เลือกตั้งต้องบริสุทธิ์ยุติธรรม

มติชน

บทนำมติชน

การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2549 ในพระราชกฤษฎีกาประกาศให้มีการเลือกตั้ง วันที่ 15 ตุลาคม 2549 และมีผลใช้บังคับในวันที่ 24 สิงหาคม 2549 นั้นทำให้ความอึมครึมทางการเมืองได้ถูกขจัดออกไปทันที ก่อนหน้านี้มีแต่ความสับสน ไม่มีใครตอบหรือพยากรณ์ได้ว่า การเลือกตั้งจะมีเมื่อใดกันแน่ ร่างพระราชกฤษฎีกาที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและถูกส่งไปยังสำนักราชเลขาธิการถูกเรียกให้นำกลับคืนมายังคณะรัฐมนตรีแล้วหรือไม่ หรือคณะรัฐมนตรีขอให้ราชเลขาธิการชะลอการนำขึ้นทูลเกล้าฯไว้ก่อนหรือเปล่า ด้วยเกรงว่าหากนำขึ้นทูลเกล้าฯแล้วไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยก็จะกลายเป็นการกระทำที่สร้างความระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ความน่าสนใจและความสำคัญของพระราชกฤษฎีกา กำหนดวันเลือกตั้งฉบับนี้อยู่ตรงที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชกระแสประกอบพระราชกฤษฎีกามาด้วย ความว่า เหตุผลที่ทรงลงพระปรมาภิไธย ประการแรก คือทรงมีพระราชประสงค์ต้องการเห็นประเทศชาติกลับสู่ความสงบเรียบร้อยโดยเร็ว 2.ต้องการให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีขึ้นเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างแท้จริง

พระราชกระแสดังกล่าว ควรที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องรับใส่เกล้าฯแล้วน้อมไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง มิใช่แค่เพียงคำพูด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เหลืออยู่เพียง 3 คน ซึ่งตกอยู่ในสภาวะที่ถูกกลุ่มบุคคลหลายฝ่าย รวมทั้งศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญเรียกร้องให้ลาออกเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของชาติบ้านเมือง เพื่อศาลฎีกาจะได้ดำเนินการสรรหาให้ได้กกต.ชุดใหม่ แต่ กกต.ทั้ง 3 คน ก็ยืนกรานจะอยู่ในตำแหน่งต่อไป รวมทั้งคณะรัฐมนตรีรักษาการภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ก็จะต้องไม่ใช้ความได้เปรียบในการเป็นรัฐบาลซึ่งมีข้าราชการเป็นกลไก เงินงบประมาณ สื่อมวลชน และอื่นๆไปเอื้อให้พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้ง

รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า กกต.มีหน้าที่ในการจัด ดำเนินการจัด และควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม โดยให้อำนาจไว้เพื่อสกัดกั้นมิให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองใช้วิธีการสกปรกแบบเดิมๆ ในการจัดการเลือกตั้งนั้น ให้องค์กรเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้ง ไม่ใช่ให้ กกต.ดำเนินการไปเพียงลำพัง แต่แม้กระนั้น กกต.ก็หาได้นำพาต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไม่

วิธีการปฏิบัติงานของ กกต.ที่ปรากฏให้เห็นก็คือ นั่งทำงานธุรการอยู่แต่ในห้อง ไม่มีความเข้มแข็ง ไม่กล้าหาญ ไม่เด็ดขาด ไม่ชัดเจนในฐานะเป็นผู้รักษากฎกติกา ในส่วนของ กกต.ประจำจังหวัดโดยทั่วไปก็ขาดความเข้าใจในอำนาจหน้าที่ เป็นพรรคพวกกับนักการเมือง การสอดส่องดูแลเพื่อมิให้มีการซื้อเสียงหรือใช้อิทธิพลที่ขัดต่อกฎหมายหรือคุณธรรมก็ไม่มีศักยภาพเพียงพอจะไปทำ เพราะจะกลายเป็นศัตรูกัน ดังนั้น การให้ใบเหลือง ใบแดงอันเป็นอำนาจในมือของ กกต.จึงไม่มีมาตรฐาน ขึ้นกับอารมณ์ความรู้สึกของ กกต. นักการเมืองและประชาชนจึงไม่มีความเชื่อถือศรัทธาในการปฏิบัติหน้าที่

ในรอบ 1 ปีครึ่งมานี้ ประเทศชาติต้องสูญเสียเงินงบประมาณไปกับการเลือกตั้งมากมาย การเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 นั่นครั้งหนึ่ง (เลือกเพราะสภาผู้แทนฯครบเทอม 4 ปี) ใช้งบฯเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท อยู่มาได้ประมาณ 1 ปี เกิดปัญหาทางการเมือง พ.ต.ท.ทักษิณตัดสินใจยุบสภา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 นำไปสู่การเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 มีเพียงพรรคไทยรักไทยเป็นพรรคหลักที่ส่งสมาชิกลงสมัคร หมดเงินไปประมาณ 2,300 ล้านบาท แต่แล้วก็เป็นโมฆะตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งวันที่ 15 ตุลาคม 2549 ที่จะมีขึ้นนี้ ใช้เงินไม่น้อยไปกว่าเดิม ซึ่งไม่มีใครตอบได้ว่าจะอยู่ได้นานเท่าไรถึงจะมีการเลือกตั้งใหม่ หากอยู่แค่เฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 313แล้วเลือกตั้งกันอีก รวมยอดแล้ว ในห้วง 2 ปี ประเทศชาติใช้จ่ายเงินงบประมาณเกือบหมื่นล้านบาท บรรดาพรรคการเมือง นักการเมืองและ กกต.ควรจะเสียดายเงินทองเหล่านี้

การที่ประเทศชาติจะกลับสู่ความเรียบร้อยโดยเร็วดังพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ควรที่ผู้อยู่ในตำแหน่งและมีอำนาจทางการเมืองจะต้องลดราวาศอก เลิกถือทิฐิมานะ เลิกการคิดเข้าข้างตัวเองว่ามีแต่ตนเองและหมู่คณะตนเองเท่านั้นที่เคารพในกติกา ฝ่ายอื่นไม่เคารพกติกา หากกระทำไม่ได้ก็ไม่มีวันที่จะเกิดความสงบเรียบร้อยขึ้น

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์