อุตสาหกรรมยางรถยนต์โคม่า 2หมื่นคนส่อตกงาน ร้องรัฐช่วยด่วน มาร์ค เชิญ3บิ๊กองค์กรศก.โลก ถกผ่าทางตัน


อุตสาหกรรมยางรถยนต์เข้าสู่วิกฤต คนงานกว่า 2 หมื่นจาก 6 โรงงานส่อแววโดนเลิกจ้าง ลดชั่วโมงทำงาน สหภาพรวมพลเร่งกระทรวงแรงงานช่วยด่วน "มาร์ค" โวไทยเป็นเจ้าภาพเชิญ 3 บิ๊กองค์กรเศรษฐกิจโลกหารือผ่าทางตัน

 
นายสมาน พรประชาธรรม เลขาธิการสหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 7 เมษายน ลูกจ้างในกิจการผลิตยางรถยนต์อย่างน้อย 3 แห่ง จะรวมตัวกันเพื่อเดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องที่กระทรวงแรงงาน เนื่องจากปัจจุบันลูกจ้างกว่า 2 หมื่นคนใน 6 โรงงานกำลังเดือนร้อนอย่างหนักจากการถูกเลิกจ้าง ถูกลดชั่วโมงทำงาน บ้างก็ไม่จ่ายเงินเดือน

นายสมานกล่าวว่า ขณะนี้ลูกจ้างบริษัทผลิตยางกูดเยียร์ 160 คน ต้องถูกปลดออก ทั้งที่ผู้บริหารเคยมีข้อตกลงกับสหภาพแรงงานไว้แล้วว่า หากจะปลดคนงานต้องแจ้งให้สหภาพรับทราบก่อน ขณะที่ลูกจ้างบริษัทสยามมิชลินซึ่งผลิตยางมิชลินในย่านสำโรงใต้ จ.สมุทรปราการ ก็กำลังลังเดือนร้อนเนื่องจากถูกปรับลดเงินเดือน 13% ซึ่งสหภาพไม่ยอม เช่นเดียวกับลูกจ้างมิชลินที่โรงงานแหลมฉบัง จ.ระยอง ก็เกิดปัญหานายจ้างไม่ยอมจ่ายเงินเดือน และทั้ง 2 แห่งยังลดเวลาทำงานอีกด้วย

"ที่เราห่วงคือ เกรงว่านายจ้างจะฉวยโอกาสเลิกจ้าง โดยเฉพาะคนที่ทำงานสหภาพแรงงานและออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม ที่ผ่านมาผู้บริหารกระทรวงแรงงานก็ไม่เคยเข้ามาแก้ไขอย่างจริงจัง ส่งแค่เด็กๆมาดูแล้วก็เงียบหายไป คนงานจึงต้องรวมตัวกันไปยื่นหนังสือที่กระทรวงแรงงาน ยอมรับว่าขณะนี้กิจการผลิตยางรถกำลังประสบปัญหาเช่นเดียวกับการผลิตรถยนต์ ซึ่งถือว่าหนักมาก สวัสดิการต่างๆ ที่เคยได้รับก็ถูกตัดหมด" นายสมานกล่าว

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์" ทางสถานีโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ โดยออกอากาศสดจากสถานีเกษตรดอยหลวงอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถึงภารกิจภายหลังไปร่วมประชุมกลุ่มประเทศ จี-20 ที่ประเทศอังกฤษว่า เป้าหมายสำคัญเพื่อไปสะท้อนว่าถ้าประเทศที่เป็นจุดเริ่มต้นยังคิดว่าปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเป็นเรื่องเฉพาะของตนโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ของโลกแล้ว จะทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอย คนตกงานมหาศาล

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า 5 ข้อที่ตกลงร่วมกันในการประชุมร่วม จี-20 ล้วนเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ดังนี้ 1.การทุ่มเทกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลกควรทำอย่างจริงจังผ่านนโยบายการคลัง ซึ่งมีการประมาณกันว่าอาจต้องใช้ถึง 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการทุ่มเทที่มหาศาลมาก เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวเพิ่มขึ้น ไม่ให้คนตกงาน 19 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งเม็ดเงินที่จะลงในปีหน้าจะช่วยให้คู่ค้าสำคัญของไทยมีการฟื้นตัวซึ่งจะส่งผลการส่งออกและท่องเที่ยวของไทยกระเตื้องขึ้น

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ประการต่อมาได้ให้ทุกประเทศกลับไปดูต้นตอปัญหาระบบการเงินที่ขาดการดูแลให้ทันกาลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก 3.หลายประเทศต้องการกู้เงินชั่วคราวเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสไม่ให้คนตกงาน ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลกจะปล่อยกู้แบบใหม่ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็นใช้เงินกู้ แต่ทั่วโลกมองตรงกันว่าต้องกู้เงิน เพื่อประคับประครองสถานการณ์ 4.ประเทศใหญ่ยอมรับการตัดสินร่วมบริหารเศรษฐกิจโลก ขณะที่เสียงของตัวแทนประเทศกำลังพัฒนายังมีน้อย จึงต้องปฏิรูปองค์กรระหว่างประเทศสำคัญๆ เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาได้มีโอกาสสะท้อนปัญหามากขึ้น 5.ที่ประชุมต้องการเห็นเศรษฐกิจโลกในอนาคตขยายตัวแบบยั่งยืน โดยเฉพาะการดูแลสิ่งแวดล้อม จากนี้จึงต้องโน้มน้าวให้ทุกประเทศปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและพัฒนาไปตามทิศทางนี้ ซึ่งในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับใหม่กลางปีนี้ ก็ต้องเน้นเรื่องนี้ด้วย

นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงการประชุมอาเซียนบวกสาม และบวกหก ในสัปดาห์หน้าว่า ทุกประเทศตอบรับมาแล้ว ยกเว้นอินเดียที่ติดเลือกตั้ง หลังจากเสร็จการประชุมอาเซียนบวกสาม และบวกหกแล้ว ไทยจะจัดงานสนทนาระดับโลกโดยเชิญผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ ผู้อำนวยการการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) โดยเลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) จะเข้าร่วมด้วย จึงขอให้ประชาชนร่วมเป็นเจ้าภาพที่ดีอีกครั้ง

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์