ครม.มาร์ค 1 หล่อไม่สุด ฝีมือปั้นสุเทพ-เนวิน

เหมือนสงบ แต่มีความปั่นป่วนอยู่ภายใน สำหรับการจัดทำโผ ครม."อภิสิทธิ์ 1" ในกำมือของกำนันท่าสะท้อน "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

เห็นได้จากการออกมาประกาศแบบประชดประชันของ "กำนันสุเทพ" ว่าจะไม่รับตำแหน่ง รมว.มหาดไทย เพื่อปราม "คนใน" ที่กำลังวิ่งขาขวิด ขอมีเอี่ยวตำแหน่งกับเขาด้วย หลังว่างเว้นมาเกือบ 8 ปี

และการออกตัวตั้งแต่ไก่โห่ว่า การจัดบัญชีรายชื่อเสนาบดีครั้งนี้ จะยึดโควต้าเดิมเป็นหลักเพื่อไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อม...

แม้พรรคประชาธิปัตย์จะไม่มีกลุ่มแก๊งก๊วนมากมาย เช่น อดีตพรรคพลังประชาชน แต่กลับมีความขัดแย้งในการชิงเก้าอี้ 18 ตัว ซึ่งแบ่งเป็น 12 รมว. และ 6 รมช.

จากการอ้างสัดส่วนภาค ทั้ง เหนือ กลาง กทม. ใต้เหนือ-ใต้ล่าง รวมถึงคนนอก จนทำให้โผต้องขยับไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง จากปัญหาภายในพรรคเอง

โดยในส่วนที่ลงตัว คือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเป็นนายกฯเพียงตำแหน่งเดียว ไม่ควบเก้าอี้อื่น เพราะรับบทเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจด้วย สุเทพ นั่งเก้าอี้ รมว.มหาดไทย ถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย กรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ ชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมช.ศึกษาธิการ วิทยา แก้วภราดัย รมว.ยุติธรรม เทอดพงษ์ ไชยนันทน์ รมว.สาธารณสุข ธีระ สลักเพชร รมช.สาธารณสุข

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ส่วนคนนอกที่น่าจะลงตัวคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะมารับตำแหน่ง รมว.กลาโหม

สำหรับเก้าอี้ที่เหลือ 7 ตัว อาทิ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือแม้แต่ รมว.ต่างประเทศ ยังเป็นชิ้นปลามันให้คนในพรรคได้แย่งชิงกันอีกรอบ ทั้ง อลงกรณ์ พลบุตร เฉลิมชัย ศรีอ่อน ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ วิฑูรย์ นามบุตร ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ องอาจ คล้ามไพบูลย์ และ สาธิต ปิตุเตชะ ฯลฯ

ขณะเดียวกัน ยังมีแรงขย่มจากภายนอก แม้จะตกลงตั้งแต่การโหวตเลือกนายกฯว่า "โควต้าเดิม" แต่เอาเข้าจริง ต่างฝ่ายต่างอ้างบุญคุณมารุมทึ้งจนผู้จัดการรัฐบาลปวดหัว ทั้งในส่วนของพรรคภูมิใจไทย (มัชฌิมาธิปไตยเดิม) ซึ่งมีอยู่เพียง 8 เสียง แต่กลับขอตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ และรมช.กระทรวงเกรดบี

พรรคเพื่อแผ่นดินที่ขอคงสัดส่วน 4 เก้าอี้ไว้ ทั้งที่เสียงเข้ามาไม่ตามเป้าคือมาเพียง 19 เสียงจากทั้งหมด 29 เสียง

โดยเฉพาะแรงขย่มจาก ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน ที่มีเสียงโหวตในสภาครบตามเป้าคือ 23 เสียง เป็นกลุ่มการเมืองร่วมรัฐบาลที่ใหญ่ที่สุดมาร่วมรัฐบาล เพราะที่ไม่ว่าจะผันตัวเองไปเป็นสมาชิกพรรคที่มีอยู่แล้ว หรือตั้งพรรคการเมืองใหม่ ก็จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอันดับสองทันที

จึงไม่แปลกที่ "สุเทพ" จะดอดไปหารือเพื่อจัดทำโผกับ "เนวิน ชิดชอบ" แกนนำกลุ่มเพื่อนเนวินอยู่บ่อยครั้ง ทั้งก่อนวันที่ 15 ธันวาคม หลังการโหวตเลือกนายกฯไม่กี่ชั่วโมง และล่าสุดในช่วงบ่ายของวันที่ 16 ธันวาคม

ด้านหนึ่งเพราะสุเทพรู้ดีว่าการคุม 23 เสียงของเพื่อนเนวินไว้ มีส่วนสำคัญต่ออายุรัฐบาลเสียงที่มีเสียงมากกว่าฝ่ายค้านแค่ 37 เสียง

อีกด้านหนึ่งได้ศึกษาประวัติของคนชื่อ "เนวิน" จึงรู้ว่าอันตรายขนาดไหน ไม่เชื่อลองไปถาม บรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย หรือแม้แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่าเคยกระอักเลือดกับคนคนนี้มาขนาดไหน

ดังนั้น "เทพเทือก" จึงต้องพยายามใช้ "เนวิน" ให้เป็นมิตรคู่ใจให้ได้ เพราะจะมีประโยชน์ต่อเกมของฝั่งรัฐบาลมหาศาล

เป็นที่มาของการประเคนตำแหน่ง รมว.คมนาคมให้กับกลุ่มเพื่อนเนวิน พร้อมลามือจากการตรวจสอบโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน ที่นักรบอีสานใต้หวังจะใช้เป็นทุนรอนทางการเมือง หลังผละจากอ้อมอกของนายใหญ่

แม้การจัดโผ ครม.มาร์ค 1 ครั้งนี้ ตามขั้นตอนจะต้องให้ "ชวน หลีกภัย" และ "บัญญัติ บรรทัดฐาน" รับรองขั้นสุดท้าย

แต่แท้จริงแล้ว กลับเป็นโผที่ "สุเทพ-เนวิน" มีบทบาทสูงยิ่ง

ความกังวลของ พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหม ที่กลัวว่า "สุเทพ-เนวิน" หรือ "รัก-ยม" คู่ใหม่ จะครอบงำการบริหารงานของรัฐบาลอภิสิทธิ์ จึงเป็นสิ่งที่น่ารับฟัง

การออกตัวของสุเทพว่า "นายกฯก็หน้าตาดูดี แต่บางคนหน้าตาอาจไม่ถูกใจ ก็อย่าเพิ่งตำหนิกัน" ก็เป็นพูดเพื่อลดกระแสต่อต้านที่อาจมีขึ้น หากรายชื่อ ครม.ทั้งหมดปรากฏออกมา

เพราะนายกฯชื่อมาร์คอาจหน้าตาหล่อเหลา

แต่ ครม.อาจไม่หล่อหรือขี้เหร่ อย่างที่สังคมตั้งความหวังเอาไว้ก็ได้....


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์