มาร์คปัดพรรคร่วมกดดันแก้รธน.ยันจุดยืนตรงกัน

เมื่อเวลา 16.10 น.วันนี้ (6 พ.ค.)ที่รัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกระแสข่าวพรรคร่วมรัฐบาลกดดันพรรคประชาธิปัตย์ ให้แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 237

ไม่มีเรื่องกระแสกดดัน ทุกพรรคมีจุดยืนหรือมีความคิดของตัวเองอยู่แล้วและแต่ละพรรคทราบดีว่าขณะนี้ ต้องไปอยู่ที่คณะกรรมการที่รัฐสภาตั้งขึ้น ที่มีการอ้างถึงพรรคชาติไทยพัฒนานายชุมพล ศิลปอาชา รมว.ท่องเที่ยวฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา พูดมาแต่ไหนแต่ไรว่า พรรคชาติไทยพัฒนามีจุดยืนในเรื่องมาตรา 237 ชัดเจนอยู่แล้ว แต่จะไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ถือว่าเป็นการทำงานในฐานะพรรคการเมือง

"วันนี้ไปเขียนกันต่างๆนาๆว่า หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯไปตกลงตกปากรับคำว่า จะทำเรื่องแก้มาตรานั้นมาตรานี้ ผมยืนยันไม่มี ที่จริงพูดกันชัดในภาพรวมว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญกับการปฏิรูปการเมืองจะทำเพื่อให้ระบบมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ดังนั้นไม่มีประเด็นที่ต้องไปวิตกกังวลห่วงใยว่า ได้ไปตกลงกันตอนตั้งรัฐบาล เพราะจะเห็นว่าพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลมีจุดยืนที่แตกต่างกันในมาตราเดียวกันด้วยซ้ำ มีประเด็นเดียวที่ผมเคยพูดไว้ตั้งแต่วันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญก่อนเลือกตั้งด้วยซ้ำว่า รัฐธรรมนูญจำเป็นต้องแก้ไขก็ยึดถือคำพูดนั้น ซึ่งตรงกับวันนี้คือต้องการแก้ให้ระบบมันสมบูรณ์ที่สุดในแง่ของความเป็นประชาธิปไตยและความเป็นธรรม"นายกรัฐมนตรี กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในเสียงคัดค้านมีการเสนอให้มีการทำประชาพิจารณ์หรือประชามติก่อน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเสนอไปยังคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาว่า ควรจะต้องเปิดกระบวนการในการทำงานแก้ให้กว้าง ให้ประชาชนมีส่วนร่วม

ไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ในการทำประชาพิจารณ์หรือประชามติ ขึ้นกับคณะกรรมการที่จะประชุมนัดแรกในวันที่ 7 พ.ค.ที่จะมีการวางกรอบการทำงานต่อไป การทำประชาพิจารณ์หรือประชามติว่า ควรแก้หรือไม่ควร แก้ก่อนหรือไม่นั้นทำได้ แต่เท่าที่ประเมิน คิดว่า คนไม่ได้ขัดข้องว่าจะแก้หรือไม่แก้ มันขึ้นกับว่าจะแก้เรื่องอะไร แก้แล้วจะเป็นการแก้เพื่อประโยชน์อะไร หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่อาจต้องไปสำรวจกันว่า เหตุและผลในการแก้มีเพียงพอประชาชนยอมรับได้หรือไม่ ถ้าตนเดาคือ ส่วนใหญ่ยอมรับได้ที่จะแก้แต่ปัญหาคือ ส่วนใหญ่ที่ยอม รับอาจจะมองไม่ตรงกันว่าควรจะแก้ตรงไหน การทำประชามติหรือประชาพิจารณ์ควรถามหนเดียวไปเลยว่าจะแก้อะไรบ้างงบ 2 พันล้านบาทควรใช้หนเดียว เพราะถ้าไปทำสองครั้งก็ 4 พันล้านบาทอย่าไปทำสองหนเลย

ต่อข้อถามว่า มองผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนระบุ นักการเมืองเป็นฝ่ายที่ทำร้ายประเทศมากที่สุดอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า นักการเมืองเป็นจำเลยสังคมมาตลอด

ตนเป็นนักการเมืองมา 17 ปีก็เป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องที่เราต้องพยายามทบทวนและแก้ไขปรับปรุง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองถ้านัก การเมืองไม่ไปมีส่วน ปัญหาคงไม่ลุกลามบานปลาย แต่จะเหมารวมว่านักการเมืองทุกคนเป็นปัญหาคงไม่ใช่ แต่คิดว่านักการเมืองไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าไม่มีบทบาทแก้ไข เพราะการเมืองเป็นชนวนของความขัดแย้งมา

เมื่อถามว่า แต่ประเด็นที่พรรคการเมืองเสนอที่จะแก้รัฐธรรมนูญมาส่วนใหญ่เพื่อประโยชน์ นักการเมืองเองจะทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างไร

