นักนิติศาสตร์ มธ.ซัด´กกต.´วางยาอัยการอุ้ม´ทรท.´

กรุงเทพธุรกิจ

27 มิถุนายน 2549 19:25 น.
´ปริญญา´ ประณาม´กกต.´เหลี่ยมจัดวางยาอัยการอุ้ม´ทรท.´ สอบยุบพรรค2มาตรฐาน ตัดตอนสำนวนไม่เรียก´ทักษิณ´ให้การ รอลุ้นศาลรธน.ไม่รับวินิจฉัย ขณะที่´วรเจตน์´ ระบุยุบพรคเรื่องไหญ่ขัดต่อเจตนารมณ์ปชต.

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตถึงการสอบสวนกรณียุบพรรคของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า การสอบสวนเรื่องการยุบพรรคทั้ง 2 พรรคคือพรรคไทยรักไทย และพรรคประชาธิปัตย์ เห็นได้ชัดว่ามีการดำเนินการแบบ 2 มาตรฐาน

การสอบสวนพรรคประชาธิปัตย์นั้นมีการให้หัวหน้าพรรคไปสอบปากคำ แต่สำหรับพรรคไทยรักไทยกกต.กลับไม่เรียกหัวหน้าพรรคมาให้การ แสดงให้เห็นถึงปัญหาของกระบวนการสอบสวนที่ไม่เป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย ยืนยันว่าเรื่องนี้ถึงอย่างไรต้องสอบหัวหน้าพรรคไทยรักไทยว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างไร สั่งการหรือไม่ ต้องเรียกมาสอบ การสอบสวนของกกต.แบบนี้อธิบายให้นักกฎหมายเข้าใจไม่ได้

ทั้งนี้ เรื่องการยุบพรรคนั้นมีโทษเหมือนการลงโทษประหารชีวิต ซึ่งขั้นตอนของคดีเหมือนคดีอาญา มีกกต.เป็นพนักงานสอบสวน อัยการสูงสุดเป็นทนายแผ่นดิน หาก กกต.ส่งสำนวนขึ้นมายังอัยการสูงสุด แล้วทางอัยการเห็นว่าสำนวนไม่ดีพอ หรือกกต.สอบสวนแบบ 2 มาตรฐานอัยการอาจจะยังไม่ส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญทันที แต่จะตั้งกรรมการร่วมขึ้นมาสอบสวนกับกกต.อีกรอบก็ได้

"ผมเห็นว่าตามข้อกฎหมายแล้ว ยังไม่มีน้ำหนักที่จะยุบทั้งสองพรรค เพราะการกระทำที่ถูกระบุว่าเป็นการจ้างวานพรรคเล็กนั้น ไม่มีการประชุมพรรคหรือมีมติพรรคออกมายังไม่สามารถสรุปชัดเจนว่า เป็นการกระทำของพรรคถึงกับต้องยุบพรรค ทั้งนี้ เหตุในการยุบพรรคตามกฎหมายนั้นต้องมีความว่าพรรคทำ ซึ่งยากที่จะปรากฏในชั้นสอบสวน เชื่อว่าหากถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้วจะไม่ยุบทั้ง 2 พรรค

ด้าน นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หากพรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์ถูกยุบตาม มาตรา66 จะมีผลคือ 1) กรรมการบริหารพรรค หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค จะไปจดทะเบียนตั้งพรรคใหม่ไม่ได้ภายในเวลา 5 ปี 2)ห้ามเป็นกรรมการบริหารพรรคใหม่ ตาม ม.69 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง แต่ไม่ได้ห้ามไม่ให้เป็นสมาชิกพรรค

โดยต้องเป็นสมาชิกให้ครบ 90 วันจึงจะลงเลือกตั้งได้ แต่ในทางการเมืองแล้วหัวหน้าพรรคหรือกรรมการพรรคที่ถูกยุบพรรคก็ไม่มีความชอบธรรมที่จะดำเนินการทางการเมืองต่อไป

นายวรเจตน์ ได้กล่าวถึงข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณากรณีการยุบพรรคว่า มาตรา66 ที่เป็นเหตุแห่งการยุบพรรคนั้นกฎหมายไม่ได้ใช้ถ้อยคำที่เฉพาะเจาะจง ทำให้ศาลสามารถตีความได้กว้างขวางมาก

ทั้งนี้ นายวรเจตน์ ชี้ว่า การยุบพรรคการเมืองถือเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก หากจะยุบจริงต้องมีคำอธิบายที่หนักแน่นทั้งทางข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย เพราะมันได้ไปทำลายตัวองค์กรที่จัดตั้งเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของประชาชน โดยเฉพาะ 2 พรรคใหญ่ที่ต่างเป็นพรรคที่มีเสียงสนับสนุนจำนวนมาก หรือหากยุบหลังเลือกตั้ง สมาชิกภาพของส.ส.ก็หมดไปตามพรรคที่ถูกยุบไป จะเห็นได้ว่าหากมีการยุบพรรคจริงไม่ว่าจะเป็นพรรคไทยรักไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์ จะเกิดผลกระทบทางการเมืองสูงมาก

การวินิจฉัยเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อโฉมหน้าการเมืองไทยอย่างแน่นอน ช่วงนี้สภาวการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองจะสูงขึ้นไปอีก เพราะไม่สามารถคาดเดาผลที่จะออกมาได้ ซึ่งหากมีการยุบพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคไทยรักไทยจริง จะถือเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองครั้งใหญ่ แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่นำไปสู่โอกาสหรือวิกฤต อาจจะเกิดวิกฤตที่ซ้ำสองขึ้น อย่าลืมว่าพรรคการเมืองไม่ได้อยู่เฉพาะตัวพรรค แต่มีคนสนับสนุนทั้ง 2 พรรค ดังนั้นถ้าเหตุแห่งการยุบไม่มีน้ำหนักก็จะเกิดปัญหา ในทางกลับกันถ้าเกิดเหตุสำคัญมากแต่ไม่ยุบก็เกิดปัญหาเช่นเดียวกัน ผมจึงคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่มีศาลรัฐธรรมนูญมา นักวิชาการ มธ. กล่าว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์