รมต.พปช.ขู่เหนือ-อีสานลุกฮือเป็นล้านคนแน่ ดิ้นแก้เกมยื่นค้าน3ตุลาการ คดียุบพรรค ให้เพิกถอน2คำสั่ง


รมต.พลังประชาชนขู่เหนือ-อีสานลุกฮือเป็นล้านคนแน่ บอกเป็นสิทธิ ปชช.หากไม่พอใจคำตัดสินศาล รธน.คดียุบพรรค "แม้ว" อ้างอีก เจอรัฐประหารแบบใหม่ เปลี่ยนมือจากทหารมาทำผ่านกระบวนการยุติธรรม กก.บห.พปช.ออกแถลงการณ์ สู้รัฐประหารเงียบ ยื่นค้าน 3 ตุลาการ หวังยื้อตัดสินยุบพรรค ผวาเจอเชือดเดี่ยว 2 พรรครอดเปลี่ยนขั้ว แต่ไม่วายคุยพรรคร่วมรับปาก "เคียงข้าง"

รมช.มหาดไทยขู่ "ยุบ" เหนือ-อีสานฮือเป็นล้าน

นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จากพรรคพลังประชาชน (พปช.) เรียกร้องช่วยกันจับตามอง การตัดสินคดียุบพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล 3 พรรค ประกอบด้วย พปช. ชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย (มฌ.) จะเป็นธรรมหรือไม่ ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงปิดคดีด้วยวาจาวันที่ 2 ธันวาคม ท่ามกลางความวิตกกังวลของทั้ง 3 พรรคว่าจะมีการรวบรัดตัดสินในวันเดียวกันกับที่นัดแถลงปิดคดี หรือไม่ก็ไล่หลังจากนั้นไม่กี่วัน

ในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ที่กระทรวงมหาดไทย นายปรีชากล่าวว่า เวลานี้ประเทศบอบช้ำหนัก ขอให้ยึดประเทศชาติเป็นหลัก เพราะตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ประเทศบอบช้ำมามาก เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ ประชาชนมอบหมายให้ พปช.เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และรัฐบาลทุ่มเทกายใจในการบริหารประเทศ โดยจากการลงพื้นที่ ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลสามารถบริหารประเทศต่อไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องรอการตัดสินคดียุบพรรคจากศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ประชาชนจับตามองว่าการตัดสินครั้งนี้จะเป็นธรรมหรือไม่ 

นายปรีชากล่าวว่า เรื่องที่กลุ่มคนเสื้อแดง หรือกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลประกาศในลักษณะอาจไปปิดล้อมศาลรัฐธรรมนูญนั้น ถือเป็นสิทธิของประชาชนที่สามารถคิดและตัดสินใจได้ ประชาชนสามารถทำได้ หากรู้สึกไม่พอใจกับการตัดสิน "จากการลงพื้นที่คิดว่าประชาชนจากภาคเหนือและอีสานอาจจะมาเป็นล้าน เพราะตอนนี้หลายคนอึดอัด แต่ไม่ใช่การจัดตั้ง ทุกคนมาด้วยใจ" นายปรีชากล่าว

"เสื้อแดง" ยันชุมนุมยืดเยื้อแม้ "ยุบ"

นายวีระ มุสิกพงศ์ ผู้จัดรายการความจริงวันนี้ แกนนำคนเสื้อแดง แถลงบริเวณลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ว่า จุดยืนของกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงนั้นชัดเจนว่าจะไม่มีการเคลื่อนพลไปที่ไหน จึงจะไม่มีการเคลื่อนไหวไปปิดล้อมศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน แต่เวทีนี้เป็นเวทีของแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หากแนวร่วมบางส่วนจะเดินทางไปที่ศาลรัฐธรรมนูญนั้นก็ถือว่าเป็นสิทธิตามกฎหมาย ที่ประชาชนสามารถเดินทางไปทวงถามสิ่งต่างๆจากศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระอื่นๆ ได้   

นายวีระกล่าวว่า การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงนั้นจะชุมนุมต่อไปแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะพิพากษาคดียุบ พปช.ไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพราะต้องการที่จะจับตากระบวนการที่สร้างความบิดเบี้ยวไปจากระบอบประชาธิปไตย อย่างเช่นข้อเรียกร้องของนักวิชาการบางส่วนที่ต้องการให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ใช่ ส.ส. หรือกรณีที่ผู้บัญชาการทหารอากาศเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา หรือแม้กระทั่งแนวคิดที่จะยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเสื้อแดงไม่สามารถรับได้ เพราะสิ่งที่ควรจะเป็นไปตามครรลองคือแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะพิพากษายุบพรรคพลังประชาชนและตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารในวันที่ 2-3 ธันวาคม ก็ควรมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 8-9 ธันวาคม

ยุ2พรรคส่งสัญญาณแบนศาลรธน.

