นักวิชาการลงความเห็นล่าชื่อถวายฎีกาช่วยแม้วไม่ควร

เนื้อหาการเสวนา เรื่อง "เมื่อราษฎรถวายฎีกา : กฎหมายและระเบียบปฏิบัติ" ที่อาคารพินิตประชานาถ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม


นายธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษาและอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
 
ฎีกาในความหมายที่เป็นหนังสือยื่นเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ และฎีการ้องทุกข์ การถวายฎีกาจึงเป็นสายสัมพันธ์ที่ยึดโยงพระมหากษัตริย์กับประชาชนที่คงอยู่กับสังคมไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน เป็นช่องทางให้ผู้ต้องโทษอาญาได้ขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ช่องทางการถวายฎีกานี้ต้องไม่ใช่ศาลชั้นที่ 4 และการพระราชทานอภัยโทษจึงไม่ใช่การกลับคำพิพากษาของศาล


ผู้ที่ถวายฎีกาจะอ้างถึงคุณงามความดีในอดีตหรือการเจ็บป่วยทุกข์ยากต่างๆ กรมราชทัณฑ์จะทำหน้าที่รวบรวมและนำเสนอฎีกาของผู้ต้องขังให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ประมวลเรื่อง และทำความเห็นประกอบฎีกาต่างๆ ก่อนนำขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัยตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ และทุกครั้งที่เปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สำนักพระราชวังจะส่งเรื่องการถวายฎีกากลับมาให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาความเห็นประกอบเกี่ยวกับการถวายฎีกาอีกครั้ง

เฉพาะประเด็นพระราชอำนาจการอภัยโทษนั้น เป็นพระราชวินิจฉัย แต่อยากให้สังเกตไว้ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องอภัยโทษ เพราะวันนี้ยิ่งใกล้ตัว เหตุการณ์ยิ่งเข้มงวดกวดขันมากขึ้น ความเห็นส่วนตัวผม การเมืองนั้นควรแก้ปัญหาด้วยการเมือง การทำให้การเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันกับการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ เป็นประเด็นที่อยู่ในวิจารณญาณที่ทุกท่านต้องตรึกตรองให้รอบคอบ เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ในหลายเรื่อง ซึ่งเรื่องในทางการเมืองทั้งหลายเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ถ้าให้เขียนตำราที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้ว ไม่ควรจะให้สถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยที่จะตรึกตรอง

นายวีระ สมบูรณ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
 
ถ้าถามว่า การล่ารายชื่อถวายฎีกาทำได้หรือไม่ ตามความเห็นส่วนตัวของผม เมื่อฎีกาที่ยื่นเอาการร้องทุกข์และการอภัยโทษเข้ามาเกี่ยวข้องกัน โดยเฉพาะเกี่ยวกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกตัดสินคดีแล้ว ไม่ว่าจะพิจารณาอย่างไรก็ไม่สมควรกระทำ และในทางปฏิบัติ ถ้าไม่แน่ใจว่า การล่ารายชื่อถวายฎีกาทำได้หรือไม่ ขอแนะนำให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความตามมาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญ การยื่นดังกล่าว คือการตีความสิทธิเสรีภาพของผู้ยื่นว่าทำได้หรือไม่ ไม่เกี่ยวกับการอภัยโทษ


นายสุริชัย หวันแก้ว  อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
 
เรื่องถวายฎีกาจริงๆ แล้วใครๆ ก็มีสิทธิ แต่ก็มีหลักการ ไม่ใช่ใครทำตามอำเภอใจได้ ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องพวกมากลากไป หรือนับจำนวนว่า ฝ่ายไหนมากกว่า ถ้าตั้งโจทย์แบบนี้ สังคมจะป่นปี้จริงๆ เรื่องถวายฎีกาขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องสิทธิ แต่ถูกโยงมาเชิงการเมืองแล้ว ซึ่งกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาเล่นกัน เพราะการถวายฎีกาต้องอยู่บนพื้นฐานว่า มีความสุจริตใจหรือไม่ ถ้ายังอยู่ในสังคมการเมืองแบบคิดว่า นิรโทษกรรมเหมาเข่งแก้ปัญหาการเมืองได้ โกงก็ได้ต้องมีผลงาน แล้วเราจะเคารพประชาธิปไตยกันได้อย่างไร นี่คือภาวการณ์ติดหล่มของการเมือง สังคมไทยควรคุยเรื่องจะแก้ปัญหาความขัดแย้งกันอย่างไรมากกว่า 
  


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์