อภิสิทธิ์ร่ายยาวกลางสภาแจงงบฯ53 1.7ล้านล้านบาท ชู8ยุทธศาสตร์

หมายเหตุ : นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงคำประกอบร่าง  พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำ พ.ศ.2553 จำนวน 1.7 ล้านล้านบาท ต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการประชุมสมัยวิสามัญ
 
---------------------------------------
 
รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง พร้อมๆ กับการสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ ปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ สนับสนุนการบริหารบนหลักการของความพอเพียงมุ่งประสิทธิภาพและโปร่งใส โดยร่าง พ.ร.บ.นี้ได้กำหนดวงเงินให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามแนวทางของนโยบายรัฐบาล 2 ประการ

ประการแรก การสร้างความเชื่อมั่นและการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ อาทิ ด้านการท่องเที่ยว แรงงาน การสร้างหลักประกันรายได้แก่ผู้สูงอายุ การรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรและการให้ประชากรวัยเรียนมีโอกาสได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี เป็นต้น

ประการที่สอง การสร้างเสถียรภาพอย่างยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจและสังคมไทยตลอดจนสร้างความพร้อมเพื่อการแข่งขันในเวทีโลก ครม.ตระหนักดีว่ารัฐบาลต้องทำงานแข่งขันกับเวลาเพื่อให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ยังคงมีอยู่และต้องให้ความสำคัญกับการบริหารงานและบริหารเงินงบประมาณแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส โดยภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2552 และปีนี้หดตัวลงถึงร้อยละ 7.1 ต่อเนื่องมาจากไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ซึ่งหดตัวร้อยละ 4.2 เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกถดถอยเป็นวงกว้างและรุนแรงได้ส่งผลกระทบในการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังฟื้นตัวได้ช้า เนื่องจากรายได้ของครัวเรือนมีแนวโน้มลดลง มีการหดตัวของภาคการผลิตในหลายสาขาดโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างและการท่องเที่ยว


ส่วนภาคเกษตรมีการขยายตัวเพียงเล็กน้อย แม้ว่ามีการผลิตพืชหลักเพิ่มขึ้น แต่ราคาสินค้าเกษตรลดลงมากตามราคาในตลาดโลก

ในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่สูง สำหรับช่วงที่เหลือของปี 2552 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีขึ้นและสามารถกลับมาขยายตัวได้ในไตรมาสสุดท้าย ส่วนในปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.0 ถึง 3.0 อัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 0 ถึง 1 โดยแรงกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและการส่งออก การระดมทุนจากแหล่งต่างๆ เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ของรัฐบาล คาดว่าจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะสั้นควบคู่ไปกับการมีรากฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งในระยะยาว ในปีงบฯปี 2553


ทั้งนี้ รัฐบาลประมาณการว่าจะมีรายได้สุทธิเพื่อนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาลจำนวน 1 ล้าน 3 แสน 5 หมื่นล้านบาท ภายใต้นโยบาย 6 ประการ ประกอบด้วย

1.ดำเนินนโยบายขาดดุลโดยคำนึงถึงกรอบความยั่งยืนทางการคลัง การควบคุมสัดส่วนยอดหนี้สาธารณะคงค้างต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศและสัดส่วนภาระหนี้ต่อวงเงินงบประมาณรายจ่ายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ของประเทศ
2.ทบทวนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่ไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2552 ถึง 2554 และแผนบริหารราชการอย่างจริงจัง
3.เร่งรัดเพิ่มประสิทธิภาพการบริการจัดการเพื่อลดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ
4.กำหนดรายจ่ายลงทุนในระดับที่เหมาะสมเพื่อสมทบกับรายจ่ายลงทุนที่สำคัญ
5.สนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดในจำนวนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ด้านการคลังของประเทศและ
6.เร่งรัดการถ่ายโอนภารกิจให้ท้องถิ่นตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้กรอบนโยบาย


นโยบายทั้ง 6 ข้อ รัฐบาลได้กำหนดวงเงินไว้ 1.7 ล้านล้านบาท โดยกำหนดนโยบายขาดดุลงบประมาณ 350,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

