นายกฯแนะคืนสิทธิสอบเอเน็ต ไม่ควรตำหนิเด็กแม้ไม่ทำตามกติกาหาทางเยียวยา


กกอ. ไม่พบเป็นปัญหาชำระเงินค่าสมัครสอบ"เอเน็ต"เกิดจากระบบอินเตอร์เน็ต เยียวยากรณี"บาร์โค้ด" 12 คน กรรมการสิทธิฯ ชี้ครูอาจารย์ควรให้โอกาสเด็ก นายกฯแนะเด็กควรได้สิทธิคืนไม่ควรตำหนิแม้ไม่ได้ปฏิบัติตามกติกา ปีหน้าทปอ.จะเจ้าภาพจัดสอบเอง

ความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการอำนวยการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา มีนายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เป็นประธาน มีมติหลังพิจารณาแก้ปัญหานักเรียนที่ร้องทุกข์ จำนวน 572 คน ที่ยื่นคำร้องระหว่างวันที่ 8-13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กรณีไม่ได้ชำระเงินค่าสมัครสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นสูง หรือเอเน็ต ไม่พบเป็นปัญหาที่เกิดจากระบบอินเตอร์เน็ต จึงให้พิจารณาเยียวยาเฉพาะกลุ่มที่อ้างว่ามีปัญหาเรื่องบาร์โค้ดจำนวน 12 คน แต่ต้องพิสูจน์หลักฐานได้ว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากบาร์โค้ดจริงนั้น

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ นายพิสิฐ กิตติเจริญฤกษ์ ผู้ปกครองนักเรียน กล่าวว่า ลูกไม่ได้อยู่ในกลุ่มบาร์โค้ดมีปัญหา โดยอยู่ในกลุ่มที่จำวันชำระเงินคลาดเคลื่อน เพราะตารางกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไม่ชัดเจน ดังนั้น หากไม่ได้รับสิทธิชำระเงินเพื่อสอบเอเน็ตจริงๆ ก็จะไปฟ้องศาลปกครอง ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ได้เข้าให้ข้อมูลกับนายเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งนายเสน่ห์เห็นว่า คนที่เป็นครูอาจารย์ควรให้โอกาสเด็กเป็นอันดับแรก กฎเกณฑ์ควรมาทีหลัง และในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะแถลงข่าวกรณีเอเน็ตด้วย

วันเดียวกัน ที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมสามัญที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เพื่อมอบนโยบาย โดยมี นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธานที่ประชุม ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์กล่าวตอนหนึ่งถึงปัญหาการชำระเงินสมัครสอบเอเน็ตว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาเฉพาะหน้า ส่วนตัวมองเรื่องนี้เป็น 2 ส่วน คือ 1.กรณีเด็กที่ดำเนินการตามกติกาและมีความตั้งใจ แต่มีปัญหาเรื่องเทคนิคจนไม่สามารถชำระเงินค่าสมัครสอบ ควรได้สิทธิคืน และ 2.กรณีเด็กที่ไม่ได้ปฏิบัติตามกติกา ก็ไม่ควรตำหนิเด็ก แต่ควรหากระบวนการช่วยเหลือและเยียวยา แม้เป็นเรื่องยากมากที่จะช่วยเหลือ แต่ก็ควรให้ความเป็นธรรม
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ระบบการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิสชั่นส์กลาง หากปล่อยให้เดินหน้าต่อไปจะเข้าสู่ปัญหาวิกฤต เพราะที่ผ่านมามีปัญหาว่าเด็กที่เข้าเรียนโดยผ่านระบบนี้ไม่สามารถเรียนได้ เช่น พบว่านักศึกษาที่เรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์คะแนนเฉลี่ยตกไม่สามารถเรียนต่อไปได้ และมีนักศึกษาบางส่วนต้องออกกลางคัน ซึ่งวันนี้ปรากฏผลฟ้องออกมาอย่างชัดเจนว่าระบบผิด ไม่สามารถคัดกรองเด็กที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับสาขาวิชาที่เรียนได้

"นอกจากนี้ ยังพบว่าสัดส่วนการรับตรงของมหาวิทยาลัยรัฐต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นด้วย สะท้อนว่าเมื่อระบบแอดมิสชั่นส์กลางไม่สามารถคัดเด็กที่มีคุณภาพเข้ามาได้ มหาวิทยาลัยต่างๆ จึงต้องแก้ปัญหาโดยการกำหนดคุณสมบัติ คะแนนสอบของผู้จะเข้าศึกษาต่อเอง ที่น่าเป็นห่วงคือในอนาคตหากมหาวิทยาลัยต่างๆ เปิดรับตรงเพิ่มขึ้นความยุ่งยากจะเกิดกับเด็ก เพราะเด็กต้องวิ่งสอบหลายมหาวิทยาลัย"

