ฟอร์บส์ขึ้นปกมาร์ค ลั่นไม่กลัว แม้ว-ทหาร-เสื้อแดง-พธม. ปัดข้อหาหุ่นเชิด ยกสถาบันเหนือขัดแย้ง


"ฟอร์บส์-เอเชีย" ขึ้นปก "มาร์ค" สัมภาษณ์พิเศษ ประกาศไม่กลัว"แม้ว-ทหาร-เสื้อแดง-พันธมิตร" ไม่หวั่นปลุกระดมนอกปท. ลั่น 6 เดือน ม็อบน้อยลง ปัดข้อหาหุ่นเชิด จัดการคอร์รัปชั่นเด็ดขาด ย้ำกม.หมิ่นสถาบันถูกตีความบิดเบือนต้องปฏิรูปยกขึ้นเหนือความขัดแย้งทุกรูปแบบ ไม่แน่ใจจะมีรัฐประหารอีกหรือไม่ ชี้"ทักษิณ"ผิดพลาด ดึงทหารมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง

 
ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ว่า นิตยสารฟอร์บส์ ฉบับ เอเชีย เอดิชั่น นำภาพนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขึ้นปกฉบับล่าสุด พร้อมนำเสนอเนื้อหาจากการให้สัมภาษณ์เขียนโดยนายอีริค เอลลิส มีเนื้อหาหลายประเด็นน่าสนใจ แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นการตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยที่มีหลากหลายทั้งในประเทศและในสื่อต่างประเทศก็ตาม

นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงข้อกังขาที่บรรดานักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเคลือบแคลงว่า จะสามารถสร้างเอกภาพขึ้นในท่ามกลางความแตกแยกได้สำเร็จหรือไม่ว่า หนึ่งเดือนที่ผ่านมารัฐบาลประสบความสำเร็จในการทำให้หลายๆ อย่างสงบลง ทำให้การดำเนินงานของรัฐบาลกลับสู่ภาวะปกติได้ แต่ทุกอย่างก็ใช่ว่าจะสามารถทำให้หายไปใน 1 เดือนหรือ 6 เดือน การชุมนุมประท้วงยังคงอยู่แต่ลดจำนวนลง รัฐบาลเองก็ไม่พยายามขยายความแตกแยกให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น เชื่อว่า ประชาชนเองรู้สึกได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวกับฟอร์บส์อย่างเชื่อมั่นว่า รัฐบาลมีความมั่นคง และไม่ได้กลัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่พยายามปลุกระดมจากภายนอกประเทศ และไม่ได้กลัวกลุ่มเสื้อแดง ทหาร หรือแม้แต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

โดยย้ำว่า รัฐบาลนี้ไม่ได้เป็นหุ่นเชิดของใคร แต่เป็นตัวของตัวเองโดยมีพันธสัญญาที่แน่วแน่ในระบอบประชาธิปไตยและการปกครองด้วยกฎหมาย และจะไม่อดทนอดกลั้นใดๆ กับการคอร์รัปชั่น

"กลุ่มเสื้อแดงสามารถรวมตัวเป็นขบวนการได้ พูดเผยแพร่ความคิดตัวเองได้ แต่อย่าละเมิดกฎหมาย เส้นแบ่งอยู่ตรงนั้น" นายอภิสิทธิ์กล่าว พร้อมกันนั้นก็ปฏิเสธข้อครหาที่ว่ารัฐบาลเตะถ่วงคดีต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับพันธมิตร เพราะทุกคดีล้วนมีความคืบหน้า ทั้งยังกำชับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่าให้เป็นกลางอีกด้วย

นายกรัฐมนตรีลำดับความเร่งด่วนในการดำเนินงานของรัฐบาลว่า ลำดับแรกเป็นการฟื้นฟูความเป็นระเบียบเรียบร้อยและเสถียรภาพขึ้น ถัดมาจึงเป็นเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ต่อด้วยการปลดชนวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดภาคใต้และสุดท้ายคือการปฏิรูปการศึกษาและระบบการบริหารงานของรัฐ

