ลุ้นผู้หญิงนั่งแซมกกต เติมเต็มระบอบปชต.แบบตัวแทน

มติชน

ที่มา - บทความเรื่อง "ทำไมควรมีผู้หญิงเป็น กกต.?" โดยนางเรืองรวี พิชัยกุล เกตุผล แห่งกลุ่ม WeMove ซึ่งเป็นกลุ่มผู้หญิงที่ผลักดันให้มีการปฏิรูปการเมืองโดยส่งเสริมสิทธิสตรีให้มีบทบาทในการเมืองเพิ่มขึ้น นำเสนอเพื่อให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ พิจารณาประกอบ

ขณะที่สังคมกำลังตั้งตารอคอยด้วยความคาดหวังที่สูงยิ่ง ว่ากรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่นี้จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการทะลวงปัญหาวิกฤตชาติ เมื่อผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า ขบวนผู้หญิงกับการปฏิรูปการเมือง (WeMove) ได้ออกมารณรงค์ต่อสาธารณะและสื่อต่างๆ ขอโอกาสให้ผู้หญิงได้รับการพิจารณาสรรหาเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งด้วย ก็อาจทำให้หลายคนมีคำถามตามมาทันทีว่า "ทำไม กกต.ต้องมีผู้หญิง" และตามมาด้วยความเห็นอกเห็นใจทำนองว่า "ผู้หญิงก็ดีอยู่หรอก แต่งานนี้มันหินนะ ต้องเก่งจริงๆ ต้องแม่นกฎหมาย ต้องเด็ดขาด น่าจะเอาไว้ไปทำงานอื่นดีกว่าไหม ฯลฯ"

คำถามนี้ไม่น่าประหลาดใจแต่อย่างใด เพราะการมองเห็นภาพหญิงชายในลักษณะภาพเหมารวมเป็นเรื่องไม่ธรรมดาที่กลายเป็นธรรมดาของแทบทุกสังคมมานานแล้ว เช่น ผู้ชายมีความเป็นผู้นำตัดสินใจเด็ดขาด เจ้าชู้ ชอบเที่ยวกลางคืน ขณะที่ผู้หญิงมักจะเชื่อคนง่าย ใจอ่อน อ่อนโยน ละเอียดรอบคอบ ฯลฯ

ทั้งที่ถ้าถามกันจริงๆ ผู้ชายที่เชื่อคนง่าย ใจอ่อน ทำงานละเอียดรอบคอบและเป็นคนอ่อนโยน มีหรือไม่ ก็คงมีเท่าๆ กับที่มีผู้หญิงที่กล้าตัดสินใจ เป็นผู้นำ เจ้าชู้ ชอบเที่ยวกลางคืน หรืออีกนัยหนึ่ง นิสัย บุคลิกภาพ หรือพฤติกรรมเหล่านี้น่าจะเป็นเรื่องของบุคคล อันเกิดมาจากกระบวนการหล่อหลอมทางสังคมมากกว่าเป็นคุณลักษณะโดยกำเนิดประจำเพศ

ในกรณีการสรรหา กกต. เมื่อหญิงและชายมีคุณสมบัติตามกำหนดในรัฐธรรมนูญ และเป็นที่ประจักษ์ว่ามีสติปัญญาความรู้ความสามารถเหมาะสมต่อตำแหน่งหน้าที่เช่นเดียวกัน ก็ไม่ควรถูกกีดกั้นด้วยภาพเหมารวมทางเพศดังกล่าวข้างต้น

อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ควรลืมว่าการที่สังคมส่วนใหญ่ยังคาดหวังบทบาทของหญิง-ชายแตกต่างกันเช่นอยากมีลูกสาวที่อ่อนหวานน่ารักเพื่อมาดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า ไม่เป็นส้วมหน้าบ้าน และมีลูกชายเพื่อเป็นผู้สืบสกุล ก็ทำให้หญิงและชายได้รับการอบรมเลี้ยงดูและวางหน้าที่ความรับผิดชอบไว้แตกต่างกัน ทั้งในครอบครัว โรงเรียนและสื่อต่างๆ จากประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน จึงส่งผลให้หญิงและชายมีความสนใจ มุมมองและวิธีการจัดการปัญหาแตกต่างกันด้วย

