นักวิชาการ-ทีดีอาร์ไอหนุนเก็บภาษีที่ดิน คลังระบุช่วยเพิ่มปีละ 7 หมื่นล. ธปท.ซัดแจก 2 พันไม่ถึงคนจน


"นักวิชาการ-ทีดีอาร์ไอ" หนุนเก็บภาษีที่ดิน ชี้ช่วยกระจายรายได้ คลังเอาด้วย ระบุช่วยเพิ่มรายได้อีกปีละ 7 หมื่นล้าน เล็งทบทวนในส่วนเกษตรกร อาจเก็บต่ำกว่าที่กำหนดไว้ 0.05% ธปท.ซัดนโยบายรัฐแจก 2 พัน ไม่ถึงมือคนจน แนะลดส่งเงินประกันสังคม เตือนหนี้สาธารณะกระฉูด

 
คลังหวังรายได้ภาษีที่ดิน7หมื่นล.
 
นักวิชาการหลายคนออกมาสนับสนุนแนวคิดของนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่จะผลักดันร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขณะที่ความคืบหน้าการเสนอร่างกฎหมายนั้น นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 23 มกราคมว่า สศค.กำลังเตรียมเสนอรายละเอียดให้นายกรณ์พิจารณา หากสามารถจัดเก็บภาษีได้เต็มที่ จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 60,000 – 70,000 ล้านบาท

เล็งเก็บเกษตรกรอัตราต่ำ

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าว นายสมชัย กล่าวว่า รัฐบาลจะคงไว้ตามเดิม แต่จะเข้าไปดูการจัดเก็บภาษีที่ดิน เพื่อการเกษตรของเกษตรกรใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมามีเสียงวิจารณ์ว่า รัฐบาลควรดูแลเกษตรกรที่ไม่ควรต้องเสียภาษีดังกล่าว ทั้งนี้ สศค.อาจต้องปรับปรุงเกณฑ์ภาษีที่ดินฯ ใหม่ในส่วนของที่ดินเพื่อการเกษตร ว่าจะจัดเก็บในอัตราต่ำกว่าปกติได้หรือไม่ โดยจะคำนวณจากมูลค่าที่ดินการเกษตรเป็นหลัก ซึ่งจะต้องไปคุยกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีกครั้งว่าจะใช้เกณฑ์อย่างไร แต่คงจะไม่ระบุลงไปในกฎหมาย เพราะจะทำให้ยุ่งยากในระยะยาว

ภาษี3อัตรา-เกษตรเจอ 0.05%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการคลังได้ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ... และนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาหลายสมัย โดยล่าสุดเป็นร่างที่เสนอในรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยสาระสำคัญคือ จะมีการนำภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้แทนภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ สำหรับผู้มีหน้าที่เสียภาษี คือบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของรัฐ ส่วนผู้มีหน้าที่จัดเก็บภาษีคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ในท้องถิ่นใดให้เป็นรายได้ของท้องถิ่นนั้น เช่นเดียวกับภาษีโรงเรือนฯ ในปัจจุบัน

สำหรับอัตราภาษี จะมี 3 อัตรา คือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั่วไป จัดเก็บไม่เกินร้อยละ 0.5 ของฐานภาษี (มูลค่าทั้งหมดของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) ส่วนที่อยู่อาศัยที่ไม่ประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ เก็บไม่เกินร้อยละ 0.1 ของฐานภาษี และที่ประกอบเกษตรกรรม เก็บไม่เกินร้อยละ 0.05 ของฐานภาษี

ทีดีอาร์ไอหนุน-กระจายรายได้

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เห็นด้วยในหลักการที่รัฐจะเก็บภาษีที่ดิน เพราะทำให้ฐานภาษีของประเทศโดยรวมขยายตัวมากขึ้น รายได้ภาครัฐมากขึ้น หากทำได้จริงน่าจะเป็นผลดีกับประเทศในระยะยาว เพราะเป็นวิธีฟื้นความต้องการประเทศ ด้วยการกระจายรายได้ โดยคาดว่าจะเห็นผลได้อย่างเต็มที่ภายใน 2-3 ปี หลังจากที่มีการประกาศใช้

