แม้วขุดทองไลบีเรีย ตร.ไทยล่า เผยทุ่มล้านดอลล์


รอยเตอร์เผยแม้วพบปะหารือรองประ ธานาธิบดีขอขุดทอง ในไลบีเรียเล็งลงทุน 3 ธุรกิจใหญ่สำรวจก๊าซธรรมชาติ เหมืองแร่และด้านการเกษตร ขณะที่ตำรวจไทยก็เตรียมไล่ล่าจับตัวเช็กข้อมูลไลบีเรียเป็นสมาชิกตำรวจสากลหรือไม่ จากนั้นจะประสานขอให้จับกุมทันที ด้านอภิสิทธิ์เสนอสภาตั้งกรรมการสอบเหตุการณ์สลายม็อบเสื้อแดง เรียกร้องทุกพรรคร่วมกันเสนอความเห็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยืนยันพร้อมตัดสินใจ แต่ไม่ใช่ยุบสภาตอนนี้ อ้างต้องแก้กติกาที่ไม่เป็นธรรมก่อน ภท.ฉับไวชง 5 ประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ เลือกตั้งเขตเดียวเบอร์เดียว ยุบพรรคต้องไม่เชือด ยกเข่ง

มาร์คแจงสภา-มาโดยวิถีปชต.

เวลา 00.15 น. วันที่ 24 เม.ย. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงในที่ประชุมร่วมรัฐสภาว่า ขอขอบคุณสมาชิกทุกคนที่แสดงความเห็น เสนอข้อมูล แม้หลายครั้งทำให้เกิดความขัดแย้ง ตนถือว่าสะท้อนความรู้สึกและสภาพปัญหาสังคม ทั้งนี้ตนขออธิบายการทำงานของรัฐบาลอีกครั้ง ตนพูดชัดว่าพรรคอันดับ 1 มีสิทธิ์จัดตั้งก่อน ถ้าจัดตั้งไม่ได้ก็อีกเรื่อง ที่จริงพรรคประชาธิปัตย์และพลังประชาชนห่างเพียง 1 แสนคะแนนจาก 30 ล้านเท่านั้น และพรรคพลังประชาชนไม่ได้เสียงข้างมากเด็ดขาด ส่วนพรรคอื่นที่เคยร่วมแนวทางกันมาแล้วไปร่วมกับพลังประชาชน ตนไม่ติดใจ

นายกฯ กล่าวว่า เมื่อพรรคพลังประชาชนถูกยุบ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สภาเลือกนายกฯคนใหม่ ในต่างประเทศปกติเมื่อพรรคอันดับ 1 บริหารแล้วมีปัญหา ส.ส.มีสิทธิ์ตัดสินใจ เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย ถามว่าตนสบายใจในที่มาในสภาวะแบบนี้หรือไม่ ตนตอบชัดว่าถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้น แต่เป็นมติของสภาแล้ว ตั้งใจทำงานพิสูจน์ให้ทุกคนเห็น ยืนยันว่า 3 เดือนที่ผ่านมาไม่ได้เลือกปฏิบัติ ไม่ได้ช่วยเฉพาะกลุ่มที่ช่วยเหลือตนเอง แต่มีการสร้างกระแสว่ารัฐบาลนี้ไม่ให้ความสำคัญกับคนจน แต่ข้อเท็จจริงคือรัฐบาลนี้ใช้งบประมาณเพื่อแก้ปัญหาคนจน ส่วนการวิจารณ์ว่าให้สิทธิพิเศษแก่กองทัพ สามารถดูได้ว่าตนปฏิบัติไปอย่างเสมอหน้า

