สุริยะใส กตะศิลา สรุปบทเรียนพันธมิตรฯ

หลังการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่จบลงด้วยการเข้ายึดสนามบิน 2 แห่ง และศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง 3 พรรค ส่งผลให้รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สิ้นสภาพไป

ผลจากการชุมนุมยืดเยื้อนับร้อยวัน และเข้ายึดสถานที่สำคัญหลายแห่ง ทำให้ทางราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ที่ได้รับความเสียหาย เตรียมฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญาหลายคดี

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุม โดยเฉพาะท่าทีแข็งกร้าว ข่มขู่ของแกนนำ และกองกำลังการ์ด ก็ทำให้สังคมข้องใจและคาใจกับอุดมคติและแนวคิดทางการเมืองของพันธมิตรฯ และเชื่อว่าจะส่งผลต่อขบวนการนี้ในอนาคต

นายสุริยะใส กตะศิลา ประสานงานกลุ่ม พธม.ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "ข่าวสด" ถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุม

วิพากษ์วิจารณ์มากกับการทำหน้าที่ของการ์ดพันธมิตรฯ

ปัญหานี้ถือเป็นบทเรียน การชุมนุมปี "49 ไม่มีปัญหาเรื่องนี้เพราะไม่ได้ยืดเยื้อ วันเดียวกลับ อย่างมากก็ 7 วันกลับ แต่ครั้งนี้ปักหลักยืดเยื้อยาวนานมาก

มีการแฝงตัวเข้ามาของสายข่าวมาเป็นการ์ดหรือมวลชนแล้วไปสร้างปัญหากระทบกับภาพลักษณ์ของการ์ดก็มี การที่ฝ่ายตรงข้ามโจมตีรุนแรงมีคนเสียชีวิตก็กดดันมวลชนและการ์ดให้ทำงานอย่างเข้มข้น

การ์ดส่วนหนึ่งไม่เข้าใจงานการเมืองที่ความสัมพันธ์กับนักข่าว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ต้องไปเอาใจแต่พูดจาด้วยเหตุผล ไม่ใช่ไปใช้ท่าทีรุนแรง ยึดบัตร อุ้มไปซัก ขอตรวจข่าวอย่างนี้มันเกินไป ก็พยายามแก้ด้วยการไปขอโทษ ออกระเบียบหรือทำความเข้าใจบนเวทีแต่ต้องเข้าใจว่าคนร้อยพ่อพันแม่คุมกันไม่อยู่

แต่บางครั้งแกนนำบนเวทีเองที่ชักนำให้ปฏิบัติรุนแรงกับนักข่าว

ปัญหาของการปราศรัยบนเวทีคือมีความเป็นตัวของตัวเองสูง บนเวที 24 ชั่วโมง เช้าอย่าง สายอย่าง บ่ายอีกทาง ค่ำคนละเรื่อง มันเปลี่ยนตลอด หลายครั้งที่เราคุมสภาพไม่ได้ ทำได้แค่คุย แต่คุยแล้วไม่ดีขึ้นก็มี เพราะเขาจะมีเหตุผลของเขา และการชุมนุมนี้มีลักษณะพิเศษสูง ชนชั้นสูงก็เยอะ ชนชั้นกลางก็มาก ชนชั้นล่างก็ไม่น้อย ควบคุมได้ยากมาก

การประชุมแกนนำแต่ละครั้งเราใช้เวลากับเรื่องสากกะเบือยันเรือรบพวกนี้มากกว่าเรื่องยุทธศาสตร์ด้วยซ้ำไป เช่น การ์ดกลุ่มนี้ไปทะเลาะกับกลุ่มนั้น การ์ดก็ไม่เป็นเอกภาพ ปราศรัยบนเวทีทำไมมันหลุดโลก คุยเป็นชั่วโมงแต่ที่นั่งคุยจะเอาอย่างไรกันต่อ 10 นาที


