ผลวิจัยนโยบายรัฐบาล´ทักษิณ´ ย้ำผลประโยชน์ทับซ้อน

กรุงเทพธุรกิจ

1 สิงหาคม 2549 18:48 น.
ผลวิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจรัฐบาลทักษิณ พบดำเนินการหลายเรื่องมีน้ำหนักเกี่ยวโยงผลประโยชน์ทับซ้อน เสนอแก้ฎหมายไม่ให้นักการเมืองและครอบครัว มีช่องเข้าไปเอื้อประโยชน์ให้บริษัทที่ตนถือหุ้นอยู่

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นายวิทยากร เชียงกูล ผู้อำนวยการวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต เสนอผลการวิจัยเรื่อง นโยบายของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ : การทับซ้อนของผลประโยชน์ทางธุรกิจ (Conflict of interest) ว่า ปัญหาการทับซ้อนของผลประโยชน์เกิดขึ้น เมื่อการกำหนดนโยบายพัฒนาทางเศรษฐกิจ ถูกแทรกแซงด้วยผลประโยชน์เฉพาะของบริษัทธุรกิจเอกชนผล คือนโยบายและมาตรการที่ให้ผลประโยชน์กับเอกชนบางราย แต่สังคมโดยรวมเสียประโยชน์ ทั้งนี้เป็นการคอรัปชั่นรูปแบบใหม่ โดยกฎหมายอาจจะเอาผิดไม่ได้ ซึ่งผลการวิจัยนโยบายและมาตรการของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ช่วงปี 2544 2548 พบว่า มีการดำเนินการหลายเรื่อง ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ ระหว่างผลประโยชน์สาธารณะ กับผลประโยชน์ของผู้มีตำแหน่งทางการเมือง เครือญาติหรือพรรคพวกของผู้มีตำแหน่งทางการเมือง

โดยเรื่องที่มีน้ำหนักเกี่ยวโยงปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ได้แก่ การที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นๆ โอนหุ้นให้ลูกและญาติ ก่อนเข้ารับตำแหน่ง แทนที่จะโอนให้นิติบุคคลบริหารหุ้นแทน ซึ่งนักการเมืองยังคงใช้อำนาจหน้าที่ เอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจของตนเอง เช่น บริษัทชินคอร์ป ของครอบครัวชินวัตร หลายทาง เช่น นโยบายนำภาษีสรรพสามิตมาใช้กับบริษัทธุรกิจด้านคมนาคม เป็นการกีดกันธุรกิจรายใหม่ ส่วนบริษัท กสท. โทรคมนาคม และบริษัททีโอที ที่รัฐบาลถือหุ้นใหญ่ เสียประโยชน์ การแก้ไขลดค่าสัมปทานไอทีวีลง กรณีคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ยกเว้นภาษีการสั่งเข้าวัสดุอุปกรณ์ให้กับบริษัทแซทแทลไลท์ ในเครือชินคอร์ป การสนับสนุนให้ธนาคารเอ็กซิมแบงค์ ให้เงินกู้คิดดอกเบี้ยต่ำกับรัฐบาลพม่า โดยรัฐบาลไทยค้ำประกันเงินกู้ให้พม่า เพื่อจะใช้ซื้อบริการจากบริษัทแซทแทลไลท์ กรณีกลุ่มชินฯลงทุนในบริษัทสายการบินแอร์เอเชีย ทำให้บริษัทการบินไทย ที่เป็นรัฐวิสาหกิจของชาติเสียประโยชน์ หรือการที่กลุ่มชินฯมีราคาหุ้นเพิ่มขึ้นหลายเท่าในรอบ 5 ปี การขายหุ้นชินฯให้เทมาเส็กโดยไม่ต้องเสียภาษี นายวิทยากร กล่าว

นายวิทยากร กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องการตกลงทำสัญญาเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ระหว่างไทยกับจีน สหรัฐ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย เป็นผลดีต่อธุรกิจบางอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่คณะรัฐบาลมีหุ้นอยู่ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่มีกำไร เช่น ปตท. การใช้อำนาจหน้าที่ และการรู้ข้อมูลข่าวสารเหนือคนอื่น ในการช่วยให้ธุรกิจของพรรคพวก หรือที่ตนจะเข้าไปครอบงำกิจการ ที่เป็นลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้ขาดการชำระ (เอ็นพีแอล) ให้สามารถปฏิรูปโครงสรางหนี้กับธนาคารพาณิชย์ โดยได้ส่วนลดจากเจ้าหนี้สูงกว่าธุรกิจอื่น ที่ไม่ใช่พรรคพวก การแทรกแซงการเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี และวิทยุโทรทัศน์ของภาครัฐ การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของสื่อโดยถอนการให้โฆษณา หรือฟ้องร้อง การใช้งบประมาณจำนวนมากลงทุนในโครงการขนาดใหญ่และโครงการประชานิยมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไม่มีการวางแผนที่ดี ไม่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคประชาชนให้เข้มแข็ง

สภาพดังกล่าวเป็นการพัฒนาที่ไม่สมดุล ไม่ได้กระจายทรัพย์สิน รายได้ ความรู้ ไปสู่ประชาชนกลุ่มต่างๆอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม การเร่งผลิตสินค้าและบริการ แสวงหาผลกำไรสูงสุดของเอกชน แม้จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมเติบโต แต่เป็นประโยชน์กับเจ้าของธุรกิจส่วนน้อย มากกว่าประชาชนทั่วไป ส่งผลขาดความสมดุลระหว่างเมืองและชนบท ปัญหาความยากจน และปัญหาสังคมเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจขั้นพื้นฐานอ่อนแอ มีโอกาสนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงยิ่งขึ้นในระยะต่อไป นายวิทยากร กล่าว

นายวิทยากร กล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ควรต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อปฏิรูปการเมือง ให้ประชาชนมีสิทธิและอำนาจใจการจัดตั้งองค์กรที่เป็นกลาง เป็นอิสระมีขีดความสามารถในการตรวจสอบ และถอดถอนนักการเมืองเพิ่มขึ้น ต้องพัฒนาองค์กรป.ป.ช. สตง.ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ให้เข้มแข็ง และมีอำนาจเพิ่มขึ้น รวมถึงการตราพ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรอิสระเพิ่มขึ้น เช่น องค์กรอิสระข้อมูลข่าวสาร องค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภค และต้องปฏิรูปการได้มาซึ่งกรรมการองค์กร ต้องให้ได้คนที่เป็นกลาง รัฐต้องจัดงบประมาณสนับสนุนองค์กรอิสระ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรประชาชนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ต้องปฏิรูปกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมทุกระดับ

รวมถึงระบบการศึกษาและสื่อสารมวลชน เพื่อให้ภาคประชาชนรู้ทันและเข้มแข็ง ในการติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดระบบธรรมาภิบาล ทั้งนี้ยังต้องปฏิรูป และบังคับใช้กฎหมาย ที่ห้ามไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและครอบครัว เข้าไปเกี่ยวข้องในการที่จะเอื้อประโยชน์ให้บริษัทที่ตนถือหุ้นอยู่ และต้องกำหนดหลักเกณฑ์ทางจริยธรรมหรือหลักเกณฑ์ทางการประพฤติสำหรับนักการเมือง ข้าราชการและอาชีพที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สาธารณะ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์