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เคยชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ต้องให้ความเป็นธรรม กับนักการเมืองเหมือนกัน บางเรื่องที่พูดแล้วดูเหมือนเป็นการช่วยนัการเมือง แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ ต้องหาความพอดี ตัวอย่างเช่นมาตรา 265 , 266 , 267 เห็นด้วย ไม่ควรให้นักการเมืองที่เป็น ส.ส.ไปแทรกแซงงาน ที่ความจริงเป็นความรับผิดชอบของราชการ แต่ถ้าเขียนจนทำให้นักการเมืองไม่สามารถเอาความเดือดร้อนของประชาชนมาผลักดันให้มีการแก้ไขได้เลยก็คิดว่า ไม่สมกับสิ่งที่ประชาชน คาดหวังจากผู้แทนปวงชนชาวไทย มันต้องหาความพอดี แต่ถ้าจะไปสรุปว่าใครที่คิดแก้ในมาตราเหล่านี้แก้เพื่อนักการเมืองตนว่า ไม่ใช่ แต่ต้องดูว่าแก้อย่างไรถ้าแก้จนกระทั่งไปแทรกแซงโยกย้าย แต่งตั้ง กอบโกยงบประมาณเข้าตัวเอง อย่างนั้นตนไม่เห็นด้วย แต่ที่เขียนอยู่ในปัจจุบัน ตนว่ามีข้อจำกัดมากสำหรับส.ส.ในการทำงานคือทำอย่างไรให้ส.ส.สามารถปฏิบัติ หน้าที่ของส.ส.ที่ดีได้แต่ไม่ให้ไปแทรกแซงอำนาจฝ่ายบริหาร

ผู้สื่อข่าวถามว่า สำหรับมาตรา 265 , 266 , 267 , 237 และ 190 มีข้อโต้แย้งกันมากว่ามาตราไหนควรไม่ควรแก้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มาตราเหล่านี้มีข้อโต้แย้งกันมาก

สำหรับมาตรา 190 คิดว่าควรแก้ไขเพื่อทำความชัดเจน โดยไม่ต้องให้เป็นปัญหาร้องมาถึงศาลรัฐธรรมนูญ หน่วยราชการอยากทำตามมาตรา 190 อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่รู้จริงๆว่าอะไรเข้ามาตรา 190 วรรคสอง ทุกคนก็คิดว่าปลอดภัยไว้ก่อน แล้วส่งทุกเรื่องเข้าสภา ซึ่งถ้าจะแก้คงไม่ได้แก้ในเรื่องการให้สภามีส่วนร่วมแต่แก้ให้มีความชัดเจน ปฏิบัติได้ง่ายมีประสิทธิภาพควบคู่ความโปร่งใส ส่วนมาตรา 237 นั้น เป็นเรื่องที่ต้องพูดกันยาว เพราะมีตั้งแต่ประเด็นการยุบพรรคไปจนเรื่องการเพิกถอนสิทธิ รวมถึงขอบเขตเรื่องการรับผิดชอบของกรรมการบริหารพรรคที่ต้องหาความพอดี มาตรานี้ ถ้าพรรคการเมืองจงใจหลบเลี่ยงในขณะนี้ก็แทบไม่มีความหมาย เพราะบางพรรคการเมืองในขณะนี้เอาคนที่ไม่มีบทบาทจริงๆมาเป็นกรรมการบริหารพรรค กลายเป็นว่าพรรคที่จะถูกลงโทษหรือมีความเสี่ยงจะถูกลงโทษจะเป็นพรรคที่ทำงาน ตรงไปตรงมาเท่านั้น มันจะไม่สมประโยชน์กับคนที่ร่างก็ต้องมาคิดกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไปแก้เพื่อให้ซื้อเสียงง่ายขึ้นถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่เห็นด้วย

นายกรัฐมนตรี? กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นเรื่องการนิรโทษกรรม ขณะนี้ไม่เห็นว่ามีประเด็นนี้ที่จะแก้ เข้าใจว่าเป็นการมองไปที่การแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปตามระบบ

ส่วนแก้แล้วมีผลตีความทางกฎหมายเป็นคุณหรือโทษล่วงหน้าหรือย้อนหลังอย่างไร ต้องมาพิจารณากันเผื่อจะต้องมาเขียนบทเฉพาะกาล ซึ่งก็ต้องมีความชัดเจน แต่การจะออกเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นการเฉพาะขณะนี้คิดว่าไม่มี เมื่อถามว่า นายกฯจะพูดให้เกิดความสบายใจได้หรือไม่ ว่าจะไม่แก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์นักการเมือง นายอภิสิทธิ์ ตอบว่า มันต้องมาพิสูจน์ที่ผลของงานขั้นสุดท้าย ถ้าจะไปพูดวันนี้จะมีสิทธิที่จะไม่เชื่อกันอีก แต่สุดท้ายถ้าแก้เพื่อตัวเองอย่างไรก็ไม่ผ่านไปไม่รอด และไม่เฉพาะรัฐบาลแต่จะไปไม่รอดด้วยกันทั้งหมด เพราะนักการเมืองก็มีอยู่เท่านี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้พูดคัยกับนายชุมพลบ้างหรือไม่ ว่าเหตุใดมีข่าวว่าพรรคชาติไทยพัฒนาออกมากดดันประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า นายชุมพลพูดกับตนหลายครั้งแล้วว่า เป็นความเห็นเฉพาะตัว

และจะไม่เอาประเด็นเหล่านี้มาเป็นปัญหากับรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ฟังความเห็นทุกพรรค เมื่อถามว่า มีการมองว่าพรรคประชาธิปัตย์ ส่งนายบัญญัติ บรรทัดฐาน สมาชิกสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ออกหน้ามาตีกันพรรคร่วมในประเด็นแก้ รัฐธรรมนูญ นายอภิสิทธิ์หัวเราะก่อนตอบว่า เราจะไปเก่งอะไรขนาดนั้น เมื่อถามว่า จะเป็นต้องนัดทำความเข้าใจกับพรรคร่วมหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ ตอบว่า ให้ฝ่ายนิติบัญญัติทำงานไปก่อน เพราะเรายังไม่รู้ว่าประเด็นจะออกมาเป็นอย่างไร ถ้าทำงานแล้วไม่มีปัญหาก็ไม่มีปัญหา ถ้ามีปัญหาก็มาคุยกัน

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์