นายกฯ วางแผนกระจายงบกระฉูด กรณ์ชงครม.ลดภาษีก๊อก2เน้นอสังหา ทีดีอาร์ไอเตือนระวังฟุ่มเฟือยเกิน


"อภิสิทธิ์"เมินรัฐเก็บรายได้ต่ำเป้า ชี้ยังมีช่องกู้หนี้แบงก์รัฐได้อีก 6-8 หมื่นล้าน กระฉูดแผนโปรยงบฯ ทั้งเพิ่มค่าครองชีพ ขรก.จ่ายประกันสังคมแทนลูกจ้าง เพิ่มเงินแทรกแซงราคาเอาใจเกษตรกร ดึง"ยาง-อ้อย-ปาล์ม"ร่วมวง "กรณ์"ชง ครม. ลดภาษีก๊อก 2 เน้นอสังหาฯ ก่อน ทีดีอาร์ไอเตือนจะมุ่งการเมืองเกินไป ระวังใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย

"มาร์ค"เล็งกู้ธนาคารรัฐ8หมื่นล้านฟื้นเศรษฐกิจ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษในหัวข้อ "เศรษฐกิจกับการเมืองไทย" ระหว่างการเป็นประธานเปิดการอบรมผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) รุ่นที่ 13 ที่สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ถนนรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 9 มกราคม ใจความตอนหนึ่งว่า ขณะนี้รัฐบาล กำลังคิดว่าจะทำอย่างไร เติมกำลังซื้อให้กับประชาชนและรักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันวินัยทางการเงินการคลังมีข้อจำกัด เช่น รัฐบาลอยากกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการจัดงบประมาณเพิ่มเติม แต่กฎหมายระบุว่า งบประมาณจะขาดดุลได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งจะขาดดุลได้กว่า 400,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันรัฐบาลตั้งงบฯไว้ขาดดุล 250,000 ล้านบาท แต่การเก็บภาษีจะต่ำกว่าเป้าเกือบ 100,000 ล้านบาท รวม 350,000 ล้านบาท จึงทำงบฯเพิ่มเติมได้ไม่เกิน 100,000 ล้านบาท นอกจากนี้รัฐจะพยายามอัดฉีดเงินช่วยเหลือจากสถานบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยรัฐบาลเข้าไปค้ำประกันในการใช้เงินเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นหนี้สาธารณะ โดยปัจจุบันหนี้สาธารณะเหลืออยู่ประมาณ 60,000-80,000 ล้านบาท  ไม่รวมรัฐวิสาหกิจบางแห่ง ที่กำลังจะมาขอให้ช่วย ขณะนี้คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจได้อนุมัติแล้ว

ชี้กู้ต่างประเทศเป็นทางหนีทีไล่

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงกรณีที่นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีคลัง ระบุว่าอาจจำเป็นต้องกู้เงินจากต่างประเทศมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจว่า เป็นช่องทางที่จะนำเงินมาให้เพิ่มเติมได้ เป็นทางหนีทีไล่ที่กระทรวงการคลังดูเอาไว้ก่อน เผื่อความจำเป็นในชั้นต่อไป แต่ต้องไปดูเงื่อนไขและขั้นตอน ซึ่งคิดว่าต้องใช้เวลาสักระยะ โดยเงินที่กู้จากต่างประเทศจะต้องลงทุนในโครงการที่ก่อให้เกิดรายได้ ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นโครงการเมกะโปรเจ็คต์ ส่วนเรื่องวงเงินนั้น ขณะนี้ยังตอบไม่ได้

เล็งจ่ายประกันสังคมแทนลูกจ้าง

จากนั้นนายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการเร่งด่วนที่รัฐจะเข้าช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย 9 กลุ่ม โดยเฉพาะผู้มีรายได้ประจำ ว่าการช่วยเหลือจะแบ่งเป็นข้าราชการ และพนักงานเอกชน โดยข้าราชการจะเข้าไปดูเรื่องการเพิ่มเงินค่าครองชีพสำหรับข้าราชการชั้นผู้น้อย สำหรับพนักงานเอกชนจะดูการจ่ายเบี้ยประกันที่รัฐอาจเข้าไปช่วยจ่ายสมทบตามข้อเสนอของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เริ่มจากลูกจ้างก่อน โดยเชื่อว่าภายในวันที่ 13-14 มกราคม น่าจะได้ข้อสรุปของมาตรการว่าจะออกมาในรูปแบบใด นอกจากนี้ยังพิจารณาเรื่องการปฏิรูปภาษีด้วย

