“อภิสิทธิ์” ขอเดิมพันตำแหน่ง แก้ปัญหาศก.ไม่ได้รบ.ก็ไม่รอด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
 
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้นำทีมเศรษฐกิจประกอบด้วย นายโพธิพงษ์ ล่ำซำ นายพิเชษฐ์ พันธุ์วิชาติกุล นายเกียรติ สิทธิอมร นายสรรเสริญ สมะลาภา เข้าร่วมหารือกับนายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมด้วยคณะกรรมการ ส.อ.ท. 


โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวต่อที่ประชุมว่า

อยากจะแจ้งให้ภาคเอกชนทราบสถานการณ์ทางการเงินของประเทศไทยกำลังจะเผชิญกับปัญหาการติดขัดกับกฎระเบียบของมาตรฐานการกำกับสถาบันการเงินของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศฉบับที่ 2 (บาเซิล 2) หากรัฐบาลไม่ตัดสินใจในเรื่องนี้ จะมีผลต่อการปล่อยสินเชื่อที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ เพราะประเทศที่เจริญและมีความก้าวหน้าทางการเงินแล้ว ก็ยังผ่อนผันการบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าว ส่วนประเด็นเฉพาะหน้าในการฟื้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะไม่เน้นดูแลเฉพาะเรื่องของวงเงินให้สินเชื่อ แต่จะเน้นไปที่การเติมกำลังซื้อให้กับคนไทยให้เพิ่มมากขึ้น จึงได้สั่งการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พิจารณาเพิ่มเติมวงเงินสินเชื่อให้แก่เกษตรกรด้วย


 สำหรับการหารือครั้งนี้

ขอรับข้อเสนอของ ส.อ.ท. ในเรื่องหลักๆไปก่อน ส่วนข้อเสนอปลีกย่อยจะมอบให้คณะทำงานทีมเศรษฐกิจมาหารือ โดยข้อเสนอที่จะรับเป็นหลักการคือการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) และจะผลักดันให้มีการจัดตั้ง กรอ.ระดับจังหวัด เพื่อกลั่นกรองงานให้รวดเร็วขึ้น รวมทั้งจะอนุมัติให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกลั่นกรอง การทำงานแบบเร่งด่วนเพื่อคัดเลือกงานเร่งด่วน (fast track) เพื่อลดขั้นตอนกลั่นกรองงานเสนอ ครม.
 


ขณะเดียวกัน จะสั่งการให้กระทรวงแรงงานตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามสถานการณ์แรงงานเป็นการเฉพาะ เช่น ต้องมีข้อมูลว่านายจ้างมีคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) เข้ามาหรือไม่ หากออเดอร์หายไปก็ต้องบอกให้แรงงานทราบไม่ใช่ปกปิด แต่หากมีออเดอร์แล้วไม่ได้รับการปล่อยสินเชื่อก็ต้องไปดูว่าเหตุใดสถาบันการเงินไม่ยอมปล่อยสินเชื่อ เพราะหากมีออเดอร์จริงกระทรวงแรงงานต้องหามาตรการไม่ให้เกิดการเลิกจ้าง 

ผมขอย้ำว่ารัฐบาลชุดนี้มาตามวิถีทางประชาธิปไตย ไม่ใช่รัฐบาลสัมปทานที่แต่ละพรรคต่างคนต่างทำงาน ผมจึงจะเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจคอยประสานให้นโยบายเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป ถ้าเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวผมก็ไม่รอด ซึ่งการทำงานก็ต้องยืนยันว่าจะไม่เข้าไปล้วงลูกก้าวก่ายการทำงานของกระทรวงเศรษฐกิจอื่นๆ”


นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า
 
ในการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ในวันที่ 21 ม.ค.52 รัฐบาลจะนำเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณกลางปี และประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมให้ครอบคลุมนโยบายการเงิน อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน แม้จะเป็นเรื่องของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็พร้อมรับฟังและได้ให้ทีมงานไปประสานและหารือในเรื่องต่างๆ ที่อาจเห็นไม่ตรงกันในทางลับแล้ว 


“การลดดอกเบี้ยลงของ กนง.ครั้งล่าสุดค่อนข้างแรง แสดงให้เห็นว่า กนง.พยายามปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แม้จะมีคนบ่นเรื่องส่วนต่างของดอกเบี้ย แต่ธนาคารพาณิชย์ก็ยืนยันกับผมว่า ส่วนต่างที่เกิดขึ้นไม่ได้สูงผิดปกติเพราะมีต้นทุนแฝงค่อนข้างมาก ซึ่งผมจะเข้าไปรื้อตัวเลขดูว่าข้อ เท็จจริงเป็นอย่างไร”

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า

มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลต้องลดเพดานการขาดดุลงบประมาณลงมา ส่วนจะลดเท่าไรยืนยันว่าจะไม่ทำให้เกิดการเสียหายต่อวินัยการเงินการคลังของประเทศ แต่หากจำเป็นต้องใช้ยาแรงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องให้แรงและเร็วที่สุด เพื่อให้หายฟื้นไข้ให้เร็วที่สุด และนโยบายการเงินการคลังของรัฐบาลจะไม่จำกัดวงแคบอยู่เฉพาะเรื่องของค่าเงินบาท หรืออัตราแลกเปลี่ยน เพราะต้องดูเรื่องสภาพคล่องให้ภาคเอกชนด้วย
ปัญหาของไทยขณะนี้คือไม่ได้ขาดสภาพคล่องทางการเงินแต่มีเงินในระบบ เพียงแต่เงินไม่ไหลออกมาให้ภาคเอกชน เรื่องนี้รัฐบาลก็จะหากลไกว่าต้องทำอย่างไรให้เงินไหลเข้าสู่วงจรเศรษฐกิจโดยด่วนที่สุด

นอกจากนี้ ในการประชุม ครม. วันที่ 23 ธ.ค.นี้

จะอนุมัตินโยบายการทำงานในทุกๆด้านให้แล้วเสร็จแม้จะเป็นการประชุม ครม.นัดแรก เพราะตนได้สั่งให้คณะทำงานของพรรคประชาธิปัตย์เร่งร่างนโยบายการทำงานให้แล้วเสร็จใน 7 วัน จากนั้นจะเสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาวันที่ 29-30 ธ.ค.นี้ โดยหากสมาชิกรัฐสภาอภิปรายไม่แล้วเสร็จ ก็จะขยายเวลาการอภิปรายนโยบายรัฐบาลไปถึงวันที่ 31 ธ.ค. เพื่อให้ ครม.บริหารประเทศได้หลังวันปีใหม่ 

ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า
 
จะหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการจัดหาสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนให้กับภาคธุรกิจ และอาจต้องพิจารณาว่าหากมีการเลื่อนการบังคับใช้ บาเซิล 2 ออกไปจะเป็นประโยชน์ต่อสภาพคล่องในระบบและความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการหรือไม่ เพราะหลักเกณฑ์นี้จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อได้น้อยลงประมาณ 10% เนื่องจากต้องตั้งสำรองเงินกองทุนเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์ใหม่ ซึ่งตามกำหนดเดิมจะเริ่มบังคับใช้เต็มรูปแบบปลายปี 52.


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์