เปิดร่าง กม.นิรโทษกรรม แม้ว-111ทรท.กลุ่มเพื่อนเนวินล่า1หมื่นชื่อเสนอรัฐสภา กรุยทางหวนคืนอำนาจ


วัตถุประสงค์ในการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ก็เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณและกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คนสามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรืออีกนัยหนึ่งสามารถหวนคืนให้มีอำนาจทางการเมืองได้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญเพราะเป็นการออกกฎหมายบังคับใช้เฉพาะกรณี


หมายเหตุ"มติชนออนไลน์"-
มีความเคลื่อนไหวของ ส.ส.พรรคพลังประชาชน(พปช.) กลุ่มเพื่อนเนวิน ล่ารายชื่อประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ได้ 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111คน รวมทั้ง  พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรคต่อรัฐสภาซึ่งถูกคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ทำให้ คณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี
 
วัตถุประสงค์ในการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ก็เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณและกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยสามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรืออีกนัยหนึ่งสามารถหวนคืนให้มีอำนาจทางการเมืองได้อีกครั้งหนึ่ง
 
ทั้งนี้ นายปัญญา ศรีปัญญา ส.ส.ขอนแก่น พรรคพลังประชาชน กลุ่มเพื่อนเนวิน ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ว่า มีการเคลื่อนไหวประชาชนในภาคอีสานเข้าชื่อ 10,000 ชื่อ เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ  ซึ่งเป็นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 142 และ 163 โดยเฉพาะ จ.ขอนแก่น ได้รับการประสานงานจากประชาชนให้ช่วยร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้กับนักการเมืองที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ส่วนจะมีนักการเมืองคนใดเข้าข่ายที่จะได้รับการนิรโทษกรรมจาก พ.ร.บ.ดังกล่าวนั้น จะต้องไปพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง

"ที่ประชาชนต้องการรวบรวมรายชื่อให้ครบ 10,000 คน เพื่อเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้นถือเป็นการช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิไว้ โดยไม่ได้ทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท เหมือนกับการขอพระราชทานอภัยโทษซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณถุกพิพากษาจำคุกในคดีประมูลที่ดิน ถนนรัชดาภิเษก เท่าที่ผมทราบขณะนี้มีประชาชนร่วมลงชื่อแล้วจำนวนหนึ่ง" นายปัญญากล่าว

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ที่ร่างขึ้นใช้ชื่อว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามคำวินิจฉัยที่ 3-5/2550 วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2550 เฉพาะผู้ที่เคยเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองและข้าราชการการเมือง พ.ศ.... ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
 
บันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามคำวินิจฉัย ที่ 3-5/2550 วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550เฉพาะผู้ที่เคยเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองและข้าราชการเมือง พ.ศ. ....
 
                                                         

หลักการ


ให้มีกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญ(ความจริงเป็น "คณะตุลการรัฐธรรมนูญ")มีคำสั่งให้เพิกถอนสุทธิเลือกตั้งตามคำวินิจฉัย ที่ 3-5/2550 วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 เฉพาะผู้ที่เคยเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองและข้าราชการเมือง
 
                                         
  เหตุผล

 
โดยที่การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นมาตรการการลงโทษทางการเมือง เพื่อป้องกันมิให้ผู้ถูกลงโทษเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แม้จะเป็นมาตรการที่เหมาะสมกับสภาวการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน แต่กรณีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นหมู่คณะ เนื่องจากกฎหมายให้ถือว่าเป็นผู้ร่วมดำเนินกิจการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เพราะมีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อได้ว่า มีส่วนร่วมหรือรู้หรือกับการกระทำฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3-5/2550 อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมืองและส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมืองที่เคยเป็นข้าราชการเมืองที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ ทำให้ประเทศชาติขาดแคลนบุคลากรทางการเมืองที่จะช่วยให้การบริหารประเทศเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการที่ต้องรับผลของกฎหมายซึ่งให้ถือว่าเป็นผู้ร่วมดำเนินกิจการอันฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

ทั้งๆ ที่ตนเองอาจไม่รู้เห็นหรือไม่มีความเกี่ยวข้องในขณะที่มีการกระทำความผิดอันเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองซึ่งนำไปสู่การเพิกถอนสิทธเลือกตั้งและตัดสิทธิทางการเมืองห้าปี จึงเป็นการสมควรนิรโทษกรรมแก่ผู้ถูกเพิกถอนสิทธเลือกตั้งดังกล่าวเพื่อให้โอกาสกลับมาทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ร่าง

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญ

         
มีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามคำวินิจฉัย ที่ 3-5/2550 วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550


เฉพาะผู้ที่เคยเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองและข้าราชการเมืองพ.ศ. ....


โดยที่เป็นการสมควรนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิ, เลือกตั้งตามคำวินิจฉัย ที่ 3-5/2550 วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 เฉพาะผู้ที่เคยเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองและข้าราชการเมือง

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามคำวินิจฉัย ที่ 3-5/2550 วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 เฉพาะผู้ที่เคยเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองและข้าราชการเมือง พ.ศ. ..."

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 บรรดาการกระทำใดๆ ของกรรมการบริหารพรรคการเมืองอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ซึ่งถือเสมือนว่าเป็นการดำเนินกิจการในนามของกรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้งคณะที่มีผลผูกพันต่อพรรคการเมืองซึ่งตนสังกัด อันเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้งคณะตามคำวินิจฉัยที่ 3-5/2550 วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

ผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามวรรคหนึ่งไม่ว่า จะเป็นเพราะการกระทำใดๆ เฉพาะผู้ที่เคยเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองและข้าราชการการเมืองให้เป็นผู้ที่ไม่เคยกระทำหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง โดยให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

มาตรา 4  การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น

มาตรา 5 ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ถ้ามีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 163 วรรคท้ายกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต้องให้ผู้แทนของประชาชนซึ่งเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวชี้แจงหลักการของร่าง พ.ร.บ.และคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จะต้องประกอบด้วยผู้แทนของประชาชนซึ่งเข้าชื่อเสนอร่างจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากหลักการและเนื้อหาของ พ.ร.บ.ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้พบว่า อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ  เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้เป็นมีวัตถุประสงค์มุ่งใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งโดยเฉพาะคือ "กรณีคำสั่งยุบพรรคของคณะตุลการรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550" และใช้บังคับเฉพาะเจาจองแก่บุคคลใดบุคคลหลนึ่งคือ"ผู้ที่เคยเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองและข้าราชการการเมือง"ซึ่งถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามคำสั่งดังกล่าว เพราะมาตรา 29 วรรคสองบัญญัติไว้ว่า "กฎหมาย....ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปและไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง..."


ขณะที่ นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ  กล่าวว่า การจะออกกฎหมายเพื่อยกโทษให้คนคนเดียวนั้นไม่ใช่หลักของกฎหมาย ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนไม่ควรทำเช่นนี้ ส.ส.มีหน้าที่เสนอกฎหมายที่เป็นสาธารณประโยชน์ไม่ใช่ทำเพื่อคนคนเดียว

เมื่อเป็นเช่นนี้คงต้องดูต่อไปว่า ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวินจะเดินหน้าในเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมามีอำนาจทางการเมืองอีกครึ่งหนึ่ง

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์