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้านเสถียรภาพนโยบายการเงิน กล่าวว่า เป็นแนวคิดที่จะช่วยให้รัฐมีรายได้ในระยะยาว และฐานภาษีของประเทศก็ขยายตัวมากขึ้น แต่จะสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล เพียงแต่ถ้ารัฐบาลต้องการทำอะไรให้อยู่ในใจของนักวิชาการ ก็ต้องดูเรื่องภาษีมรดก และภาษีที่ดินละสิ่งปลูกสร้างให้สำเร็จ

"สมศักดิ์"ชี้สกัดต่างชาติฮุบที่

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯให้การสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวมาตลอด เนื่องจากที่ดินมีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของเกษตรกรอย่างมาก ทุกวันนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ต้องไปเช่าที่ต่อจากนายทุนเพื่อทำมาหากินอีกทอดหนึ่ง หากรัฐบาลสามารถปรับปรุงเรื่องภาษีที่ดินใหม่น่าจะทำให้นายทุนยอมปล่อยที่ดินที่ถือครองที่ไม่ได้ทำประโยชน์ออกมามากขึ้น และตนเคยพูดตั้งแต่เป็นรัฐมนตรีเกษตรฯ แล้วว่าเรื่องภาษีที่ดินเป็นเรื่องที่ควรดำเนินการ เพราะจะเป็นหนึ่งในวิธีป้องกันการกว้านซื้อที่ดินเพื่อกักตุนของกลุ่มนายทุน ทั้งชาวไทยและต่างชาติ

นายสมศักดิ์กล่าวว่า หากรัฐบาลจะดำเนินการจริง ในส่วนของพื้นที่การเกษตรควรจะกำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจนว่า หากเป็นเกษตรกรตัวจริงที่ใช้ที่ดินทำอาชีพอย่างแท้จริง ไม่ควรที่จะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงเกินไป เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับเกษตรกรมากนัก โดยใช้จำนวนพื้นที่มาเป็นตัวกำหนด เช่น คนที่ถือครองที่ดินจำนวนน้อย ควรจะถูกเรียกเก็บในอัตราภาษีที่ถูก แต่คนมีที่ดินจำนวนมากควรจะถูกเรียกเก็บในอัตราที่แพงกว่า เพราะเชื่อว่าเกษตรกรตัวจริงคงไม่มีที่ดินในความครอบครองจำนวนมากนัก

นักอสังหาฯ หวั่นเจ้าที่ดินต้าน

นายมานพ พงศทัต อาจารย์ภาควิชาเคหะการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันโครงสร้างภาษีที่ดินของไทยไม่เป็นธรรม คนที่ถือครองที่มาก จ่ายภาษีน้อย แต่คนที่ถือครองน้อยจ่ายมาก ทั้งที่ โครงสร้างที่ถูกต้องและเป็นธรรมคือการรวมภาษีโรงเรือน  และภาษีบำรุงท้องที่  เป็นหนึ่งเดียวกัน และเก็บภาษีตามสัดส่วนของสินทรัพย์ ซึ่งจะช่วยกระจายการถือครองที่ดิน อย่างไรก็ตาม  ช่วงแรกที่กฏหมายบังคับใช้ ควรออกบทเฉพาะกาล 5 ปีเพื่อให้ผู้ถือครองที่ดินจำนวนมาก และไม่ได้ทำประโยชน์ มีเวลาปรับตัวที่จะต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่จ่ายภาษีในฐานที่ต่ำมาก

"กฏหมายฉบับนี้ได้พูดกันมานาน มากแล้วเป็น 10 ปี แต่เมื่อมีการผลักดันเข้าระบบสภากลับไม่ผ่านการพิจารณาเพราะมีเจ้าของที่ดินอยู่มาก และคงเป็นเรื่องยากอยู่เหมือนกันกับกับผลักดันกฏหมายฉบับนี้ " นายมานพกล่าว และว่า หากรัฐบาลจะดำเนินการจริง ก็ควรเป็นวาระรัฐบาลในระยะปานกลาง ไม่ใช่มาทำเร่งด่วนในตอนนี้ ที่ควรเน้นการแก้ปัญหาปากท้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกก่อน