เพิ่มเงินรับจำนำ-ดึงราคายาง

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนราคาสินค้าเกษตร จะมีการเพิ่มวงเงินแทรกแซงราคา โดยเฉพาะยางพารา ที่ไม่เคยมีการอนุมัติโครงการมาก่อน ส่วนข้าว-ข้าวโพด และมันสำปะหลังจะขยายเวลาต่อไป นอกจากนี้จะเร่งรัดเงินของท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ โดยจะประชุมคณะกรรมการกระจายอำนาจในวันที่ 16 มกราคมนี้ เพื่ออนุมัติเงินอุดหนุนทั่วไปที่ค้างอยู่ประมาณ 104,000 ล้านบาท ที่ผ่านมารัฐบาลก่อนไม่ได้ประชุมในเรื่องนี้ ทำให้อนุมัติและโอนเงินไม่ได้

"สิ่งเหล่านี้เป็นภาคกว้างๆ ที่รัฐบาลเตรียมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ คิดว่าจะช่วยประคับประคองสถานการณ์ในช่วง 2 ไตรมาสแรก และหวังว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้สถานการณ์หลายอย่างจะดีขึ้น แต่ขึ้นกับความผันผวนเศรษฐกิจโลกด้วยว่าจะมีเพิ่มเติมมากกว่าปัจจุบันหรือไม่" นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หลังจากแถลงนโยบายไปวันที่ 30 ธันวาคม รัฐบาลเริ่มต้นทำงานได้เพียง 10 วัน แต่จะเร่งทำทุกอย่างให้เสร็จภายในเดือนมกราคมนี้ ซึ่งจะมีความเข้มงวดกวดขันเป็นพิเศษ และกระตุ้นให้หน่วยงานของรัฐ ทำงานอย่างเป็นเอกภาพ ที่ต้องประสานความร่วมมือกันของทุกฝ่ายและการทำงานเป็นทีม โดยผมได้พาทีมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เข้าพบ ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อปรับภาพเศรษฐกิจให้ตรงกันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

"กรณ์"พบสื่อ-เอ็นจีโอทุกศุกร์

วันเดียวกัน ที่กระทรวงการคลัง นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จัดงาน "ศุกร์เศรษฐกิจกับรัฐมนตรีกรณ์ ฟัง คิด ทำ" ขึ้น เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารระหว่างกระทรวงการคลัง สื่อมวลชน นักวิชาการ และกลุ่มเอ็นจีโอ ในประเด็นเศรษฐกิจที่น่าสนใจ เช่น การดูแลธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) การแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกร การแก้ไขปัญหาการว่างงาน การลดค่าครองชีพของประชาชนในเมือง เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการจัดทำนโยบายของกระทรวงการคลัง โดยจะจัดขึ้นทุกวันศุกร์

นายกรณ์กล่าวว่า ผลจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ที่เน้นการอัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น ทำให้ตั้งแต่ปี 2545-2546 หนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น รัฐบาลปัจจุบันจะพยายามดูแลและใช้นโยบายที่ไม่สร้างหนี้ สร้างปัญหาแก่ประชาชน แต่จะเน้นการผันเงินงบประมาณให้ประชาชนใช้แทน เพื่อไม่ให้หนี้สาธารณะส่งผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เกิดปัญหา

โชว์ฐานะคลังยังก่อหนี้ได้อีกเยอะ

"คงไม่มีใครปฏิเสธว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังมีปัญหา ฉะนั้น จึงเหลือเพียงว่า รัฐบาลมีกระสุนเพียงพอที่จะดูแลเศรษฐกิจได้ และหากดูพื้นฐานเศรษฐกิจไทย จะเห็นว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เนื่องจากกรอบหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยอยู่ที่ 50% ขณะที่ปัจจุบันหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 30% กว่าๆ ซึ่งถือว่าต่ำมาก ขณะที่ต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อัตราหนี้สาธารณะต่อจีดีพี อยู่ที่ 200% กว่า ถือว่าสูงมาก ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีของรัฐบาลที่จะใช้นโยบายยืดหยุ่นในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ" นายกรณ์กล่าว

ส่วนกรณีงบฯลงทุนในปี 2552 ที่มีหลายฝ่ายวิจารณ์ว่าไม่เพียงพอกับการดูแลเศรษฐกิจ รัฐมนตรีคลังกล่าวว่า ยอมรับว่างบฯลงทุนไม่พอกับสถานการณ์จริง เนื่องจากมีสัดส่วนเพียง 20% ของวงเงินงบประมาณเท่านั้น ประกอบกับยอดการเบิกจ่ายงบฯลงทุนตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2551 มีเพียง 5% ของงบฯลงทุนรวมที่อนุมัติไป 3 แสนล้านบาท ดังนั้น รัฐบาลจะพยายามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ งบฯลงทุนอย่างใกล้ชิด