นายวีระกล่าวว่า การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงนั้น ยืนยันว่าได้ทำหนังสือขออนุญาตไปยัง กทม.เรียบร้อยแล้ว ส่วนกรณีที่นายพงษ์ศักดิ์ เสมสันต์ ปลัด กทม.ระบุว่าไม่อนุญาตให้ นปช.มาใช้สถานที่นั้น ก็คงต้องถือว่าขณะนี้ นปช.ได้ยึดเอาลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการ กทม.เป็นสถานที่ชุมนุมไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการชุมนุมจะมีต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 4 ธันวาคม แล้วหยุดวันที่ 5 ธันวาคม จากนั้นจะมีการชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 6 ธันวาคม ซึ่งอาจจะไปใช้พื้นที่ของท้องสนามหลวง

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พปช. กล่าวว่า ได้หารือกับฝ่ายกฎหมายทราบว่าจะไม่เข้าร่วมการแถลงปิดคดี จึงขอเรียกร้องให้ฝ่ายกฎหมาย พรรคชาติไทย และ มฌ.ไม่ต้องเข้าร่วมการแถลงปิดคดีด้วย เพื่อแสดงการไม่ยอมรับศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตุลาการรัฐธรรมนูญหลายคนมีคุณสมบัติที่มีปัญหา โดยไม่ใช่เพียงนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติเพราะเป็นลูกจ้างและประกอบอาชีพอิสระ แต่ยังมีอีกหลายคนที่มีลักษณะเช่นเดียวกับนายจรัญ ล่าสุดทราบมาว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ให้ทหารไปรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับองค์กรตุลาการที่จะได้รับความเกลียดชังจากประชาชนมากมายขนาดนี้ รวมทั้งมีการเตรียมแผนรองรับหากไม่สามารถพิจารณาคดียุบพรรคในวันที่ 2 ธันวาคมที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็จะไปใช้กองบัญชาการกองทัพไทย ในการพิจารณาคดี

ส.ส.ปากน้ำขู่ซ้ำถึงขั้นจลาจล

นายประเสริฐ กิจเด่นนภาลัย ส.ส.สมุทรปราการ พปช. กล่าวว่า ประชาชนฝากบอกมาว่าไม่อยากให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบ พปช.เหมือนกับที่เคยทำกับพรรคไทยรักไทย ซึ่งตรงนี้ทำให้ประชาชนรับไม่ได้ และคงจะต้องออกมาเคลื่อนไหวรวมตัวกันที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 2 ธันวาคม คาดว่าจะมีประชาชนไปชุมนุมที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ต่ำกว่า 10,000 คน

"แค่กรณีที่กลุ่มพันธมิตรไปปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศก็แย่แล้วยังมายุบพรรคอีก เราจึงยอมไม่ได้ ต้องนำพลังเสื้อแดงไปกดดันที่หน้าศาล และรอดูว่าศาลจะตัดสินอย่างไร ซึ่งถ้าศาลตัดสินให้ยุบพรรค และหลังจากนั้นภายใน 2 ชั่วโมงก็คงเกิดเหตุการณ์รุนแรง และเข้าสู่การจลาจล ซึ่งถ้าศาลทำไม่ชอบ ศาลก็จะลุกเป็นไฟเอง" นายประเสริฐกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกลุ่มคนเสื้อแดง หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ชุมนุมบริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการ กทม.มาตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 30 พฤศจิกายน สลายตัวไปตั้งแต่ช่วง 06.00 น. วันเดียวกันนี้ แต่ยังมีการตั้งเวทีฝั่งวัดสุทัศน์ฯ และจอโปรเจ็คเตอร์ขนาดใหญ่ฝั่งถนนดินสอตัดถนนมหรรณพขาเข้า 1 ช่องจราจร ทำให้การจราจรบริเวณดังกล่าวติดขัดตลอดทั้งวัน

โฆษกแม้วข้องใจไม่ฟังคู่ความ

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา โฆษกส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้สึกว่าศาลรัฐธรรมนูญลุกลนมากที่เร่งตัดสินคดียุบพรรคโดยเร็ว ส่วนตัวเห็นว่าที่ผ่านมามีอยู่ 2 คดีที่ศาลรัฐธรรมนูญเร่งปิดคดีเร็วกว่าปกติ คือ คดีชิมไปบ่นไปของนายสมัคร และคดียุบ พปช. แต่ในบางคดีที่ต้องเร่งพิจารณา กลับดำเนินการล่าช้า เช่น การพิจารณากฎหมายผลประโยชน์ทับซ้อน หรือกฎหมาย 7 ชั่วโคตร ที่ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งชี้ขาดไปหลังคดีนายสมัครไม่นาน ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงสามารถพิจารณาได้เร็ว