เสนอตั้งกก.สอบสลายม็อบ

นายกฯ กล่าวว่า การประกาศพ.ร.ก.ครั้งนี้ ตนกำชับตำรวจ ทหาร มีเป้าหมายรักษากฎหมาย หยุดสภาวะจลาจล ไม่มีเป้าหมายสลายการชุมนุมที่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ใช้กฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นใดเพื่อประโยชน์ทางการเมือง เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ได้คุยกับส.ส.และต่อสายถึงแกนนำการชุมนุมภาคเหนือ ตนยืนยันไม่มีการเอากฎหมายไปไล่ล่ากวาดล้าง เพราะทราบดีว่าถ้ามีการกระทำไม่เหมาะสมหรือมีคนเสียชีวิต มันย้อนกลับมาแน่ จึงซักซ้อมความเข้าใจหลายหน เพื่อแสดงความจริงใจว่าไม่คิดทำร้ายประชาชน ทุกคืนต้องมีรายงานว่า ผู้ชุมนุมที่ทำเนียบฯมีเท่าไหร่ ทุกคืนมีประชุมและตัดสินใจว่าไม่สลายการชุมนุม แม้มีเหตุบางคืน มีคนซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ไปยิงทหาร ผู้นำทหารมาถามว่าถ้าเกิดเหตุอีก จะยิงตอบโต้ได้หรือไม่ ตนให้นโยบายทันทีว่า ไม่ได้และให้อดทน และให้นโยบายให้สื่อเฝ้าสังเกตการณ์ได้ มีการตรวจสอบรายงานต่างๆทันที เช่น เมื่อกล่าวหาว่ามีคนตาย และผมยังประกาศชัดว่า ถ้ามีอะไรนอกนโยบาย พร้อมให้ตรวจสอบ สอบสวน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สองวันที่ผ่านมามีสมาชิกเสนอข้อมูลว่ามีคนตาย มีการปฏิบัติการรุนแรง ตนชี้แจงไป แต่ถือว่าที่เสนอมาล้วนเป็นข้อมูล ฉะนั้นขอเสนอว่าให้ประธานสภา ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เอาข้อมูลความแคลงใจมาพิสูจน์ให้ความจริงปรากฏ ตรงนั้นจะเป็นตัวพิสูจน์ จะเป็นธรรมกับตน รัฐบาล และฝ่ายค้าน ขอรบกวนวิป 3 ฝ่าย ปรึกษาประธานว่า องค์ประกอบกรรมการชุดนี้จะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ดี ตอนนี้ยังเสียใจที่ยังกล่าวหาว่ารัฐบาลสร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิดความเกลียดชัง ยืนยันว่าเสียงปืนที่เกิดที่มหาดไทย เกิดเมื่อตนอยู่ในรถ 15 นาที และยิงขึ้นฟ้า เพื่อให้ตนออกมาจากมุมอับได้ และรอดออกไปได้ ขอยืนยันว่าไม่คิดทำร้ายใครและไม่อยากให้ใครทำร้ายใคร ภาพที่ออกมาช่วงที่มีเหตุ ตนรู้สึกทุกข์ แต่ต้องนำกฎหมายกลับสู่สังคมให้ได้

เชิญชวนทุกพรรคร่วมแก้รธน.

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนข้อกล่าวหาเรื่องสองมาตรฐาน ตนก็ให้ความสำคัญ มีรัฐธรรมนูญบางมาตราที่ทุกพรรคมองว่ามีปัญหา ตนบอกว่ายินดีดำเนินการ แต่ก่อนหน้านี้ตนเคยเสนอว่าควรให้คนกลางทำ เพราะเกรงว่าถ้านักการเมืองทำกันเอง มันจะเกิดปัญหาเหมือนปีที่แล้ว ส่วนเรื่องคดีความ หลายเรื่องไม่ได้เกิดช่วงรัฐบาลนี้ แต่มารวมว่ารัฐบาลนี้ทำอยุติธรรม ตนพยายามทำให้เสมอหน้ากันทุกคดี คดีแรกที่ตนเข้ามาและก็เชิญผบ.ตร.มาหารือคือยิงแท็กซี่วิภาวดีซอย 3 ที่จัดการได้เลย เพราะไม่ซับซ้อน แต่ยอมรับว่าคดีที่ช้าคือ คือยึดทำเนียบฯและสนามบิน ส่วนคดีของเสื้อแดง เมื่อมีผู้ชุมนุมประกาศจะเดินหน้าต่อ ทำให้มีการคัดค้านการประกัน

"ส่วนข้อเสนอยุบสภาแล้วทุกอย่างจะแก้ไขได้ ผมคิดว่าไม่เป็นอย่างนั้น 1.ถ้ายุบสภาวันนี้ ยังใช้กติกาซึ่งหลายคนบอกไม่ยอมรับ แล้วถ้ามีทุจริตและยุบพรรคอีก จะยิ่งซ้ำเติมปัญหา 2.การเลือกตั้งจะเป็นทางออก เมื่อทุกพรรคไปหาเสียงได้ทุกที่โดยปราศจากความรุนแรง ฉะนั้นต้องปรับสภาพความขัดแย้งทางการเมืองตรงนี้ก่อนเลือกตั้ง ดังนั้นจึงเชิญทุกพรรคและส.ว. เสนอความเห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตราใดไม่ยุติธรรม แล้วประธานสภาและวิป 3 ฝ่าย มาร่วมตัดสินใจว่าจะเดินอย่างไรต่อ จะเอาให้สถาบันพระปกเกล้าหรือสภาเดินเอง หรือไปประชาพิจารณ์ ประชามติ ผมรับได้ทั้งสิ้น วันนั้นถ้ามีกติกาที่ตกลงร่วมกันแล้วแล้วจะให้ยุบสภา ผมก็ยินดี" นายกฯ กล่าว

