รมว.ยธ.ยุสมาชิกแจ้งความเอาผิดผู้บริหาร กบข. บิ๊กกองทุนฯเมิน ป.ป.ท.เล็งถกรมว.คลังหาแนวทางแก้ไข


"พีระพันธุ์" แนะสมาชิกแจ้งความดำเนินคดีผู้บริหาร "กบข." เลขาป.ป.ท.แฉถูกกดดันให้ยบกเลิกสอบ แต่รมว.ยธ.ไฟเขียวให้ลุยเต็มที่ ปูดการซื้อหุ้นมีการเอื้อประโยชน์ ขณะที่บิ๊กกองทุนฯไม่สนเตรียมหารือรมว.คลังหารือแนวทางแก้ไข

รมว.ยธ.ชี้ช่องเอาผิดผู้บริหาร"กบข."

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) ยืนยันสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) มีหน้าที่เข้าตรวจสอบการบริหารเงินของคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หลังจากข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองทุน กบข. เข้าร้องทุกข์ว่าได้รับความเสียหายจากเงินผลประโยชน์ที่ลดน้อยลง ทั้งนี้ นายพีระพันธุ์ ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ว่า หากสมาชิก กบข.รายใดเห็นว่าตนเองได้รับความเสียหายสามารถเข้าร้องทุกข์แจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับผู้บริหาร กบข.ได้ หากผลตรวจสอบพบว่ามีความผิดในคดีทุจริต ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเข้าข่ายต้องรับผิดทางอาญา

"ทั้งนี้การเข้าไปตรวจสอบ กบข.ไม่ถือว่าอยู่นอกอำนาจของ ป.ป.ท. เนื่องจาก ป.ป.ท.มีหน้าที่สืบสวนกรณีความผิดฐานทุจริตของข้าราชการได้ทั้งระบบ แต่เมื่อพบว่าผู้เกี่ยวข้องเป็นข้าราการตั้งแต่ระดับ 8 ขึ้นไป จะต้องส่งสำนวนคดีให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการแทน"

นายพีระพันธุ์กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมานายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการ ป.ป.ท.รายงานผลการตรวจสอบกรณี กบข.ให้รับทราบ แต่ตนมีข้อมูลมากกว่าที่ ป.ป.ท.ตรวจสอบพบ จึงมอบข้อมูลทั้งหมดไปให้สืบสวนเพิ่มเติม ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อมูลส่อให้เห็นการบริหารเงินกองทุนที่ปกติหรือไม่ปกติ นายพีระพันธุ์กล่าวว่า หากเป็นการบริหารปกติตนคงไม่ต้องให้สืบสวน

เลขาปปท.แฉถูกกดดันให้ยุติสอบ

ด้านนายธาริตกล่าวว่า รมว.ยุติธรรมไฟเขียวให้ ป.ป.ท.ตรวจสอบการบริหารเงินกองทุน กบข.อย่างถึงที่สุด ยอมรับที่ผ่านมามีความพยายามจะขอร้องและกดดันมายังกระทรวงยุติธรรม เพื่อสั่งการให้ ป.ป.ท.ยุติการตรวจสอบ แต่ รมว.ยุติธรรมยืนยันว่า จะไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น สำหรับข้อมูลที่ รมว.ยุติธรรมได้รับจากการร้องเรียนกรณี กบข.นั้น ระบุถึงข้อกฎหมายที่กำหนดให้ กบข.ต้องจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก ในทำนองเดียวกับประเทศสิงคโปร์เช่น ให้สวัสดิการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือให้ทุนการศึกษาแก่บุตรของสมาชิก เพื่อคืนผลประโยชน์ให้สะท้อนกลับไปยังสมาชิกในหลายมิติ

"แต่ผลการดำเนินการ 11 ปีของ กบข.ไม่เคยจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก มีแต่การรวบรวมเงินสะสมไปลงทุนแต่เพียงอย่างเดียว ที่ผ่านมาเคยมีการเสนอแก้กฎหมายให้สมาชิก กบข.สามารถลาออกได้ แต่ผู้บริหาร กบข.จะออกมาต่อต้านเกือบทุกครั้ง"

ปูดข้อมูลซื้อหุ้นเอื้อภาคเอกชน

นายธาริตกล่าวอีกว่า ข้อมูลเพิ่มเติมที่ได้รับจาก รมว.ยุติธรรม ยังระบุถึงการลงทุนภาคเอกชนของ กบข. โดยเฉพาะการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ มีลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับหุ้นแต่ละตัวเป็นจำนวนมาก และอาจเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในหุ้นเหล่านั้นด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของความเสียหาย ในส่วนของการใช้วิจารณญาณหรือดุลยพินิจเพื่อบริหารความเสี่ยง น่าจะไม่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยผู้บริหาร กบข.ไม่ได้จัดการสินทรัพย์เสมือนเป็นของตนเอง

