สตง.ให้ป.ป.ช.สอบ สมัคร สินบนอุโมงค์ระบายน้ำ125ล.กล้าณรงค์ขานรับพร้อมลงมือ-เอาผิด 5 บริษัทเอี่ยว


"กล้าณรงค์" พร้อมลงมือสอบสินบนอุโมงค์ระบายน้ำ 125 ล้านของกทม. เผย "สตง." มีหนังสือถึงป.ป.ช.ให้สอบสวนดำเนินคดี "สมัคร-สหัส" ผู้ว่าฯกทม.-รองผู้ว่าฯกทม.สมัยนั้น โทษฐานมีอำนาจสั่งจ้างและสอบเอาผิด 5 บริษัทรวมทั้งผู้เกี่ยวข้องตามพ.ร.บ.ฮั้วประมูล หลังจากพบไม่โปร่งใส่การประกวดราคา

เมื่อวันที่ 16 มกราคม นายกล้านรงค์ จันทิก โฆษกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงคดีสินบนโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ-ลาดพร้าว มูลค่า 125 ล้านบาท ของกรุงเทพมหานคร ที่ล่าสุดสำนักงานอัยการโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้ประสานกับทางการไทยเพื่อขอหลักฐานในการสอบสวนคดีนี้ว่า เท่าที่จำได้ คดีนี้ ป.ป.ช.อยู่ระหว่างให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลในเอกสารที่ กทม.สมัยนาย อภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพ  มหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) ส่งมาให้ แต่ไม่แน่ใจว่ามีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้วหรือไม่ ต้องขอเวลาตรวจสอบอีกครั้ง

"ส่วนกรณีที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ประกาศฟื้นการสอบสวนโครงการนี้อีกครั้ง ก็เป็นเรื่องของทาง กทม. แต่ถ้ามีความผิดทางอาญาด้วยก็ต้องส่งมาให้ ป.ป.ช.ดำเนินการ ทั้งนี้ ป.ป.ช.จะประสานข้อมูลทั้งกับ  ทาง กทม.และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ด้วย" โฆษก ป.ป.ช.ระบุ
 
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ  ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2546 สมัยนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ว่าฯกทม. และนายสหัส บัณฑิตกุล อดีตรองนายกฯ เป็นรองผู้ว่าฯกทม. ซึ่งควบคุมดูแลงานด้านการโยธา โดยกลางปี 2551 กรณีนี้เป็นข่าวดังขึ้นมา หลังผู้บริหารบริษัท นิชิมัตสึ คอนสตรัคชั่น จำกัด ผู้ชนะการประมูลโครงการดังกล่าว ยอมรับกับทางอัยการญี่ปุ่นว่ามีการจ่ายเงินให้กับผู้บริหาร กทม.สมัยนั้นถึง 400 ล้านเยน หรือประมาณ 125 ล้านบาท
 
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้มีบันทึกถึง ป.ป.ช.แจ้งขอให้สอบสวนดำเนินคดีกับนายสหัส บัณฑิตกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และนายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าฯกทม.ในขณะนั้น ในฐานะผู้มีอำนาจสั่งจ้างโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งบริษัท ไทยเอ็นจิเนียริ่งคอนซัลเตนท์ จำกัด, กิจการร่วมค้าไอเอ็น, บริษัท   อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 เนื่องจากพบความไม่เป็นธรรมและไม่โปร่งใสในการประกาศราคาจ้างหลายประการ

อย่างไรก็ตาม ผลการสอบสวนของ สตง.ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผลสอบสวนของ ป.ป.ช.อาจแตกต่างจาก สตง.ก็ได้
ข่าวแจ้งว่า สตง.สอบสวนแล้วพบว่าพฤติ  การณ์การต่ออายุสัญญาการจ้างบริษัทที่ปรึกษาจากเดิม 120 วัน เป็นเวลาประมาณ 1 ปี 6 เดือน โดยบริษัทที่ปรึกษาไม่ขอเพิ่มเงิน  ค่าจ้าง ตลอดจนการที่ปรากฏข้อเท็จจริงเป็นข่าวทางสื่อมวลชนของประเทศญี่ปุ่น (สำนักข่าวเกียวโด) กรณีอดีตผู้บริหารของบริษัท นิชิมัตสึ คอนสตรัคชั่น จำกัด ได้ให้การกับอัยการญี่ปุ่นว่า บริษัทได้จ่ายเงินมากกว่า 400 ล้านเยน ให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยหลายคนเพื่อแลกกับ "ความสนับสนุน" เพื่อให้บริษัทได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะการประมูลโครงการนี้ เมื่อพิจารณาจากพฤติ   การณ์ดังกล่าวทั้งหมดประกอบกันแล้ว น่าเชื่อว่า การประกวดราคาดังกล่าวไม่เป็นธรรมและไม่โปร่งใส มีพฤติการณ์เข้าข่ายลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มบริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจงให้เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันราคากันอย่างเป็นธรรมอันเป็นความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และทำให้ กทม.ได้รับความเสียหายต้องจัดจ้างโครงการดังกล่าวในราคาที่สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น
 
เวลา 10.00 น. วันเดียวกัน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยภายหลังเป็นประ ธานงานวันครู ปี 2552 ที่ศูนย์กีฬาเยาวชนไทย-ญี่ปุ่น (ดินแดง) ว่า ยืนยันว่าจะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐในการให้ข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ-ลาดพร้าวของ กทม. หากว่ามีการร้องขอข้อมูลก็พร้อมที่จะให้ข้อมูลเพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ส่วนเรื่องการระบุรายชื่อของข้าราชการ กทม.ที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว หากตรวจสอบพบว่ามีรายชื่อปรากฏขึ้นจริง จำเป็นต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์