อาเซียนซัมมิตวุ่น พม่า-เขมร ไม่ให้ เอ็นจีโอร่วมถก

"มาร์ค"ถกทวิภาคีนอกรอบ ก่อนถึงกำหนดเปิดประชุม"อาเซียนซัมมิต"เป็นทางการวันนี้ เผยคุยกับ"ฮุนเซน"เกี่ยวกับข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา รวมทั้งร่วมมือกับมาเลเซียในการดับไฟใต้ ฟุ้งผู้นำนานาชาติไม่แสดงความวิตกกังวลกับการเมืองภายในประเทศ

เพราะสถานการณ์สงบลงตามลำดับ เผยนายกฯตรวจสถานที่ประชุมที่โรงแรมดุสิตธานีหัวหิน ชมเปาะเรียบร้อยดี สบายใจออกเดินตลาดหัวหิน พร้อมรับประทานอาหารค่ำร้านโปรด ทางด้านภาคประชาสังคมวืดเข้าประชุมอาเซียนซัมมิตแล้ว โดนผู้นำพม่ากับเขมรเกี่ยงไม่ให้เข้าร่วม ประกาศถอนตัวพร้อมจะแถลงฉีกหน้า เทศมนตรีหัวหินโล่งอกไร้ม็อบบุก มีแต่ป้ายของกลุ่มกรีนพีซมาขึงฝั่งตรงข้ามโรงแรม



-7ผู้นำอาเซียนถึงไทย-ฮุนเซนคนแรก

เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะผู้นำกลุ่มประเทศอาเซียน ที่เดินทางมาถึงประเทศไทยเป็นคนแรก เมื่อเวลา 10.00 น.วันเดียวกันนี้ ได้แก่สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ตามมาด้วย นายมูฮัมหมัด อับดุลลาห์ บาดาวี นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย พล.อ.เต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีสหภาพพม่า นายบัวสอน บุบผาวัน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิป ไตยประชาชนลาว นายศุสีโล บัมบัง ยุดโธโยโน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดนีเซีย นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มอิชซัดดิน วัดเดาละห์ สมเด็จพระราชาธิบดี นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหมและกระทรวงการคลัง ประเทศบรูไน ส่วนนางกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และนายเหวียน เติน ซุง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม จะเดินทางมาในวันที่ 28 ก.พ. โดยผู้นำทั้งหมดจะเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่วังไกลกังวล เวลา 17.00 น. วันที่ 28 ก.พ.

สำหรับบรรยากาศการประชุมอาเซียนซัมมิตในวันนี้ ที่โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน ในช่วงเช้า มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ การประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียนและการหารือของคณะมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน การหารือระหว่างรัฐมนตรีอาเซียนกับคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการหารือระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน กับคณะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระดับสูงว่าด้วยกฎบัตรอาเซียน

-พัชรวาทกวดขันรปภ.สถานที่

สำหรับบรรยากาศโดยทั่วไปในการการรักษาความปลอดภัยนั้น พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกำลังพลที่ศูนย์ปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยส่วนหน้าค่ายพระราม 6 ส่วนการรักษาความปลอดภัยภายในโรงแรมดุสิตธานีหัวหิน ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมอาเซียนซัมมิตนั้น ทางเจ้าหน้าที่ได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจรถยนต์ และบุคคลที่ผ่านเข้า-ออก ตั้งแต่บริเวณหน้าโรงแรม รวมถึงที่โรงแรมเชอราตันรีสอร์ทแอนด์สปา ซึ่งเป็นศูนย์สื่อมวลชนนั้นก็มีการเข้มงวดในการรักษาความปลอดภัยเช่นเดียว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝั่งตรงข้ามโรงแรมดุสิตธานี หัวหิน มีป้ายผ้าขนาดใหญ่ของกลุ่มกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึงอยู่ มีข้อความรณรงค์ปัญหาโลกร้อน ขณะที่นางจินตนา แก้วขาว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์บ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ชาวบ้านจะไม่มาชุมนุมระหว่างการประชุมอาเซียนซัมมิตแต่อย่างใด แต่ในวันที่ 1 มี.ค.นี้ จะมีการชุมนุมที่สี่แยกบ่อนอก พร้อมแจกเอกสารเกี่ยวกับการต่อต้านโครงการโรงถลุงเหล็กและโรงไฟฟ้าในพื้นที่จ.ประจวบฯ