นายพงศ์เทพกล่าวว่า โดยหลักการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจะต้องให้คู่ความนำเสนอข้อมูล ข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ต่อศาลในการตัดสินคดี จะได้ข้อมูลอย่างครบถ้วนรอบด้านและให้คู่ความเกิดความสบายใจว่าศาลรับฟังคู่ความ ไม่มีการตั้งธงไว้ก่อน โดยเฉพาะคดียุบพรรคครั้งนี้กระทบกับบุคคลมากมาย และเป็นคดีที่มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายมาก ประกอบกับมีกรรมการบริหารพรรคที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินคดีดังกล่าวยื่นขอเป็นคู่ความร่วมด้วย จึงต้องใช้พยานบุคคลพอสมควรเข้ามาชี้แจง ซึ่งศาลจะมาตรัสรู้เองไม่ได้ แต่กลับรีบแถลงปิดคดี ตรงนี้เรียกว่าเป็นการให้โอกาสคู่ความอย่างเป็นธรรมแล้วเหรอ นอกจากนี้ยังขอถามไปยังตุลาการรัฐธรรมนูญว่า สมัยที่ยังเป็นผู้พิพากษาเคยทำแบบนี้หรือไม่ เพราะตามหลักกฎหมายแล้วจะต้องตัดสินคดีโดยไม่มีอคติ ซึ่ง "ถ้าศาลไม่สามารถให้ความยุติธรรมได้ เราก็ไม่สามารถยอมรับได้เช่นกัน" นายพงศ์เทพกล่าว

ตั้ง9ผู้บริหารไม่ได้เว้นแต่ทำปว.

ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง รักษาการโฆษก พปช. กล่าวว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นพรรคเตรียมความพร้อมเพื่อให้ ส.ส.ย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทยเรียบร้อยแล้ว ส่วนเรื่องที่นายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำคนเสื้อแดง ผู้ดำเนินรายการความจริงวันนี้ ระบุถึงความพยายามที่จะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง เพื่อนำไปสู่การแต่งตั้ง 9 คณะผู้บริหารประเทศ โดยมีนายพลากร สุวรรณรัตน์ องคมนตรีเป็นประธานนั้น รักษาการโฆษก พปช.กล่าวว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ นอกจากการทำรัฐประหารหนทางเดียวเท่านั้น เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. แต่การทำรัฐประหารก็จะมีปัญหาที่จะมีประชาชนจำนวนมากลุกขึ้นมาต่อต้านและแสดงอารยะขัดขืน ทั้งนี้ ไม่ว่าศาลจะตัดสินยุบ พปช. นายกรัฐมนตรีจะไม่ยุบสภา ไม่ลาออก และคนที่มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปจะไม่ยุบสภาเช่นเดียวกัน

พปช.เตรียม2แนวทางแก้เกม "ยุบ"

ขณะที่นายวิทยา บูรณศิริ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เป็นประธานการประชุมทีมยุทธศาสตร์ พปช. เมื่อเวลา 10.30 น. ที่อาคารไอเอฟซีที มีผู้เข้าร่วม อาทิ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์ และนายสุวัฒน์ วรรณศิริกุล ประธาน ส.ส.ของพรรคพลังประชาชน ทั้งนี้ ที่ประชุมประเมินสถานการณ์คดียุบพรรค และเตรียมแนวทางรับมือ 2 ลักษณะดังนี้
1.การมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายไปร้องคัดค้านคุณสมบัติการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้ตัดสินยุบพรรค อาทิ กรณีของของนายจรัญ ภักดีธนากุล หนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีการกระทำส่อว่าอาจขัดต่อมาตรา 270 กรณีการสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยเอกชน รวมไปถึงกรณีภรรยาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนเข้าร่วมชุมนุมกับพันธมิตร และ
2.การใช้มวลชนคนเสื้อแดงกดดัน ซึ่งที่ประชุมได้สั่งการให้ ส.ส.แต่ละเขตเลือกตั้งระดมมวลชน โดย ส.ส. 1 คนต่อประชาชน 10,000 คน เพื่อเตรียมการที่อาจใช้มาตรการสูงสุดถึงขั้นปิดล้อมศาลรัฐธรรมนูญ โดยอาจอ้างวิธีอารยะขัดขืน เช่นเดียวกับกลุ่มพันธมิตรปิดสนามบินสุวรรณภูมิ

พปช.แถลงสู้ไม่รับรัฐประหารเงียบ

ต่อมาเวลา 16.30 น. นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ นายยืนหยัด ใจสมุทร คณะทำงานกฎหมายต่อสู้คดียุบพรรค และนายสมาน เลิศวงศ์รัฐ นายทะเบียนพรรค แถลงที่ พปช. นายสงครามกล่าวว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดให้หัวหน้าพรรคแถลงปิดคดียุบพรรควันที่ 2 ธันวาคม ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าการพิจารณาคดียุบพรรคเสร็จแล้ว และศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยได้ทันที ดังนั้น กรรมการบริหารพรรคจึงขอออกแถลงการณ์คัดค้านดังนี้