ไม่สนใจว่าจะอยู่นานแค่ไหน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนการยกเลิกพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ตนขอประกาศยกเลิกตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.เป็นต้นไป ยืนยันว่าผู้ที่ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่ควรไปจับฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก. แต่ถ้าใครยุยงให้ไปเผา ไปฆ่า อันนั้นเป็นความผิดอาญา เมื่อยกเลิกพ.ร.ก.แล้ว การควบคุมตัวตามพ.ร.ก.ก็สิ้นสุดลงด้วย เพื่อให้บรรยากาศสงบ ไม่ได้ต้องการกวาดล้าง แต่ทางกลับกันต้องขอด้วยว่าการเรียกร้องต้องเป็นไปตามสิทธิ์ และขอความกรุณาว่า 1. การปกป้องสถาบันกษัตริย์ เมื่อทุกคนอภิปรายยืนยันความจงรักภักดี ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นการจาบจ้วงหรือแอบอ้างทุกฝ่ายต้องยุติ ส่วนการรณรงค์ปกป้องสถาบัน ต้องไม่มีสี ซึ่งทำความเข้าใจกับเจ้ากระทรวงที่ทำโครงการแล้ว ส่วนการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสถาบัน ต้องให้มีขอบเขตชัดเจน

นายกฯ กล่าวว่า 2.เรื่องความรุนแรง ยังมีแกนนำบางคนคือนายจักรภพ เพ็ญแข ให้สัมภาษณ์บีบีซีว่าจะใช้อาวุธ หรือแกนนำบางคนพูดถึงแผนการใช้ความรุนแรง ฉะนั้นขอให้ทุกคนหันมาส่งเสียงร่วมกันว่าไม่รับ ถ้าออกจากกรอบสองข้อนี้ได้แล้ว การแสดงความเห็น การชุมนุม ทุกฝ่ายจะทำได้อย่างสบายใจ และร่วมกันแก้กติกาที่ไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ตนไม่เคยให้ความสำคัญว่าจะอยู่ในตำแหน่งนานแค่ไหน เพราะเมืองไทยมีคนเก่งคนดีเยอะ เราต้องไม่สำคัญตนว่า เราเท่านั้นจึงจะทำตรงนี้ตรงนั้นได้ และตนยึดว่าเมื่อเข้ามาทำหน้าที่อะไรต้องทำให้ดีที่สุด

จากนั้นนายชัยได้ปิดประชุมเวลา 01.15 น. รวมใช้เวลาอภิปราย 2 วันประมาณ 30 ชั่วโมง

ลั่นตัดสินใจตามสถานการณ์

เวลา 11.20 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกลุ่ม 40 ส.ว.ท้วงติงการให้อำนาจส.ส.และส.ว.แก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจขัดกับหลักของกฎหมายรัฐธรรมนูญว่า ส.ว. สะท้อนความเห็นได้ ส่วนที่นายสุจิต บุญบงการ ลาออกจากประธานคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองนั้น ตัวสถาบันพระปกเกล้ายังอยู่ และสถาบันยังยืนยันจะเดินหน้า

ต่อข้อถามว่านายกฯเชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญกับการนิรโทษกรรม จะแก้ปัญหาทางออกให้ประเทศได้ใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าการแก้เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาธิปไตยมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น มันเป็นคำตอบที่สำคัญสำหรับคนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ส่วนจะทำให้สมบูรณ์ขึ้นหรือมีประเด็นใดบ้าง อยู่ระหว่างการรวบรวมประมวล

ผู้สื่อข่าวถามว่าตอนนี้กลายเป็นว่านักการเมืองเป็นคนรวบรวมข้อมูลเอง จะทำให้สังคมคลางแคลงใจหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เริ่มต้นจากตรงนี้ เราต้องยอมรับว่าถ้านักการเมืองไม่เอาด้วยกับกระบวนการก็เดินต่อยาก เพราะนักการเมืองเป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เมื่อนักการเมืองเห็นด้วยก็ต้องขยายวงชวนคนอื่นมาเดินด้วย รับฟังซึ่งกันและกัน ต่อข้อถามว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ถูกมองว่ารัฐบาลซื้อเวลา นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องซื้อเวลา ตนต้องการเปิดทางออกให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้

"ถ้าผมมีความจำเป็นต้องตัดสินใจทางการเมืองเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ผมไม่ได้มาบอกว่าผมจะไม่ทำในช่วงปีนี้หรือปีหน้า ถ้าจำเป็นต้องตัดสินใจทางการเมือง ผมก็เหมือนเดิม ตัดสินใจไปตามสถานการณ์" นายกฯ กล่าว

