สึนามิเศรษฐกิจ-การเมือง ย่างก้าวอันตรายรบ.มาร์ค

รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ นำโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ทำงานมาประมาณ 5 เดือน ปรากฏว่ายิ่งนานวันยิ่งเดินลำบาก

เพราะปัญหาต่างๆ รุมเร้าเข้ามาแบบพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก

จากหนึ่งเป็นสอง สองเป็นสี่ สี่เป็นแปด กลายเป็นดินพอกหางหมู

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหลักคือ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบมายังประเทศไทย โดยล่าสุด ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีไตรมาสแรกมีอัตราการเติบโตลดลงติดลบ 7.1% และมีแนวโน้มติดลบทั้งปีอยู่ที่ 3-4%

หมายความว่า การส่งออกก็ไม่ได้ การนำเข้าปัจจัยการผลิตก็น้อย การบริโภคภายในประเทศซบเซา นำไปสู่ปัญหาการผลิตและการจ้างงาน กิจการภายในประเทศที่มีการปลดลดคนงานอย่างต่อเนื่อง เกิดปัญหาการว่างงานรุนแรง ส่งผลถึงคุณภาพชีวิตของคนกลายเป็นปัญหาสังคมตามมา

รัฐบาลพยายามแก้ปัญหายกแรกด้วยการยัดเงินให้ไปอยู่ในมือคน กระตุ้นการบริโภค เพื่อพลิกฟื้นชีพจรของธุรกิจ ตั้งแต่เดือนเมษายน วงเงิน 1.67 แสนล้านบาท

แม้ดูแล้วจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง แต่ผลที่ออกมาอาจไม่ได้อย่างที่รัฐบาลประมาณการ

อย่างไรก็ดี ตอนนี้ยังวัดอะไรไม่ได้มาก เพราะเงินพึ่งจะลงไปต้นไตรมาสที่ 2

แถมแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยงบประมาณมหาศาล วงเงิน 1.56 ล้านล้านบาท ช่วง 3 ปี ที่จะตามมายกสองจำนวน 7 หมวด ส่วนใหญ่เน้นไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นเรื่องระยะยาว เห็นผลช้าและไม่รู้ว่าการลดต้นทุนดังกล่าวจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มรายได้ของประเทศได้จริงหรือไม่ ที่บอกว่าจะสร้างงานได้ 1. 6 ล้านตำแหน่ง ก็เป็นตัวเลขลอยๆ ที่สื่อไม่ชัดว่า เกิดจากอะไร

จนสุดท้ายน่าเป็นห่วงว่าเงินและกระแสจะหายไปตามสายลม

ส่วนทางด้านปัญหาทางการเมืองก็เกิดความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลเข้าไปอีก โดยเฉพาะโครงการระบายข้าวค้างสต๊อค และโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน ที่พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจเบรกจน 2 รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยหัวทิ่ม เนื่องจากพบเงื่อนงำอะไรบางอย่าง

ส่วนศึกภายในพรรคก็ใช่ย่อย มีแรงกระเพื่อมอยู่เนืองๆ ในการจัดสรรตำแหน่งทางการเมือง ขณะที่ปัญหาทางการเมืองในระดับสังคมการเมืองไทยก็ยังมีคนจำนวนมาก ฮึ่มๆ ต่อต้านรัฐบาลอยู่ แม้จังหวะนี้อยู่ในช่วงการพักรบก็ตาม

แต่รัฐบาลก็เลือกที่จะเน้นแก้ปัญหาทางการเมืองมากกว่า เพราะกระทบถึงความมั่นคงของการดำรงอยู่ของรัฐบาลโดยตรง

อันที่จริงจะว่าไปพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นรัฐบาล 2 ครั้งหลังสุด ก็มักประสบชะตากรรมเช่นนี้เสมอคือ โดนทุบจากพิษเศรษฐกิจและโดนบีบทางการเมือง ซึ่งผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ สองคนสองยุค ก็เดินในแนวทางเดียวกัน

นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เคยเตือนไว้เมื่อปลายไตรมาสแรกว่า...

"...ถ้ารัฐบาลนี้จะตกม้าตาย ก็คงมาจากปัจจัยเรื่องการเมืองและปัญหาคอร์รัปชั่น ซึ่งเรื่องคอร์รัปชั่นเวลานี้อาจจะยังไม่เห็นชัด เนื่องจากยังไม่มีโครงการใหญ่ออกมา แต่สิ่งที่เห็นได้ในขณะนี้คือ การทำโครงการตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณผ่านโครงการต่างๆ ต้องไม่ให้มีลักษณะการแบ่งเค้กเกิดขึ้น..."

แต่วันนี้เราพบว่า การแก้ปัญหาทางการเมืองดังกล่าวพัวพันกับการใช้งบประมาณ และ "เค้ก" จึงเป็นคำถามว่า รัฐบาลจะบริหารการเมืองหรือบริหารประเทศ

ถ้าจะบริหารการเมืองก็เป็นการบริหารคนประมาณ 5,000 คน ขณะที่การบริหารประเทศ คือคน 63 ล้านคน ซึ่งวันนี้มีปัญหาความขัดแย้งทางชนชั้น ที่เป็นผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วง 40-50 ปี ทำให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำสูง มองเห็นได้ชัดเจนในเรื่องรายได้และความเป็นอยู่ของผู้คน รวมถึงความเหลื่อมล้ำเรื่องศักดิ์ศรี ก็เป็นปัญหาใหญ่มาก

ใครเป็นนายกฯ คงตอบเหมือนกันว่า อย่างหลัง

แต่ความยากของรัฐบาลนี้อยู่ที่สภาพที่มาของรัฐบาลด้วย ยิ่งเป็นรัฐบาลผสมเสียงปริ่มๆ แต่ละย่างก้าวของรัฐบาลจึงยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง

เพราะหากเดินไม่ได้อย่างสมดุลทั้งสองด้าน หมายความว่า พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ได้เป็นรัฐบาลไปอีกนาน

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์