ฮุน เซนเสียใจรบ.จะร้องทบทวนพระวิหารเป็นมรดกโลก

เว็บไซต์ของสำนักข่าวซินหัวของจีนรายงาน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ถึงท่าทีสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา

กรณีรัฐบาลไทยเตรียมยื่นคัดค้านต่อคณะกรรมการมรดกโลก ให้ทบทวนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ด้วยเหตุผลภายหลังการขึ้นทะเบียนแล้วปรากฏ มีความขัดแย้งระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นว่า  สมเด็จฮุน เซน กล่าวแสดงความเสียใจที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่ให้ยื่นทบทวนดังกล่าว โดยต้องการให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารร่วมกันระหว่างไทยและกัมพูชา


"ผมคิดว่าคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีไทยเป็นสิ่งที่กระทบต่อสันติสุขของประเทศอื่น" สมเด็จฮุน เซน กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่กระทรวงต่างประเทศกัมพูชาในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา และว่า "ผมรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งต่อความคิดเห็นและความมุ่งหมายของเขา (นายกรัฐมนตรีไทย) โดยขณะที่เขาเดินทางเยือนกัมพูชาเมื่อวันศุกร์ที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา เขาก็ไม่ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดคุยกับผมเลย แต่ผมคิดว่าความต้องการของเขาไม่น่าจะประสบความสำเร็จ ประการแรก สิ่งที่เราจะต้องพูดถึงคือคำตัดสินของศาลโลกที่กรุงเฮก เมื่อปีค.ศ.1962 ที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารและที่ดินบริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ประการที่ 2 คณะกรรมการมรดกโลกขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา (ในวันที่ 7 กรกฎาคมปีค.ศ.2008) "ฮุนเซน กล่าว

ขณะที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ง
แวดล้อม (ทส.)
 

หัวหน้าทีมผู้แทนรัฐบาลไทยที่จะเดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 33 ที่เมืองเซบิญา ประเทศสเปน ระหว่างวันที่ 22-30 มิถุนายนนี้ แถลงว่า จะเดินทางไปเมืองเซบิญาวันที่ 19 มิถุนายนนี้ เนื่องจากต้องเจรจานอกรอบกับประเทศสมาชิกของคณะกรรมการมรดกโลก ยูเนสโกก่อน โดยเฉพาะตัวประธานคณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก และตัวประธานในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งเป็นตัวแทนจากประเทศสเปน เพื่อแสดงให้ทราบว่า การที่คณะกรรมการมรดกโลกยินยอมให้ปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น เป็นการกระทำที่ผิดธรรมนูญ หรือกฏปฏิบัติที่ทั้งยูเนสโก และคณะกรรมการมรดกโลกบัญญัติขึ้นหลายข้อ


"โดยเฉพาะวัตถุประสงค์ของการตั้งยูเนสโก ข้อสำคัญคือ ต้องการส่งเสริมให้เกิดสันติภาพขึ้นในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสันติภาพระหว่างประเทศที่มีพรมแดนติดกัน การตัดสินใจให้ปราสาทพระวิหารสามารถขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้นั้น นอกจากผิดประเด็นที่ไม่มีองค์ประกอบหลักที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ คืออาณาบริเวณโดยรอบซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญแล้ว  ยังทำให้ 2 ประเทศที่มีพรมแดนติดกัน เกิดปัญหาความขัดแย้ง มีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งขัดกับวัตถุประสงค์ของยูเนสโกชัดเจนมาก" นายสุวิทย์ กล่าว

นายสุวิทย์กล่าวว่า การเตรียมพร้อมสำหรับการไปเจรจาในครั้งนี้

นอกจากนี้ได้ขอข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแสดงให้ที่ประชุมเห็นว่า หลังจากประกาศให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแล้ว มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นที่พรมแดนไทยกัมพูชา โดยเฉพาะ  ก่อนประกาศ บริเวณดังกล่าวเคยเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ทุกคนสามารถขึ้นไปเที่ยวชมได้ แต่หลังจากนั้น ไม่มีใครเข้าไปในบริเวณดังกล่าวได้อีก


"แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เราไม่ได้ประท้วงกัมพูชา แต่เราจะไปคัดค้านยูเนสโก ที่สำคัญคือ เราจะไปบอกประเทศสมาชิกว่า ผลการประกาศนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งแทนที่จะทำให้เกิดความสงบ สมัครสมาน รักใคร่กัน เราจะบอกพร้อมกับแสดงหลักฐานประกอบอย่างชัดเจน และผมคิดว่าคณะกรรมการจะเชื่อและเห็นใจเรา" นายสุวิทย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า บทสรุปของการที่คณะกรรมการจะรับฟัง หรือไม่รับฟังสำหรับการคัดค้านครั้งนี้ของประเทศไทยจะออกมาอย่างไร นายสุวิทย์ กล่าวว่า ยังไม่คิด เพียงแต่ประเทศไทยทำตามสิทธิคือ

การทักท้วงหากไม่ได้รับความถูกต้องเป็นธรรม ที่สำคัญคือ ที่ผ่านมายังไม่เคยมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ
ด้านนายอดุล วิเชียรเจริญ ที่ปรึกษาคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก กล่าวว่า มติครม.ดังกล่าวเป็นข้อสรุป ที่ได้จากการประชุมของกรรมการมรดกโลกของไทย ซึ่งเห็นตรงกันว่า ไทยควรมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับมติของคณะกรรมการมรดกโลก  ไม่ว่าจะเป็นการแสดงท่าทีทั้งการจะไปพูด หรือการยื่นหนังสือในที่ประชุมครั้งนี้

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์