-เทศมนตรีหัวหินโล่งอกไร้ม็อบ

เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงการประเมินสถานการณ์การจัดการประชุม สุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่ชะอำ-หัวหิน ว่า จนถึงขณะนี้ทุกอย่างเรียบร้อยดี ถือว่าเป็นไปตามที่คาดหมายไว้ ต้องขอขอบคุณประชาชนชาวประจวบคีรี ขันธ์และเพชรบุรี ที่พร้อมใจกันให้การสนับสนุนการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน และขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ในระดับท้องถิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 2 จังหวัด นายกเทศมนตรี นายกฯอบจ.เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ให้การดูแล จัดเตรียมความพร้อมในพื้นที่เป็นอย่างดี ซึ่งทุกอย่างเรียบร้อยดีมาก

เมื่อถามว่าการข่าวมีการรายงานว่าจะมีความเคลื่อนไหวใดๆ บ้างหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีรายงานว่าจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนมาที่นี้ รวมทั้งกลุ่มเสื้อแดงที่ยุติการชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลก็ไม่มีรายงานข่าวว่าจะเดินทางมา อีกทั้งไม่ได้รับรายงานว่าจะมีสัญญาณบอกเหตุว่าจะมีเหตุการณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้น

นายรุ่งโรจน์ สีเหลืองสวัสดิ์ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เป็นที่น่าภาคภูมิใจว่าการเริ่มต้นประชุมอาเซียนซัมมิตครั้งที่ 14 ที่ อ.หัวหิน และ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ไม่มีเหตุวุ่นวายจากการประท้วงของกลุ่มมวลชนต่างๆ ส่วนตัวในฐานะผู้ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ต้องกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูง ที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติต้องมาก่อนความขัดแย้ง และการประชุมครั้งนี้จะปรากฏสู่สายตาคนในภูมิภาคนี้กว่า 570 ล้านคน ให้มีความภาคภูมิใจร่วมกัน




-นายกฯพุ่งเป้าค้าเสรีในอาเซียน

เมื่อเวลา 09.45 น. ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมผู้นำภาคธุรกิจและการลงทุนของ อาเซียน (ASEAN Business and Investment Summit-ASEAN-BIS) ซึ่งนายอภิสิทธิ์กล่าวปาฐกถาว่า ไทยจะดำเนินการตามเป้าหมายให้มีกฎบัตรของอาเซียน รวมทั้งการลดปัญหาอุปสรรคที่จะให้อาเซียนรวมเป็นเศรษฐกิจเดียวกัน ซึ่งจะมีความพร้อมรวมกันในปี"58 โดยทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องมีความร่วมมือต่อเนื่อง ขณะนี้อาเซียนเป็นสิ่งคาดหวังว่าจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจ เห็นได้จากการลงทุนระหว่างสมาชิกอาเซียนด้วยกันแต่ยังไม่พอ ซึ่งสมาชิกอาเซียนได้ตั้งเป้าของการเจริญเติบโตแบบบูรณาการทั้งเรื่องการค้า การลงทุน การบริการ ที่จะทำให้มีการแข่งขันระหว่างกันมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ อยากจะขอเน้นให้ความสำคัญกับความต่อเนื่องของการเจรจากับประเทศที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มอาเซียน โดยการประชุมครั้งนี้จะมีการแลกเปลี่ยนพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจที่บูรณาการที่เกิดขึ้น

"เราไม่ควรจะย้อนไปใช้นโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างกัน ต้องเน้นย้ำการเปิดการค้าเสรีในอาเซียน ขณะเดียวกันก็ต้องหาวิธีช่วยเหลือธุรกิจในอาเซียนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ไปพร้อมๆ กับเป้าหมายที่วางไว้ และขอขอบคุณ นายกอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่รับปากว่ากลุ่มจี 20 จะช่วยแก้ไขเศรษฐกิจของประเทศด้อยพัฒนา และในเดือนเม.ย.นี้ ก็จะเดินทางไปประชุมกับกลุ่มจี 20 ซึ่งไทยมีความต้องการที่จะกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น พร้อมอยากให้มีความมั่นใจในเศรษฐกิจของเอเชียที่ยังมีความแข็งแกร่ง นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขร่วมกันอีก เช่น ปัญหาสภาวะโลกร้อน ความมั่นคงทางด้านอาหารที่ในระยะยาวที่ไม่ควรจะละทิ้งไป" นายอภิสิทธิ์กล่าว

