40 ส.ว. ตามไล่ล้าง ส.ส. สัดส่วน

ขณะเดียวกัน เมื่อเวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา พร้อมด้วยกลุ่ม 40 ส.ว.ยื่นหนังสือต่อนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 3 ประเด็นคือ 1. ส.ส.สัดส่วนของพรรคพลังประชาชน จะสิ้นสภาพความเป็น ส.ส.หรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 93 วรรคห้า เนื่องจาก ส.ส.สัดส่วนมาจากการลงคะแนนเลือกพรรคการเมือง จึงไม่สามารถย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นได้ เช่นเดียวกับ ส.ส.เขต หากย้ายไปพรรคเพื่อไทย พรรคดังกล่าวไม่มี ส.ส. และไม่เคยผ่านการเลือกตั้ง 2. ให้วินิจฉัยว่า ครม.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ทั้งคณะต้องสิ้นสุดไปด้วยหรือไม่ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน ตามมาตรา 180 วรรคหนึ่ง (1) และวรรค สอง มาตรา 182 (5) มาตรา 174 (4) มาตรา 102 (3) และมาตรา 100 (2) เนื่องจากมี ส.ส.สัดส่วนหลายคนเป็นรัฐมนตรี แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะย้ายพรรคได้หรือไม่ 3. ให้วินิจฉัยว่านายชวรัตน์ ชาญวีรกูล สามารถดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ เพราะมาตรา 171 วรรคสอง บัญญัติให้นายกฯต้องเป็น ส.ส. แต่นายชวรัตน์ไม่ได้เป็น ส.ส.

ปธ.วุฒิชี้นายกฯสังคมต้องรับได้

นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภากล่าว ว่า จะตรวจสอบและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุด ส่วนการประชุมสภาสมัยวิสามัญที่คาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 8-9 ธ.ค.นั้น ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถือว่านายชัย ยังอยู่ในตำแหน่งเหมือนเดิม ถ้ามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาให้เปิดสมัยประชุมก็สามารถประชุมได้ ส่วนนายกฯคนใหม่นั้น ต้องมีความสามารถคลี่คลายปัญหาบ้านเมืองได้ และขึ้นอยู่ที่ดุลพินิจของสมาชิกสภาที่จะมีมติเลือก โดยต้องคำนึงถึงจุดที่สังคมยอมรับได้ ส่วนข้อเสนอเรื่องการตั้งรัฐบาลแห่งชาตินั้น มีความเป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับทุกพรรค หากทุกพรรครวมกันแล้ว เปิดประชุมเพื่อตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โดยนายกฯต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่จะคลี่คลายปัญหาบ้านเมืองได้หรือไม่ คงประคับประคองบ้านเมืองไประยะหนึ่งให้เข้าที่เข้าทาง แต่ก็ขึ้นกับผู้ เกี่ยวข้องที่จะดำเนินการ
 ส.ส.สัดส่วนไม่หมดสมาชิกภาพ

นายเสรีกล่าวว่า ส่วนปัญหาสถานภาพ ส.ส.สัดส่วนนั้น มีข้อพิจารณาว่า
คำสั่งยุบพรรคเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรคสอง ที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค แต่ไม่ได้เพิกถอนสิทธิ ส.ส.สัดส่วน ที่ไม่ใช่หัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรค ซึ่งกรณีนี้ต้องพิจารณาตามมาตรา 106 ที่ไม่มีบทบัญญัติให้ ส.ส.ต้องพ้นไป เพราะพรรคการเมืองถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรค ยกเว้นแต่ไม่สามารถหาพรรคการเมืองใหม่สังกัดได้ใน 60 วัน นอกจากนี้เจตนารมณ์ของการได้เป็น ส.ส.สัดส่วน เป็นเรื่องของการเข้าสู่ตำแหน่งที่ประชาชนลงคะแนนเลือก อันมาจากหลายปัจจัย เช่น การเลือกพรรค ชอบในนโยบาย หรือชอบตัวบุคคล ดังนั้น การลงคะแนนคงไม่ใช่เพราะพรรคเพียงอย่างเดียว การตีความเรื่องการลงโทษคนอื่นที่ไม่ได้กระทำความผิด ต้องตีความอย่างเคร่งครัด ไม่ตีความขยายการตัดสิทธิคนอื่น ทำให้ขาดความเป็นธรรม เกิดการตีความที่ผิดไปจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์