ทั้งนี้ ฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2552 มีจำนวนทั้งสิ้น 88,903 ล้านบาท สำหรับนโยบายการเงินนั้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 เป็นต้นมา ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงอย่างรวดเร็วจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้แรงกดดันด้านราคาปรับลดลง ส่วนวิกฤตการณ์การเงินโลกก็เริ่มส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจจริงในประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลายจึงมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมาตั้งแต่ธันวาคม 2551 ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนเมษายน 2552 โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 3.75 เป็น ร้อยละ 1.25 ต่อปี สำหรับฐานะเงินของประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี ปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2552 อยู่ที่ระดับ 121,498.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 4 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น


ทั้งนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลในการจัดเก็บรายได้ของรัฐต่ำกว่าเป้าหมายที่เคยประมาณการเอาไว้

ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 2553 จึงกำหนดวงเงินเอาไว้ทั้งสิ้นจำนวน 1.7 แสนล้านล้านบาท เป็นนโยบายงบประมาณขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิจำนวน 1.35 แสนล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีกจำนวน 3.5 แสนล้านบาท วงเงินงบประมาณดังกล่าวจำแนกเป็นรายจ่ายประจำจำนวน 1.436 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 84.5 ของวงเงินงบประมาณ มีรายจ่ายลงทุนจำนวน 2.12 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12.5 ของวงเงินงบประมาณ และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของวงเงินงบประมาณ


การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 นี้ รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณไว้จำนวน 8 ยุทธศาสตร์ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความเชื่อมั่นและการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 144,591.4 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.5 ของวงเงินงบประมาณเพื่อดำเนินการในเรื่องสำคัญๆ อาทิ เสริมสร้างความสมานฉันท์ ความสามัคคีของคนในชาติและปฏิรูปการเมือง โดยสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, การแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ โดยมีแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นยุทธศาสตร์หลัก, การฟื้นฟูและเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจโดยดำเนินมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการให้การความสำคัญกับการสร้างภาพลักษณ์และยกระดับความเชื่อมั่นของประเทศไทยในสายตาชาวต่างประเทศ,  การขับเคลื่อนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงการเร่งด่วนและเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งมวลชนให้มีความสะดวก อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การรักษาความมั่นคงของรัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบฯ ไว้ 173,192 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.2 เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ เทิดทูนและพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์

ยุทธศาสตรที่ 3 การพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต รัฐบาลได้จัดงบประมาณไว้ทั้งสิ้น 506,640.2 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 29.3

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริหารจัดการเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายได้การบริหารเศรษฐกิจมหภาคให้มีความเจริญเติบโตอย่างมีเสถียรภาพภายใต้กรอบการสร้างความยั่งยืนทางการเงิน การคลัง ตลาดทุนและเศรษฐกิจภาพรวมทั้งสิ้น 158,707.7 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 9.3


ยุทธศาสตร์ที่ 5 การบริหารจัดการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวนทั้งสิ้น 29,719.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.8

ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม รัฐบาลได้จัดสรรงบฯไว้ทั้งสิ้น 11,960.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.7

ยุทธศาสตร์ที่ 7 ยุทธศาสตร์การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ รัฐบาลได้จัดสรรงบฯ ไว้ทั้งสิ้น 7,357.7 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ  0.4

ยุทธศาสตร์ที่ 8 การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี รัฐบาลได้จัดสรรงบฯ เพื่อบริหารจัดการภาครัฐ ส่วนราชการ จังหวัดและกลุ่มจังหวัด องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและสนับสนุนการบริหารงานของรัฐสภา ศาล และองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 241,228.3 ล้านบาท คิดเป็น 14.2 ล้านบาท


สำหรับรายการค่าดำเนินการภาครัฐทั้งสิ้น 426,602.5 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 25.1 จำแนกเป็น งบฯสำหรับรองรับเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดหมายกรณีฉุกเฉินจำเป็นจำนวน 39,333.1 ล้านบาท การบริหารบุคลากรภาครัฐจำนวน 172,873.7 ล้านบาท และการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐจำนวน 214,395.7 ล้านบาท

รัฐบาลขอยืนยันในความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและจะพยายามดำเนินการทุกวิถีทางที่จะแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศทุกด้าน โดยเฉพาะผลกระทบในด้านคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนที่เกิดขึ้นจากสภาพวิกฤตทางเศรษฐกิจขณะนี้ ซึ่งรัฐบาลจะยึดถือหลักการใช้จ่ายของแผ่นดินให้เกิดผลดีแก่ประชาชนและประเทศชาติต่อไป
 
---------------------------

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์