เอแบคโพลล์โค้งแรกเลือกตั้ง ทรท.หล่นวูบเหลือ36.7%

กรุงเทพธุรกิจ

18 สิงหาคม 2549 17:21 น.
เอแบคประเมินสถานการณ์การเลือกตั้ง โค้งแรก ระบุคนจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งประมาณ 79.6% โดยพรรคไทยรักไทยวูบเหลือ 36.7% รองลงมาประชาธิปัตย์ 24.4% และชาติไทย 9.7%

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจประเมินสถานการณ์การเลือกตั้ง โค้งแรกของการแข่งขันในทรรศนะของสาธารณชน โดยศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้ง 32 จังหวัดทุกภาคของประเทศทั้งในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาล จำนวนทั้งสิ้น 8,647 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1- 17 สิงหาคม 2549 ที่ผ่านมา พบว่า เมื่อสอบถามถึงการติดตามข่าวการเมืองช่วง 30 วันที่ผ่านมาก่อนวันสำรวจ พบว่า ร้อยละ 51.9 ติดตามเป็นประจำอย่างน้อย 3 วันขึ้นไปต่อสัปดาห์ ในขณะที่ร้อยละ 29.9 ติดตาม 1-2 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 12.7 ติดตามน้อยกว่า 1 วันต่อสัปดาห์หรือบางสัปดาห์ไม่ได้ติดตาม และร้อยละ 5.5 ที่ไม่ได้ติดตามเลย


สำหรับผลสำรวจความคิดเห็น กรณีเหตุการณ์ที่ลดทอนความศรัทธาเชื่อถือของประชาชนต่อรัฐบาล เมื่อถามและเปิดกว้างให้ประชาชนตอบเองนั้น ผลสำรวจพบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 35.6 ระบุเป็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองและความแตกแยกของคนในสังคม อันดับสองหรือร้อยละ 31.4 เป็นเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสินค้าราคาสูงขึ้น ร้อยละ 29.3 ระบุเป็นเรื่องการทุจริต คอรัปชั่น ร้อยละ 27.4 ระบุข่าวการแทรกแซงวุฒิสภาในการเลือก กกต. และ ปปช. ร้อยละ 23.8 ระบุเป็นเรื่องการไม่ระมัดระวังคำพูดของนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 20.9 เป็นเรื่องการไม่ได้ทำตามนโยบายปราบปรามทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 18.5 ระบุปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และร้อยละ 17.2 ระบุปัญหาความสงสัยคนใกล้ชิดนายกรัฐมนตรี


สำหรับความคิดเห็นของตัวอย่างต่อผลงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ได้รับความศรัทธาเชื่อถือจากประชาชน นั้นพบว่า ตัวอย่างร้อยละ 51.7 ระบุการแก้ไขปัญหายาเสพติด รองลงมาคือร้อยละ 34.0 ระบุการปราบปรามผู้มีอิทธิพล ร้อยละ 19.2 ระบุการแก้ปัญหาความยากจน ร้อยละ 14.6 ระบุการเปิดสนามบินสุวรรณภูมิ และร้อยละ 11.9 ระบุโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ตามลำดับ

ดร.นพดล กล่าวว่า ความคิดเห็นของประชาชนต่อเหตุการณ์ที่ลดทอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในทุกประเด็น เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจของเอแบคโพลล์ในครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ข่าวการแทรกแซงวุฒิสภาในการเลือก กกต.และ ปปช. เป็นข่าวที่ประชาชนระบุเป็นเหตุการณ์ที่ลดทอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ที่มีสัดส่วนมากเป็นอันดับ 4 รองจาก ความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ตามลำดับ ในขณะที่ผลงานที่ได้รับความศรัทธาจากประชาชนนั้น พบว่ามีสัดส่วนที่ไม่แตกต่างกับครั้งที่แล้วมากนัก โดยพบว่าผลงานที่มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นมีเฉพาะผลงานในเรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติด และการเปิดสนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้น


