สภาวะ ประลองพลัง ประลองพลัง 2 อำนาจรัฐ ภายใน สังคม

อย่าโทษชาวบ้านเลยที่ไม่สามารถเข้าใจในความหมายอันลึกซึ้งของคำว่า รัฐ และ อำนาจรัฐ เพราะแม้แต่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เอง ก็ยังไม่แจ่มชัด

แม้จะสำเร็จจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

แม้จะผ่านการศึกษาในระดับมหาบัณฑิตจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ "นิด้า" อันสูงส่ง

กระนั้น สถานการณ์ทางการเมืองก็กำลังเป็นบทเรียนอันล้ำค่ายิ่งต่อประชาชน

สถานการณ์สอนให้ได้รับรู้ว่า แม้ว่ารัฐบาลจะมาจากกระบวนการเลือกตั้งของประชาชน ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ อันเท่ากับผ่านการกลั่นกรองมาแล้วจากประชาชน จากสภานิติบัญญัติ กระทั่งเรียกได้ว่าเป็นผู้กุมอำนาจบริหาร

แต่ก็มิได้หมายความว่า รัฐบาล นั้นๆ จะสามารถยึดกุมกลไกแห่งอำนาจรัฐได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน

ขอให้ดูรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช เป็นตัวอย่างเถิด ขอให้ดูรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นตัวอย่างเถิด

ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาล เป็นประมุขฝ่ายบริหาร แต่ก็ไม่สามารถบริหารและปกครองได้

ตัวอย่างที่ชัดที่สุดสำหรับ นายสมัคร สุนทรเวช ก็คือ การประกาศใช้กฎหมายการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2552

เป็นการประกาศในฐานะของนายกรัฐมนตรีอันเป็นหัวหน้ารัฐบาล

เป็นการประกาศขณะที่นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

แต่เป็นการประกาศที่ไม่มีผลในการบังคับใช้

ที่ไม่มีผลบังคับใช้นั้น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ออกมายอมรับผ่านรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ของช่อง 3 เองว่า

"ผมไม่ปฏิบัติ"

ไม่เพียงแต่จะไม่ปฏิบัติ หากเมื่อเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีจาก นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ยังกล่าวต่อเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7ตุลาคมว่า "ถ้าผมเป็นนายกรัฐมนตรีผมลาออกแล้ว"

และเมื่อพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยึดสนามบินสุวรรณภูมิ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ยังอาศัยมติในที่ประชุมคณะกรรมการติดตามสถานการณ์เสนอให้นายกรัฐมนตรียุบสภา

ทั้งหมดนี้คือรูปธรรมที่แม้จะเป็นรัฐบาลก็มิได้หมายความว่าจะยึดกุมกลไกอำนาจรัฐได้

ในความเข้าใจทั่วไปกลไกแห่งอำนาจรัฐคือระบบราชการ ไม่ว่าจะเป็นราชการพลเรือน ตำรวจ และทหาร ล้วนถือว่าเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจรัฐ

ถามว่าอำนาจรัฐใช้เครื่องมืออะไรอีกบ้างในการบริหารราชการแผ่นดิน

เครื่องมือ 1 คือ กฎหมาย เครื่องมือ 1 คือ ศาล และเครื่องมือ 1 ซึ่งสำคัญเป็นอย่างมาก คือ คุก ตะราง

น่าสนใจก็ตรงที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาจากการรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

น่าสนใจก็ตรงที่กลไกอันเรียกว่าองค์กรอิสระจำนวนหนึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

แม้กระทั่ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็เป็น ผบ.ทบ. เมื่อเดือนตุลาคม 2550

ตรงนี้เองที่ทำให้การประสานและร่วมมือกันทำงานระหว่างรัฐบาลซึ่งมาจาการเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 กับ กลไกแห่งอำนาจรัฐดำเนินไปอย่างขัดๆ ขืนๆ

ในอีกด้านจึงเท่ากับเป็นเงื่อนไขให้กลุ่มที่ประท้วงต่อต้านรัฐบาลเติบใหญ่ ขยายตัว

ขยายตัวจากการชุมนุมยืดเยื้องบนท้องถนน เป็นการชุมนุมยืดเยื้อโดยยึดสถานที่ราชการแม้กระทั่งทำเนียบรัฐบาล และที่สุดก็ยึดสนามบินระหว่างชาติ เช่น สุวรรณภูมิและดอนเมือง

โดยที่กลไกต่างๆ แห่งอำนาจรัฐไม่สามารถทำกฎหมายให้เป็นกฎหมายได้อย่างศักดิ์สิทธิ์

จากสภาพเช่นนี้เองที่ทำให้แม้กระทั่งกลุ่มพลังในรัฐบาลเองก็ต้องออกมาชุมนุมและรวมตัวกัน

เมื่อมีการรวมตัวกันของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อันมีรายการ ASTV เป็นรากฐาน ก็มีการรวมตัวกันของพลังประชาชนซึ่งมีรายการ ความจริงวันนี้ เป็นรากฐาน

นี่จึงเท่ากับเป็นการปะทะและประลองพลังระหว่าง 2 อำนาจรัฐที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์