1.กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งงดสืบพยานของ พปช.โดยให้เหตุผลว่าพยานหลักฐานที่มีอยู่เพียงพอวินิจฉัยแล้วนั้น ขอคัดค้านเรื่องดังกล่าว เนื่องจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่มาจากศาลยุติธรรม ย่อมทราบดีว่าในคดีอาญาต้องเปิดโอกาสให้มีการพิสูจน์พยานหลักฐานจนปราศจากข้อสงสัย โดยเฉพาะกรณียุบพรรคและตัดสิทธิการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ต่างอะไรจากการลงโทษทางคดีอาญา ก็ต้องให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องนำสืบพยานต่อศาลจนถึงที่สุด การที่ศาลไม่ให้สืบพยาน จึงเป็นการปฏิเสธให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณี

2.กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับกรรมการบริหารรพรรคเป็นคู่ความฝ่ายที่สามในคดี เป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะกรรมการบริหารพรรคเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ต้องมีสิทธิต่อสู้คดีได้ในฐานะคู่ความฝ่ายที่สาม 3.สังคมยังสงสัยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคน ที่แสดงออกถึงความไม่เป็นกลาง 4.การรวบรัดตัดสินยุบพรรค โดยที่รับฟังพยานยังไม่เสร็จนั้น ทำให้สังคมขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และสงสัยว่าศาลกำลังถูกใช้เป็นอีกช่องทางหนึ่งของการรัฐประหารโดยตุลาการ หรือรัฐประหารเงียบ

แก้เกมยื่นค้าน"จรัล-นุรักษ์-วสันต์"

นายยืนหยัดกล่าวว่า คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ เมื่อเวลา 15.30 น. วันเดียวกันนี้ ได้แก่ 1.การคัดค้านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 3 คน ได้แก่ นายจรัญ ภักดีธนากุล นายนุรักษ์ มาประณีต และนายวสันต์ สร้อยพิศุทธ์ เนื่องจากเป็นผู้มีอคติ ไม่มีความเป็นกลาง มีส่วนได้เสียกับคดี ทั้งนี้ เมื่อยื่นคำคัดค้านดังกล่าวไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถวินิจฉัยคดีนี้ได้ เพราะจะต้องเรียกประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีตุลาการทั้ง 3 คนร่วมด้วย เพื่อพิจารณาข้อคัดค้านดังกล่าว โดยให้มีการนำพยานหลักฐานของ พปช.และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาไต่สวนว่าเป็นจริงตามที่คัดค้านหรือไม่ จึงไม่สามารถพิจารณายุบพรรคได้ในวันที่ 2 ธันวาคม จนกว่าจะจัดการเรื่องข้อคัดค้านเสร็จก่อน

ยื่นคำร้องให้เพิกถอน2คำสั่งมิชอบ

นายยืนหยัดกล่าวว่า การยื่นคัดค้านดังกล่าวเป็นไปตามข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญ และประมวลกฎหมายพิจารณาความแพ่ง มาตรา 11 และ 12 ซึ่งโดยหลักการพิจารณาคำร้องคัดค้านไม่ควรทำแค่ 1 ชั่วโมงเสร็จ แต่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 วัน และในวันที่ 2 ธันวาคม ก็ต้องแจ้งให้พรรคนำพยานเข้ามาสืบในประเด็นที่ร้องคัดค้าน อย่างไรก็ตาม แม้ตุลาการทั้งสามคนจะถอนตัวจากคดีไป ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังมีอำนาจวินิจฉัยคดีได้ แต่พรรคต้องการให้คำวินิจฉัยที่ออกมาเป็นที่ยอมรับได้ของสังคม 2.ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนคำสั่งมิชอบ 2 กรณีคือ 1.การไม่อนุญาตให้กรรมการบริหารพรรคเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ในคดี ทั้งที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีโดยตรง 2.การให้งดสืบพยานในคดีนี้ ซึ่งพรรคเสนอสืบพยาน 179 ปาก เมื่อพยานยังไม่ถูกนำเข้าสำนวน แต่ศาลบอกไม่ให้สืบพยานแล้ว จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ผวาตายเดี่ยว-อีก2พรรคเปลี่ยนขั้ว

รายงานข่าวจาก พปช.แจ้งว่า แกนนำของพรรคได้ประเมินว่าโอกาสที่พรรคจะถูกยุบค่อนข้างแน่นอน แต่กรณีของพรรคชาติไทย และ มฌ.อาจจะไม่ถูกยุบพรรค เนื่องจากกระบวนการพิจารณาคดี 2 พรรคนี้ ไม่ได้ผ่านการพิจารณาในชั้นศาลฎีกามาก่อน มีแต่ความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เท่านั้น ซึ่งอาจเกิดข้ออ้างว่าหลักฐานและพยานไม่เพียงพอและต้องมีการสอบพยานเพิ่มเติมซึ่งสามารถยืดเวลาออกไปได้อีก