-ถึงที่ประชุมช่วงบ่าย-ชมเรียบร้อยดี

เวลา 14.05 น. นายอภิสิทธิ์เดินทางมาถึงที่โรง แรมดุสิตธานี หัวหิน โดยนั่งรถเลกซัสสีดำ ทะเบียน THA 1 มีรถนำขบวนและปิดท้ายตามแบบฉบับการต้อนรับผู้นำประเทศอาเซียนที่มาร่วมประชุม น่าสังเกตว่าภริยาของนายกฯไม่ได้ร่วมเดินทางมาด้วย โดยเมื่อมาถึง นายชาย พานิชพรพันธุ์ ผู้ว่าฯเพชรบุรี ให้การต้อนรับ พร้อมมอบกระเช้าชมพู่เมืองเพชร ทั้งนี้นายกฯ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า จากที่ดูบรรยากาศในการเดินทางมาจนถึงสถานที่จัดการประชุม ทุกอย่างเรียบร้อยดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้จัดเตรียมเฮลิคอปเตอร์ไว้ 4 ลำ โดยเรียกว่า "SKY ICU" เพื่อดูแลสุขภาพของผู้นำอาเซียนหากเกิดกรณีฉุกเฉิน สามารถนำส่งโรงพยาบาลในกรุง เทพฯ คือโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลกรุงเทพฯ ได้ทันที โดยจะใช้เวลาเคลื่อนย้าย 40 นาที ทั้งนี้ เฮลิคอปเตอร์ทั้ง 4 ลำ ได้กระจายอยู่ตามจุดสำคัญต่างๆ คือ ที่บริเวณสนามหน้าโรงแรมดุสิตธานี หัว หิน ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุม โดยจัดเฮลิคอป เตอร์จากศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นรุ่น อีซี-145 ยูโรคอปเตอร์ ภายในติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้เช่นเดียวกับในห้องไอซียู ทั้งผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือผู้ป่วยที่มีอาการทางสมอง โดยภายในจะมีแพทย์ประจำอยู่ 2 คน พยาบาล 1 คน ทั้งนี้เฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าวมีมูลค่า 260 ล้านบาท ติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ มูลค่า 30 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เฮลิคอปเตอร์อีก 3 ลำ จะไปจอดที่ค่ายนเรศวร โรงพยาบาลหัวหิน และที่โรงพยาบาลกรุงเทพฯ

-แม่ค้าหัวหินบ่นอุบห้ามจอด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ทุกฝ่ายตื่นตัวในการร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนซัมมิตครั้งนี้ ได้มีกลุ่มคนเล็กๆ ซึ่งเป็นแม่ค้าในตลาดหัวหิน แสดงอาการหงุดหงิดและไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้มงวดเส้นทางการจราจร และห้ามไม่ให้จอดรถบริเวณริมทาง ตั้งแต่ตลาดหัวหิน จนเกือบถึงแยกชะอำ ทำให้ประชาชนที่ต้องการออกมาจับจ่ายซื้อของไม่ได้รับความสะดวก การค้าขายซบเซา รวมทั้งที่ตลาดไนท์บาซาร์หัวหิน ซึ่งเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ พ่อค้าแม่ค้าถึงกับบ่นเช่นกัน เพราะปกติจะมีนักท่องเที่ยวมาเดินซื้อของจำนวนมาก แต่เมื่อมีการประชุมกลับทำให้รายได้ลดลง

เวลา 14.30 น. ที่โรงแรมเชอราตัน หัวหิน รีสอร์ท แอนด์สปา นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ทีมโฆษกรัฐบาลได้จัดให้รองโฆษกประจำสำนักนายกฯทั้ง 3 คน ทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากภาคประชาชน ที่อาจเดินทางมายื่นข้อเรียกร้องระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน

-ดันไปทั่วอาเซียนใช้วีซ่าใบเดียว

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) กล่าวว่า เบื้องต้นในที่ประชุมคณะมนตรีมีข้อหารือร่วมกันที่จะผลักดันภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการประชุมอาเซียนให้มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) เพราะทุกฝ่ายกังวัลว่าการประชุมลักษณะนี้อาจยิ่งเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทข้ามชาติเข้ามามีบทบาทด้านการค้าการลงทุนในอาเซียนมากกว่าธุรกิจในภูมิภาคเดียวกัน โดยเห็นว่าน่าจะจัดให้มีการประชุมปีละ 2 ครั้ง เพื่อกระชับความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ซึ่งทุกประเทศก็เห็นพ้องให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งต่อไป