"ผมส่งเจ้าหน้าที่ไปพบผู้บริหาร กบข.เพื่อส่งหนังสือขอเข้าตรวจสอบตามหน้าที่ แต่ผู้บริหาร กบข.กลับพูดว่า ป.ป.ท.ไม่มีความรู้ ความรู้เป็นศูนย์ ซึ่งถือเป็นคำพูดที่ไม่เหมาะสม การทำงานของหน่วยงานไม่ใช่เรื่องที่จะมาถากถางกันโดยใช้อารมณ์ เราตรวจสอบจบพบว่าการลงทุนซื้อหุ้นภาคเอกชนทำความสูญเสียให้กับ กบข.กว่า 5 หมื่นล้านบาท จะให้ฉลาดพูดว่าขาดทุนเพียง 4 พันล้านบาท หลังเอากำไรจากการลงทุนภาครัฐมาหักกลบคงไม่ได้"นายธาริตกล่าว

สงสัยญาติระดับบิ๊กถือหุ้นตัวใหญ่

รายงานข่าวจากกระทรวงยุติธรรมเปิดเผยว่า ข้อมูลจากการสืบสวนเชิงลึกพบข้อสงสัยว่า ครอบครัวของผู้บริหาร กบข.จะถือครองหุ้นตัวใหญ่ๆ และเมื่อ กบข.นำเงินกองทุนเข้ามาซื้อหุ้นตัวเดียวกัน จะส่งผลให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นทันที นอกจากนี้ยังมีผู้ให้ข้อมูลกล่าวหาว่า ผู้บริหารของ กบข.คนหนึ่ง เคยทำงานที่บริษัทเอไอเอ ก่อนจะมีปัญหาและต้องออกจากบริษัท

รายงานข่าวเปิดเผยว่า การบริหารงานของ กบข.จะตั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทั้งจากฝ่ายการเงินการคลัง และหน่วยบังคับใช้กฎหมาย ให้ร่วมเป็นคณะกรรมการ อนุกรรมการ และที่ปรึกษาเป็นจำนวนมาก โดยมีวงเงินจำนวนมากที่ใช้จ่ายเป็นเบี้ยประชุมและเงินตอบแทนพิเศษ นอกจากนี้ยังมีการว่าจ้างนักวิชาการจำนวนมากมาทำงานวิจัยให้กับ กบข.ซึ่งในเร็วๆ นี้จะมีนักวิชาการออกมาตอบโต้ข้อมูลของกระทรวงยุติธรรม

แนะใช้ พ.ร.บ.ความผิด พนง.รัฐเล่นงาน

ด้านนักกฎหมายกระทรวงยุติธรรมรายหนึ่งเปิดเผยว่า หาก กบข.ดำเนินการให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกโดยจงใจหรือทำหน้าที่บกพร่อง อาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดพนักงานในองค์กรของรัฐ พ.ศ.2502 ดังนั้น สมาชิก กบข.ทั่วประเทศจึงเป็นผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนได้ทุกท้องที่ โดยพนักงานสอบสวนมีหน้าที่รวบรวมสำนวนส่งให้ ป.ป.ช.หรือ ป.ป.ท.แล้วแต่กรณีภายใน 30 วัน ส่วนกรณีที่สมาชิก กบข.จำนวนมากจะนัดรวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ในวันพุธที่ 18 มีนาคม เพื่อแสดงความประสงค์จะขอลาออกจาก กบข.นั้น อาจต้องรวมตัวกันเพื่อเสนอให้รัฐบาลแก้ไขกำหมายเพื่อให้สามารถลาออกได้

เลขาฯกบข.รอรายงาน"กรณ์"

ด้านนายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยถึงกรณี ป.ป.ท.ยืนยันเข้าตรวจสอบการลงทุนของ กบข.ว่า กบข.ไม่ได้อยู่ภายใต้ ป.ป.ท.เพราะไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐ ที่สำคัญเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการทุจริต จึงไม่แน่ใจว่าจะเข้ามาตรวจสอบอย่างไร ในหนังสือที่ ป.ป.ท.ส่งถึงก็เป็นการขอให้ กบข.ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา จะตั้งหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการ หรือ บอร์ด กบข.ที่จะประชุมวันที่ 20 มีนาคม

 "กบข.ไม่ได้อยู่ภายใต้ ป.ป.ท. และไม่ได้รายงานต่อกระทรวงยุติธรรม แต่รายงานต่อกระทรวงการคลัง หลังจากนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กลับมาจากอังกฤษจะเข้าพบเพื่อหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหา เพราะเรื่องนี้กระทบกับความเชื่อมั่นของข้าราชการที่มีต่อ กบข.ทั้งตอนนี้และในอนาคต ไม่ใครจะมาเป็นเลขาธิการ กบข.ก็ตาม ตัวเลขที่ ป.ป.ท.ที่ระบุ จงใจพูดไม่ครบ ยังไงก็จะให้สินทรัพย์หายไปให้ได้ ถือว่าร้ายแรงมาก ทำให้สมาชิกหมดความเชื่อมั่นและเป็นทุกข์ เพราะยังไงก็ถอนเงินลงทุนไม่ได้ จนกว่าจะเกษียณ" นายวิสิฐกล่าว