"ถ้ามีการยุบทั้ง 3 พรรคเชื่อว่าไม่น่าจะมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล แต่ถ้ายุบเพียงแค่พรรคพลังประชาชนพรรคเดียว แต่อีก 2 พรรครอดก็น่าคิดว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลัง เพราะนั่นอาจนำไปสู่การเปลี่ยนขั้วการเมืองได้ อย่างไรก็ตาม หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นจริงพรรคพลังประชาชนจะแก้เกมโดยให้รักษาการนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาในทันที" แหล่งข่าวกล่าว

ลุ้นล่าชื่อเปิดสภาเสนอนายกฯใหม่

ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ ส.ส.สัดส่วน พปช. กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก โดยเฉพาะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญนัด 3 พรรคการเมืองแถลงปิดคดียุบพรรค ทำให้ ส.ส.ต้องมาเตรียมแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นหากพรรคพลังประชาชนถูกยุบ จะส่งผลให้นายสมชายในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคและเป็นกรรมการบริหาร ต้องพ้นจากตำแหน่ง จึงเห็นว่า ส.ส.จะต้องร่วมกันเข้าชื่อเพื่อขอเปิดสภาสมัยวิสามัญ เพื่อให้สภาพิจารณาเลือกบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี แม้ว่าในการประชุม 4 ฝ่าย ระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ตัวแทนนายกรัฐมนตรี และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติจะให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญในวันที่ 8-9 ธันวาคมนี้ เพื่อให้รัฐสภาอนุมัติกรอบข้อตกลงในการประชุมอาเซียนซึ่งคิดว่าอาจช้าเกินไปไม่ทันสถานการณ์

"ในการขอเปิดสภาสมัยวิสามัญนั้น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 เปิดช่องให้ ส.ส.เข้าชื่อจำนวนหนึ่งในสามของสองสภารวมกัน ดังนั้น ในการประชุมพรรควันที่ 2 ธันวาคม จะได้ให้ ส.ส.ของพรรคทุกคนได้ร่วมลงชื่อขอเปิดสภาสมัยวิสามัญ โดยจะได้ประสานไปยังประธานวิปรัฐบาลเพื่อประสานไปยังพรรคร่วมรัฐบาลให้ร่วมกันลงชื่อร่วมด้วย ทุกอย่างจะต้องเตรียมพร้อมไว้ เพื่อยื่นรายชื่อต่อประธานรัฐสภา ได้ทันที" ร.ต.ท.เชาวรินกล่าว

"วรวัจน์" ให้รอคำตอบจาก "ครม."

นายวรวัจน์กล่าวว่า กรณีที่ศาลเร่งปิดคดียุบพรรคเร็วขึ้นนั้น เหมือนเป็นสัญญาณทำให้ตำรวจไม่กล้าทำอะไร เพราะเห็นว่ารัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ดังนั้น ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 2 ธันวาคม จะต้องมีการพูดคุยในที่ประชุม ครม.เพื่อสรุปมาตรการที่ชัดเจนและเด็ดขาด และจะมีคำตอบให้สังคมได้อย่างแน่นอน

"หากพรรคพลังประชาชนถูกยุบ พรรคร่วมรัฐบาลก็รับปากแล้วว่าจะมาอยู่กับเราทั้งหมด ซึ่งถ้าจะประเมินว่าสถานการณ์ขณะนี้มีสิ่งใดที่น่าเป็นห่วงก็คือ การที่ศาลรัฐธรรมนูญเร่งแถลงปิดคดีและยุบพรรคพลังประชาชน จะทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย และจะมีโรคแทรกซ้อนที่จะสร้างปัญหาให้สังคมเพิ่มมากขึ้น ตรงนี้เท่ากับว่าศาลสร้างปัญหาให้กับสังคม ดังนั้น เมื่อสังคมส่งสัญญาณไม่เห็นด้วยแล้ว แต่ถ้าศาลยังดำเนินการยุบพรรคก็จะเกิดปัญหาตามมาอีก ดังนั้น ศาลคือคนที่สร้างปัญหาให้เกิดขึ้น" นายวรวัจน์กล่าว

"เพื่อนเนวิน" ไม่อยากให้ยุบสภา

นายทรงศักดิ์ ทองศรี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รองหัวหน้าพรรค พปช. กลุ่มเพื่อนเนวิน กล่าวถึงกระแสข่าวกลุ่มเพื่อนเนวินยุให้นายสมชายอยู่ในตำแหน่งสู้ต่อไป สวนทางกับข้อเสนอของกลุ่มเพื่อนยงยุทธที่เสนอให้ยุบสภา ว่า จากการที่ ส.ส.ลงพื้นที่สอบถามความเห็นประชาชนในแต่ละเขต ส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา อย่างไรก็ตาม เท่าที่ติดตามการไต่สวนและวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น ตลอดจนดูแนวทางในการต่อสู้คดีของทีมกฎหมาย พปช. ก็ยังมีความหวังว่าจะรอดจากการถูกเพิกถอนสิทธิการเมือง 5 ปี