"ความร่วมมือที่อาจเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในระยะต่อไป เช่น การอนุญาตให้เดินทางผ่านทุกประเทศในอาเซียน ด้วยวีซ่าเพียงใบเดียว การขนส่งสินค้าระหว่างกันโดยไม่ต้องขนย้าย ทั้งนี้การรวมตัวกันของประเทศในอาเซียนครั้งนี้ไม่ได้หารือถึงมาตรการต่อต้านการกีดกั้นทางการค้าของสหรัฐแต่อย่างใด ขณะที่ทุกประเทศต่างมีแนวคิดในการหามาตรการรองรับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยไทยได้ชี้แจงให้ทุกประเทศรับรู้ว่า รัฐบาลมีความพยายามในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างเต็มที่ และเตรียมจะมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสองออกมาเร็วๆ นี้ เพื่อช่วยตัวเองให้ดีที่สุดด้วยการเพิ่มอุปสงค์ในประเทศ และเร่งรัดการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ (เมกะโปรเจ็กต์) ทั้งระยะกลาง-ยาวควบคู่กัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ" รองนายกฯ กล่าว

-จับมืออินโดฯลดต้นทุนรถยนต์

ส่วนนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า จากการเจรจาข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคีระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย ซึ่งมีนางมารี เอลก้า พันแกสตู รัฐมนตรีการค้าอินโดนีเซียเป็นผู้เจรจาในครั้งนี้ ไทยได้หยิบยกประเด็นให้อินโดนีเซียพิจารณาทบทวนเรื่องการออกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าใหม่ที่กำหนดให้สินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าของเล่นเด็ก รองเท้า อาหาร และเครื่องดื่ม 529 รายการ ผู้นำเข้าต้องได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีการค้าของอินโด นีเซีย และนำเข้าผ่านท่าเรือที่กำหนดไว้เพียง 5 แห่ง จาก 9 แห่ง และที่ท่าอากาศยานระหว่างประเทศเท่านั้น อีกทั้งยังมีการตรวจสอบทางเทคนิคโดยผู้สำรวจ ซึ่งผู้นำเข้าต้องรับผิดชอบเอง

นอกจากนี้ ไทยและอินโดนีเซียยังเห็นร่วมกันในการให้ความสำคัญการหาตลาดใหม่และมีมาตรการลดภาษีการค้าการลงทุนด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยคาดว่าในช่วงเดือนมิ.ย.นี้ จะสามารถดำเนินการลงนามในข้อตกลงด้านทวิภาคีร่วมกันได้ พร้อมกับลงนามข้อตกลงด้านสินค้าประมง และอาหารฮาลาล โดยจะมีการเชิญชวนให้นักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียมากขึ้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือทางการค้าระหว่างกันในลักษณะพันธมิตรทางธุรกิจ รวมถึงการเซ็นลงนามข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคีระหว่างไทยกับสิงคโปร์ ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการค้าการลงทุนระหว่างกันและกันภายใต้สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

"ทั้งสองประเทศเห็นตรงกันว่า ควรมีการลดต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยให้แต่ละประเทศผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนตามความถนัดของตนเอง และเน้นการเจาะตลาดใหม่ เช่น ประเทศอินเดีย จีน คาซัคสถาน และประเทศในแอฟริกา โดยไม่มีการแย่งตลาดระหว่างกัน เพราะทั้งอินโดนีเซียและไทยต่างก็เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก หากผลิตสินค้าตรงกับความต้องการของตลาดแท้จริง จะทำให้คุ้มค่าในการลงทุน" นางพรทิวากล่าว