บางครั้งมันก้าวไปถึงการคุกคามสื่อ

มีเหมือนกัน อย่างข่าวสด มติชนก็กรณีหนึ่ง แต่เอ็นบีทีก็กรณีหนึ่ง เพราะมีลักษณะเป็นกระบอกเสียงของฝ่ายโน้นทั้งที่มาจากภาษีประชาชน ทั้งหมดนี้ทำให้มวลชนมีอารมณ์ เมื่อมีอารมณ์ก็คุมไม่อยู่


มีการปราศรัยด่าคนที่เป็นแนวร่วม

เป็นปัญหาเหมือนกันเพราะบางทีคิดได้ว่าเราไปทำลายแนวร่วมหรือเปล่า ผลักมิตรเป็นศัตรูหรือเปล่า แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์แตกหักแนวร่วมไม่สำคัญเลย มันต้องเป็นพลังที่เด็ดเดี่ยวของมวลชน เราจะให้มวลชนไขว้เขวไม่ได้

มันเลยขั้นตอนสมานฉันท์ไปแล้ว เป็นตอนที่มีคำพิพากษาชี้ถูกผิดแล้ว สานเสวนาจะใหญ่กว่าศาลยุติธรรมได้อย่างไร ท่วงทำนองของเราต้องชัดไปเลยว่าไม่เอาเพื่อไม่ให้มวลชนไขว้เขว เมื่อเรียกร้องเลือกข้างตลอดก็ต้องเลือกข้าง ไม่ว่าเรื่องอะไร


ทำไมอยู่ๆ ถึงยุติการชุมนุม

เรื่องถอยหรือยุติการชุมนุมพูดกันมากตั้งแต่หลังงานวันแม่ เริ่มถกกันว่ามันนานเกินไปหรือเปล่า จะลงจังหวะไหน มีคนเสนอว่าน่าจะลงช่วงคำตัดสินคดีคุณทักษิณ (ชินวัตร) เรื่องที่ดินรัชดาฯ ช่วงเดือนต.ค.

บางมุมก็บอกว่าไหนๆ พ.ต.ท.ทักษิณก็ไม่กลับมารับผิดอยู่แล้ว ตราบใดที่รัฐบาลเป็นรัฐบาลนอมินีอยู่ คำพิพากษาคดีพ.ต.ท. ทักษิณไม่มีความหมาย รัฐบาลนอมินีก็จะฟอกผิดทักษิณหรือหาทางช่วยเหลือระยะยาว เลยคิดว่าน่าจะสู้กันยกสุดท้ายให้รัฐบาลนี้พังไปเลย

บางส่วนก็บอกว่าไม่ต้องไปคิดอะไรกดดันแล้ว เพราะข่าววงในบอกว่าคดียุบพรรคไม่น่าเกินปลายพ.ย. หรือต้นธ.ค. คดียุบพรรค 3 พรรคน่าจะเป็นการปลดชนวนวิกฤตทางการเมือง เมื่อถึงตรงนั้นพันธมิตรฯ ก็ลงได้อย่างสง่างาม

แต่เหตุที่มาประกาศสงครามม้วนเดียวจบ เพราะเรื่องของความรุนแรงที่กระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกของมวลชนและแกนนำมากว่าเราจะนั่งอยู่เฉยๆ เพื่อรอศาลมันไม่ใช่แล้ว เพราะเท่ากับเรานั่งนับศพมวลชน มันไม่ไหว

อีกมุมหนึ่ง มวลชนเริ่มรู้สึกว่าแกนนำนิ่งเกินไป อหิงสาเกินไป ทำไมไม่ตอบโต้ ตั้งรับเกินไปหรือเปล่า


ทำไมไม่รอให้ศาลตัดสิน

ตอนนั้นนัดหมาย 23 พ.ย. ศาลยังไม่ได้นัดแถลง 2 ธ.ค. ข่าววงในบอกศาลถูกล็อบบี้ให้เลื่อนอ่านคำตัดสินคดียุบพรรคไปต้นปีหน้า บางคนบอกว่าอาจยุบพรรคแต่ไม่ตัดสิทธิ์กรรมการบริหาร บางคนบอกตัดสิทธิ์คนเดียว