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ปฏิเสธจะให้ความเห็นกรณีมีชื่อปรากฏว่าเป็นนายกฯสำรอง กรณี พปช.ถูกยุบพรรค โดยกล่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า "โน นิวส์"

"แม้ว" อ้างยึดอำนาจผ่าน "ยุติธรรม"

ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ อะราเบียน บิซิเนสŽ นิตยสารธุรกิจรายสัปดาห์ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ว่า ขณะนี้กำลังถูกต้อนเข้ามุม เพราะประเทศจมดิ่งลงไปลึกมาก ความเชื่อมั่นไม่มี ความไว้วางใจในหมู่ประชาคมนานาชาติไม่มี ประชาชนยากจนในชนบทก็ยากลำบาก

"มีผมถือหางเสือ ผมสามารถนำความเชื่อมั่นกลับสู่ประเทศไทยได้อย่างรวดเร็ว และนี่เองคือเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงจำเป็นต้องหากลไกสักอย่างที่จะช่วยให้ผมกลับคืนสู่การเมืองได้" พ.ต.ท.ทักษิณกล่าว

พ.ต.ท.ทักษิณบอกกับผู้สื่อข่าวของอะราเบียน บิซิเนส ด้วยว่า "การรัฐประหารยังมีอยู่ มันเปลี่ยนรูปจากการรัฐประหารโดยทหารมาเป็นการรัฐประหารผ่านกระบวนการยุติธรรม...ผมคิดว่าหลายอย่างมันขึ้นอยู่กับพลังของประชาชน ถ้าประชาชนคิดว่าพวกเขาตกอยู่ในภาวะยากลำบากและต้องการผมให้ช่วย ผมก็จะกลับไป"

5พรรคร่วมยันไปไหนไปด้วยกัน

นายมั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) และรักษาการรองหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน (พผ.) กล่าวกรณีนายสุวิทย์ คุณกิตติ อดีตหัวหน้า พผ. เรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลประกาศถอนตัว เพื่อคลี่คลายวิกฤตการเมือง ว่า ยังไม่มีการหารือเรื่องนี้ในหมู่พรรคร่วมรัฐบาล แต่พร้อมจะพูดคุยกันเสมอ คาดว่า ในการประชุม ครม. วันที่ 2 ธันวาคม จะมีการหารือเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นรัฐบาล 5 พรรค ถ้าจะไปก็ไปด้วยกัน ถ้าจะอยู่ก็อยู่ด้วยกัน แต่ที่ผ่านมาเห็นว่ารัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่แล้ว การถอนตัวของพรรคร่วมรัฐบาล คงไม่ได้ช่วยอะไร ถ้าไปก็ไปหมดดีกว่า

ชท.ชี้ถอน-เขย่ารบ.ไม่มีประโยชน์

ส่วนจะเรียกร้องให้นายกฯกลับมาบัญชาการสถานการณ์ใน กทม.แทนที่จะเร่ร่อนอยู่ต่างจังหวัดหรือไม่นั้น นายมั่นกล่าวว่า ตอนนี้เหมือนพเนจรอยู่ แม้จะสามารถใช้เทคโนโลยีติดต่อกันได้ แต่ควรจะกลับมามากกว่า ซึ่งคิดว่าภายใน 1-2 วันนี้น่าจะมีอะไรดีขึ้น

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แกนนำพรรคชาติไทย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล เพราะต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ในสถานการณ์เช่นนี้ไม่อยากให้มีการซ้ำเติมรัฐบาลให้บริหารงานด้วยความลำบากกว่าเดิม เพราะไม่ว่าพรรคร่วมจะถอนตัวหรือไม่ พันธมิตรก็ยังเดินหน้าชุมนุมต่อไป ดังนั้น จึงไม่มีเหตุอะไรต้องทำให้รัฐบาลสั่นคลอน

นายสมศักดิ์ยืนยันด้วยว่า นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย จะเดินทางไปแถลงปิดคดียุบพรรคที่ศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 2 ธันวาคม

15ส.ส.ชท.เล็งซบชาติไทยพัฒนา

รายงานข่าวจากพรรคชาติไทยแจ้งว่า ได้เตรียมการให้ ส.ส.สัดส่วน ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคประกอบด้วย น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ และนายประภัตร โพธสุธน ลาออก เพื่อเลื่อนผู้สมัครลำดับถัดไปขึ้นมาเป็นแทน และหากพรรคถูกยุบจะให้ ส.ส.ย้ายไปสังกัดพรรคพรรคชาติไทยพัฒนา ที่มีนายกฤต รัตนคามินี เป็นหัวหน้าพรรคที่ได้ติดต่อไว้เรียบร้อยแล้ว