ปธ.วุฒิหนุนกม.ภาษีมรดก 

นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะเสนอกฎหมายเก็บภาษีมรดกว่า ตนเคยทำวิจัยเรื่องภาษีมรดกเมื่อปี 2542 ในการศึกษาที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และอยากให้มีการการเก็บภาษีมรดก เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลเก็บภาษีได้น้อย และการเก็บภาษีมรดกยังไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อคนยากจน โดยเคยเสนอในเอกสารวิจัยว่า มรดกที่มีมูลค่าต่ำกว่า 10 ล้านบาทจะไม่เสียภาษี ส่วนมรดกที่ได้เกิน 10 ล้านบาทจะเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า คือเมื่อได้มรดกเกิน 10 ล้านบาทจะเสียภาษีร้อยละ 2.5 เกิน 20 ล้านบาท เสียภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่กระทบกับคนยากจน

"ผมว่าน่าจะศึกษาเป็นอย่างยิ่ง แต่นี่คือความเห็นของผม ที่สุดแล้วขึ้นอยู่กับส.ส.และส.ว.จะคิดอย่างไร ส่วนตัวแล้วสนับสนุนอย่างมาก" นายประสพสุข กล่าว

ธปท.ซัดนโยบายแจกเงิน2พัน

วันเดียวกัน ที่กระทรวงการคลัง นายกรณ์ จัดกิจกรรมพบสื่อมวลชน "ศุกร์เศรษฐกิจกับรัฐมนตรีกรณ์ ฟัง คิด ทำ" ในหัวข้อ "ถกแผนเศรษฐกิจยก 1 คิดไปถึงแผน 2" โดยเชิญนักวิชาการเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง โดยนางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาว่า โดยรวมถือว่าใช้ได้ แต่สิ่งที่ไม่ชอบคือมาตรการแจกเงิน 2,000 บาท ให้กับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 14,999 บาท ที่ต้องใช้งบสูงถึง 18,000 ล้านบาท แม้รัฐบาลจะระบุชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่ใครๆ ทำกัน แต่ส่วนตัวมองว่า การแจกเงินน่าจะเป็นมาตรการสุดท้าย ส่วนการแจกข้าวสารยิ่งไปกันใหญ่ เพราะดูเหมือนจะเป็นการดำเนินการเพื่อโละสต็อคข้าว ซึ่งไม่ได้มีผลในระยะยาวต่อประชาชน

เตือนหนี้สาธาณะกระฉูด47%จีดีพี

นางอัจนา กล่าวว่า หากรัฐบาลต้องการลดภาระประชาชนจริงๆ น่าจะลดการนำส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมแทน ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะต้องจัดสมดุลให้ดีระหว่างการเรียกความเชื่อมั่นกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ หากทำไม่ดีความเชื่อมั่นจะหายและก่อให้เกิดหนี้สาธารณะได้ เพราะในกรณีที่เลวร้ายที่สุด คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2552 อยู่ที่ 0% เมื่อรวมกับรายได้รัฐบาลต่ำกว่าประมาณการ 130,000 ล้านบาท และการขาดดุลงบประมาณปกติและกลางปี จะทำให้ขาดดุลงบประมาณ 5.5% ของจีดีพี อาจทำให้หนี้สาธารณะอยู่ที่ 47% ในปลายปี 2552  รวมทั้งรัฐบาลจำเป็นจะต้องคำนึงถึงงบประมาณปี 2553 ด้วย ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่สอง รัฐบาลควรเน้นการสร้างงาน ด้วยการจัดอบรมความรู้ทักษะภาษาอังกฤษและไอทีให้กับแรงงานเป็นเวลา 5-6 เดือน