-กำหนดราคาข้าวร่วมกับเวียดนาม

นางพรทิวา กล่าวต่อว่า จากการหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีการค้าเวียดนามระหว่างไทย-เวียดนาม ได้มีข้อตกลงที่จะกำหนดราคาข้าวร่วมกัน เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวของทั้งสองประเทศ ในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่คิดเป็น 50% ของตลาดโลก โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกัน 3 ระดับ ระดับรัฐมนตรี-รัฐมนตรี สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย-สมาคมอาหารของเวียดนาม สมาคมชาวนาไทย-สหพันธ์ชาวนาเวียดนาม เพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการด้านการผลิต การค้า โลจิสติกส์ รวมไปถึงการทำราคาอ้างอิงเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร อย่างยั่งยืน ซึ่งในวันที่ 28 ก.พ.นี้ กระทรวงพาณิชย์จะเสนอกรอบข้อตกลงนี้ให้นายกรัฐมนตรี นำเสนอและเจรจากับผู้นำเวียดนามต่อไป และช่วงกลางเดือนมี.ค.นี้ กระทรวงพาณิชย์จะเดินทางไปเยือนเวียดนามเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประ เทศ ร่วมหารือกับดาโต๊ะ ซรี อูตามา ดร.ราอิส ยาติม รมว.ต่างประเทศ มาเลเซีย สรุปว่า รัฐบาลมาเลเซียยืนยันใช้นโยบายแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเหมือนเช่นเดิม โดยส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีงานทำ เป็นเจ้าของกิจการเอง และเรื่องการศึกษา พร้อมแนะนำให้รมว.ต่างประเทศทั้ง 2 ประเทศ และเปลี่ยนการเยี่ยมเยือนกันมากกว่านี้ รวมถึงให้หากิจกรรมทำร่วมกัน ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมที่มีความคล้ายคลึงกันในภาคเหนือของมาเลเซีย และภาคใต้ของไทย โดยรมว.ต่างประเทศทั้ง 2 คน ยืนยันการทำงานร่วมกันในกรอบสามเหลี่ยม ประกอบด้วย ประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยเน้นด้านการคมนาคม และไทยยืนยันผลักดันโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด นอกจากนั้นยังแสดงความยินดีที่พระราชาธิบดี ประเทศมาเลเซีย จะเสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 9-12 มี.ค.นี้

-มาร์คถกทวีภาคี4ประเทศรวด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 15.25 น. นายอภิสิทธิ์หารือทวิภาคีกับพล.อ.เต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีสหภาพพม่า เวลา 16.00 น. นายกฯ หารือทวิภาคีกับดาโต๊ะ ซรี อับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เวลา 16.30 น. นายกฯ หารือทวิภาคีกับสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และเวลา 17.00 น. นายกฯ หารือกับรมช.ต่างประเทศสหราชอาณาจักร ที่มาเชิญให้นายกฯ เข้าร่วมประชุม จี 20 ในช่วงต้นเดือนเม.ย.นี้

เวลา 17.40 น. ที่โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน นายอภิสิทธิ์แถลงผลการหารือทวิภาคีกับผู้นำประเทศพม่า มาเลเซีย และกัมพูชา ว่า การหารือกับพล.อ.เต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีพม่า ทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนความร่วมมือกันแก้ปัญหายาเสพติด แรงงานและอื่นๆ สำหรับการช่วยเหลือเหยื่อพายุไซโคลนนาร์กีสนั้น ไทยจะช่วยต่อไปในการบูรณะวัดและสถานที่สำคัญทางศาสนา ส่วนคณะทำงาน 3 ฝ่ายที่ประกอบด้วยสหประชาชาติ อาเซียน และพม่า ที่จะหมดอายุลง จะต่ออายุให้ทำงานต่อไปได้ ซึ่งพม่ายินดีรับความช่วยเหลือ ทั้งนี้ ผู้นำพม่ากล่าวถึงเรื่องภายในพม่าว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า โดยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมมากที่สุดซึ่งเป็นความก้าวหน้าที่ชัดเจน