"บุคคลที่เป็น ส.ส.ของพรรคจาก 34 คน จะถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง (ใบแดง) จำนวน 19 คน เพราะเป็นกรรมการบริหารพรรค ส.ส.ที่เหลืออีก 15 คน ที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคก็จะถูกโอนย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ที่เตรียมไว้ จะต้องโอนไปอยู่พรรคใหม่ 15 คน" แหล่งข่าวกล่าว

11ส.ส.มฌ.มีพรรครองรับแล้ว

นายกิตติกร พากเพียรศิลป์ ส.ส. ปราจีนบุรี มฌ. กล่าวว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคจริงตามที่มีกระแสข่าวออกมา ส.ส.พรรคมัชฌิมาฯทั้ง 11 คน ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไป ต้องรอคำตอบจากนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน หัวหน้าพรรคเสียก่อน ว่าจะไปอยู่พรรคภูมิใจไทยที่ตั้งไว้แล้ว หรือจะไปอยู่พรรคการเมืองอื่น

แหล่งข่าวจาก มฌ.แจ้งว่า ส.ส.พรรคตกลงกันเบื้องต้นแล้วว่า หากพรรคถูกยุบจะย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย ที่ได้มีผู้จดทะเบียนก่อตั้งพรรคเอาไว้ก่อนหน้าแล้ว นายณัฐวุฒิ สุขเกษม ส.ส.บุรีรัมย์ มฌ. กล่าวว่า ที่ประชุมพรรคยังไม่ได้มีมติว่าจะให้ ส.ส.พรรคไปเข้าสังกัดพรรคการเมืองใด แต่เบื้องต้นแจ้งกันเป็นการส่วนตัวแล้วว่าแกนนำพรรคได้เตรียมพรรคภูมิใจไทยให้ ส.ส.ย้ายเข้าสังกัดไว้แล้ว

พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รองหัวหน้า มฌ. กล่าวว่า ในวันที่ 2 ธันวาคม นางอนงค์วรรณ และตน จะไปแถลงปิดคดียุบพรรคที่ศาลรัฐธรรมนูญด้วยตนเอง ยอมรับว่ารู้สึกไม่มั่นใจว่าพรรคจะรอดจากคดียุบพรรค เนื่องจากมีการรวบรัดแถลงปิดคดีเร็วเหลือเกิน

"เพื่อไทย" วางแผนสกัดยุบซ้ำซาก

นายศักดา คงเพชร ส.ส.ร้อยเอ็ด พปช. กล่าวว่า เท่าที่ได้หารือกับแกนนำพรรคเพื่อไทยล่าสุดมีความชัดเจนแล้วว่าพรรคเพื่อไทยจะจัดระบบการบริหารเป็น 2 ระบบคือ ระบบการบริหารพรรค คือหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค จะไม่มีตำแหน่งทางการเมืองและไม่เป็น ส.ส. เพื่อปกป้องตัวเองจากการถูกกระทำให้ยุบพรรค ซึ่งถือว่าเป็นพัฒนาการทางการเมืองของพรรค เพราะหากแกนนำยังปล่อยให้พรรคถูกยุบทุกพรรคที่ย้ายเข้ามาสังกัดจะทำให้ระบบการเมืองอ่อนแอ การบริหารประเทศไม่สามารถเดินหน้าได้ สำหรับด้านการเมืองนั้นพรรคจะมีคณะผู้บริหารการเมือง ที่จะเข้ามารับตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ ซึ่งเป็นไปได้สูงว่าคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค

ผบ.ทอ.ชี้ไม่รับคำตัดสินปท.วุ่น

พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) กล่าวกรณีกังวลหรือไม่ว่าคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญคดียุบพรรคออกมา อาจส่งผลให้เกิดความรุนแรงได้ พล.อ.อ.อิทธพรกล่าวว่า ตุลาการเป็นอำนาจของศาลสถิตยุติธรรม ที่จะต้องพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะฉะนั้น เมื่อศาลตัดสินออกมา ก็ต้องยอมรับคำตัดสิน ใครละเมิดก็ต้องมีความผิด อีกทั้งช่วงนี้ใกล้ช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทุกคนควรจะนึกถึงความสงบเรียบร้อย นึกถึงในหลวง อย่าให้เหตุการณ์ลุกลามต่อไปเรื่อย หรือก่อให้เกิดเหตุที่ทำให้เกิดความเสียใจในวันอันเป็นมงคลนี้

