว็บไซต์อยู่แล้ว และจะขยายตัวสู่เวทีอื่น แน่นอนว่าบ้านเราใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น เพราะเป็นเครื่องมือที่มีอานุภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ ออนไลน์ไม่แค่ทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊ก เพราะวอยซ์ ออฟ ทักษิณ ที่ใช้มือถือ เปิดให้คนลงสมัครรับข้อความในมือถือ เป็นเครื่องมือที่เข้าถึงคนรักทักษิณมากกว่า

การแพร่หลายของเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้รัฐบาลคุมยาก ขณะที่ฝ่ายพ.ต.ท.ทักษิณ หรือฝ่ายตรงข้ามได้เปรียบ เพราะเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าได้ง่ายและถูกลงเรื่อยๆ

ต้องยอมรับว่าคนใช้เทคโนโลยีส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนมีรายได้ มีการศึกษาสูง ทำให้พ.ต.ท.ทักษิณ เสียเปรียบ เพราะคนกลุ่มนี้มักไม่ค่อยเห็นด้วยหรือไม่ค่อยชื่นชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ

แต่เป็นการเพิ่มเนื้อที่ข่าวในสื่อ มีบทบาทช่วยแพร่กระจายข้อความของพ.ต.ท.ทักษิณได้ พ.ต.ท.ทักษิณมีทางต่อสู้จำกัดกว่า จะกลับมาประเทศไทยก็ไม่ได้เพราะกลับมาก็ต้องเข้าคุก จึงเน้นไปต่อสู้ทางทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊ก

หากรัฐบาลยิ่งไปต่อกรเวทีออนไลน์มากขึ้น จะทำให้ความขัดแย้งดำรงอยู่ ยิ่งตอกย้ำลงลึกไปเรื่อยๆ ทำให้พ.ต.ท. ทักษิณ รักษาเนื้อที่ความสนใจได้ดีกว่า

ดังนั้น รัฐบาลควรมุ่งสร้างผลงานให้เข้าตาจับใจคน จะได้ผลมากกว่าการต่อสู้ออนไลน์กับพ.ต.ท.ทักษิณ และการจะดึงคนที่นิยมพ.ต.ท.ทักษิณมา ปัญหาไม่ใช่ตัวพ.ต.ท.ทักษิณคนเดียว พ.ต.ท.ทักษิณอาจเป็นชนวนตัวใหญ่ ปัญหาคือไม่ควรคิดว่าคนนิยมพ.ต.ท.ทักษิณ โง่

แต่ควรคิดว่าจะทำอย่างไรให้ผลงานเข้าตา ดึงมวลชนมาเป็นฝ่ายตัวเอง หากทำได้ ไม่ว่าพ.ต.ท.ทักษิณ จะมีสื่อออนไลน์ในมือแค่ไหนก็ไม่มีผล



ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย:
หนังสือพิมพ์ข่าวสด


 


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์