ต้องแก้กติกาให้เป็นที่ยอมรับ

เมื่อถามว่าทำไมไม่คืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจ นายกฯ กล่าวว่า หลักการคืนอำนาจในขณะนี้จะเป็นปัญหา ถ้าเลือกตั้งวันนี้มีคนที่ไม่ยอมรับและบอกว่ากติกาที่ใช้ไม่เหมาะสม มีปัญหาเกิดขึ้น คดีซื้อเสียงยุบพรรคเกิดขึ้นมาก็ทำให้วิกฤตหนักขึ้นอีก ต้องมาดูแลเอากติกาที่ทุกคนยอมรับลงไปเล่น คิดว่าใช้เวลาไม่นานในการหาข้อยุติที่จะไม่ซ้ำเติมสภาวะประชาธิปไตย เมื่อถามว่าจะมีการยุบสภาต่อเมื่อเรามีกฎหมายที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าแก้กฎหมายให้เป็นธรรมและทุกคนยอมรับ ก็เป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความปรองดองได้อย่างชัดเจน

ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐบาลจะอยู่ครบปีหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า "ผมทำหน้าที่อย่างดีที่สุด คิดว่าสังคมอยากเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้า แต่เราจะไปกำหนดล่วงหน้าว่ารัฐบาลจะต้องอยู่หรือไม่อยู่ ผมว่าไม่เหมาะสม เพราะเป็นเรื่องตามกลไกของระบอบประชาธิปไตย" เมื่อถามว่านายกฯเองก็ยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ขณะนี้ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ใช่ไม่มั่นใจ แต่จะให้มานั่งประกาศ จะกลายเป็นจุดสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งขึ้นมา อะไรที่ดีสำหรับประเทศก็ทำตามนั้น

เมื่อถามว่าแนวโน้มที่จะไปมากกว่าอยู่ใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่ขอวิเคราะห์ เพราะจะถูกหยิบยกกลายเป็นเงื่อนไขเกิดความขัดแย้ง ต่อข้อถามว่ายังมีปัจจัยให้รัฐบาลทำงานต่อไปได้ นายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้ตนทำงานต่อเนื่อง งานสำคัญเดินต่อเนื่องไม่มีหยุด ส่วนการแก้ปัญหาความแตกแยกทางความคิดนั้น ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาปลุกให้ทุกฝ่ายตื่นตัวมากขึ้นว่าขณะนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะปล่อยผ่านไปได้และไม่ใช่เรื่องของฝ่ายใด แต่ทุกคนต้องช่วยกันเดินหน้าไปได้ ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติต้องทำหน้าที่ส่วนหนึ่ง ฝ่ายบริหารต้องใช้กลไกต่างๆให้เป็นประโยชน์เอื้อต่อกระบวนการ

ไม่เลือกปฏิบัติ-ขอเวลาพิสูจน์

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หลังสิ้นเดือนนี้หรือกลางเดือนหน้าเป็นต้นไป มาตรการหลายอย่างจะเห็นผลชัดเจนยิ่งขึ้น รัฐบาลนี้ไม่เคยเลือกปฏิบัติไม่ว่าพื้นที่ กลุ่มคน เวลาจะเป็นตัวพิสูจน์ ส่วนการลงพื้นที่ต่างๆ คงต้องรอให้อุณหภูมิเย็นลงและทุกฝ่ายต้องปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ เป็นเป้าหมายจะนำไปสู่ขั้นตอนการหาทางออกทางการเมือง เพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้

เมื่อถามถึงข้อเสนอของนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ให้ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 และเขียนบทเฉพาะกาลว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 19 ก.ย.2549 ให้ถือว่าไม่มีความผิด นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวเท่าที่ฟังดูคืองดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรูปแบบหนึ่งที่เสนอไปยังคณะกรรมการได้ ไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์จากกระบวนการที่ทำอยู่ ส่วนที่ยังเป็นห่วงว่าสังคมไทยกำลังร้าวลึกนั้น รัฐบาลพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการให้แตกร้าวมากกว่านี้ โดยเชิญทุกคนเข้ามาร่วมมือกัน

อ้าง"สาธุคุณแจ๊กสัน"ชื่นชม

ก่อนหน้านี้เวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล สาธุคุณเจสซี่ แจ๊กสัน นักเรียกร้องสิทธิมนุษยชนชาวอเมริกัน เข้าเยี่ยมคารวะนายอภิสิทธิ์ ซึ่งนายกฯชี้แจงถึงสถานการณ์ทางการเมืองไทยและกล่าวถึงการยกเลิกพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในวันนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจ พร้อมกล่าวขอบคุณที่สหรัฐเข้าใจรัฐบาลไทยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์ ไม่ได้วิจารณ์ในแง่ลบ รวมทั้งได้ประณามความรุนแรงของฝ่ายผู้ก่อการจราจล ทั้งนี้ รัฐบาลไทยจะแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างดีที่สุดโดยยึดหลักกฎหมายและความชอบธรรม