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2553 จะมีการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบระบบแอดมิสชั่นส์กลางใหม่ โดยนำคะแนนการสอบวัดความถนัดทั่วไป (General Aptitude Test) หรือ GAT และความถนัดเฉพาะด้าน/วิชาการ (Professional Aptitude Test) หรือ PAT มาใช้ ขณะนี้มีเสียงร้องเรียนมาว่าทำให้นักเรียนและผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อยากให้ที่ประชุม ทปอ.ช่วยพิจารณาดูว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะกำหนดให้ความสำคัญกับคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร ม.ปลาย หรือจีแพ็ก เป็นเพียงแค่คุณสมบัติขั้นต่ำว่าต้องได้เกรดเฉลี่ยที่เท่าไรจึงจะสามารถสมัครสอบแอดมิสชั่นส์ได้ โดยไม่นำคะแนนมาคิดเป็นสัดส่วนในแอดมิสชั่นส์ เนื่องจากโรงเรียนแต่ละแห่งยังไม่ได้มาตรฐานเดียวกัน

"ระบบการคัดเลือกนิสิตนักศึกษาเพื่อเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษานั้น ควรมีการปรับเปลี่ยนระบบใหม่ให้ดีขึ้น ไม่ต้องมาคอยแก้ปัญหากันปีต่อปี ซึ่งหาก ทปอ.เห็นด้วยกับแนวทางนี้ และคิดว่าควรจะมีการปรับเปลี่ยนระบบ ผมก็ยินดีไปพูดคุยกับ สกอ.ให้ยืดหยุ่นในแนวปฏิบัติ เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพระบบการคัดเลือกนักศึกษา ซึ่งเรื่องนี้จะต้องคิดเร็วและได้ข้อสรุปในทันที เพราะต้องประกาศให้นักเรียนได้เตรียมตัวล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ปี แม้ว่า ทปอ.ไม่สามารถที่ปรับแก้ไขได้ทันในปีการศึกษา 2553 ก็อาจจะขยับไปปีการศึกษา 2554-2555Ž"

นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องข้อเสนอของ ทปอ.เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ หรือมหาวิทยาลัยนอกระบบราชการ ทั้ง 13 สถาบันที่ออกนอกระบบแล้ว แต่ได้รับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายบุคลากรเพิ่มขึ้นจากอัตราเงินเดือนปัจจุบันของข้าราชการที่เปลี่ยนสภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยเพียงร้อยละ 40 ซึ่งต่างกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ออกนอกระบบไปก่อนแล้ว ได้รับถึงร้อยละ 60 นั้น ต้องยอมรับว่าตนเพิ่งทราบว่าเรื่องนี้ยังมีปัญหาอยู่ จะขอกลับไปดูตัวเลขว่ามีจำนวนเท่าไหร่ ถ้าเป็นไปได้จะของบกลางปีให้ เพราะถือว่าเป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องทำตามสัญญา แต่ขณะนี้ต้องยอมรับว่างบกลางปีมีน้อย

ด้าน นพ.ภิรมย์กล่าวว่า ที่ประชุม ทปอ.ได้พิจารณาถึงระบบแอดมิสชั่นส์ปีการศึกษา 2553 ว่าจะนำผลสรุปการดำเนินการแอดมิสชั่นส์ปีการศึกษา 2552 และการเยียวยาผู้ร้องเรียนกรณีการสมัครสอบเอเน็ตมาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระบบแอดมิสชั่นส์ปีการศึกษา 2553 ซึ่ง ทปอ.เป็นเจ้าภาพในการจัดสอบ และที่ประชุมยังได้นำเสนอว่าควรนำเรื่องแอดมิสชั่นส์เป็นวาระแห่งชาติ และเลื่อนกำหนดจัดประชุมวิชาการประจำปีขึ้นมา ซึ่งเดิมจะจัดช่วงปลายปีมาเป็นกลางปี โดยมอบให้มหาวิทยาลัยบูรพาเป็นเจ้าภาพดำเนินการ

นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีจะมีการหารือกันอีกครั้งในการประชุมวิชาการกลางปีนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบระบบแอดมิสชั่นส์ปีการศึกษา 2553 เพราะการจะเปลี่ยนแปลงอะไรจะต้องแจ้งให้นักเรียนรับทราบล่วงหน้าเป็นเวลา 3 ปี ส่วนกรณีเรื่องที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเตรียมแถลงคัดค้านมติคณะกรรมการอำนวยการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ที่ไม่เยียวยาเด็กพลาดชำระเงินสมัครสอบเอเน็ตนั้น ทปอ.ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว แต่ขอย้ำว่าคณะกรรมการฯได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริงบนพื้นฐานของสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียมของนักเรียนที่มาร้องเรียน จนถึงวันนี้เท่าที่มีหลักฐานและพิสูจน์ได้ว่าระบบนี้ผิดจริงมีเพียง 1 คนเท่านั้น ซึ่งน่าจะได้คืนสิทธิ ส่วนกรณีอื่นๆ ต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์