ข่าวออกมาในแนวว่าการล็อบบี้ของรัฐบาลเริ่มได้ผล ก็เริ่มคิดแล้วว่าตุลาการภิวัฒน์เริ่มมีปัญหา ทหารก็นิ่ง องค์อำนาจต่างๆ ไม่ขยับ ต้องพึ่งตัวเองและสู้ให้ถึงที่สุด



ใครเสนอให้ปิดสนามบินสุวรรณภูมิ

เดิมทีไม่ได้อยู่ในแผน แต่หลังเหตุการณ์ 7 ตุลาฯ ผ่านไป 2-3 วัน ผมเริ่มรู้สึกว่าเราพีกแล้ว ความชอบธรรมเราสูงแล้ว ผมเสนอกับแกนนำบางคนว่าควรปิดสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อตอบโต้รัฐบาล แต่ตอนนั้นแกนนำปฏิเสธ มีเพียงบางคนที่เห็นด้วย

ยุทธการม้วนเดียวจบไม่ได้วางแผนว่าวันนี้จะไปปิดที่ไหน เป็นคาถาเลยว่าสถานการณ์จะกำหนดกิจกรรมแล้วปรับตามสถานการณ์ ไปปิดสุวรรณภูมิ เพราะวันที่ 24 พ.ย. ปิดรัฐสภาจนไม่มีการประชุม สื่อมวลชนบอกว่าเราชกลม มวลชนตั้งคำถามว่าเราได้แค่นี้เหรอ

ตกเย็นแกนนำหลายคนบอกถอยจากสภาถ้าเสนอแก้รัฐธรรมนูญเมื่อไหร่ค่อยไปปิดอีก บางส่วนเห็นว่าไม่ได้มวลชนจะตั้งคำถาม มันจะม้วนเดียวจบจริงหรือ จึงตัดสินใจกันหน้าสภาเลยว่าจะไปยึดทำเนียบชั่วคราวที่ดอนเมือง

เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราปิดดอนเมืองและสุวรรณภูมิง่าย เพราะไม่ได้ออกแบบล่วงหน้า มันต่างกับตอนเอ็นบีทีที่มีข่าวรั่ว มีคนแอบเข้ามาเป็นสายข่าวแล้วเอาข่าวไปขาย สุดท้ายก็เลยถูกตลบหลัง


ประเมินถึงความเสียหายที่ตามมาหรือไม่

นักธุรกิจที่ต้องใช้สนามบินหลายคนเป็นแนวร่วมพันธมิตรฯ หลายคนมาชุมนุมบริจาคจำนวนมากก็ต่อว่า ไม่ใช่แค่ครั้งแรก ตอนเราประกาศสงคราม 9 ทัพ รัฐวิสาหกิจตัดน้ำตัดไฟ ท่าเรือนัดหยุดงาน ปิดสนามบินภูเก็ต หาดใหญ่ ตอนนั้นคนที่เป็นแนวร่วมก็เริ่มบ่นกันจนต้องถอย

ปิดสุวรรณภูมิเราสู้กับพวกเดียวกันเองก็มี บางคนเสียหายมาก บางคนมานั่งเคลียร์กับผมเป็นชั่วโมง แต่ผมก็บอกว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่พอ การต่อสู้ครั้งนี้ต้องคำนึงถึงความขัดแย้งทางการเมืองที่มันซับซ้อน

ยอมรับว่ามีมวลชนส่วนหนึ่งหายไป คะแนนพันธมิตรฯ ก็ลงเรื่อยๆ เหมือนกัน โพลสำรวจก็เริ่มลด คนที่อยู่ข้างพันธมิตรฯ ไม่พอใจในมาตรการบางอย่างก็เริ่มถอยออกไป เริ่มไปเป็นพลังเงียบ หรือรักษาระยะห่างมากขึ้น ก็เห็นว่าคนมันลดลงแต่โชคดีที่คะแนนไม่สะวิงไปอยู่ฝ่ายเสื้อแดงหรือฝ่ายตรงกันข้าม