"ถ้าทุกคนไม่ยอมรับอำนาจตุลาการหรืออำนาจศาลประเทศจะวุ่นวายแค่ไหน หากไม่มีกฎกติกา แม้แต่ศาลสั่งก็ยังไม่เชื่อ ก็คงจะต้องดำเนินการในขั้นเด็ดขาด" ผบ.ทอ.กล่าวตอบคำถามกังวลเหตุการณ์ลุกลามถึงขั้นเผาสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากคำพิพากษายุบพรรคออกมาจะเกิดสุญญากาศทางการเมือง ไม่มีคนบริหารประเทศ ทหารจะมีความชอบธรรมในการออกมายึดอำนาจหรือไม่ พล.อ.อ.อิทธพรกล่าวว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ก็ยืนยันมาตลอดว่าทหารจะไม่มีปฏิวัติ ซึ่งเหตุการณ์ยังไม่ไปถึงขนาดนั้น จะไปกำหนดอย่างนั้นคงไม่ถูกต้อง

"จาตุรนต์" แนะลาออกตั้งรบ.ใหม่

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า นายสมชายควรลาออก และเตรียมพร้อมตั้งรัฐบาลใหม่ไว้รองรับการตัดสินคดียุบพรรค ก่อนจะดีกว่า เพราะวิเคราะห์แล้วว่าถึงอย่างไรก็โดนยุบ และควรจัดการให้เร็วที่สุดก่อนจะมีคำตัดสินออกมา เหตุของเรื่องดังกล่าวมาจากความไม่เป็นประชาธิปไตย

"ผมขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายและประชาชนออกมารวมตัวกันไม่ไปฟังคำตัดสินของศาลรัฐธรมนูญทั้งในวันแถลงปิดคดี และในวันพิพากษาเพราะไม่ทำให้เกิดประโยชน์อะไร การหวังจะเปลี่ยนคำตัดสินของศาลเป็นไปไม่ได้แต่เราต้องแสดงออกว่าไม่ยอมรับในคำตัดสินนั้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการซ้ำรอยถูกยุบพรรคกรรมการถูกตัดสิทธิอีกเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ ขอฝากไปกลุ่มผู้ชุมนุมให้หยิบประเด็นเฉพาะการต้านรัฐประหาร โดยไม่ต้องเดินทางไปปิดล้อมศาลเพราะจะไปเข้าทางและเป็นเงื่อนไขให้กับผู้ที่ต้องการจะทำรัฐประหาร" นายจาตุรนต์กล่าว

ปชป.ติงดึงสถาบัน-ต้องปกป้อง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระแสข่าวกลุ่มเสื้อแดงขู่ปิดล้อมศาลรัฐธรรมนูญว่า เพราะนายกฯพูดถึงการบังคับใช้กฎหมาย แต่ทำไมเวลาที่ผู้สนับสนุนรัฐบาลทำอะไรที่ผิดกฎหมายกลับเพิกเฉย ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องปล่อยประโยชน์ของตัวเองแล้วมาพูดคุยถึงการแก้ปัญหาบ้านเมือง
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังคัดค้านข้อเสนอตั้งคนนอกมาดำรงตำแหน่งนายกฯเพื่อแก้วิกฤตการเมืองในขณะนี้ด้วยว่า การดำเนินการต้องยึดกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ "ใครที่มีข้อเสนออะไรแล้วไม่มีความชัดเจนก็ต้องระมัดระวัง เช่น ถ้าไปพูดว่าเอานายกฯที่ไม่เป็น ส.ส.จะทำได้อย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดช่องเอาไว้ให้และผมก็ไม่คิดว่าขณะนี้ควรจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ" นายอภิสิทธิ์กล่าว

ผู้นำฝ่ายค้านยังเตือนให้ระมัดระวังการนำเสนอแนวคิดต่างๆ เช่น ให้นายกฯเข้าเฝ้าฯเพื่อทูลฯขอแนวทางในการแก้ไขปัญหาว่า "เราต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ เพราะบางฝ่ายได้พยายามดึงสถาบันพระมหากษัตริย์และมีบางฝ่ายมีแผนแน่นอนที่จะดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาอยู่ในความขัดแย้งด้วย ซึ่งเราทุกคนต้องช่วยกันปกป้อง ซึ่งหากดูกระบวนความเคลื่อนไหวเราก็จะทราบว่าเป็นฝ่ายไหน"

"จตุพร"ยืนยันไม่ยกพลไปศาลรัฐธรรมนูญ

นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์รายการเรื่องเด่นเย็นนี้ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมว่า วันที่ 1 ธันวาคม ถือเป็นวันที่สองของการเปิดการชุมนุมของนปช. ที่ลานคนเมืองของกรุงเทพฯและขอยืนยันว่าจะไม่มีการยกพลคนเสื้อแดงไปปิดล้อมศาลรัฐธรรมนูญ ในการแถลงปิดคดียุบพรรค ในวันที่ 2 ธันวาคมอย่างแน่นอน เนื่องจากทราบอยู่แล้วอย่างไรเสียก็ต้องมีการยุบพรรค  โดยเป้าหมายหลักของการชุมนุมก็เพื่อต่อต้านการรัฐประหาร
" หากวันที่ 2 ธันวาคม มีการยุบพรรคพลังประชาชน รับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่กล้าเดินห้าง กินก๋วยเตี๋ยวอย่างแน่นอน รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์