-เจรจาฮุนเซนปัญหาชายแดน

ต่อข้อถามว่านายกฯ จะไปเยือนพม่าเมื่อไหร่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า จะเดินทางไปอาเซียนทุกประเทศในราวกลางปีนี้ เพราะในระยะแรก ตนใช้เวลาค่อนข้างมากในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรกับกลุ่มโรฮิงยาที่พิสูจน์ที่มาไม่ได้ว่ามาจากไหน นายกฯ กล่าวว่า เป็นปัญหาที่มี 5-6 ประเทศและสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) เกี่ยวข้อง ตนมั่นใจว่าจะมีการดำเนินการตามกระบวนการ สามารถส่งกลับไปยังที่ที่เขามาได้ และส่งไปในที่ที่จะไม่เกิดปัญหาซ้ำซ้อนอีก หากพิสูจน์ที่มาได้ก็ส่งกลับได้ ซึ่งปัญหาโรฮิงยา ทุกประเทศเห็นตรงกันว่าต้องแก้ปัญหาในระดับภูมิภาค อย่างยั่งยืน ประกอบกับรักษาความมั่นคงของประเทศและไม่กระทบกับสิทธิมนุษยชน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงการหารือกับนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ว่ามีการหารือถึงปัญหาที่ กระทบกระทั่งกันตามแนวชายแดนซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงใช้กลไกที่มีอยู่ คือคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ให้ทำงานต่อไป สิ่งที่หารือกันมากขึ้น คือความเป็นไปได้ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลและความร่วมมือด้านพลังงาน ซึ่งคณะทำงานด้านเทคนิคจะต้องดูต่อไป อีกทั้งหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว รวมถึงสามเหลี่ยมมรกตและการใช้วีซ่าร่วมกัน

ต่อข้อถามว่าการปักปันเขตแดนไทย-กัมพูชายังไม่แล้วเสร็จ จะมีผลต่อการเจรจาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กลไกที่มีอยู่ยังทำงานได้อยู่ และจะเป็นกลไกในการแก้ปัญหา ไม่ควรนำเรื่องนี้มาเป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

-ร่วมพัฒนากับมาเลย์แก้ไฟใต้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงการหารือกับดาโต๊ะ ซรี อับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีมาเลเซียว่า ความสัมพันธ์สองประเทศดีมาก ตนชี้แจงถึงนโยบายแก้ปัญหาภาคใต้ว่า รัฐบาลนี้มุ่งเน้นการพัฒนาร่วมกับมาเลเซียโดยใช้หลัก 3 อี คือให้การศึกษา การสร้างงาน และเป็นเจ้าของธุรกิจ ต่อข้อถามว่านายกรัฐมนตรีมาเลเซียแนะอะไรในการแก้ปัญหาภาคใต้บ้าง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มีหลักการ 3 อีอยู่แล้ว ซึ่งบังเอิญสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลใหม่

นายกฯ กล่าวถึงการหารือกับลอร์ด มาร์ค มัลลอค-บราว์น รมช.ต่างประเทศสหราชอาณาจักรว่า ได้หารือความก้าวหน้าในการจัดประชุมผู้นำกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาหรือ จี 20 ซึ่งวาระการประชุมมีทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาในระยะยาว คือการออกแบบกลไกที่จะดูแลการเงินโลกและการป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นอีก อีกทั้งตนจะขอความเห็นจากผู้นำอาเซียนในวันที่ 1 มี.ค. เพื่อนำไปรายงานในที่ประชุม จี 20 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งตนจะเข้าร่วมในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียน คิดว่าทุกฝ่ายเห็นพ้องกันให้กล่าวในที่ประชุมถึงความเจริญทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

-ฟุ้งนานาชาติไม่ห่วงการเมือง

ผู้สื่อข่าวถามถึงความเห็นกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนตั้งเป้าให้เสร็จในการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งหน้าเดือนต.ค.ในไทย ซึ่งกลไกดังกล่าวจะต้องมีความน่าเชื่อถือและปฏิบัติได้ พร้อมทั้งมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับตามหลักสากลและมีความก้าวหน้าในอนาคต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงข่าวหลังการหารือทวิภาคีกับผู้นำประเทศต่างๆ นายอภิสิทธิ์ กล่าวช่วงหนึ่งว่า ระหว่างการหารือ ไม่มีข้อวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย ตนเชื่อว่าผู้นำต่างๆ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และคงเห็นว่าการทำงาน 2 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ต่างๆ กำลังกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ไม่มีเรื่องใดน่าวิตก ไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถจัดการประชุมครั้งนี้ได้

