ไขปมพาสปอร์ตแดงคืออะไร ทำไม ทักษิณเข้าเงื่อนไขยกเลิกชัด แต่สมชาย-สมพงษ์หัวหดม่กล้าแตะ?

ยิ่งฟัง นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวชี้แจงถึงกรณีที่มีการรียกร้องให้ยกเลิกหนังสือเดินทางทูตหรือพาสปอร์ตทูต

ที่เรียกกันว่า พาสปอร์ตเล่มสีแดงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งหลบหนีคำพิพากษาจำคุกของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีทุจริตการประมูลที่ดิน ถนนรัชดาภิเษกแล้ว

 
ยิ่งเกิดความสับสนว่า ทำไมนายสมพงษ์ไม่กล้าแตะต้องหรือเพิกถอนพาสปอร์ตดังกล่าวโดย อ้างว่า สังคมต้องช่วยกันพิจารณาว่า คนคนนี้เหมาะหรือไม่ สมควรให้เกียรติหรือไม่ ต้องดูประวัติข้อมูลว่า กระทรวงการต่างประเทศเคยยกเลิกพาสปอร์ตแดงหรือไม่

"เรื่องนี้ต้องมาสอบถามที่ผม อย่าไปสอบถามที่ข้าราชการประจำ..ถ้าทำอะไรไม่ดี มาถอดถอนผมได้ จะพิจารณาด้วยตนเอง..ผมจะสอบถามให้ถ่องแท้ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่เห็นมีอะไร จะเดินทางไปไหนได้ทั่วโลก ถูกตรวจน้อย เหมือนเป็นศักดิ์ศรี แต่ในปัจจุบันแทบไม่มีความหมายแล้ว"นายสมพงษ์กล่าว

เพื่อมิให้เกิดความสับสน"มติชนออนไลน์" จึงขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับพาสปอร์ตว่า มีกี่ประเภท  แต่ละประเภทสำหรับผู้ใด และเงื่อนไขในการเพิกถอนหนังสือเดินทางดังกล่าว

ระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.2545 กำหนดให้มีหนังสือเดินทาง หรือ พาสปอร์ต มีทั้งสิ้น 5 ประเภทด้วยกัน ดังนี้
 
1.หนังสือเดินทางทูต (Diplomatic Passport)

2.หนังสือเดินทางราชการ (Official Passport)

3.หนังสือเดินทางธรรมดายกเว้นค่าธรรมเนียม (Gratis Passport)

4.หนังสือเดินทางธรรมดา (Ordinary Passport)

5.หนังสือเดินทางหมู่ (Collective Passport)

สำหรับ "หนังสือเดินทางทูต" กำหนดให้บุคคลที่มีสิทธิให้ใช้ได้ ดังนี้
 
1) พระบรมวงศ์และพระนัดดาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

2) พระอนุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าและคู่สมรส

3) พระราชวงศ์และบุคคลสำคัญที่ราชเลขาธิการขอไปเป็นกรณีพิเศษ

4) ประธานองคมนตรี และองคมนตรี

5) นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี

6) ประธาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธาน และรองประธานวุฒิสภา

7) ประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา และประธานศาลอุทธรณ์

8) ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด

9) อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ

10) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการเหล่าทัพ

11) ข้าราชการที่มีตำแหน่งทางการทูต ซึ่งเดินทางไปราชการในต่างประเทศ

12) ข้าราชการที่มีตำแหน่งทางการทูต ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ ณ ส่วนราชการในต่างประเทศ คู่สมรส และบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่ในความดูแลของบิดา มารดาในประเทศที่ประจำอยู่ หรือทำการศึกษาอยู่ในประเทศอื่น แต่บุตรจะต้องอายุไม่เกิน 25 ปี

13) คู่สมรสที่ร่วมเดินทางไปกับบุคคลดังกล่าวในข้อ (2) ถึงข้อ (8)

14) บุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการหรือภายในพันธกรณีระหว่างประเทศ หรือภายในสถานการณ์พิเศษที่มีความจำเป็น หรือในกรณีที่เห็นสมควรเป็นกรณีพิเศษ หรือเกี่ยวกับการเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติคุณของประเทศ ในกรณีของอดีตเอกอัครราชทูต ให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ที่ปลัดกระทรวงการต่างประเทศมอบหมายมีอำนาจใช้ดุลยพินิจในการอนุมัติให้ออกหนังสือเดินทางทูตได้

อย่างไรก็ตาม หนังสือเดินทางทูตมีอายุตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 2 ปี ต่ออายุได้ครั้งละไม่เกิน 2 ปี

ส่วน"หนังเดินทางราชการ" ออกให้แก่บุคคลดังต่อไปนี้

1) ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่จัดตั้งตามรัฐธรรมนูญและสมาชิกรัฐสภา ซึ่งเดินทางไปราชการในต่างประเทศ

2) ข้าราชการซึ่งไปปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ ณ สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลไทย หรือในคณะทูตถาวรไทยประจำองค์การระหว่างประเทศในตำแหน่งอื่นที่มิใช่ตำแหน่งทางการทูต รวมทั้งคู่สมรส และบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่ในความดูแลของบิดามารดาในประเทศที่ประจำอยู่ หรือทำการศึกษาอยู่ในรปะเทศอื่นแต่บุครจะต้องอายุไม่เกิน 25 ปี

3) บุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ไปราชการต่างประเทศ

4) บุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการหรือในกรณีที่เห็นสมควรเป็นพิเศษ หรือเกี่ยวกับการเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติคุณของประเทศ ให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศมอบหมาย มีอำนาจใช้ดุลลพินิจในการอนุมัติให้ออกหนังสือเดินทางราชการได้
หนังสือเดินทางราชการมีอายุตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 4 ปี ต่ออายุได้ครั้งละไม่เกิน 4 ปี

"หนังสือเดินทางธรรมดายกเว้นค่าธรรมเนียม" ออกให้แก่บุคคลดังต่อไปนี้

1) ข้าราชการซึ่งเดินทางไปศึกษาหรือดูงานโดยทุนส่วนตัว

2) นักเรียนทุนรัฐบาลซึ่งมิได้เป็นข้าราชการ

3) บุคคลผู้มีฐานะเป็นผู้ติดตามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการทูตในต่างประเทศ

4) บุคคลผู้มีฐานะเป็นผู้ติดตามในคณะผู้แทนที่เดินทางไปราชการในต่างประเทศ

5) ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศพร้อมคู่สมรส และบุตร ซึ่งไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับหนังสือเดินทางประเภทอื่น

6) นักกีฬา นักเรียน นักศึกษา ลูกเสือ เนตรนารี และสมาชิกของสมาคมหรือองค์การอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ซึ่งเดินทางไปร่วมในการกีฬา การชุมนุมหรือร่วมงานใดๆ ในนามประเทศไทย

7) บุคคลที่กระทรวงการต่างประเทศเห็นสมควร
หนังสือเดินทางประเภทนี้มีอายุตามความจำเป็น แต่ไม่เกิน 2 ปี ต่ออายุได้ครั้งละไม่เกิน 2 ปี
 
"หนังสือเดินทางธรรมดา" ออกให้กับบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น มี 2 ชนิด ได้แก่ หนังสือเดินทางชนิด 32 หน้า และชนิด 64 หน้า มีอายุตามความจำเป็น แต่ไม่เกิน 5 ปี ต่ออายุได้ครั้งละไม่เกิน 5 ปี และเมื่อรวมแล้วหนังสือเดินทางธรรมดาแต่ละเล่มจะมีอายุไม่เกิน 10 ปี
 
 "หนังสือเดินทางหมู่" ผู้มีสิทธิขอหนังสือเดินทางหมู่ ได้แก่ บุคคลสัญชาติไทย จำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แต่ไม่เกิน 10 คน ซึ่งประสงค์จะถือหนังสือเดินทางเล่มเดียวกัน เพื่อใช้เดินทางเป็นหมู่คณะ หนังสือเดินทางประเภทนี้มีอายุ 1 ปี ใช้เดินทางไปต่างประเทศได้ครั้งเดียว เมื่อใช้เดินทางกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว เป็นอันหมดอายุ ไม่สามารถต่ออายุได้อีก

สำหรับการยกเลิกหนังสือเดินทางนั้น กำหนดให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่หรือกระทรวงการต่างประเทศสามารถยกเลิกหรือเรียกคืน เมื่อปรากฏเหตุภายหลังซึ่งตามระเบียบกำหนดไว้ 7 ประการ  แต่ที่น่าจะเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ มีอยู่ด้วยกัน 2 ข้อ ดังนี้

1.เป็นบุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจออกหนังสือเดินทางได้ 3 ประการ ได้แก่
 
(1) เมื่อได้รังแจ้งว่า ผู้ขอผู้ซึ่งกำลังรับโทษในคดีอาญา หรืออยู่ระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราวหรือเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาที่มีการออกหมายจับไว้แล้วซึ่งศาลหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเห็นว่าไม่ควรออกหนังสือเดินทางให้ 

(2)เมื่อผู้ขอเป็นผู้ที่ศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายอื่นสั่งห้ามไม่ให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร

(3) เมื่อผู้ขอกระทำผิดกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติทางราชการซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือปิดบังความจริงอันเป็นสาระสำคัญหรือแสดงเอกสารหลักฐานอันเป็นเท็จในการขอหรือต่ออายุหนังสือเดินทางหรือไม่อยู่ในฐานะที่จะเดินทางไปต่างประเทศได้...

2. พิจารณาเห็นว่า หากให้ผู้ถือหนังสือเดินทางยังคงอยู่ในต่างประเทศต่อไปอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศไทยหรือต่างประเทศได้

เมื่อดูจากระเบียบการยกเลิกหนังสือเดินทางแล้ว ชัดเจนว่า พฤติการณ์ของพ.ต.ท.ทักษิณ เข้าเงื่อนไขการยกเลิกพาสปอร์ตแดงอย่างชัดเจน คือหลบหนีคำพิพากษาศาลฎีกาฯและถูกออกหมายจับ

นอกจากนั้นการปล่อยให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่นอกประเทศอาจสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศไทยได้โดยเฉพาะการโจมตีกระบวนการยุติธรรมหรือศาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีหน้าที่ต้องปกป้องเกียรติภูมิของประเทศ


แต่ไฉนทั้งนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีและนายสมพงษ์ ยังคงนิ่งเฉย อ้างสารพัดเหตุผลที่จะไม่แตะต้อง พ.ต.ท.ทักษิณ หรือมีอะไรอุดปาก มัดมือมัดเท้าไว้จนไม่กล้าทำอะไร

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์