ส.ส.ปชป.แฉนักธุรกิจใต้อยู่เบื้องหลังขบวนการฮั้วนม ร.ร. ก.เกษตรฯกลัวปัญหาลามเร่งมท.นำเข้าครม.


ส.ส.ปชป.ชุมพร เผยพบหลักฐานนักธุรกิจภาคใต้ส่อเกี่ยวข้อง อยู่เบื้องหลังขบวนการฮั้วนมโรงเรียน รวบรวมข้อมูลส่งดีเอสไอ-ป.ป.ช.ดำเนินการ แฉฝ่ายการเมือง-ชรก.-องค์กรปกครองท้องถิ่น เอื้อประโยชน์กัน "โฆษก" ก.เกษตรฯ กลัวเกษตรกรเทน้ำนมทิ้งหลังอบต.ชะลอการซื้อ เตรียมทำหนังสือถึงมท.เสนอเข้าครม.

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ ส.ส.สัดส่วน โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงที่พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ถึงปัญหาการแจกนมโรงเรียนที่ไม่ได้คุณภาพว่าพรรคขอแสดงความห่วงใย และมองว่าปัญหาน่าจะอยู่ที่ อนุกรรมการบริหารโครงการนมโรงเรียน ที่พิจารณาเรื่องนี้ในเดือนตุลาคม 2551 ในสมัยรัฐบาลที่แล้ว แม้จะยังไม่ชัดว่า เป็นการปล่อยปละละเลย หรือทุจริต แต่ขอให้รัฐบาลนี้เร่งแก้ไขปัญหาให้ครบวงจรทั้งเรื่องคุณภาพและการจัดซื้อ เพราะตอนนี้มีนมสดล้นตลาด แต่กลับพบว่ามีการนำนมด้อยคุณภาพให้นักเรียนกิน นอกจากนี้ต่อไปควรขยายโครงการให้ครอบคลุมถึงนักเรียนประถม 6 และมารดาที่มีครรภ์ด้วย ทั้งนี้ สำหรับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เป็นปัญหาสำคัญของไทย พรรคมองว่า ถึงเวลาแล้วที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะผลักดันให้แก้กฎหมาย ไม่ให้มีการจำกัดอายุความ  

นายกำพล รจนา ประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับรองสิทธิโครงการนมโรงเรียน มีหน้าที่ในการพิจารณาให้สิทธิและตัดสิทธิผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการนมโรงเรียน ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์วันเดียวกัน ว่า ในเร็วๆ นี้คณะอนุกรรมการจะเรียกประชุมเพื่อพิจารณาหาข้อสรุปเกี่ยวกับปัญหาความไม่ชอบมาพากลในการดำเนินการนมโรงเรียน รวมถึงจะมีการนำประเด็นเกี่ยวกับเรื่อง บริษัท นำศรีชล เครื่องดื่ม จำกัด ผู้ประกอบจำหน่ายนมโรงเรียนในจังหวัดชุมพร ถูกตรวจพบว่าผลิตนมไม่ได้มาตรฐาน เข้าหารือในที่ประชุมด้วย แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีการตัดสิทธิบริษัทนี้ทันทีหรือไม่ เนื่องจากการพิจารณาต้องให้ความเป็นธรรมกับบริษัทได้ชี้แจงข้อมูลให้คณะอนุกรรมการได้รับทราบด้วย

นายกำพล ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้าร่วมประมูลจัดซื้อนมโรงเรียน เพราะดำรงตำแหน่งเป็นประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมหนองโพในพื้นที่โซนภาคใต้ ขอยืนยันว่าโครงการนี้ไม่มีการฮั้วกันของผู้ประกอบการเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะในข้อเท็จจริงที่มีการระบุว่า ในโรงเรียนบางแห่งถูกระบุให้ซื้อกับผู้ประกอบการเพียงรายเดียวเท่านั้นในขณะที่รายอื่นไม่สามารถซื้อได้ ก็ไม่เป็นความจริง เพราะในกรณีที่โรงเรียนไม่พอใจคุณภาพนมก็สามารถติดต่อขอซื้อนมกับบริษัทรายอื่นได้อยู่แล้ว

"ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเข้าร่วมประมูลโครงการนมโรงเรียนจะมีการแบ่งพื้นที่ให้ผู้ประกอบการจำหน่ายนมเกิดขึ้นเนื่องจากในส่วนของผู้ประกอบการเอง ภายหลังที่ตกลงจะเข้าร่วมโครงการนี้กับรัฐบาลแล้วก็ได้มีการพูดคุยกันว่าจะแบ่งพื้นที่ในการขายนมกันอย่างชัดเจน เนื่องจากนมโรงเรียนเป็นนมถุง การขนส่งต้องรวดเร็วไม่อย่างนั้นจะเน่าเสียได้ง่ายและที่สำคัญค่าใช้จ่ายในการขนส่งสูง ดังนั้นในแต่ละพื้นที่เมื่อมีการระบุผู้ประกอบการชัดเจนแล้วรายอื่นก็จะไม่เข้าร่วมประมูลเพราะถือเป็นการให้เกียรติกันเอง เป็นที่รับทราบกันทั่วไปในกลุ่มผู้ประกอบการอยู่แล้ว"นายกำพลกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การตกลงของผู้ประกอบการอาจเสี่ยงต่อกฎหมายการสมยอมราคาหรือฮั้วประมูลหรือไม่ นายกำพลกล่าวว่า ไม่มีการฮั้วเกิดขึ้นเพราะเรื่องนี้ไม่มีผลประโยชน์อะไรเป็นการให้เกียรติกันของผู้ประกอบการเท่านั้นเพื่อช่วยเหลือให้ธุรกิจอยู่รอดได้ เพราะไม่ว่าใครจะเข้าประมูล แต่ราคานมที่นำไปขายก็เป็นราคากลางตามที่ราชการกำหนดไว้อยู่แล้ว และไม่มีกำไรมาก ตัวอย่างเช่นของตน อยู่ในโซนภาคใต้ แต่จะเข้าประมูลงานเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ไม่มีใครเข้าไป

"อย่างผมเองก็มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เคยคิดจะเข้าไปประมูลงานในพื้นที่หนึ่งที่มีบริษัทหนึ่งดูแลในพื้นที่นั้นอยู่แล้ว ก็เกือบมีปัญหาเหมือนกัน เพราะนั่นเป็นถิ่นของเขา" นายกำพลกล่าว และว่า ส่วนกรณีที่มีการตรวจพบเรื่องคุณภาพน้ำนมโรงเรียนในพื้นที่ต่างๆ ไม่ได้มาตรฐานนั้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการดำเนินการของผู้ประกอบการเองว่ามีคุณภาพเป็นอย่างไร แต่ในข้อเท็จจริงยืนยันว่าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการนมโรงเรียนไม่ได้มีเจตนาที่จะมาหากินหรือหวังผลประโยชน์กับเด็ก 

ด้านนายอภิชาติ จงสกุล โฆษกประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภายหลังจากที่เกิดปัญหาความไม่ชอบมาพากลในการดำเนินการโครงการนมโรงเรียนได้ส่งผลให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หลายแห่งชะลอการประมูลจัดซื้อนมโรงเรียนทำให้ปริมาณน้ำนมดิบในท้องตลาดในส่วนที่มีการตกลงว่าจะผลิตเป็นนมโรงเรียนเหลืออยู่ที่เฉลี่ยวันละ 210 ตัน ทางกระทรวงจึงมีความกังวลว่าอาจจะส่งผลทำให้เกษตรกรออกมาชุมนุมประท้วงด้วยการนำนมมาเททิ้งกันอีก

นายอภิชาติกล่าวว่า จากการประสานกับทาง อบต. ในพื้นที่ต่างๆ ได้รับทราบว่านอกเหนือจากความไม่มั่นใจที่กลัวจะมีความผิดพลาดในการประมูลงานเกิดขึ้นแล้ว ทาง อบต.ยังมีปัญหาขาดแคลนงบประมาณในการจัดซื้อนมด้วย ทางกระทรวงจึงจะทำหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้หาทางแก้ปัญหานี้โดยเร็วและอาจจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้มีการกำชับการดำเนินงานเรื่องนี้โดยด่วน

เวลา 13.00 น. วันเดียวกัน  นายสุธรรม ลิมธนกุลชัย หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ชุมพร ในฐานะคณะกรรมการ อย.จังหวัดชุมพร นำคณะเข้าตรวจสอบโรงงานผลิตนมโรงเรียนของ บริษัท นำศรีชล เครื่องดื่ม จำกัด (บริษัท นำศรีชล 96 จำกัด) อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร โดยมี นายประคอง ชลสาคร ประธานที่ปรึกษาบริษัทนำตรวจเยี่ยม โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนติดตามเข้าไปด้วย ซึ่งนายประคองอ้างว่าที่ผ่านมาสื่อมวลชนนำเสนอข่าวนมโรงเรียน จนทำให้ทุกคนเกิดความเครียดและความหวาดกลัวไปหมด จึงขอไม่ให้ข้อมูลใดๆ แก่สื่อมวลชนอีกแล้ว

