แสวงสันติด้วยการสานเสวนา


วันที่ 26 ต.ค. มีการประชุมใหญ่ "เครือข่ายเสวนาเพื่อสันติธรรม" ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าจัดขึ้นที่หอประชุมใหญ่ กรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์ฯ ก่อนร่วมลงนามในปฏิญญาสานเสวนาเพื่อสันติธรรม เรียกร้องให้ยุติความรุนแรง เลี่ยงการปะทะทุกรูปแบบโดยรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบทั้งทางศีลธรรม จริยธรรม และกฎหมาย

ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งร่วมกันสานเสวนาเพื่อสันติธรรม พร้อมประกาศรณรงค์จนกว่าสันติสุขจะกลับคืนสู่ประเทศ

และตั้งผู้ประสานงาน 8 คน เพื่อไปประสานกับ 4 ฝ่ายคือ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ฝ่ายค้าน กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชา ธิปไตย และรัฐบาล

ก่อนลงนามในประกาศปฏิญญา มีการเสวนา "ยุติความรุนแรง แสวงสันติด้วยการสานเสวนา" มีเนื้อหา ดังนี้

วันชัย วัฒนศัพท์

ผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า

ไม่ขอประณามใครและไม่กล่าวหาใคร เวลานี้สังคมไทยมองเห็นแต่เป็นพวกกู พวกมัน ดังนั้นเราต้องทำให้มองเป็นพวกเรา พวกเราคือประชาชนเหมือนกัน ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ปัญหาเกิดขึ้นเพราะไม่เอาใจเขามาใส่ใจเรา

การสานเสวนาต้องมีกติกาที่เกิดจากผู้ร่วมเสวนากำหนดและเห็นต้องกันคือ มีเป้าหมายทำความเข้าใจกัน ไม่เอาแพ้เอาชนะ มีความเท่าเทียมกัน เปิดเผย ฟังอย่าด่วนตัดสินใจ แสวงหาสมมติฐานต่างๆ และทางออกอย่างกว้างขวาง

ขอเสนอทางออกในการแก้ปัญหาประเทศคือ ต้องหาคนกลางที่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายต่างๆ เช่น ประธานวุฒิสภา พร้อมทีมงานที่เข้าใจกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติ และเข้าใจกระบวนการสานเสวนา

การเปิดเวทีการสานเสวนาหลังจากทำความเข้าใจกับแต่ละฝ่ายถึงขั้นตอนและกติกาของกระบวนการ พร้อมทำความเข้าใจกับสาธารณชนในรายละเอียดของกระบวนการอย่างโปร่งใสและต่อเนื่อง กำหนดประเด็นสานเสวนาร่วมกันโดยเป็นประเด็นหรือโจทย์ที่ฝ่ายต่างๆ เห็นพ้องต้องกัน และกำหนดการเมืองใหม่

เมื่อสามารถหาทางออกของปัญหาเร่งด่วนที่พูดคุยแล้ว ให้มีการสานเสวนากับประชาชนในแต่ละพื้นที่กระจายไปอย่างทั่วถึง เพื่อพิจารณาการเมืองที่ทุกฝ่ายเห็นพ้อง ต้องการอยากเห็น จะเรียกว่าการเมืองใหม่ การเมืองหรือประชาธิปไตยแห่งการสานเสวนาหาทางออกแล้วกลับมาหาฉันทามติร่วมจากพื้นที่ต่างๆ


สุเมธ ตันติเวชกุล

เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา

เหตุผลที่รับมาพูดวันนี้เพราะเมื่อได้ยินหัวข้อของการจัดงานจากนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ แต่วันนี้ผมจะพูดเรื่องที่อยู่ในใจมาตลอดชีวิต ได้ประสบพบเห็นความรุนแรงมาเป็นระยะ ตั้งแต่สมัยวัยรุ่นจนถึงวันนี้ อยากเห็นการยุติความรุนแรง ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นบนแผ่นดินไทยที่ผมรัก

ไม่รู้ทำไมชีวิตถึงหลีกเลี่ยงการฆ่ากันไม่ได้ ภาพต่างๆ ที่ฝังอยู่ในชีวิตผมทั้งในและต่างประเทศ ไม่อยากเห็นอีกแล้ว ไม่ว่าใครคิดอย่างไรไม่เป็นไร แต่วิธีฆ่ากันไม่สามารถยุติปัญหาได้ ผลสุดท้ายก็ต้องนำปัญหามาว่ากันบนโต๊ะ ไม่ว่าจะเป็น 4 ฝ่าย หรือ 5 ฝ่าย ในที่สุดหาทางสันติได้ อาวุธและความรุนแรงไม่สามารถยุติการสู้รบได้ ขอให้ทุกคนหยุดรบ