นายกฯ กล่าวถึงทางออกทางการเมืองว่า รัฐบาลไทยจะใช้หน่วยงานที่เป็นกลางทางการเมืองมาเป็นตัวกลางปฏิรูปทางการเมือง คิดว่าสถาบันพระปกเกล้าน่าจะมีความเหมาะสมที่สุด ซึ่งสาธุคุณเจสซี่ แจ๊กสัน ให้กำลังใจและเสนอให้รัฐบาลไทยดึงคนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด

เมื่อถามว่าสาธุคุณเจสซี่ แจ๊กสัน ได้สอบถามถึงข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมว่ามีความชอบธรรมหรือไม่ นายกฯตอบว่า รัฐบาลนี้เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นและเห็นด้วยกับผู้ชุมนุมใน 2 ประเด็น คือการแก้รัฐธรรมนูญกับการที่เขาไม่ได้รับความเป็นธรรมในบางเรื่อง ซึ่งการแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เน้นหลักกฎหมายและความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยมีแนวทางดำเนินการ 3 ขั้นตอนได้แก่ 1.เร่งฟื้นฟูชื่อเสียงของประเทศไทยในสายตาชาวโลก รวมถึงการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนและประเทศคู่เจรจา 2.การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.ผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเมืองและแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งทั้งหมดนี้จะใช้เวลาดำเนินการ 1 ปี โดยจะผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างดีที่สุดและเร็วที่สุด

นอกจากนี้สาธุคุณ เจสซี่ แจ๊กสันได้แสดงความประทับใจและกล่าวชื่นชมว่ามีความคล้ายคลึงกับประธานาธิบดีโอบามา เนื่องจากเคยมีประสบการณ์ชีวิตในต่างประเทศ ทำให้มีวิสัยทัศน์กว้าง มีแนวทางและกรอบการทำงานที่ชัดเจน

ภูมิใจไทยพร้อมร่วมแก้รธน.

เวลา 10.00 น.ที่พรรคภูมิใจไทย ถ.พหลโยธิน มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 1 มีนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค เป็นประธานในที่ประชุม เพื่อหารือเกี่ยวกับพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ตามมาตรา 28 และมาตรา 47 โดยมีกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรค อาทิ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รองหัวหน้าพรรค นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรค เข้าประชุมอย่างพร้อมเพรียง

นายชวรัตน์ กล่าวตอนหนึ่งว่า เพิ่งผ่านพ้นเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ที่ไม่ค่อยสนุก เพราะมีปัญหายุ่งยากในบ้านเมืองเกิดขึ้นพอดี มีวิกฤตหลายอย่าง จากการอภิปรายในสภา 2 วันที่ผ่านมา คงได้เห็นอย่างละเอียดทั้งภาพ วิดีโอ คำพูด คำอธิบายซึ่งไม่เคยมีมาก่อนที่นำวิดีโอแบบสงครามจลาจล มาฉายในสภา

เวลา 10.00 น. นายบุญจง กล่าวถึงจุดยืนของพรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เรายืนยันเสมอมาตั้งแต่เป็นเพื่อนเนวิน จนถึงพรรคภูมิใจไทยว่าเราเห็นด้วยกับการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญบางประเด็นและบางมาตราที่เป็นปัญหาในการทำงานและบริหารประเทศ ซึ่งเราสนับสนุนให้แก้ไข ซึ่งจะตั้งกรรมการรวบรวมและรับฟังความเห็นของสมาชิก ในวันที่ 28 เม.ย.นี้

เมื่อถามว่ามีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าหลังแก้รัฐธรรมนูญแล้ว พรรคภูมิใจไทยอาจกลับมารวมกับพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม นายบุญจง กล่าวว่า ไม่เคยหารือเรื่องเหล่านี้ ยืนยันว่าเราไม่ไปรวมกับพรรคเพื่อไทย 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ แต่ถ้ามีส.ส.มาสมัครเป็นสมาชิกของภูมิใจไทย เราพร้อมเปิดกว้างรับทุกคน ที่ไปรวมกันไม่ได้ เป็นเพราะแนวคิดไปด้วยกันไม่ได้ แต่เราไม่จำเป็นต้องรวมกับพรรคใด เมื่อถามว่าไม่ไปรวมแต่จับมือตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ นายบุญจง กล่าวว่า ยังไม่ได้คิด เพราะเป็นเรื่องอนาคต

