เบื้องหลังป.ป.ช.แจ้งข้อหาพัชรวาท ผิดอาญา ม.157

"พัชรวาท วงษ์สุวรรณ"อ่วมหนักอีก ป.ป.ช.มีมติแจ้งเพิ่มข้อกล่าวหาทำผิดอาญา มาตรา 157 -วินัยร้ายแรง พร้อมกับ 2 บิ๊กสีกากี ถุกพยานซัดทอดสั่งการในสลายม็อบ แต่ต้องยืดระยะเวลาการไต่สวน เพราะต้องเริ่มกระขวนการแจ้งข้อกล่าวหา การคัดค้านคณะกรรมการและให้ชี้แจงข้อกล่าวหา

นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะผู้รับผิดชอบสำนวนไต่สวนคดีที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังสลายผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เปิดเผยเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมว่า การประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ 9 คน คณะทำงานไต่สวนคดีดังกล่าว สรุปผลไต่สวนผู้ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาให้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม 2 คน พร้อมกับมีมติเพิ่มข้อกล่าวหาผิดวินัยร้ายแรงและผิดประมวลกฎหมายอาญากับผู้ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาก่อนหน้านี้ อีก 1 คน ทั้งนี้จะทำหนังสือด่วนแจ้งทั้ง 3 คนให้มารับทราบข้อกล่าวหา ภายในวันที่ 3 สิงหาคมนี้ และคาดว่าสามารถชี้มูลความผิดได้ภายในกลางเดือนสิงหาคม
       

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิชาปฏิเสธจะกล่าวว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ถูกเพิ่มข้อกล่าวหา
 
ขณะที่ นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช.เปิดเผยว่า ที่ประชุมป.ป.ช.ชุดใหญ่ได้พิจารณาสำนวนไต่สวนคดีกล่าวหน้าเจ้าหน้าที่ใช้กำลังสลายผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่ 9 คน เป็นคณะทำงานไต่สวนคดีดังกล่าว ได้สรุปสำนวนการไต่สวนพร้อมมีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับนายตำรวจยศนายพล ระดับรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 2 คน พร้อมกับมีมติแจ้งข้อกล่าวหาของนายตำรวจระดับสูงคนหนึ่ง ซึ่งถูกแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว 1 คน เพิ่มเติมจากผิดวินัยไม่ร้ายแรงฐานประมาทเลินเล่อมาเป็นผิดวินัยร้ายและผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ทั้งนี้จะทำหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาให้กับบุคคลทั้ง 3 มาแก้ข้อกล่าวหา ภายในวันที่ 3 สิงหาคมนี้ และคาดว่าจะสามารถชี้มูลความผิดได้กลางเดือนสิงหาคมนี้
 
แหล่งข่าวจากป.ป.ช.เปิดเผยว่า ผู้ที่คณะกรรมการป.ป.ช.มีมติให้เปลี่ยนข้อกล่าวหา คือพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)

โดยสาเหตุที่เปลี่ยนข้อหาจากผิดวินัยไม่ร้ายแรง ฐานประมาทเลินเล่อ มาเป็นผิดวินัยร้ายและและความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เนื่องจากมีหลักฐานและพยานหลักฐานซัดทอดว่าพล.ต.อ.พัชรวาท อยู่ในที่เกิดเหตุพร้อมกับสั่งการให้สลายการชุมนมด้วย ส่วน รองผบช.น.ซึ่งคณะกรรมการป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาประกอบด้วย พล.ต.ต.วิบูลย์ บางท่าไม้ และ พล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา


แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สาเหตุที่คณะกรรมการป.ป.ช.มีมติไม่ให้เปิดเผยรายชื่อผู้ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมและผู้ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาใหม่ เนื่องจากหากบุคคลทั้ง 3 มาแก้ข้อกล่าวหา สุดท้ายแล้วอาจจะไม่มีความผิดก็ได้ นอกจากนี้เพื่อป้องกันประชาชนเข้าใจผิดว่าเป็นการชี้มูลความผิด ทั้งที่เป็นเพียงการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมเท่านั้น
 
 

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2552 ว่า คณะกรรมการป.ป.ช.ได้แจ้งข้อกล่าวหาคดี 7 ตุลาคม 2551  แก่บุคคลรวม 7 คน ได้แก่

1. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษและมีมติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เวลา 9.00 น. ที่รัฐสภาให้ได้ โดยมอบหมายให้พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้สั่งการและหลังจากมีการสลายฝูงชน จนมีผู้บาดเจ็บสาหัสในช่วงเช้า เป็นเหตุให้พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ขอลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในเวลา 9.00 น. หลังจากนั้นผู้ถูกกล่าวหาก็มิได้ยับยั้งมิให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีก ตรงข้ามกลับปล่อยปละละเลยจนมีผู้ชุมนุมบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตในช่วงบ่ายต่อเนื่องจนถึงเวลาค่ำ จึงแจ้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เพื่อให้มีการแก้ข้อกล่าวหาต่อไป