จากนี้จะไปใช้ชีวิตปกติได้หรือไม่

ก็คงยากอยู่ ความคับแค้นไม่พอใจของฝ่ายตรงข้ามหรือผู้เสียประโยชน์มีแน่ การจ้องเล่นงานหรือการเอาคืน การทำร้ายด้วยวิธีการต่างๆ มันมีตลอดเวลา วิถีชีวิตหรือบทบาทหน้าที่ก็ต้องปรับไปเยอะ

อย่างผมเสร็จงานนี้ก็ไม่ได้คิดว่าจะเลิกการชุมนุมไปเลย เพราะฝ่ายคุณทักษิณก็คงไม่ยอม นี่เขาก็ประกาศสู้ ต้นปีก็อาจกลับมาอีก ถ้าเขามาเราก็ต้องกลับมาสู้อีก

มีวาระซ่อนเร้นการชุมนุมของแกนนำในเรื่องธุรกิจหรือเงินบริจาค

มันเลี่ยงกันไม่พ้น แต่จะตีความว่าส่วนตัวเพียวๆ ไม่ได้ อย่างเอเอสทีวีหรือผู้จัดการจะบอกว่าเป็นของคุณสนธิ (ลิ้มทองกุล) ก็ไม่ผิด แต่ภารกิจของเขาก็เป็นกระบอกเสียงให้พันธมิตรฯ การต่อสู้จะไม่มีพลังเลยถ้าเราไม่มีกระบอกเสียงที่มีประสิทธิภาพและอยู่ไม่ได้ถึงวันนี้ คนส่วนหนึ่งที่บริจาคก็คิดเรื่องตรงนี้


มีข่าวว่าไปต่อรองคดีความ

ก่อนหน้านี้คุณสุวัตร อภัยภักดิ์ และทนายพันธมิตรฯ ได้คุยกับปลัดสำนักนายกฯ ในฐานะที่รู้จักกันส่วนตัว แต่แกนนำไม่ได้ให้นโยบายอะไรไป คงไปคุยในฐานะทนายที่ดูแลคดีทั้งหมด อะไรที่เป็นคดีการเมืองก็ควรเลิก เจ๊ากันไป คดีอะไรที่เป็นเหตุเป็นผลก็คุยกัน เจรจากัน แต่แกนนำไม่ได้สั่งอะไรชัดเจน ว่าไป หากการกระทำไปกระทบกับคนอื่นก็ยินดีถูกดำเนินคดี


เห็นว่าส่วนตัวมีแม่ยกซื้อรถใหม่ให้

ผมไม่เคยเรียกว่าแม่ยก เพราะแม่ยกเหมือนพวกหลงใหลดารา คนพวกนี้มีความคิดทางการเมือง ส่วนให้เงินให้รถให้บ้านก็ปล่อยข่าวมาตั้งแต่ปี "49 ซึ่งก็ยืนยันว่าไม่มี บ้างบอกขับเบนซ์ บีเอ็มฯ ป้ายแดง แต่ผมใช้รถวีออส มือ 2 ยังขาดผ่อนอีก 18 งวด ไปเช็กดูได้

ผมเองขับรถไม่เป็น ที่ซื้อรถเพราะเจ้าของอู่เขาเป็นพันธมิตรฯ ไม่ได้ดาวน์สักบาท ผ่อนเดือนละ 9 พันกว่าบาท ยังเหลือ 18 งวด ตอนชุมนุมไฟแนนซ์ก็ให้คนมาตามเก็บเงินที่นี่

ช่วงชุมนุมก็มีพรรคพวกเอารถมาให้ใช้ อย่างวีโก้ บางครั้งฉุกเฉินมีคนมารับ อาจเห็นผมนั่งคัมรี่แต่ก็เป็นรถพรรคพวกขับพาไปกินข้าวบ้าง ทำอะไรบ้าง

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์