"ชวรัตน์"มั่นใจรบ.อยู่ต่อได้ 2 ปี

จากนั้นเวลา 11.45 น. นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย แถลงภายหลังการประชุมว่า ในที่ประชุม นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เข้าร่วมประชุม โดยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางการเมือง ตลอดจนการดำเนินกิจกรรมในอนาคต ซึ่งพรรคพิจารณาแล้วว่าควรตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อรวบรวมข้อมูล และประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นายกฯมอบหมายให้แต่ละพรรคไปรวบรวม เพื่อนำเสนอเป็นข้อมูลให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่าในที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมหรือไม่ นายศุภชัย กล่าวว่า ไม่มีการพูดถึง แต่ในอนาคตหากจะแก้ไขในมาตราต่างๆ เช่น มาตรา 237 ว่าด้วยการยุบพรรคการเมือง จะยึดหลักทำให้เกิดประโยชน์กับสาธารณะ แต่ถ้าแก้แล้ว เพื่อประโยชน์ส่วนตัวและส่งผลกระทบก็จะไม่แก้ ผู้สื่อข่าวถามว่าหากมีการนิรโทษกรรมแล้วจะทำให้เสื้อแดงหยุดการเคลื่อนไหวนั้น นายศุภชัย ถามกลับว่า "จะมั่นใจได้ยังไงว่าเสื้อเหลืองจะไม่ออกมาคัดค้าน"

เวลา 15.00 น. ที่ว่าการอำเภอปลวกแดง นายชวรัตน์ กล่าวถึงข้อเสนอของนายกฯต่อที่ประชุมสภาร่วมให้ตั้งคณะกรรมการร่วมพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ถือเป็นเรื่องที่ดี และทราบว่าจะให้ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลร่วมเป็นกรรมการด้วย แต่ยังไม่มีการประสานมา ซึ่งการแก้ไขรัฐธรมนูญ ต้องพิจารณาตามเสียงส่วนใหญ่ ต้องใช้เวลา และทุกประเด็นที่มีข้อถกเถียง ไม่ว่ามาตรา 237 การยุบพรรคก็ต้องคุยกันเพราะเป็นเรื่องใหญ่ เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะคลี่คลายปัญหาของสังคมได้ เพราะเหมือนกับปมที่ต้องแก้ไปเรื่อย และจะทำให้รัฐบาลอยู่ครบวาระอีก 2 ปี

รื้อเขตเลือกตั้ง-ปมยุบพรรค

นายประกิจ พลเดช ผู้ช่วยรมว.คมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายรัฐธรรมนูญของพรรค กล่าวว่า คณะกรรมการได้รวบรวมข้อมูล กรอบการทำงาน การแก้รัฐธรรมนูญไว้ 4-5 ประเด็น 1.ที่มาส.ส. ที่เสียงส่วนใหญ่ของพรรคเห็นว่าควรไปใช้แบบเดิมคือเขตเดียวเบอร์เดียว 2.ที่มาส.ว. มีความเห็น 2 ทางว่า หากจะสรรหาควรสรรหาทั้งหมด หรือถ้าจะเลือกตั้งต้องเลือกตั้งเข้ามาทั้งหมด 3.มาตรา 190 ว่าด้วยการทำสนธิสัญญาต่างๆ ควรให้รัฐบาลไปเจรจาก่อนแล้วนำกรอบมาเสนอต่อที่ประชุมรัฐภา หากยึดแบบเดิมจะทำให้การทำงานล่าช้า และคู่เจรจาจะรู้กรอบต่างๆของรัฐบาลก่อน ถือว่าไม่เหมาะสม ทำให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์ 4.มาตรา 237 การยุบพรรค ควรให้เป็นความผิดเฉพาะตัวบุคคล ไม่ควรโยงมาถึงกรรมการบริหารพรรค เพราะสมาชิกบางคนอาจไม่รู้เรื่องการกระทำของกรรมการบริหารพรรคบางคน และ 5.มาตรา 266 การทำงานของส.ส.ที่ห้ามก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานส่วนราชการ ซึ่งคณะกรรมการจะสรุปประเด็นภายในวันที่ 27 เม.ย. ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมพรรควันที่ 28 เม.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวถามว่าล่าสุดเริ่มมีบางกลุ่มออกมาคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ นายประกิจ กล่าวว่า ต้องชี้แจงก่อนว่าการแก้ไขกับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เป็นคนละเรื่องกัน เราต้องการแก้ในบางเรื่องที่เห็นว่านำไปปฏิบัติแล้วมีข้อบกพร่องในการทำงาน ควรแก้ไข

วุฒิขอเปิดสภาซักรบ.-1พ.ค.

ที่รัฐสภา นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงการขอเปิดประชุมวุฒิสภา ตามมาตรา 161 ที่สมาชิกวุฒิสภาขอเปิดประชุม ซึ่งประสานไปยังนายกฯ และได้รับความเห็นชอบจากนายกฯ โดยจะเปิดประชุมในวันที่ 1 พ.ค.นี้ เชื่อว่าจะได้ประโยชน์จากการประชุมร่วมกัน เนื่องจากการประชุมร่วม 2 วันที่ผ่านมา ส.ว.บางคนยังไม่มีโอกาสเสนอแนวทางในการแก้ปัญหา จึงเห็นว่าน่าจะใช้การประชุมวุฒิสภาครั้งนี้ โดยจะใช้เวลา 5-6 ชั่วโมง ทั้งนี้จะมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11

นายประสพสุข กล่าว่า ขณะนี้ตนมีคนกลางอยู่ในใจแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เชื่อว่าจะเป็นที่ยอมรับจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน และจะทำคู่ขนานไปกับสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี (สปน.)

