ทาง 2 แพร่ง อภิสิทธิ์ ภักดีต่อพรรคร่วม...หรือซื่อสัตย์กับปชช.?

อยู่ดีไม่ว่าดี สำหรับ บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย ที่ไปแจกเบี้ยยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัย ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 เรื่องของเรื่องจะไม่เกิดขึ้นหากการแจกเงินที่ดูจะเป็นเรื่องการช่วยเหลือจากทางรัฐ จะไม่มีการแนบ นามบัตร ของ “ทั่น รมช.มหาดไทย” ประหนึ่งว่าเงินที่นำไปช่วยเหลือชาวบ้านนั้นเป็นเงินของท่านเอง

 แม้ไม่คิดมาก ไม่ต้องฉลาดล้ำเลิศ หรือมีศีลธรรมสูงส่งกว่าวิญญูชนทั่วไป  ก็ย่อมรู้สึกได้ในทันทีว่า ไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง ไม่ควร และที่สำคัญคือ มีเจตนาแอบแฝง เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน

 ด้าน “บุญจง” ก็แก้ตัวน้ำขุ่นๆ ว่า เพราะชาวบ้านขอจึงให้ และพยายามพูดกลบเกลื่อนให้ดูเหมือนเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย

 แต่แน่นอนว่าทางพรรคฝ่ายค้านเอง ก็ย่อมไม่ปล่อยเรื่องนี้เอาไว้เช่นกัน นำมาเป็นประเด็นโจมตีแบบรายวัน แม้ทางพรรคร่วมจะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น และช่วยแก้ไขให้ แต่เรื่องนี้ก็ยากที่จะแก้ต่างให้เป็นอื่น

 เบื้องต้น กกต.บอกปัดว่าการกระทำดังกล่าวไม่เกี่ยวกับความผิดฐานเลือกตั้ง เพราะเลยช่วงเลือกตั้งมาเป็นเวลานาน

 กระนั้นก็ดี ก็ยังไม่ปิดโอกาสที่จะเอาผิด กับ “บุญจง” เพราะ แม้จะเอาผิดในกฎหมายเลือกตั้งไม่ได้ แต่การแสวงประโยชน์โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ก็เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนดห้ามไว้เช่นกัน

 หากเปิดกฎหมายดูก็จะพบว่า การกระทำของ “บุญจง” นั้นทำท่าจะเข้าข่าย มาตรา 266 (1) และ 268 ของรัฐธรรมนูญเอาได้ง่ายๆ

 โดยมาตราดังกล่าวระบุว่า "ส.ส. ส.ว. นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ต้องไม่ใช้สถานะ หรือตำแหน่งเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในการปฏิบัติราชการหรือดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น"

 กรณีนี้จึงน่าจะมองได้ว่า “บุญจง” กำลังเข้าไปแทรกแซงการทำงานในการแจกเบี้ยยังชีพ โดยแนบนามบัตรเพื่อหวังประโยชน์ส่วนตน

 ทั้งนี้ การกระทำผิดตามมาตรานี้นั้น มีผลอาจจะทำให้บุญจงถึงขั้นพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีเลยทีเดียว เพราะมาตรา 182 กำหนดว่าการกระทำฝ่าฝืนมาตรา 68 มีผลถึงทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว

 โดยขั้นตอนในการเอาผิดตามมาตราดังกล่าว ต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา โดยทำได้ สองช่องทาง ช่องทางแรกคือ ให้ กกต. เป็นผู้ส่ง

 ส่วนช่องทางที่สองคือ ให้ ส.ส. หรือ ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนที่มีอยู่ของแต่ละสภา เข้าชื่อเสนอต่อประธานสภาของตน เพื่อให้ส่งเรื่องต่อไป

 งานนี้จึงทำท่าว่าจะต้องไปจบลงที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะดูเหมือนพรรครัฐบาลเองก็ออกมาปกป้อง “บุญจง” อย่างเต็มที่ เพื่อรักษาพันธมิตร กลุ่มเพื่อนเนวิน

 จนแม้แต่ผู้จัดการรัฐบาล อย่าง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เองก็ท้าให้ไปฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน

 สุดท้ายก็ต้องแล้วแต่ดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะมองอย่างไร

 อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ตามกระบวนการบนโต๊ะจะจบลงที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องราวอีกมากมายไม่แน่ว่าจะจบตามคดีความลงไปด้วย

 เพราะครั้งนี้หมายถึงบททดสอบความซื่อสัตย์และการไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใน 9กฎเหล็กที่รัฐบาลและ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” กล่าวอ้างมาโดยตลอด

 พร้อมทั้งเคยระบุว่าหากมีข้อเคลือบแคลงก็อาจนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรี...!!!

 และที่สำคัญเมื่อครั้งเป็นฝ่ายค้าน ประชาธิปัตย์ ก็โจมตี “ทักษิณ ชินวัตร” และ “คนของทักษิณ” ด้วยเรื่องเช่นว่านี้  

 ดังนั้น แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินว่า “บุญจง” ไม่กระทำการที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่คำพูดของประชาธิปัตย์กำลังจะกลายเป็นเชือกที่กลับมารัดคอตัวเอง

 หรือหากร้ายไปกว่านั้น ศาลตัดสินว่า “บุญจง” ผิด และต้องพ้นจากตำแหน่ง ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นความจริงอันไม่เหมือนกับภาพที่รัฐบาลพยายามสร้างไว้ ว่านี่คือรัฐบาลแห่งความขาวสะอาด

 ยิ่งไปกว่านั้น เป็นการแสดงให้เห็นว่า “อภิสิทธิ์” ไม่สามารถทำตามคำพูดตัวเองได้จริง กระทั่งมีการพิสูจน์ทราบตามกระบวนการทางกฎหมายจนเลี่ยงไม่ได้เท่านั้น

 อย่างไรก็ตาม หาก “อภิสิทธิ์” คิดจะปลด “บุญจง” จริง ก็ต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันจากฝั่งเพื่อนเนวินอย่างรุนแรง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการเดินเกมอันลึกลับซับซ้อน

 ทั้งหมดทั้งมวลเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเลือกว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ จะเลือกซื่อสัตย์กับพันธมิตรพรรคร่วม หรือจะเลือกซื่อสัตย์กับประชาชน

 เหล่านี้ล้วนจะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่แท้จริงของ รัฐบาลอภิสิทธิ์  ว่ามีความสามารถจะอยู่รอดโดยไม่ทรยศต่อประชาชนได้หรือไม่...???


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์