เปิด 32 คดีหมิ่นเบื้องสูง ตร.โอดตามจับยากประเดิมสั่งฟ้องจักรภพ

"ไอซีที" เล็งร่างแก้ไข กม.คอมพิวเตอร์ เสนอ ครม.เพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ เอาผิดเว็บหมิ่นเบื้องสูงได้ทันที ปชป.เผยเสนอร่างกฎหมายเข้าสภาก่อนแล้ว จี้รัฐบาลให้ความสำคัญ ชี้ผุดใหม่เพียบหลังศาลตัดสินจำคุก "ทักษิณ" คณะกรรม บช.ก.สั่งฟ้อง"จักรภพ"หลังสอบพยานเพิ่ม

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) หารือร่วมกับตัวแทนสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงบประมาณ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม

เพื่อหาแนวทางดำเนินการกับเว็บไซต์ที่มีข้อความหมิ่นสถาบันเบื้องสูง โดยภายหลังการประชุม นายมั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที กล่าวว่า ที่ประชุมได้เสนอให้เร่งดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยเฉพาะการเพิ่มอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแก้ไขภายในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ พร้อมกันนี้ยังได้มอบหมายให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ไปประชุมหารือเพื่อขอความร่วมกับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) กว่า 120 ราย ในวันที่ 5 พฤศจิกายนด้วย 


"ปัญหาที่ผ่านมา ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดคือ ติดขัดด้านกฎหมาย การปิดกั้นโดยทันทีไม่สามารถทำได้ ทั้งที่เมื่อพบผู้กระทำความผิดแล้วควรทำได้เลย ไม่ต้องรอแจ้งตำรวจก่อน โดยให้อำนาจกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง" นายมั่นกล่าว และว่า การจัดซื้อเครื่องมือเกตเวย์ สำหรับตรวจสอบและบล็อคเว็บไซต์นั้น ทางศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค เสนอว่าการลงทุนไม่น่าจะถึง 100-500 ล้านบาท หรือใช้เพียงประมาณ 75-100 ล้านบาท ก็สามารถดำเนินการได้เช่นกัน

นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการ (กมธ.) กำกับติดตามป้องกันและปราบปรามการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า ได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.

ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เข้าสู่สภาเพื่อให้บรรจุระเบียบวาระ เนื่องจากคณะอนุ กมธ.ติดตามปัญหาการกระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมาพบว่าปัญหาสำคัญเกิดจากการทำงานไม่เอาจริงเอาจังกระทรวงไอซีทีอ้างว่า ไม่มีอำนาจหน้าที่ทางกฎหมายที่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถหาข้อมูลได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้โยนความรับผิดชอบไปมาทำให้การดำเนินคดีล่าช้า


"ผมจึงเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภา เพื่อให้มีความชัดเจน เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์สืบสวนสอบสวนและการพิจารณาคดีที่ต้องดำเนินการโดยเร็ว และมีมาตรการป้องกันไม่ให้ผู้กระทำผิดหลบหนีการจับกุม จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสนใจและดำเนินการแก้ปัญหาการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างจริงจัง และเร่งพิจารณาเรื่องดังกล่าวโดยด่วน" นายพีระพันธุ์กล่าว   
 

ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง( บช.ก.) เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 29 ต.ค. พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(ผบช.ก.)

ได้เรียกประชุมพนักงานสอบสวนคดีหมิ่นพระบรมราชานุภาพทุกคดีในสังกัดกองบัญชาการสอบสวนกลางเพื่อติดตามความคืบหน้าและแนวทางการทำงาน โดยใช้เวลาในการประชุมประมาณ 2 ชม. พล.ต.ท.วรพงษ์  กล่าวภายหลังการประชุมว่า การเร่งรัดติดตามดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพว่า ขณะนี้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพค้างอยู่ 32 คดี โดยสรุปเสนอสั่งฟ้องให้อัยการไปแล้ว 4 คดี ที่เหลืออีก 28 คดีอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งแยกเป็นคดีหมิ่นทางเว็บไซด์ 15 คดี วิทยุชุมชน 2 คดี ที่เหลือก็เป็นคดีร้องทุกข์ทั่วไป วันนี้ก็ได้เรียกพนักงานสอบสวนในแต่ละคดีมาประชุมสอบถามความคืบหน้า ปัญหาอุปสรรคต่างๆในการทำงาน


พล.ต.ท.วรพงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีของนายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่มีการร้องขอให้พนักงานสอบสวนทำการสอบพยานเพิ่มอีก 18 ปาก 

พนักงานสอบสวนสามารถติดต่อพยานสอบปากคำเสร็จเรียบร้อยแล้ว 10 ปาก อีก 8 ปากไม่สามารถติดตามได้ทางคณะกรรมการคดีหมิ่นระดับบช.ก.จึงมีความเห็นให้ตัดพยานทั้ง 8 ปากไปเพราะใช้ระยะเวลาในการสอบสวนมาพอสมควรแล้ว คณะกรรมการคดีหมิ่นระดับบช.ก.จึงได้มีความเห็นตามความเห็นเดิมสั่งฟ้องนายจักรภพในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เสนอความเห็นไปยังคณะกรรมการคดีหมิ่นระดับ ตร. แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งขั้นตอนต่อไปคณะกรรมการคดีหมิ่นระดับตำรวจจะมีความเห็น จากนั้นก็ให้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามส่งสำนวนพร้อมผู้ต้องหาให้อัยการต่อไป


พล.ต.ท.วรพงษ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของคดีที่เกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอื่นๆ พนักงานสอบสวนก็ให้ความสำคัญทั้งหมด

แต่บางคดีดำเนินการยาก เช่น คดีที่เกิดต่างประเทศ เป็นขั้นตอนของอัยการสูงสุดดำเนินการ  ซึ่งอัยการสูงสุดมอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นพนักงานสอบสวนร่วมในการติดตามพยาน เมื่อติดต่อพยานบางรายพยานอยู่ต่างประเทศ เมื่อติดต่อได้ก็ไม่ยอมเดินทางมาให้ปากคำ ส่วนกรณีนายโจนาธาน เฮด นักข่าว BBC ที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีหมิ่นพระบรมราชานุภาพขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ


“การดำเนินคดีหมิ่นฯทางเว็บไซด์นั้นก็มีปัญหาพอสมควรเพราะปกติทางเว็บมาสเตอร์จะเก็บข้อมูลไว้ 90 วันแต่กว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะรับเรื่องมากก็เกินเวลาแล้วทำให้รวบรวมพยานหลักฐานยาก บางคดีทราบไอพีแอดเดรสก็ปรากฏว่าเป็นเครื่องบริษัทเมื่อสอบถามพยานก็ไม่มีใครยอมรับปฏิเสธกันหมดก็ต้องมาไล่ดูว่าใครใช้เครื่องเวลาไหนอย่างไร ซึ่งก็ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ”ผบช.ก.กล่าว

พล.ต.ท.วรพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า อย่างไรก็ตามตนเองก็ได้เน้นย้ำให้พนักงานสอบสวน เพิ่มความเข้มในการปฏิบัติในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

และมอบหมายให้ทุกกองบังคับการของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เฝ้าระวังสื่อทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์บนอินเตอร์เน็ต สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ โดยเฉพาะสถานีวิทยุชุมชน รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ การพูดหรือกล่าวปราศรัยต่อสาธารณชน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและความมั่นคงของประเทศ

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์