เพิ่มเงินรับจำนำสินค้า

นอกจากนี้ รัฐบาลยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่า กระทรวงการคลังมีความพร้อมที่จะให้วงเงินค้ำประกันได้เพิ่มเติม สำหรับการปรับเพิ่มวงเงินโครงการรับจำนำพืชผลทางการเกษตร เพิ่มเติมจากเดิม 1.1 แสนล้านบาท ที่กำหนดไว้ได้หรือไม่ เนื่องจากขณะนี้ราคาของยางพารา ปาล์มน้ำมัน และอ้อย มีราคาปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน แต่แหล่งเงินที่จะนำมาใช้ยังไม่สามารถระบุได้ 

"สาเหตุที่ต้องขยายวงเงินค้ำประกันสินค้าเกษตรเพิ่มเติม เนื่องจาก ธ.ก.ส.ประเมินแล้วว่าวงเงินเดิม 1.1 แสนล้านบาท เพียงพอกับสินค้า 3 ประเภทแรก (ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง) เท่านั้น ดังนั้น หากจะต้องเข้าไปดูแลรับจำนำยางพารา ปาล์มน้ำมัน และอ้อย ก็ต้องหาเงินเพิ่ม โดยกระทรวงการคลังต้องพิจารณาว่าสามารถขยายวงเงินค้ำประกันได้หรือไม่ และเป็นปริมาณเท่าใด เพื่อขออนุมัติจาก ครม." นายกรณ์กล่าว 

ชงลดภาษีอสังหาฯ20ม.ค.
 
นายกรณ์ กล่าวถึงกรณีที่มีผู้แสดงความคิดเห็นว่า มาตรการดูแลเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ทันกับสถานการณ์ว่า หากพิจารณาการผลักดันงบประมาณกลางปี 1 แสนล้านบาทเข้าสู่ระบบจริง จะเห็นว่าเร็วขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้ในเดือนพฤษภาคม 2552 เป็น เดือนเมษายน 2552 ดังนั้น มาตรการที่ออกมาคงจะไม่ล่าช้าแน่นอน นอกจากนี้ รัฐบาลเตรียมที่จะนำเสนอมาตรการทางด้านภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ต่อ ครม. ในวันที่ 20 มกราคม ซึ่งเป็นมาตรการชุดที่ 2 เข้าสู่การพิจารณา โดยเบื้องต้นจะเข้าไปดูมาตรการภาษีอสังหาริมทรัพย์ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ตนกับนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี หารือร่วมกัน เพราะถ้าทำได้จะมีผลดีกับระบบเศรษฐกิจทั้งในแง่การบริโภคและการปล่อยสินเชื่อ
 
นายกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลยังมีมาตรการที่จะช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีด้วยการออกกองทุนเพื่อร่วมลงทุน(venture capital) ขยายวงเงินสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการที่มีความต้องการได้ โดยคาดว่าสินเชื่อทั้งระบบในปี 2552 จะเติบโตได้ประมาณ 4-5%

นายจ้าง-ลูกจ้างหนุนลดเงินสมทบ
 
ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงกรณีนายกรัฐมนตรี มีแนวคิดงดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ให้กับผู้ประกันตน 9 ล้านคนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ว่า เป็นเรื่องดี แต่ต้องมีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า จะนำเงินส่วนไหนมาช่วย และช่วยอย่างไร มีระยะเวลาเท่าใด มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดอย่างไร อย่าทำเพียงเพื่อสร้างภาพ
 
นายชาลี ลอยสูง เลขาธิการสหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลกทรอนิกส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลดเงินสมทบเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ในระยะยาวลูกจ้างอาจได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกองทุนชราภาพ

จ่าย5พันว่างงานแค่4ด.
 
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า นายกอร์ปศักดิ์ สภาวะสุ รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาการจัดสรรงบประมาณกลางปี 1 แสนล้านบาท โดยที่ประชุมได้ข้อยุติในการจัดสรรงบปว่า จะนำมาใช้แก้ไขปัญหาว่างงานในโครงการฝึกอบรมอาชีพให้กับผู้ที่ถูกเลิกจ้าง 5 แสนคน  โดยสำนักงบประมาณเห็นว่า วงเงินอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะใช้ 1.7-2 หมื่นล้านบาท  โดยคำนวณจากกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับความช่วยเหลือเดือนละ 5 พันบาท เป็นเวลา 3-4 เดือน หรือประมาณคนละ 2 หมื่นบาท นอกจากนี้ กองทุนประกันสังคม จะขยายระยะเวลาการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ว่างงานจากเพิ่มจาก 6 เดือนเป็น 9 เดือนด้วย