ต่อมานายสุวโรช พะลัง ส.ส.ชุมพร ระบบสัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ มาที่โรงงานเพื่อขอข้อมูลรายละเอียดกรณีดังกล่าว แต่นายสุวโรชก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในโรงงานเช่นกัน จึงสังเกตการณ์รอบๆ บริเวณเท่านั้น

นายสุวโรชกล่าวว่า ปัญหานมโรงเรียนมีผู้เข้าเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีเอกสารระบุชัดว่ามีการเอื้อประโยชน์กัน และมีการดำเนินการตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว แต่มีการโยงใยที่เหมือนการส่อเจตนาว่ามีการล็อคสเปคล่วงหน้า มีการออกหนังสือสั่งการจากกระทรวงมหาดไทย ลงนามโดยรองปลัดกระทรวง ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่นในขณะนั้น ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงมาดำรงตำแหน่งอธิบดีอีก

"เรื่องนี้ผู้เกี่ยวข้องต้องออกมาชี้แจงให้ชัดเจน เพราะหลักฐานราชการมันฟ้องอยู่ จากพยานหลักฐานพบว่ามี นาย จ.อายุ 40 ปีเศษ มีภูมิลำเนาอยู่ทางภาคใต้ ประกอบธุรกิจเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่ต้องใช้ทุนมหาศาล แต่ไม่มีหลักฐานการกู้เงินจากสถาบันการเงินใดๆ เลย กลับมีข้อมูลว่ามีฐานะร่ำรวยมากผิดปกติ อาจมีส่วนเกี่ยวข้องและอยู่เบื้องหลังขบวนการฮั้วอย่างครบวงจรของโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียน ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างรวบรวมเอกสารส่งให้ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการ" นายสุวโรชกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการ อย. นายสมใจ สุตันตยาวลี หัวหน้ากลุ่มกำกับดูแลหลังออกสู่ตลาด กองควบคุมอาหาร และนางณัฐคมพร ภานุรัตนะ หัวหน้างานคุ้มครองผู้บริโภค (หน.คบ.) เขต 5 มีกำหนดมาตรวจสอบโรงผลิตนมของ บริษัท นำศรีชล 96 จำกัด อ.ทุ่งตะโก โรงผลิตนมของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร อ.ทุ่งตะโก และโรงผลิตนมกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร อ.ปะทิว จึงอาจทำให้ อย.จังหวัดชุมพรต้องเข้าตรวจสอบความเรียบร้อยในโรงงานของบริษัท นำศรีชล 96 จำกัด ด้วย

ด้าน นายเกริ่น กำเหนิดวัน ประธานสภา อบต.อ่าวน้อย ในฐานะประธานกรรมการสหกรณ์โคนมไทยเดนมาร์คอ่าวน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า มีการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อพาดพิงว่าสหกรณ์โคนมที่อ่าวน้อยส่งนมดิบเพื่อผลิตนมโรงเรียนแต่ไม่มีคุณภาพ ขอเรียนว่าสหกรณ์ส่งน้ำนมดิบ 100% ให้ 5 บริษัทเอกชน วันละ 38 ตัน ส่วนบริษัท นำศรีชล เครื่องดื่ม จำกัด ใน อ.ทุ่งตะโก ที่มีปัญหา สหกรณ์ฯส่งให้วันละ 1.8 ตัน ล่าสุดบริษัทดังกล่าวเป็นหนี้สหกรณ์ 4 ล้านบาท ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมต้องเทนมดิบทิ้งเพราะราคาตกต่ำ เนื่องจากมีการนำนมผงเข้ามาผลิตเป็นนมพร้อมดื่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปีงบประมาณ 2551 สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ประจวบคีรีขันธ์ ได้ทำกิจกรรมประเมินคุณภาพนมโรงเรียนใน อ.เมือง พบว่ายังมีความเสี่ยงที่นักเรียนจะได้รับนมที่ไม่มีคุณภาพ ที่เกิดจากการเก็บรักษาระหว่างกระบวนการกระจายนมจากแหล่งผลิตสู่โรงเรียน และนมโรงเรียนที่ต้องเก็บที่อุณหภูมิไม่เกิน 8 องศาเซลเซียส ในการศึกษาพบว่ามีการเก็บรักษานมพาสเจอร์ไรซ์ที่อุณหภูมิมากกว่า 8 องศาเซลเซียส ร้อยละ 66.67

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์