นอกจากนี้ เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นของประชาชนต่อความตั้งใจไปเลือกตั้ง ถ้ามีการเลือกตั้งในวันนี้ พบว่าสัดส่วนประชาชนผู้ตั้งใจจะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละ 79.6 ในขณะที่ร้อยละ 12.5 ระบุไม่ไป และร้อยละ 7.9 ระบุไม่แน่ใจ


สำหรับพรรคการเมืองที่ตั้งใจจะเลือก หากมีการเลือกตั้งในวันนี้ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 36.7 ระบุจะเลือกพรรคไทยรักไทย ในขณะที่ร้อยละ 24.4 ระบุ ตั้งใจจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 9.7 ระบุ เลือกพรรคชาติไทย ร้อยละ 6.0 ระบุเลือกพรรคอื่นๆ

อย่างไรก็ตามผลสำรวจพบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.7 ระบุ ไม่เลือกพรรคใดเลย (NO Vote) และร้อยละ 14.5 ยังไม่ตัดสินใจ


ดร.นพดล กล่าวว่า เมื่อพิจารณาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของประชาชนจากผลสำรวจครั้งก่อนหน้านี้ กับผลสำรวจในครั้งนี้ของเอแบคโพลล์ พบข้อมูลที่ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า คนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่ได้ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกพรรคการเมืองใดหรือไม่ และเมื่อพิจารณาดูสถานการณ์ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนต่อผลงานของรัฐบาลโดยพรรคไทยรักไทยและผลกระทบ พบว่า สัดส่วนของประชาชนที่นึกถึงผลกระทบในทางลบต่อความศรัทธาเชื่อถือต่อรัฐบาลในเกือบทุกเรื่อง เช่น ปัญหาความแตกแยกของคนในสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ข่าวการแทรกแซงการเลือกสรร กกต. และปปช. ในวุฒิสภา เป็นต้น สถานการณ์เช่นนี้หากยืดเยื้อต่อไปเชื่อว่าจะกระทบต่อความเชื่อถือและไว้วางใจของประชาชนต่อพรรคไทยรักไทยลงไปอีก แนวทางที่น่าจะกระทำได้คือการเสนอให้คนอื่นขึ้นมาแทน พ.ต.ท.ทักษิณ เช่น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ยังคงได้รับการสนับสนุนจากคนในเมืองอยู่ในขณะนี้ ก็จะเป็นการซ่อมแซมจุดอ่อนของพรรคไทยรักไทยได้ โดยพรรคไทยรักไทยครองใจคนนอกเขตเทศบาลด้วยนโยบายและ ส.ส.เขต ในขณะที่คนในเมืองกำลังขยายวงต่อต้านพรรคมากขึ้นเรื่อยๆ การนำเสนอนายสมคิด อาจทำให้ผลการเลือกตั้งชนะแบบถล่มทลายหรืออาจถูกลดจำนวนที่นั่งลง แต่ก็จะดีกว่าปล่อยไว้แบบนี้ที่อาจทำให้พรรคไทยรักไทยกลายเป็นแชม์ปที่ถูกโค่นได้

ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคอื่นๆ คงต้องทำงานหนักเพื่อเสนอแนวนโยบายพร้อมกับกิจกรรมบางอย่างที่เป็นรูปธรรมเพื่อแย่งพื้นที่ฐานเสียงนอกเขตเทศบาล เพราะในเขตเมืองน่าจะได้รับการสนับสนุนเพียงพอระดับหนึ่งแล้ว ดังนั้น พรรคการเมืองอื่นๆ ที่ไม่ใช่พรรคไทยรักไทยควรทำงานรณรงค์มุมกว้างด้วยนโยบาย และมุมแคบลึกด้วยผู้สมัคร ส.ส.เขต บนพื้นฐานการต่อสู้ทางการเมืองด้วยสันติวิธีตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข ดร.นพดล กล่าว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์