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวถึงรัฐบาลจะปฏิรูปการเมืองโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า นายกฯต้องแยก 2 ประเด็นนี้ออกจากกัน เรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ถูกนำมาเป็นแพะรับบาปเท่านั้น แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นของใหม่ที่สร้างบรรทัดฐานใหม่ขึ้นมา คนไทยอาจไม่คุ้นเลยมีการต่อต้าน เราควรอดทนใช้ไปอีกระยะก่อน เนื่องจากเมืองไทยเหมือนเป็นโรคร้าย เป็นมะเร็ง จึงจำเป็นต้องใช้ยาแรง แต่ก็มีเอฟเฟ็กต์ตามมา การแก้ไขทำได้แต่ต้องชัดเจนว่าทำเพื่อใคร ไม่ใช่เพื่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเท่านั้น รวมถึงเรื่องระยะเวลาด้วย การแก้ไขต้องอยู่บนเงื่อนไขความสมานฉันท์ปรองดอง ไม่ใช่ด้วยจิตที่เต็มไปด้วยโมหจริต จะห้ำหั่นฆ่ากันให้ตายอย่างนี้ จึงควรตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาประเด็นที่จะแก้ไขก่อน ต้องใช้เวลา

แม้วทุ่มล้านดอลลาร์ในไลบีเรีย

สำหรับความเคลื่อนไหวของพ.ต.ท.ทักษิณนั้น สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานรายละเอียดกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางไปกรุงมันโรเวีย เมืองหลวงไลบีเรีย เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาเพิ่มเติม ว่า พ.ต.ท.ทักษิณให้สัมภาษณ์หลังหารือกับรองประธานาธิบดีโจเซฟ โบอาไค ว่ามาเยือนไลบีเรีย เพราะอยากมองหาโอกาสทางธุรกิจ บรรยากาศการลงทุนดี และกำลังอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูก่อร่างสร้างประเทศ ที่มองไว้อยากลงทุนด้านสำรวจก๊าซธรรมชาติ เกษตรกรรม และเหมืองแร่

พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้จะส่งคณะทำงานมาศึกษาความเป็นไปได้ด้านการลงทุนว่าควรทำอะไรก่อน และอาจเริ่มต้นด้วยเงินทุนสูงถึงหลักล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นอยู่กับว่าพบอะไรน่าสนใจบ้าง ขณะที่รองประธานาธิบดีโจเซฟ กล่าวว่า ไลบีเรียต้องการพ.ต.ท.ทักษิณมาทำธุรกิจในประเทศ เพื่อช่วยสร้างงานให้ประชาชน

"ปัจจุบัน ไลบีเรียดึงดูดนักลงทุนเอกชนมากขึ้นภายหลังยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกเพชรและไม้ ซึ่งประกาศใช้ในยุคสงครามกลางเมือง อย่างไรก็ตาม ไลบีเรียยังต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจำนวนมาก และยังต้องดิ้นรนต่อสู้ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น สำหรับพ.ต.ท.ทักษิณใช้เวลาอยู่ในไลบีเรีย 2 วัน ก่อนเดินทางออกนอกประเทศ และฝ่ายรัฐบาลระบุชัดว่าพร้อมต้อน รับพ.ต.ท.ทักษิณอีกครั้ง" รอยเตอร์รายงาน

ตร.ประสานไลบีเรียล่าตัว

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รองผบ.ตร.ในฐานะโฆษกตร. กล่าวถึงการถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณว่า เรื่องนี้กำลังดำเนินการ แต่เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะตามระเบียบตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการถอดยศเป็นเรื่องที่ทำผิดทางอาญา แต่สำหรับพ.ต.ท.ทักษิณเป็นกรณีความผิดทางอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยังไม่เคยมีกรณีนี้ ต้องพิจารณาด้านกฎหมายให้ละเอียด

ผู้สื่อข่าวถามถึงการติดตามจับกุมพ.ต.ท. ทักษิณมาดำเนินคดีตามหมายจับ พล.ต.อ. วัชรพลกล่าวว่า ได้ประสานกับองค์กรตำรวจสากล ซึ่งมีสมาชิก 187 ประเทศ เพื่อประสานแจ้งเบาะแสของพ.ต.ท.ระหว่างสมาชิก หาก ประเทศใดมีเบาะแสก็จะแจ้งข่าวมาให้ทราบ และมีหน้าที่ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ

เมื่อถามว่าหลายฝ่ายมองว่าการหาที่อยู่ของพ.ต.ท.ทักษิณนั้น ตำรวจดำเนินการล่าช้า พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า เรื่องนี้มีขั้นตอน เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ การยืนยันที่อยู่จะต้องมีความมั่นใจเพราะเป็นการขอตัวระหว่างรัฐต่อรัฐ การทำอะไรข้อมูลต้องชัดเจน

ต่อข้อถามว่าหาเบาะแสจากผู้ที่เดินทางไปพบพ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า ก็มีการประสานงาน แต่ตำรวจไม่มีอำนาจดำเนินการ แต่ยืนยันว่าการติดตามพ.ต.ท. ทักษิณ ตำรวจดำเนินการอย่างเต็มที่แล้ว ส่วนล่าสุดกรณีที่มีข่าวว่าพ.ต.ท.ทักษิณเดินทางไปยังประเทศไลบีเรียในแอฟริกานั้น พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ต้องตรวจสอบว่าประเทศไลบีเรียเป็นสมาชิกขององค์กรตำรวจสากลหรือไม่ โดยให้กองการต่างประเทศตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏเป็นข่าวก็จะดำเนินการสอบถามไปยังประเทศนั้นๆ

"อ๋อย"หนุนมาร์คแก้รธน.ก่อน

ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ตนเคยเสนอหลายครั้งแล้วว่าการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือการแก้รัฐธรรมนูญ ขณะนี้เห็นด้วยกับนายอภิสิทธิ์ที่ยังไม่ยุบสภาในขณะนี้ เพราะไม่ใช่หนทางแก้ปัญหา ดังนั้น ระหว่างนี้ควรแก้รัฐธรรมนูญให้ได้บางมาตราก่อนแล้วยุบสภา เลือกตั้งใหม่ให้ได้สภาที่มาจากประชาชนที่แท้จริง แล้วค่อยแก้รัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นประชาธิปไตยทั้งฉบับ แล้วทำประชาพิจารณ์ เมื่อได้มาแล้วเชื่อว่าทุกฝ่ายจะเห็นด้วย

นายจาตุรนต์ กล่าวถึงแนวคิดการตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐสภา เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 เม.ย.ว่า การตั้งคณะกรรมการชุดเดียวคงไม่พอ อาจล่าช้าและถ้าปล่อยเวลาให้นานไปจะยิ่งทำให้ประชาชนคลางแคลงใจ เพราะข้อมูลที่ออกไปขณะนี้เป็นข้อมูลคนละด้านกับที่รัฐบาลนำเสนอก่อนหน้านี้ ดังนั้น รัฐบาลควรตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย โดยนำบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือมาเป็นคณะกรรมการ เมื่อผลออกมาอย่างไร หากพบว่าผิดก็ให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย หรือจะแสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษก็ว่ากันไป พร้อมกับเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงด้วย

"อย่าเข้าใจว่าการชุมนุมของกลุ่มคนในปัจจุบันจะมาจากพ.ต.ท.ทักษิณ หรือแกนนำคนเสื้อแดง เพราะขณะนี้หลายคนอยู่ในระหว่างดำเนินคดีไม่สามารถออกมาเคลื่อนไหวได้ ซึ่งคนที่ออกมาเพราะไม่พอใจในการทำงานของรัฐบาลก็เริ่มมีจำนวนมาก" นายจาตุรนต์ กล่าว

"กษิต"โอ่เชิญ"ฮิลลารี"มาไทย

เมื่อเวลา 09.00 น. ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกาถึงผลการเยือนสหรัฐ อเมริกาและหารือกับนางฮิลลารี คลินตัน รมว. ต่างประเทศสหรัฐว่า นางคลินตันยืนยันจะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาและการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก(เออาร์เอฟ) ที่ประเทศไทยในเดือนก.ค.นี้

รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ได้สรุปสถานการณ์การเมืองไทยให้นางคลินตันฟัง พร้อมย้ำถึงการสร้างความปรองดองและแก้ไขรัฐธรรมนูญในบางมาตรา เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองภายในให้สำเร็จ ส่วนความเคลื่อนไหวทางการเมืองของพ.ต.ท.ทักษิณในต่างประเทศนั้น สหรัฐอเมริกาไม่ได้สอบถามหรือให้ความสนใจมากนักเนื่องจากนายอีริค จี. จอห์น เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำเทศไทย ซึ่งอยู่ในห้องประชุมด้วยให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่องและครบถ้วนแล้ว อีกทั้งเรื่องดังกล่าวนายพนิช วิกิตเศรษฐ ผู้ช่วยรมว.ต่างประเทศติดตามประสานงานอยู่แล้ว

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์