ผมทนนั่งเฉยไม่ได้ ไม่อยากเป็นผู้อพยพเหมือนต่างประเทศที่ต้องไปอยู่ฝรั่งเศส ยุโรป หรืออเมริกา ผมอยากอยู่บนแผ่นดินนี้ ไม่มีใครช่วยรักษาให้ประเทศอยู่ได้ อยู่ในมือของเรา แผ่นดินจะแตกไม่แตกอยู่ได้ไม่ได้ก็อยู่ที่มือของเรา

รักแผ่นดินต้องรักให้ฉลาด ใช้ปัญญารักษา อารมณ์ไม่ได้ โดยเฉพาะใช้ความรุนแรงไม่มีทางทำให้อะไรเกิดดีได้ มีแต่ความเศร้าสลดใจ สุดท้ายก็ต้องมีการสานสันติธรรม

ความยุติธรรมที่เราพูด และไม่ว่าจะสร้างระบบกี่แบบอย่างไรไม่เป็นไร สิ่งสำคัญต้องมีธรรมาภิบาล ความซื่อสัตย์ต่อแผ่นดิน ธรรมาภิบาลต้องเป็นฐานรองรับนิติธรรมที่จะเกิด ต้องยืนอยู่บนฐานของความถูกต้อง หลีกเลี่ยงความรุนแรงที่มีแต่จะนำมาซึ่งความเศร้าสลดใจ คนไทยด้วยกันเองจะฆ่ากันลงหรือ แม้จะแตกต่างกันทางความคิดก็ไม่มีปัญหา ใครพวกไหนก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่เราต้องตกลงเดินหน้าเพื่อรักษาบ้านเมืองไว้ให้ได้

ขออัญเชิญพระราชกระแสรับสั่งในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 35 ที่ว่า ประเทศของเราไม่ใช่ประเทศของคนหนึ่งหรือสองคน เป็นประเทศของทุกคน ต้องเข้าหากัน ไม่เผชิญหน้ากันแก้ไขปัญหา เพราะปัญหามีอยู่

เวลาเกิดเรื่องขึ้นมาบางครั้งคนเราก็บ้าเลือด เวลาที่คนปฏิบัติด้วยความรุนแรงลืมตัว ก็คือลงท้ายด้วยการตีกัน เพื่ออะไร เพียงเพื่อเราต้องการเอาชนะกัน แล้วใครจะชนะ มีแต่แพ้ และที่แพ้ที่สุดคือประเทศชาติและประชาชน

แล้วจะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะอยู่บนกองซากปรักหักพัง

พระองค์ท่านไม่เคยปฏิเสธว่าปัญหามีอยู่แต่ต้องหันหน้าเข้ามาแก้ไขกัน ผมไม่อยากได้ยินกระแสพระราชดำรัสแบบนี้ซ้ำอีก ไม่เช่นนั้นจะมีแต่ความเสียหาย ครอบครัวบ้านแตก หลายคนต้องไปนั่งในแผ่นดินคนอื่น บาดแผลบนแผ่นดินแต่ละครั้งสาหัส แต่เราศึกษามาเป็นบทเรียนประเทศชาติก็เดินหน้าผ่านมาได้ ผมอยากชักชวนว่าอย่าสร้างบาดแผลให้บ้านเมืองอีกเลย อยากให้ช่วยรักษาบ้านเมืองกันไว้ ไม่ว่าใครจะเชื่อกันอย่างไร ขออย่างเดียวแต่อย่าใช้ความรุนแรงเป็นทางออก

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ

เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า

รัฐบาลต้องใช้กฎหมาย ใช้หลักนิติธรรม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง ตำรวจกองทัพต้องป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง ไม่ใช่ทำความรุนแรงโดยรัฐเสียเองและเป็นที่ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะตอบโต้ด้วยความรุนแรงโดยป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น

ทางออกต้องตั้งคนที่เป็นกลางและได้รับการยอมรับจากสังคมมาไต่ส่วนหาข้อเท็จจริง ผมอยากเสนอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาตั้งคณะกรรมการกลางมาไต่สวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ต.ค.

คนที่มีหน้าที่ป้องกันความรุนแรงคือรัฐบาล แต่รัฐไทยในปัจจุบันอยู่ระหว่างคาบลูกคาบดอก เป็นรัฐทำหน้าที่ได้สมบูรณ์กับเป็นรัฐล้มเหลวคือ เป็นรัฐที่ไม่สามารถทำหน้าที่พื้นฐานให้ประชาชนและสังคมในรัฐได้ เพราะไม่สามารถรักษาความมั่นคงเรียบร้อย พัฒนาไปสู่ความยั่งยืนได้

