ประจวบโผล่ให้การดีเอสไอเมซไซอะเป็นตัวผ่านเงินให้แกนนำปชป. กลัวตายเปลี่ยนชื่อซุกตัวกับทหาร


ประจวบ สังข์ขาว โผล่ให้การเพิ่มดีเอสไอ เผย "เมซไซอะ" เป็นตัวผ่านเงินตามคำสั่งแกนนำปชป. กลัวเป็นอันตรายต่อชีวิตเปลี่ยนชื่อ ซ่อนตัวอยู่กับนายทหารนอกราชการ

"ประจวบ"ดอดให้ปากคำดีเอสไอ

ด้านความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนสำนวนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งให้ตรวจสอบการรับเงินบริจาคของ ปชป.จำนวน 258 ล้านบาท จาก บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ผ่านบริษัท เมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด ไปใช้ในการเลือกตั้งปี 2548 รวมทั้งการนำเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนในปี 2548 จำนวน 29 ล้านบาท ไปใช้จ่ายผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งจะครบกำหนดในสิ้นเดือนกรกฎาคม ก่อนที่ กกต.ชุดใหญ่จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อไปนั้น ล่าสุดนายประจวบ สังข์ขาว อดีตผู้บริหาร บริษัท เมซไซอะฯ ได้เข้าให้การกับพนักงานสอบสวนดีเอสไอ เพื่อให้ปากคำเพิ่มเติมอีกครั้ง และดีเอสไอได้สรุปการให้ปากคำของนายประจวบ ส่งมอบให้ กกต.แล้วเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ข่าวแจ้งว่า นายประจวบได้เปลี่ยนชื่อเป็น "คณาปติ" โดยให้เหตุผลว่า หลังจากมีชื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว หวั่นจะเกิดอันตรายต่อชีวิต และต้องหลบซ่อนตัวอยู่ในความดูแลของนายทหารนอกราชการคนหนึ่งตลอดเวลา

ทั้งนี้ นายประจวบให้การยอมรับว่า เป็นคนลงนามในการทำธุรกรรมเพียงคนเดียว พร้อมระบุว่า การโอนเงินของบริษัททีพีไอฯเข้ามายังบริษัท เมซไซอะฯ ไม่ใช่เป็นการทำธุรกรรมกับบริษัท แต่เป็นการอาศัยบัญชีของบริษัท เมซไซอะฯในการผ่านเงินไปยังแกนนำคนสำคัญของ ปชป.เท่านั้น

ยัน 9 สัญญาไม่ได้ทำธุรกรรม

นายประจวบยังยอมรับด้วยว่า บริษัททีพีไอฯทำสัญญาว่าจ้างบริษัท เมซไซอะฯ ในการจัดทำสื่อโฆษณาและที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ 8 โครงการ จำนวน 9 สัญญาจริง แต่มิได้มีการทำธุรกรรมจริงตามสัญญาว่าจ้าง เพราะไม่เคยรู้จักและไม่เคยประกอบธุรกิจร่วมกันกับบริษัททีพีไอ รวมทั้งนายประชัยมาก่อน แต่เหตุที่เข้าไปเกี่ยวข้องเพราะมีบุคคลที่เกี่ยวพันกับ ปชป.อย่างน้อย 2 คน เป็นผู้ติดต่อให้ดำเนินการ

"เช็คทุกฉบับที่สั่งจ่ายบริษัทเมซไซอะฯผมจะเป็นผู้เบิก ถอน โอนเงินออกไปให้แก่กลุ่มบุคคลต่างๆ ตามที่แกนนำ ปชป.กำหนด ซึ่งเงินส่วนใหญ่ไม่ได้นำมาใช้ในการดำเนินการตามสัญญาว่าจ้าง มีเพียงนำไปทำป้ายบิลบอร์ดบางส่วนเท่านั้น" นายประจวบกล่าวอ้างในคำให้การ

ข่าวแจ้งว่า จากเอกสารข้อสรุปของพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ที่มอบให้ กกต. ยังระบุด้วยว่า พบมีการทำธุรกรรมการโอนเงินให้กลุ่มบุคคลต่างๆ 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มนายประจวบและเครือญาติ จำนวน 12 คน มูลค่า 155,617,600 บาท กลุ่มที่ 2 กลุ่มบุคคลใกล้ชิดนายธงชัย คลศรีชัย และนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 2 คน มูลค่า 33,728,000 บาท และกลุ่มที่ 3 กลุ่มบุคคลใกล้ชิดนายนิพนธ์ บุญญามณี จำนวน 9 คน มูลค่า 46,404,620 บาท และกลุ่มสุดท้าย กลุ่มบริษัท ห้างร้าน และบุคคลที่ทำธุรกรรมกับบริษัท เมชไซอะฯ มูลค่า 42,515,705 บาท

ส่วนใหญ่แค่จัดทำป้ายให้

โดยนายประจวบยืนยันว่า กลุ่มที่ 1,2 และ 3 เป็นการโอนเงินไปตามคำสั่งของแกนนำ ปชป. โดยไม่มีการทำธุรกรรมจริงตามสัญญา ขณะที่กลุ่มที่ 4 มีการทำธุรกรรมจริงกับบริษัท เมชไซอะฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการจัดทำป้ายให้ ปชป.เป็นส่วนใหญ่

อนึ่ง กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อการเลือกตั้งปี 2548 ที่ ปชป.มีนายบัญญติ บรรทัดฐาน เป็นหัวหน้าพรรค นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เป็นเลขาธิการพรรค ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นรองหัวหน้าพรรค ซึ่งร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย นำมากล่าวหาพาดพิงระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วยว่า นายอภิสิทธิ์มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะเป็นคนหนึ่งที่เซ็นชื่อเพื่อรับรองงบดุลประจำปีของพรรค ที่ต้องเสนอต่อ กกต. ทั้งนี้ นางสดศรี สัตยธรรม กกต.เคยระบุไว้ว่า ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนด หากมีการใช้จ่ายเงินตามมาตรา 93 ที่ขอรับเงินบริจาคจากแหล่งที่มาโดยมิชอบ และตามมาตรา 94 เกี่ยวกับการรับเงินมาใช้เพื่อบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ เป็นมูลเหตุที่จะเสนอให้มีการยุบพรรคการเมืองนั้นได้

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์