-เดินตลาดหัวหินเย็น-คนรุมกรี๊ด

จากนั้นเวลา 18.20 น. นายอภิสิทธิ์ พร้อมด้วยนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกฯ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯ เดินทางมายังตลาดโต้รุ่งหัวหินไนท์บาซาร์ เพื่อเยี่ยมชมร้านค้าต่างๆ โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที ซึ่งนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ปกติมาหัวหินจะมาเดินทุกครั้ง อาหารที่ชอบและกินเป็นประจำคือโรตีและไก่ทอด ซึ่งไก่ทอดร้านแรกๆ อร่อย แต่ลูกสาวชอบซื้อเสื้อผ้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างเดิมชมตลาดโต้รุ่ง พ่อค้าแม่ค้าและประชาชนที่จับจ่ายซื้อของ ได้ขอถ่ายรูปและขอลายเซ็นนายกฯ จำนวนมาก โดยมีแม่ค้ารายหนึ่งชมว่า รูปหล่อ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รออีก 2-3 เดือนจะแก่ให้ดู อย่างไรก็ตาม มีนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจและเข้ามาทักทาย โดยนายอภิสิทธิ์ได้เชิญชวนให้มาอยู่ประเทศไทยนานๆ ทั้งนี้ ได้มีนักท่องเที่ยวสตรีชาวสวีเดนคนหนึ่งเข้ามาทักทาย ขอจับมือ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้พูดคุยและสอบถามกันอยู่หลายประโยค แต่สุดท้ายนักท่องเที่ยวคนดังกล่าวถามนายอภิสิทธิ์ว่า คุณเป็นใคร พร้อมทำหน้างงๆ เพราะมีสื่อมวลชนรุมล้อมจำนวนมาก เมื่อนายอภิสิทธิ์ บอกว่าเป็นนายกฯ ฝรั่งคนดังกล่าวทำหน้าเข้าใจ และส่งยิ้มให้ก่อนจะเดินจากไป

จากนั้นเวลา 19.00 น. นายอภิสิทธิ์ได้ข้ามมายังฝั่งตลาดโต้รุ่งเพื่อกินข้าวต้มที่ร้านอาหารหัวหิน (โกทิ) ซึ่งเป็นร้านเก่าแก่ของหัวหินที่เปิดมาหลายสิบปี โดยสั่งออส่วน คะน้าหมูเค็ม ขี้เมาทะเล ปลาจะละเม็ดทอด หมูผัดพริกหยวก ปูผัดผงกะหรี่ ห่อหมกทะเลและต้มยำกุ้ง

-โวยพม่า-เขมรเบรกประชาสังคม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากรับประทานอาหารค่ำเสร็จ นายกฯได้เดินทางไปยังพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ซึ่งใช้เป็นสถานที่จัดเลี้ยงกาล่าดินเนอร์ ให้กับผู้นำกลุ่มประเทศอาเซียน ในค่ำวันที่ 28 ก.พ. โดยมีท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ นำนายกฯ ดูการตกแต่งสถานที่ ซึ่งใช้ดอกไม้จากโครงการหลวงดอยตุงมาจัดแต่งและประดับไฟอย่างสวยงาม โดยนายกฯกล่าวชื่นชม พร้อมปรารภว่า เป็นห่วงช่วงหัวค่ำจะมีช่วงหนึ่งที่ลมทะเลหยุดนิ่ง อากาศค่อนข้างจะอบอ้าว ซึ่งท่านผู้หญิงบุตรี ก็เห็นด้วย แต่เห็นว่าจากความสวยงามของดอกไม้ที่จัด น่าจะทำให้ผู้นำอาเซียนลืมจุดตรงนั้นไปได้

จากนั้นายกฯได้เดินทางกลับโรงแรมดุสิตธานี หัวหิน และในเวลา 21.00 น. นายกฯจะบันทึกเทปรายการ เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ ซึ่งจะออกอากาศในเช้าวันอาทิตย์ที่ 1 มี.ค. ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที

ทางด้านนายปกป้อง เลาวัลย์ศิริ เลขาธิการสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย กล่าวว่า การหารือระหว่างผู้นำอาเซียน 10 ประเทศ กับผู้แทนภาคประชาสังคมอาเซียนในวันที่ 28 ก.พ. จะต้องยกเลิก เนื่องจากผู้นำพม่าและผู้นำกัมพูชายื่นคำขาดว่าจะไม่ร่วมประชุมกับผู้ที่ไม่ได้มาจากภาครัฐ ภาคประ ชาสังคมจึงมีมติให้ยกเลิกวาระการประชุมดังกล่าว และจะแถลงข่าวเพื่อเป็นการฉีกหน้าอาเซียน ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 14 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ไทยเน้นและให้ความสำคัญกับภาคประชาสังคมมากกว่าที่ผ่านมา และครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมหารือกับผู้นำอาเซียนนานถึง 30 นาที จากเดิมที่ให้เวลาเพียง 15 นาที

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์