ในต่างประเทศมีการทำผลสำรวจชี้วัดสัญญาณความล้มเหลวของรัฐ ปีนี้มีทั้งหมด 177 ประเทศ มี 35 ประเทศถูกจัดอยู่ในภาวะอันตราย เช่น อัฟกานิสถาน อิรัก ศรีลังกา และมี 92 ประเทศอยู่ในระดับเตือนภัย ซึ่งไทยอยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงได้

วันนี้ยังไม่เกิดขึ้นหากรัฐไม่มีสัญญาณแห่งความล้มเหลว แต่ที่เกิดขึ้นเพราะตัวรัฐบาลมีปัญหาเป็นคู่กรณีในความขัดแย้ง และมีข้อสงสัยว่ารัฐบาลอาจมีส่วนทำให้เกิดความรุนแรงขึ้น หรือกำลังยักคิ้วให้ประชาชนบางพวกมีแนวโน้มก่อความรุนแรงได้ เมื่อรัฐบาลไม่สามารถรักษาหน้าที่พื้นฐานคือ ความสงบเรียบร้อยได้เอง ก็เสี่ยงให้ความรุนแรงจะเกิดขึ้นได้

เมื่อรัฐบาลรักษาความสงบไม่ได้ ก็เป็นหน้าที่ของพลเมืองที่ต้องร่วมกันป้องกันปัญหาความรุนแรง เราในฐานะเป็นพลเมือง 64 ล้านคนต้องออกมาพูดว่าไม่ต้องการความรุนแรง ต้องการให้สันติสุขเกิดขึ้น การสานเสวนาจึงจะทำให้ความรุนแรงหมดไป

สน รูปสูง

รองประธานสภาพัฒนาการเมือง

สภาพรวมของชาติเปรียบเหมือนขาทั้งสองข้างของคน ที่ขาข้างหนึ่งเป็นการเมืองที่ไปแล้ว ซึ่งลุกลามไปสู่สังคม สร้างความแตกแยก เหลืออีกขาเดียวคือขาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งอาจถูกผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก เราต้องออกแรงช่วยกันก่อนที่จะเจอวิกฤตเศรษฐกิจต้องช่วยกันแก้ปัญหา

ความขัดแย้งในสังคมที่เกิดขึ้นแม้จะห้ามไม่ให้เกิดไม่ได้แต่ต้องทำให้เกิดสันติ คนชนบท โดยเฉพาะคนอีสานแม้จะถูกแบ่งฝ่ายแต่ก็ไม่ยุ่งและไม่ขอเข้าร่วม และอยากเห็นสังคมผ่านความขัดแย้งไปได้โดยเร็ว

จุดเริ่มต้นวันนี้ไม่มีใครชี้ทางออกให้ใครได้ แต่จะทำอย่างไรให้หันหน้ามาคุยกัน ความขัดแย้งที่ผ่านมาในอดีตเป็นเพราะฝ่ายที่ขัดแย้งยังไม่เคยพูดคุยกันอย่างจริงจัง

โคทม อารียา

ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี

มหาวิทยาลัยมหิดล



ในปี 52 เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเราต้องเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจแน่นอน แต่จะทำอย่างไรให้ไม่ได้รับผลกระทบมาก โดยต้องช่วยกันลบวิกฤตการเมือง ไม่เช่นนั้นสังคมจะได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งการจ้างงานและสภาพคล่องต่างๆ

ปัญหากับความรุนแรงแบ่งเป็นระดับปัจเจกบุคคลที่มีความรู้สึกสูงมาก เพราะเลือกรับรู้และเกิดอารมณ์ร่วมตาม ในระดับบุคคลก็เลือกรับข้อมูล และในระดับกลุ่มเกิดการแยกขั้ว แยกกลุ่ม ชักจูงให้คิดแบบเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยทางวัฒนธรรมของปัญหาความรุนแรงที่ต้องชนะให้เด็ดขาด บางคนคิดว่าไม่มีหนทางแก้ปัญหาแล้วจึงต้องเชิญผู้มีอำนาจมาช่วยแก้ไข ดังนั้น เราต้องใช้สติ ปัญญา มีความเมตตาและลดอคติ ก้าวพ้นความรุนแรง ต้องถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ นอกจากนี้ ต้องหันหน้ามาคุยกัน ร่วมสร้างองค์ความรู้

การมีเวทีสานเสวนาเพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลได้รู้จักตัวเอง รู้จักประเทศของเรา และสร้างสำนึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของประเทศ หากสังคมรู้จักตัวเองจะเป็นสิ่งช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองใหม่ การปฏิรูปการเมือง หากไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักประเทศของเรา ต่อไปคงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่เรื่อยๆ

เราให้คนอื่นคุยกันก่อนไม่ได้ ต้องเริ่มคุยกันเอง เปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน สังคมและประเทศจึงเปลี่ยน แปลงในทางที่ดีขึ้นได้

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์