บัญญัติกลัวมือดีสร้างพยานเท็จปมเงินบริจาค258ล.

วันนี้ (15 มี.ค.) นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี 5 คนว่า เป็นญัตติที่สุด ๆ ใน 2 เรื่อง คือ

เป็นการเอาเรื่องที่เก่ามากมาเป็นญัตติอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น การนำเรื่องหลีกเลี่ยงข้าราชการทหารของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเรื่องเมื่อ 20 ปีมาแล้ว และเป็นญัตติที่ให้เวลารัฐบาลน้อยที่สุดคือ 2 เดือนเท่านั้น ซึ่งปกติจะให้เวลารัฐบาลทำงานอย่างน้อย 5-6 เดือน อีกทั้งเมื่อดูเนื้อหาสาระของญัตติแล้วจะเห็นว่าไม่ค่อยมีอะไร และน่าจะไม่ใช่ความมุ่งหมายของการเปิดญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลด้วยซ้ำ เพราะตามหลักแล้วต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน แต่หลายเรื่องยังไกลจากตรงนี้ ฉะนั้นดูแล้วเป็นประเด็นที่มุ่งมาสู่ตัวนายกรัฐมนตรีในลักษณะ เพื่อทำลายเครดิตความน่าเชื่อถือของนายกรัฐมนตรีให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยมีเป้าหมายให้รัฐบาลทำงานไม่ได้และมีการยุบสภาก่อนกำหนด แต่ตนคิดว่าอาจจะเป็นเป้าหมายที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะถ้ารัฐบาลบริหารได้อยู่บริหารบ้านเมืองตามสมควร ตนเชื่อว่าแก้ปัญหาได้

“มันไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น ยิ่งมาประกอบกับยุทธศาสตร์ 3 ยุทธศาสตร์ คือใช้กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุม ทำกิจกรรมไปเรื่อย ๆ ต่อต้านประท้วง อภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา และกลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมเพื่อขยายผล ฉะนั้นถ้าดูเช่นนี้แล้วมันไม่มีทางวิเคราะห์เป็นอย่างอื่นเลย นอกจากมุ่งทำลายเครดิตนายกรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐบาลอ่อนแอ ทำงานไม่ได้ และบอกว่ารัฐบาลไม่มีฝีมือ ซึ่งอันนี้จะสอดคล้องกับสิ่งที่นายกฯ ทักษิณประกาศบ่อยครั้งว่าพรรคประชาธิปัตย์ แก้ปัญหาประเทศไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา ผมคิดว่าทั้งหมดมุ่งไปสู่ยุทธศาสตร์นั้น” นายบัญญัติ กล่าว

ส่วนกรณีที่มีการยื่นอภิปราย นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธ์ ในฐานะอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายบัญญัติ กล่าวว่า

คงเป็นเรื่องเงินบริจาค 258 ล้านบาท ที่มีการออกมาพูดกัน ซึ่งความจริงแล้วพวกตนได้ชี้แจงมาหลายครั้งว่าเป็นการเอา 2 เรื่องมาปนกัน คือ เอาเรื่องที่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปว่าจ้าง บริษัทแมสไซอะฯประชาสัมพันธ์ภาพพจน์ ซึ่งที่ตนพูดเช่นนี้บริษัทได้ออกมาแถลงชัดเจน ว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ของบริษัทโดยตรง ไม่เกี่ยวกับการบริจาคให้พรรค และใครทำให้เกิดความสับสน หรือ บริษัทเสียหาย ก็จะฟ้องร้อง จากนั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง 258 ล้านบาทหายไป เหลือ 23 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดวงเงินที่พรรคประชาธิปัตย์จ้างบริษัทแมสไซอะฯ ทำแผ่นป้ายโฆษณาทั้งใหญ่ และ เล็กจากงบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่มีการนำ 2 เรื่องนี้มาปนกัน และวันดีคืนดีไปเห็นว่ารายงานที่ส่งไปยังกกต.ลงชื่อ นายอภิสิทธิ์

ซึ่งความจริงเรื่องนี้เกิดขึ้นในยุคที่ตนเป็นหัวหน้าพรรค แต่เมื่อแพ้เลือกตั้งจึงลาออก และนายอภิสิทธิ์เข้ามาพอดีก็มาลงนามในรายงานที่ทำไว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามไม่รู้สึกหนักใจ เพราะ กกต.ได้ออกมาให้ข่าวว่าไปตรวจสอบหมดแล้วไม่ปรากฎว่าบริษัทนี้ได้บริจาคเงินให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นจึงเชื่อว่านายประดิษฐ์ชี้แจงได้อยู่แล้ว ทั้งนี้ในการอภิปรายหากมีการพาดพิงมาถึงตน ก็คงต้องขอใช้สิทธิ์พาดพิงชี้แจง

สำหรับกรณีที่มองกันว่าการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องดังกล่าวหวังผลถึงการยุบพรรค นายบัญญัติ กล่าวว่า

เรื่องการยุบพรรคไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะมีขั้นมีตอนทางกฎหมาย แต่ที่กังวลคือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอไปตรวจสอบเรื่องราวของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังกล่าว แล้วเกิดมีนักเลงดีไปซื้อพยานเพียง 1-2 คนว่าให้ช่วยเบิกความพาดพิงถึงพรรคประชาธิปัตย์ หากเป็นอย่างนี้สังคมอาจจะตื่นเต้นกันได้ เพราะฟังดูน่าเชื่อถือ แต่สำหรับคนที่เกี่ยวข้องกับการทำคดีความจะทราบว่าเพียงลำพังพยานปากหนึ่งปากใด ไม่เพียงพอแก่การที่จะทำให้ทุกอย่างสรุปตามนั้น จึงไม่ค่อยวิตกกังวล และเชื่อว่าจะไม่มีการหักหลังกัน

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์