ฟอร์บส์ระบุว่า ได้รับคำบอกจากนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่า เชื่อว่าเศรษฐกิจของไทยจะเริ่มเดินเครื่องใหม่เต็มตัวในครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งจะทำให้อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปีนี้จะเพิ่มขึ้นระหว่าง 1.5-2 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ชาร์ล เก็งชอน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกสิกรไทย เตือนไว้ว่า ถ้าหากจีดีพีไทยในปีนี้ต่ำกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ถือเป็น "หายนะในทางการเมือง"

สำหรับทั้งนายอภิสิทธิ์และนายกรณ์แน่นอน เมื่อฟอร์บส์ถามว่า ยุคของการก่อรัฐประหารในไทยสิ้นสุดไปแล้วหรือยัง นายอภิสิทธิ์ตอบว่า หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น โดยส่วนตัวแล้วอยากจะตอบว่าสิ้นสุดไปแล้ว แต่ตนก็ได้บทเรียนในเรื่องนี้มาแล้วหลายครั้ง หลังจากปี 2535 ก็คิดกันว่า การรัฐประหารเมื่อปี 2534 จะเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว แต่น่าเศร้าที่ต้องบอกว่าระหว่างหลายปีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ปกครองประเทศ ได้ลากเอาทหารกลับเข้ามาสู่การเมืองอีกครั้งหนึ่ง ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารในทุกวันนี้ ทหารได้เรียนรู้อย่างลำบากมากขึ้นและแพงขึ้นทุกทีว่า พวกเขาอาจได้รับเสียงเชียร์เมื่อเข้ามาสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ที่สุดก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะปกครองประเทศได้เลย

"ความผิดพลาดส่วนหนึ่งอยู่ที่ช่วงเวลาการปกครองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ใช้ทหารเพื่อเป็นเครื่องมือในทางการเมือง สร้างเหตุผลหรือข้ออ้างในการรัฐประหาร ขึ้นอยู่กับว่าจะมองจากแง่มุมไหน ถ้าหากเรามองกลับไปในประวัติศาสตร์ของการรัฐประหาร คุณเรียงลำดับเหตุผลของผู้ก่อรัฐประหารได้เลยว่า คอร์รัปชั่นจะมาเป็นลำดับแรก, ความแตกแยก, การล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ มันเป็นอย่างนี้มาตลอด ถ้าเราขจัดเงื่อนไขเหล่านี้ออกไป ก็ไม่มีเหตุผลที่จะก่อรัฐประหารครั้งต่อไป" นายอภิสิทธิ์กล่าว

ฟอร์บส์ระบุว่า เมื่อพูดถึงประเด็นที่ละเอียดอ่อนอย่างเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และถามถึงภัยคุกคามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ นายอภิสิทธิ์ดูมีความระมัดระวังมากขึ้น แต่ก็ให้ความเห็นว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น ถูกตีความผิดพลาดและนำมาใช้อย่างบิดเบือน โดยเห็นว่าการปฏิรูปกฎหมายนี้เป็นสิ่งจำเป็น

"ผมคิดว่าในช่วงสองสามปีหลังนี้ เราได้เห็นความพยายามที่จะดึงเอาสถาบันเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ในความขัดแย้งทางการเมือง นี่ไม่เป็นผลดีต่อประเทศ และผมได้แสดงไว้ชัดเจนแล้วว่า เราอยากให้แน่ใจว่าสถาบันจะยังคงอยู่เหนือความขัดแย้งในทุกๆ รูปแบบเพราะนี่คือสถาบันที่เป็นที่เคารพรักของคนไทย" นายกรัฐมนตรีกล่าว

สุดท้ายนายอภิสิทธิ์กล่าวแย้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่านายกรัฐมนตรีไม่ใช่นักการเมืองที่มีเหลี่ยมคูในทางการเมืองสูงว่า สิ่งที่จำเป็นก็คือการขยัน ทำงานหนักมากกว่า พร้อมกันนั้นก็ชี้ว่าผลการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมาเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าประชาชนต้องการให้ทุกอย่างกลับคืนสู่ภาวะปกติ อารมณ์ร่วมของทุกคนในเวลานี้ก็คือขอให้กลับไปทำงานดีกว่า

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์