รัฐบาล ใช้พ.ร.บ.มั่งคงรับถกอาเซียน ที่ภูเก็ต จัดกองกำลัง 3 เหล่าทัพ คุมเข้ม

นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 30 มิถุนายนว่าครม.อนุมัติหลักการประกาศพื้นที่อำนวยการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต และรัศมี 5 กิโลเมตรทะเล ระหว่างวันที่ 10-24 กรกฎาคมนี้ เพื่อรองรับการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศคู่เจรจา (พีเอ็มซี) และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) ระหว่างวันที่ 17-23 กรกฎาคมนี้ ที่ จ.ภูเก็ต ทั้งนี้ การประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯครั้งนี้ ถือเป็นการใช้ครั้งแรกนับแต่มีกฎหมายฉบับดังกล่าว


นายปณิธานกล่าวว่า จะมีการสนธิกำลังตำรวจ ทหาร พลเรือน เข้าดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ประกาศ

ส่วนจำนวนเท่าไหร่ กอ.รมน. จะเป็นผู้กำหนด รวมถึงการพิจารณาเตรียมความพร้อม การออกระเบียบคำสั่งข้อกำหนด ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ อาทิ การตรวจค้น ฯลฯ ซึ่งตามลำดับความรับผิดชอบ มีผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) คือนายกรัฐมนตรี รวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขสถานการณ์การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนกับประเทศผู้เจรจา


ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชวะ กล่าวว่า หน่วยงานด้านการรักษาความปลอดภัยประมวลข้อเท็จจริง และเสนอว่า ควรใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯเป็นเครื่องมือในการดูแลความปลอดภัยระหว่างจัดการประชุม

โดยเห็นว่าจะทำให้การใช้บุคลากรจากฝ่ายต่างๆ ครอบคลุม และมีอำนาจที่สามารถใช้ได้ตาม พ.ร.บ.นี้ในการสกัดกั้นไม่ให้เกิดเหตุการณ์ได้ ซึ่ง ครม.ได้เห็นชอบในหลักการ เพราะไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เหมือนที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี
"ส่วนการยกร่างประกาศและการใช้อำนาจตามกฎหมาย ได้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการรักษาความปลอดภัย แล้วคงจะเสนอตัวประกาศกลับมาให้ ครม.พิจารณาในวันที่ 9 กรกฎาคมนี้" นายอภิสิทธิ์กล่าว

เมื่อถามว่า ทุกประเทศที่จะเข้าร่วมประชุม ได้ตอบรับที่จะมาประชุมแล้วหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า "มีเพียงกรณีของประเทศเกาหลีเหนือ แต่ไม่ได้เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย โดยกำลังมีการประสานงานกันอยู่ เพราะเราอยากให้ 6 ประเทศที่อยู่ในการเจรจา 6 ฝ่าย สามารถมาร่วมการประชุมเออาร์เอฟที่เขาเป็นสมาชิกอยู่"

คุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปตรวจพิจารณาร่างประกาศและข้อกำหนดตามความใน พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ

เนื่องจากเนื้อหาที่ กอ.รมน.เสนอมายังมีความไม่ชัดเจน 3-4 เรื่อง คาดว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะพิจารณาเสร็จภายในสัปดาห์หน้า เพื่อให้ใช้ได้ทันในการประชุมที่ จ.ภูเก็ต ทั้งนี้ ยอมรับว่า ครม.มีความเป็นห่วง เรื่องการประกาศใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ


ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวยอมรับว่า ฝ่ายกองทัพเป็นผู้นำเสนอให้รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ

พ.อ.ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก แถลงผลการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (นขต.ทบ.) ว่าการประกาศให้ จ.ภูเก็ต เป็นพื้นที่ความมั่นคง จะใช้กลไก กอ.รมน.รับผิดชอบ ส่วนกำลังทหารจะใช้ทุกเหล่าทัพ ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ แบ่งโซนรับผิดชอบแต่ละหน่วย โดยมีกองทัพไทยเป็นผู้รับผิดชอบสั่งการหลัก

รายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลังคณะกรรมการกฤษฎีกา และ กอ.รมน.เสร็จสิ้นการยกร่างประกาศ และเสนอต่อ ครม.แล้ว กอ.รมน.จะต้องทำแผนเสนอ ครม.

ซึ่งขณะนี้ กอ.รมน.โดยความรับผิดชอบของ พล.ท.ดาวพงษ์ รัตนสุวรรณ เสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ ในฐานะผู้อำนวยการนโยบายและแผน กอ.รมน. กำลังร่างแผนอยู่ และการกำหนดรายละเอียดครั้งนี้ จะใช้เป็นแบบสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเดือนตุลาคมนี้ด้วย หากสามารถจัดการความปลอดภัยได้ดี โดยเบื้องต้นจึงมีการกำหนดรายละเอียด อาทิ การกันพื้นที่ควบคุมพิเศษ ระยะรัศมี 5 กิโลเมตร โดยวัดจากตัวโรงแรมที่ประชุม โดยสามารถออกเงื่อนไขควบคุมพิเศษได้ ในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง แก้ไขบรรเทา เช่น การห้ามเข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่ ห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด ห้ามพกพาอาวุธ ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะ ให้บุคคลงดเว้นการปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับเครื่องมือ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์