อภิสิทธิ์ สั่งสภาพัฒน์เจาะตัวเลขเศรษฐกิจ

วันนี้ (29 เม.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.)

ได้สั่งให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปเจาะดูให้ได้ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจภายในที่ได้รับกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีผลต่อประเทศไทยว่ามีความรุนแรงแค่ไหน ภายหลังจาก ครม.เศรษฐกิจได้รับทราบตัวเลขด้านต่างๆ เช่น การเงิน การคลัง ภาวะแรงงาน ท่องเที่ยว และผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยขณะนี้ตัวเลขการว่างงานและการลาออกจากงาน ที่เป็นข้อห่วงใยอันดับหนึ่งของรัฐบาล พบว่าในเดือน มี.ค.มีทิศทางที่ดีขึ้นจากเดือน ก.พ. และจะจับตาดูตัวเลขเดือน เม.ย.ต่อไป ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการที่กระทรวงแรงงานพยายามทำความเข้าใจให้ผู้ประกอบการชะลอการเลิกจ้าง แต่ไม่สามารถทำได้เสมอไปหากพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น ขณะที่ตัวเลขด้านการผลิต ภาคส่งออกและนำเข้ายังหนักอยู่ ยกเว้นสินค้าอิเลคทรอนิคส์ที่เริ่มมีตัวเลขดูดีขึ้นมาบ้าง

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีทิศทางสรุปที่ชัดเจน เพราะอาจเป็นเพราะสต๊อกเดิมหมด รัฐบาลจึงยังไม่ปักใจแ ละจะติดตามสถานการณ์อย่างไม่ประมาท

นายกฯ กล่าวเพิ่มว่า ในการประชุม ครม.วันที่ 6 พ.ค.จะมีการพิจารณารายละเอียดของการตัดงบประมาณประจำปี 2553 ลงเหลือ 1.7 ล้านล้านบาทว่าจะมีการตัดโครงการใดออกไปบ้าง

ซึ่งในส่วนงบที่เป็นค่าใช้จ่ายประจำหลีกเลี่ยงไม่ได้และมีความผูกพันธ์ต้องมาอันดับแรก แต่งบประมาณโครงการใดที่ไม่สอดคล้องสถานการณ์รัฐบาลก็ต้องถูกตัดออกไป ส่วนเงินลงทุนจะดูเบื้องต้นก่อน โดยโครงการที่ผูกพันธ์มากก็จะเดินหน้าต่อ และจะดูโครงการใหม่ตามนโยบายรัฐบาล ด้วยโดยงบลงทุนที่อยู่ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ที่จะมีวงเงินลงทุน 1.56 ล้านล้านบาท ระหว่างปีงบประมาณ 2553-2555 จะต้องมาพิจารณาความชัดเจนของงบประมาณลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ และที่มาของเงินอีกที ซึ่งสัปดาห์หน้าจะได้ข้อยุติทั้งหมด

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า เมื่องบประมาณและการจัดเก็บรายได้ลดลง จะต้องพิจารณาหาแหล่งเงินอื่น และพิจารณาถึงการออกกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลจะไม่แก้กฎหมายหลัก

แต่จะทำเหมือนหลายครั้งในอดีตที่มีการออกกฎหมายให้อำนาจรัฐบาลในการกู้เงิน เช่น ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจครั้งที่แล้วก็มีการออกกฎหมายให้อำนาจรัฐบาลกู้เงินในปี 2545 ก็มีออกกฎหมายให้รัฐบาลกู้เงิน ที่จะต้องกำหนดวงเงินและกรอบเวลาให้ชัดเจน อีกทั้งมีความตั้งใจของในส่วนโครงการลงทุน และที่ทำเพื่อการพัฒนา ต้องให้สภาได้เห็นรายละเอียดของโครงการต่างๆ ด้วย สำหรับขั้นตอนอยู่ในกฎหมายได้มอบหมายให้คณะกรรมการกฏษฎีกาไปพิจารณาดู ว่าทำในรูปแบบใดระหว่างการออกเป็นพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) และการออกเป็นพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) แต่การออก พ.ร.ก.จะทำได้กรณีฉุกเฉินหรือเร่งด่วนเท่านั้น ซึ่งต้องดูความจำเป็นเร่งด่วนฉุกเฉินมากน้อยแค่ไหน ซึ่งในงบลงทุน 1.56 ล้านล้านบาทนั้น จะไม่ใช่เงินกู้ทั้งหมด ส่วนหนึ่งเป็นงบประมาณ อีกส่วนให้เอกชนร่วมทุน

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์