สอนคลังอย่าทะเลาะเรื่องดอกเบี้ย

"แทนที่จะทะเลาะกันเกี่ยวกับส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย (สเปรด) ว่าควรจะอยู่ที่เท่าใด ควรลงไปดูเรื่องการลดความเสี่ยงของการให้สินเชื่อ ผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อกระตุ้นให้สถาบันการเงินปล่อยกู้จะเหมาะสมกว่า เหมือนที่อังกฤษลดความเสี่ยงในการให้สินเชื่อด้วยการค้ำประกันสินเชื่อ เพราะเงินค้ำประกันสินเชื่อ 100,000 ล้านบาท สามารถปล่อยสินเชื่อได้ 300,000 ล้านบาท" นางอัจนา กล่าวและว่า ที่ผ่านมาได้คุยกันให้ บสย.เข้ามารับความเสี่ยงมากขึ้น ในสัดส่วน 80% ส่วนธนาคารพาณิชย์รับความเสี่ยงไป 20% เพื่อลดภาระของรัฐบาล โดยอาจจะต้องเพิ่มทุนและต้องแยกเป็นบัญชีธุรกรรมการดำเนินงานตามนโยบายรัฐ (PSA) ขณะเดียวกัน รัฐน่าจะลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันจากเดิม 1.75% เป็น 1% โดยใช้งบเพียงแค่ 1,000 ล้านบาท

ทีดีอาร์ไอชี้2พัน ไม่ถึงมือคนจน

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องทำในการกระตุ้นเศรษฐกิจคือ ใส่เงินเข้าไปในระบบให้เร็ว และถูกกลุ่มเป้าหมาย คือ คนจนในเมือง ที่มีวิถีการดำรงชีวิตแบบคนเมือง ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้เงินสูง แต่การใช้ฐานข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในการแจกเงินให้กับประชาชนคนละ 2,000 บาท ต้องยอมรับว่ากลุ่มที่ได้ไม่ใช่คนจนที่สุด เพราะคนที่จนไม่ได้อยู่ในประกันสังคม เนื่องจากรัฐบาลขาดฐานข้อมูลที่ดีพอ ดังนั้น รัฐบาลควรจะเร่งพัฒนาฐานข้อมูลให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม

"ผาสุก"ให้ตั้งวอร์รูมเกาะติดงาน

นางผาสุก  พงศ์ไพจิตร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการจะฝากถึงรัฐบาลประชาธิปัตย์คือ การปรับทัศนคติเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจใหม่ เพราะกว่าจะฟื้นตัวต้องใช้เวลา 3-5 ปี ไม่ใช่ 1-2 ปี หรือเรื่องหนี้สาธารณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ 30-40% แต่วิกฤตในหลายประเทศก็มีหนี้สาธารณะ 50-60% โดยไม่เป็นอันตรายและสามารถรับได้ ไทยยังมีเพดานพอที่จะทำต่อไปได้ และรัฐบาลต้องทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้จัดเก็บภาษีได้มากขึ้นเพียงพอที่จะชำระหนี้ นอกจากนี้ รับควรจัดทำแผนสนับสนุนราคาสินค้าเกษตรทุกประเภทเป็นแผนต่อเนื่อง 3-5 ปี เพื่อแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

"การช่วยเหลือจะต้องไม่จำกัดภาค และจำเป็นจะต้องตั้งวอร์รูมติดตามงาน หากพบใครทำผิดก็ต้องจัดการให้เด็ดขาด ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรจะต้องทำประกันวันทำงานให้กับแรงงานในภาคชนบท เช่น 200 วันต่อปี เพื่อให้ชาวบ้านเกิดความมั่นใจว่าจะมีงานทำ และรู้สึกมีศักดิ์ศรี" นางผาสุก กล่าว

คลังยังไม่แก้กรอบหนี้สาธารณะ
 
ในช่วงท้าย นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลยังไม่ถึงขั้นต้องออก พ.ร.ก.พิเศษเพื่อกู้เงินมาใช้ในการดำเนินนโยบาย เพราะปัจจุบันที่มีการกำหนดเพดานการก่อหนี้สาธารณะว่าไม่ควรเกิน 50% ของจีดีพี ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่กำหนดกันเอง ไม่มีกฎหมายบังคับ แต่จะมีข้อกฎหมายที่กำหนดเพดานวงเงินการกู้เงินของภาครัฐในแต่ละปีเอาไว้
 
"อาจจะเป็นไปได้หากสถานการณ์เปลี่ยน ก็อาจจะมีการทบทวนกรอบดังกล่าว แต่ ณ วันนี้ ยังไม่จำเป็นต้องทบทวน" นายกรณ์ กล่าว

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์