2.พล.อ.ยงใจยุทธ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นผู้รับผิดชอบเหตุการณ์และสั่งการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการทุกวิถีทางในอันที่จะผลักดันกลุ่มผู้ชุมชน โดยการใช้แก๊สน้ำตา จนสามารถเปิดทางเข้าประชุมสภาได้ทำให้มีผู้บาดเจ็บสาหัส แม้ลาออกจากตำแหน่งในเวลา 9.00 น. ก็ถือว่ามีส่วนรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงแจ้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เพื่อให้มีการแก้ข้อกล่าวหาต่อไป

3.พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ในฐานะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ แม้ได้ความว่ามีการมอบหมายให้มีผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน และแต่งตั้งผู้บัญชาการเหตุการณ์ให้เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง แต่ก็ต้องให้ความสำคัญติดตามความเคลื่อนไหวในการชุมนุมอย่างใกล้ชิด เมื่อเกิดเหตุรุนแรงจนถึงขั้นผู้ชุมนุมบาดเจ็บสาหัส ถึงขนาดขาขาด แขนขาดก็ต้องยับยั้งมิให้เหตุการณ์ลุกลามต่อไป อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีผู้สั่งการในระดับนโยบายซึ่งต้องรับผิดชอบโดยตรง และมีผู้สั่งการระดับล่างซึ่งได้รับมอบหมายตามสายงานอยู่แล้ว จึงให้แจ้งข้อกล่าวหาความผิดทางวินัยฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความอุตสาหะ เอาใจใส่ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ เพื่อให้มีการแก้ข้อกล่าวหาต่อไป

4. พล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้รับมอบหมายหน้าที่จากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้สั่งและปฏิบัติราชการแทน ได้ร่วมรับทราบนโยบาย และควบคุมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกหน่วยในขณะสลายฝูงชน จึงให้แจ้งข้อกล่าวหาความผิดทางวินัย เช่นเดียวกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

5. พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ ตามแผนกรกฎ 48 เป็นผู้ควบคุมและสั่งการเจ้าหน้าที่ตำรวจในทุกเหตุการณ์ที่มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝูงชน จนเกิดการบาดเจ็บสาหัส และถึงแก่ความตาย และละเว้นไม่หยุดยั้งการกระทำอันรุนแรงที่เกิดขึ้น จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนจำนวนมาก จึงให้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งทางวินัย และทางอาญา ฐานกระทำหรือละเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง เพื่อให้มีการแก้ข้อกล่าวหาต่อไป

6.พล.ต.ต.ลิขิต กลิ่นอวล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้รับมอบหมายให้เป็นรองผู้บัญชาการเหตุการณ์ ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2551 เวลา 20.01 น. ถึง วันที่ 7 ตุลาคม 2551  เวลา 08.00 น. ในภารกิจเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมด้านประตูปราสาทเทวฤทธิ์ โดยรับผิดชอบบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสลายฝูงชน ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บสาหัสขาขาด และแขนขาด จึงให้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งทางวินัย และทางอาญา เช่นเดียวกับผู้บัญชาการเหตุการณ์

7. พล.ต.ต.เอกรัตน์ มีปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้รับมอบหมายให้เป็นรองผู้บัญชาการเหตุการณ์แทน พลตำรวจตรีอำนวย นิ่มมะโน ซึ่งขอลาไปจัดการศพบิดาในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เวลา 08.01-20.00 น. โดยรับผิดชอบและสั่งการให้มีการสลายฝูงชน ในระหว่างเวลา 16.00-17.00 น. จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากแก๊สน้ำตา และในเวลา 18.00-20.00 น. เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และมีผู้สูญเสียขา และแขน จึงให้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งทางวินัย และทางอาญา เช่นเดียวกับผู้บัญชาการเหตุการณ์

สำหรับ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จากการไต่สวนจนถึงปัจจุบัน ยังไม่พบว่าเป็นผู้ร่วมสั่งการ หรือเกี่ยวข้องในการสั่งการสลายฝูงชน เนื่องจากได้ผลัดเปลี่ยนเวรกับ พลตำรวจตรีเอกรัตน์ มีปรีชา แม้เป็นผู้ร่วมแถลงข่าวในวันที่ 8 ตุลาคม 2551 ว่าเหตุที่ผู้ร่วมชุมนุมได้รับบาดเจ็บมิใช่มาจากการใช้แก๊สน้ำตาลสลายฝูงชนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติว่าในชั้นนี้ยังไม่ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหา เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานเพิ่มเติมที่ยืนยันชัดเจนต่อไปในภายหลังว่ามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์