แล้วทำไมเราไม่เอาข้อดีของทั้งหญิงและชายมาทำให้งานและองค์กรสมบูรณ์รอบด้านยิ่งขึ้น!!!! นอกจากนี้ ในระดับประเทศและสังคมโดยรวมเช่นประเทศไทย ซึ่งมีการปกครองและบริหารโดยระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) หลักการ "การเป็นตัวแทน" ถือเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญและสะท้อนอยู่ในระบบต่างๆ ของกฎหมายรัฐธรรมนูญหลายแห่ง อาทิ ในระบบการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งก็ถือเป็นตัวแทนของประชากรจากเขตพื้นที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งแต่ละพรรคส่งได้ไม่เกิน 100 ชื่อ ก็ได้กำหนดให้ชื่อในบัญชีต้องมาจากภูมิภาคต่างๆ อย่างเป็นธรรม เพื่อยืนยันหลักการเป็นตัวแทนจากภูมิภาค

หลักความเป็นตัวแทนนี้ ยังเห็นได้ชัดในรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ซึ่งสะท้อนหลักความเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสต่างๆ กล่าวคือได้เปิดโอกาสให้กลุ่มเด็ก สตรีและคนชราหรือคนพิการ ได้มีส่วนพิจารณาร่างกฎหมายที่มีสาระเกี่ยวกับตนเอง โดยกำหนดให้กรรมาธิการวิสามัญมีผู้แทนหนึ่งในสามในการออกกฎหมาย

และที่เกี่ยวเนื่องกันอย่างสำคัญคือในมาตรา 30 และ 80 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร รวมทั้งสนธิสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบที่ประเทศไทยให้สัตยาบันแล้ว ล้วนมีสาระสำคัญส่งเสริมให้ผู้หญิงมีโอกาสเท่าเทียมกับผู้ชายในทุกมิติ ทั้งทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรม

จึงน่าประหลาดใจว่ากับหลักการ "การเป็นตัวแทน" ของความแตกต่างในเชิงพื้นที่ ภาค หรือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสนั้น คนในสังคมมักไม่ตั้งคำถาม ทว่าการที่ประเทศเรามีกลุ่มคนที่ใหญ่ที่สุดอยู่สองเพศ และอันที่จริงมีผู้หญิงมากกว่าผู้ชายอยู่เกือบล้านคน กลับได้รับคำถามเสมอว่าทำไมต้องมีผู้หญิง

สุดท้าย อย่าลืมว่า กกต.ชุดนี้มีอายุการทำงานประมาณ 2 ปี หลังจากจัดการเลือกตั้งในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า งานสำคัญที่รออยู่ก็คือการปรับปรุงและพัฒนางานของ กกต. โดยเฉพาะการให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นสาระสำคัญประการหนึ่งของ กกต.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 327 ที่เคยดำเนินไปอย่างคึกคักในสมัย กกต.รุ่นที่ 1 ซึ่งช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการและตรวจสอบการเลือกตั้งอย่างเข้มแข็ง

และเมื่อถึงเวลานั้นเราก็คงอยากได้ กกต.ที่เป็นสัญลักษณ์ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมโดยมีตัวแทนของทั้งหญิงชาย เพื่อช่วยผสมผสานทั้งด้านมุมมองและความสามารถในการจัดการการเลือกตั้ง ซึ่งท้ายที่สุดก็คือประโยชน์สูงสุดของชาติและคนไทยทั้งมวลมิใช่หรือ

รายชื่อผู้หญิงที่สมัครชิง กกต.

*น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล ผู้พิพากษาอาวุโสศาลจังหวัดนนทบุรี

*นางจิระวรรณ ศิริบุตร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

*นางสดศรี สัตยธรรม ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

*นางสุธีรา วิจิตรานนท์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท วีเทรนอินเตอร์เนชั่นแนลเฮ้าส์ จำกัด

*นางมาลี พฤกษพงศาวลี อจ.นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์