 ปัดไม่ได้ทำผลตอบแทนติดลบ

นายวิสิฐกล่าวว่า ยืนยันว่าผลตอบแทนการลงทุนที่ติดลบไม่ใช่เรื่องที่ตนทำผิด แล้วขาดทุน แต่เกิดจากมูลค่าสินทรัพย์ที่เข้าลงทุนลดลงในช่วงที่มีการตัดบัญชีรอบ 1 ปี และมูลค่าสินทรัพย์นั้นมีขึ้นลงทุกวัน เมื่อดูในระยะยาว 2 ปี 3 ปี หรือตั้งแต่ตั้ง กบข.มาก็ยังเป็นบวก ในงบฯของ กบข.ก็มีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบทุนไตรมาสอยู่แล้ว สตง.คงไม่ปล่อยให้มีเรื่องผิดปกติผ่านมาได้

"สำหรับปี 2552 นั้น บอร์ดได้อนุมัติงบประมาณประจำปี 2552 โดยมีประมาณการรายได้ ไว้ที่ 23,508 ล้านบาท หรือมีผลตอบแทนการลงทุนเป็นบวกประมาณ 4-5% อยู่บนสมมุติฐานที่ว่าดัชนีหุ้นเฉลี่ยทั้งปีอยู่ในระดับ 500 จุด ผลตอบแทนการลงทุนในตราสารหนี้ประมาณ 3-4% และงบประมาณรายจ่าย 1,192 ล้านบาท และให้เสนอคณะกรรมการพิจารณาทบทวนอีกครั้งเมื่อใช้งบประมาณแล้ว 6 เดือน"เลขาธิการ กบข.ระบุ

อ้างผลวิจัยสมาชิกส่วนใหญ่พอใจ

รายงานข่าวจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) แจ้งว่า กบข.ได้ว่าจ้างบริษัท ซี.เอส.เอ็น.แอนด์ แอสโซซิเอท จำกัด สำรวจความพึงพอใจของสมาชิก กบข.ประจำปี 2551 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,188 ราย ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาใน 5 ด้าน ด้านการบริหารจัดการด้านการลงทุน การบริการสมาชิก การจัดสวัสดิการให้สมาชิก การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และการให้บริการตอบข้อสอบถามของเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการข้อมูล ปรากฏว่าสมาชิกส่วนใหญ่ค่อนข้างพอใจการดำเนินงานของ กบข.

เมื่อแยกประเภทการบริการพบว่า สมาชิกให้คะแนนความพึงพอใจการให้บริการตอบข้อสอบถามของเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการข้อมูลสมาชิก กบข. 1179 มากสุด คือ 4.42 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 และให้คะแนนความพึงพอใจด้านการบริหารจัดการด้านการลงทุนน้อยสุด คือ 3.99 คะแนน ในเรื่องการลงทุนนี้มี 3 ประเด็น ที่ได้รับการประเมินด้วยคะแนนความพอใจเฉลี่ยมากกว่า 4 ประกอบด้วย ความมั่นคงของเงินออมที่สมาชิกส่งให้ กบข.บริหาร 4.22 คะแนน การให้ผลตอบแทนจากการลงทุน ในระยะยาว 4.02 คะแนน การพยายามหาช่องทางการลงทุนใหม่ ๆ 4.02 คะแนน และมีประเด็นที่มีคะแนนความพอใจเฉลี่ยน้อยกว่า 4 อยู่ 2 ประเด็นคือ ความโปร่งใสของการบริหารเงินลงทุนของ กบข. 3.97 คะแนน และการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนของ กบข. 3.77 คะแนน

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อพิจารณาตามประเภทข้าราชการ พบว่าข้าราชการเกือบทุกประเภทมีความพึงพอใจโดยรวมทั้งหมดของ กบข.อยู่ในระดับค่อนข้างพอใจ โดยข้าราชการตำรวจ พึงพอใจมาก ที่สุด 4.22 คะแนน ข้าราชการทหาร และข้าราชการพลเรือนเท่ากัน 4.20 คะแนน ขณะที่ข้าราชการรัฐสภาสามัญน้อยที่สุด 3.38 คะแนน ส่วนข้าราชการพื้นที่ภาคอีสาน พึงพอใจสูงกว่าเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ 4.32 คะแนน และมีข้าราชการภาคเหนือและภาคใต้ พอใจรองลงมาเท่ากัน 4.31 คะแนน ขณะที่ข้าราชการในกรุงเทพฯ และปริมณฑลพึงพอใจน้อยที่สุด 3.88 คะแนน

จากผลการสำรวจดังกล่าวสรุปได้ว่า ข้าราชการในกรุงเทพฯและปริมณฑลได้ประเมินความพอใจต่อ กบข.ต่ำกว่าข้าราชการในภูมิภาคในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะในด้านเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่ที่ใกล้กับหน่วยงานของ กบข. คณะผู้วิจัยจึงแนะนำให้จัดเจ้าหน้าที่ไปพบกับข้าราชการในหน่วยงาน เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนมากขึ้น โดยในลำดับแรกก็ให้เลือกหน่วยงานที่พบว่าข้าราชการยังประเมินความพอใจต่อ กบข. ในระดับไม่สูงนัก ได้แก่ ข้าราชการรัฐสภาสามัญ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช.และอัยการ

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์