ก.พาณิชย์ล็อบบี้นายกฯของบฯ
 
นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงและตนได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อรายงานความจำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการส่งออกให้ไม่ต่ำกว่า 3% หรือเพิ่มรายได้ 6 ล้านล้านเป็น 6.8 ล้านล้านบาท จึงต้องใช้เงินผ่านโครงการแผนงานใหม่ 21 โครงการ ใช้งบทั้งสิ้น 1.03 หมื่นล้านบาท โดยนายกฯแจ้งว่า จะได้งบหรือไม่ ต้องไปเข้ากระบวนการพิจารณา หลังจากนี้จึงจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนเสนอให้นายกอร์บศักดิ์ เสนอครม. 13 มกราคม นี้ และเข้าครม.อีกครั้งในวันที่ 20 มกราคม

"ชาญชัย" ขอ1.2หมื่นล.แก้อุตฯ
 
นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังหารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ว่า ที่ประชุมเห็นร่วมกันในการเสนอของบกลางปี วงเงิน 16,378 ล้านบาท ผลักดัน 5 มาตรการเร่งด่วน คือ 1.ขยายตลาด รักษาสภาพการจ้างงาน การเสริมสภาพคล่องของธุรกิจเอสเอ็มอี ใช้งบมากที่สุดถึง 12,727 ล้านบาท 2.การประชาสัมพันธ์สื่อต่างประเทศฟื้นความเชื่อมั่นการลงทุนต่างชาติ ปรับปรุงเงื่อนไขสิทธิประโยชน์เชิงรุก ใช้งบ 400 ล้านบาท 3.ส่งเสริมอุตสาหกรรมรายสาขา อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร ไฟฟ้า ซอฟต์แวร์ อัญมณี ใช้งบ 2,331 ล้านบาท 4.พัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่จากแรงงานที่ถูกเลิกจ้างและนักศึกษาจบใหม่ ใช้งบ 650 ล้านบาท และ5.พัฒนาศักยภาพและการสร้างแรงงานในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ใช้งบ 270 ล้านบาท
 
นายชาญชัย ประเมินว่า ในไตรมาส1-2 ของปีนี้ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะยังติดลบต่อไป จึงเชื่อว่าครม.จะเร่งอนุมัติงบประมาณได้เร็วขึ้น  ทั้งนี้ นายชาญชัย ยังปฏิเสธว่ามาตรการด้านแรงงานไม่ซ้ำซ้อนกับของกระทรวงแรงงาน  แต่เส่งเสริมกัน และมั่นใจมีเม็ดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท

ส.อ.ท.จี้รัฐบาลเร่งให้งบ
 
นายสันติ วิลาสศักดานนท์  ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า งบที่จะสนับสนุน 5 มาตรการดังกล่าว จะส่งผลต่อเอสเอ็มอีจำนวน104,255 ราย รักษาการจ้างงาน 545,980 คน มีเงินสะพัดในระบบไม่ต่ำกว่า 300,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุน 1.25 ล้านบาท ใน 3 ปี เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นในการลงทุน  และมีแรงงานที่คาดว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ 42,250 ราย อย่างไรก็ ตามยังเป็นห่วงว่ารัฐบาลจะอนุมัติงบประมาณล่าช้า อาจทำให้ประเทศเสียโอกาสได้
 
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการบริษัท อมตะคอเปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า  เป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุน จำนวน1.25 ล้านบาท ภายใน 3 ปี ยังน้อยเกินไป หากเทียบกับมูลค่าการลงทุนของประเทศเวียดนามที่ถึงปีละ 6 หมื่นล้านบาท ไทยน่าจะมีศักยภาพมากกว่านี้ 

ทีดีอาร์ไอเตือนอย่ามุ่งการเมือง
 
นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงข้อเสนอมาตรการกระตุ้นของทีดีอาร์ไอที่มอบให้นายกรัฐมนตรี ว่า ถือเป็นมาตรการที่มีความเหมาะสมในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้ ขึ้นอยู่กับนายกฯว่าจะรับแนวทางใดไปปฏิบัติบ้าง ทั้งนี้ในระหว่างการหารือมีหลายเรื่องที่เห็นตรงกัน
 
"การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านกลุ่มเป้าหมาย 9 กลุ่มนั้น มีนักเศรษฐศาสตร์หลายคนเห็นด้วย แต่ส่วนตัวผมมองว่าขั้นตอนการดำเนินงานคงต้องระมัดระวังให้ดี โดยเฉพาะเรื่องการใช้จ่ายเงินที่รัฐบาลต้องคำนึงถึงผลตอบรับที่จะเป็นประโยชน์มากที่สุด อย่าพยายามเน้นเรื่องการเมืองมากเกินไป และการใช้จ่ายเงินต้องไม่สุรุ่ยสุร่าย ไม่เช่นนั้นจะไม่เกิดผลดี" นายนิพนธ์ และว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องคำนึงเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการต่างๆ คือมาตรการใดที่เป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้นต้องสามารถยกเลิกได้ หลังมีผลแล้ว เพราะหลายมาตรการอาจจะมีผลเกี่ยวกับการก่อหนี้ของประเทศชาติในอนาคต

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์