นิติมธ.ออกแถลงการณ์ให้ยอมรับคำตัดสินศาลรธน.

คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.ออกแถลงการณ์กรณียุบพรรคการเมือง เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยอมรับคำตัดสินของศาล รธน.เชื่อว่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้บ้านเมืองกลับสู่ความสมานฉันท์ ระบุกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่รวบรัด

 คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์กรณีการยุบพรรคการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า ตามที่ได้มีการฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการยุบพรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย อันเนื่องจากกรณีที่กรรมการบริหารพรรคทั้ง 3 มีส่วนรู้เห็นปล่อยปละละเลยหรือทราบถึงการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้งแล้วมิได้ยับยั้งหรือแก้ไข เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งยุบพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรค

 คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเห็นเกี่ยวกับกระบวนการและขั้นตอนในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่า การดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มีข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ซึ่งให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะดำเนินกระบวนการพิจารณาอย่างรวดเร็ว คล่องตัว เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่คู่กรณีทุกฝ่าย โดยกระบวนการพิจารณาก็จะเป็นการดำเนินการแบบศาลโดยทั่วไปคือเปิดโอกาสให้คู่กรณีนำพยานหลักฐานทั้งหมดมายื่นต่อศาลได้ อย่างไรก็ตาม ลักษณะพิเศษของการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็น “ระบบไต่สวน” ไม่ใช่ “ระบบกล่าวหา”

 ดังนั้น ข้อ 32 ของข้อกำหนดดังกล่าวจึงกำหนดให้ “ในการพิจารณาคดีของศาล หากศาลเห็นว่าคดีใดมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลอาจประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัยโดยไม่ทำการไต่สวนก็ได้” หรือในข้อ 37 ก็กำหนดว่า “ในการไต่สวนของศาล หากศาลเห็นว่าคดีใดมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลจะงดการไต่สวนก็ได้” ซึ่งในกรณีนี้ศาลก็ได้อาศัยอำนาจตามข้อ 32 และ 37 ไม่ให้มีการไต่สวนพยานหลักฐานอันเป็นอำนาจโดยชอบธรรมที่ศาลสามารถทำได้

 อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญมิได้ทำการรวบรัดกระบวนการพิจารณาที่ผิดไปจากหลักนิติธรรมแต่ประการใด ดังจะเห็นได้จากศาลได้เปิดโอกาสให้คู่กรณีจากพรรคการเมืองทั้ง 3 แถลงปิดคดีได้ หลังจากนั้นศาลจึงได้ทำคำวินิจฉัยโดยมีการลงลายมือชื่อของตุลาการที่วินิจฉัยทุกคน กระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนจนถึงปัจจุบัน จึงเป็นกระบวนการที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ดังนั้น การตัดสินคดียุบพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรคของศาลรัฐธรรมนูญจึงมิใช่การรวบรัดแต่ประการใด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนย่อมมีอิสระในการวินิจฉัยคดีตามความคิดเห็นของตน

 ในฐานะนักกฎหมาย คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่าการมีความเห็นที่แตกต่างกันในเนื้อหาของคำวินิจฉัยย่อมเป็นเรื่องปรกติธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ แต่การยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากปฏิเสธการวินิจฉัยของศาลเสียแล้ว สังคมย่อมไม่สามารถดำรงอยู่ได้ และในภาวะที่สังคมเกิดความแตกแยกอย่างรุนแรงในทางความคิด การยอมรับคำวินิจฉัยของศาล ย่อมเป็นหนทางหนึ่งในการนำสถานการณ์บ้านเมืองไปสู่ความสมานฉันท์ตามที่ทุกฝ่ายเรียกร้อง


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์