สมชาย-ฮุนเซนจับเข่าคุยนอกรอบที่ปักกิ่ง เห็นชอบ 4 ข้อลดความตึงเครียดชายแดน ไม่ปะทะ-ใช้กลไกทวิภาคี


"สมพงศ์"ร่วม"ฮอ นัม ฮง" แถลงผลนายกฯไทย-เขมรเจรจาชื่นมื่น มทภ.2 ชี้ประชุมอาร์บีซีแบบฉันมิตร 2 ฝ่ายใช้ความอดกลั้น หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า เขมรส่งสารถึงบัวแก้วžยันไม่รุกล้ำแดนไทย "สมชาย"ย้ำใช้อาเซมปักกิ่งกู้ภาพลักษณ์ไทย

"สมชาย-ฮุนเซน"เปิดเจรจาได้ 4 ข้อสรุปสัมพันธ์ไทย-เขมร
 
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีของไทย กับนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้หารือทวิภาคีนอกรอบเกี่ยวกับปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ระหว่างการร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียยุโรป (อาเซม) ที่โรงแรมไฮแอท กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม โดยภายหลังการหารือประมาณ 30 นาที นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย และนายฮอ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา ได้ร่วมกันแถลงข่าวและตอบคำถามผู้สื่อข่าว ระบุว่า บรรยากาศของการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศเป็นไปอย่างดีมาก ไม่มีเรื่องใดที่มีความเห็นแตกต่างกัน

 
"นายกฯฮุน เซน บอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่เหตุการณ์ประเภทที่ทั้งสองฝ่ายต้องการ แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกะทันหันและตอนนั้นก็ไม่สามารถควบคุมได้ แต่เมื่อมาถึงจุดนี้ ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องแนะนำต่อทหารของทั้งสองฝ่ายไม่ให้เกิดการเผชิญหน้ากันอีก" นายสมพงษ์กล่าว
 
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้เสนอ 4 หลักการ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีของไทยได้แสดงความเห็นด้วย ได้แก่

1.บรรยากาศของการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศเป็นไปอย่างดีมาก ไม่มีเรื่องใดที่มีความเห็นแตกต่างกัน
 
2. นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้เสนอ 4 หลักการเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีของไทยได้แสดงความเห็นด้วยได้แก่ 
2.1     จะทำทุกวิถีทางที่จะไม่ให้เกิดการปะทะ หรือการเผชิญหน้าระหว่างกันอีก

2.2     จะใช้กลไกทวิภาคีที่มีอยู่อย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาและส่งเสริมความร่วมมือ  ระหว่างกัน
2.3     จะส่งเสริมความร่วมมือที่มีอยู่แล้วระหว่างสองประเทศต่อไป และพัฒนาความร่วมมือในด้านใหม่ ๆ พร้อมกันไป
2.4     จะร่วมกันสนับสนุนความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาค และกรอบภูมิภาคต่าง ๆ 
 
3. ฝ่ายกัมพูชาเห็นว่า การหารือในกรอบคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee: RBC) ระหว่างฝ่ายทหารของทั้งสองฝ่ายเป็นเรื่องที่ดี หากผลการประชุมวันที่ 23-24 ตุลาคม 2551 มีข้อยุติที่ดีในการแก้ปัญหาระหว่างกันในพื้นที่ ก็อาจจะนำมาใช้เป็นแนวทางในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีปัญหาตลอดแนวชายแดนระหว่างกัน
 
4. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้แจ้งว่า JBC เป็นกลไกทวิภาคีที่จะมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาในเรื่องเขตแดน ซึ่งในวันที่ 28 ตุลาคม 2551 รัฐสภาของไทยจะพิจารณากรอบการหารือที่ฝ่ายไทยจะนำไปใช้เจรจากับฝ่ายกัมพูชา หากผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ฝ่ายไทยจะเสนอให้มีการประชุม JBC ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2551 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของฝ่ายกัมพูชาด้วย
 
5.ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายกัมพูชาจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือไม่ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาตอบว่า ไม่
 
นายสมพงษ์กล่าวว่า ฝ่ายกัมพูชาเห็นว่า การหารือในกรอบคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (อาร์บีซี) ระหว่างฝ่ายทหารของทั้งสองฝ่ายเป็นเรื่องที่ดี หากผลการประชุมวันที่ 23-24 ตุลาคม มีข้อยุติที่ดีในการแก้ปัญหาระหว่างกันในพื้นที่ ก็อาจจะนำมาใช้เป็นแนวทางในพื้นที่อื่นๆ ที่มีปัญหาตลอดแนวชายแดนระหว่างกัน
 
 
ใช้ทวิภาคีเจรจาเขตแดน

นายสมพงษ์ได้แจ้งว่า คณะกรรมการชายแดนร่วม (เจบีซี) เป็นกลไกทวิภาคีที่จะมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาในเรื่องเขตแดน ซึ่งในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ รัฐสภาของไทยจะพิจารณากรอบการหารือที่ฝ่ายไทยจะนำไปใช้เจรจากับฝ่ายกัมพูชา หากผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ฝ่ายไทยจะเสนอให้มีการประชุมเจบีซีในวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของฝ่ายกัมพูชาด้วย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานในวันเดียวกันนี้ว่า นายฮอ นัมฮง ยืนยันว่าจะไม่มีการนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติแล้ว แต่ทั้งไทยและกัมพูชาจะใช้กลไกต่างๆ ที่มีอยู่เพื่อแก้ปัญหาชายแดนระหว่างกัน และชี้ว่า การหารือร่วมระหว่างผู้บัญชาการทหารของทั้งสองฝ่ายในสัปดาห์นี้ก็ถือว่าเป็นความคืบหน้าของการแก้ปัญหานี้อย่างหนึ่ง

"เราได้ผลลัพธ์ที่ดีมากเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้แล้ว" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชากล่าว

 
 
ไทย-กัมพูชาเห็นพ้องเลี่ยงกองทัพทั้งสองฝ่ายปะทะกัน
 
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีต่างประเทศ เปิดเผยหลังการหารือระหว่างนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี กับนายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งพบหารือกันนอกรอบระหว่างการประชุมเอเชียยุโรป ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อเที่ยงวันที่ 24 ตุลาคมว่า ไทยและกัมพูชาเห็นพ้องตรงกันว่าจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้กองทัพของทั้งสองประเทศใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกัน ขณะที่นายฮอร์ นัมฮง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา กล่าวว่า บรรยากาศการหารือของผู้นำทั้งสองดำเนินไปด้วยดีมาก ๆ  และไม่เพียงแต่จะคลี่คลายความขัดแย้งได้แล้ว ยังจะช่วยปรับปรุงความสัมพันธ์และความร่วมมือให้มากขึ้นด้วย

การพบหารือแบบเผชิญหน้าระหว่างผู้นำไทยกับกัมพูชาครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ทหารของทั้งสองฝ่ายเกิดปะทะกันบริเวณรอบปราสาทพระวิหารเมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา
 
 
มทภ.2ตกลงข้อเสนอด้วยดีกับมทภ.4เขมร
 
วันเดียวกัน ในการประชุมอาร์บีซี ระหว่าง พล.ท.วิบูลย์ศักดิ์ หนีพาล แม่ทัพภาคที่ 2 หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย กับ พล.ต.เจีย มอน แม่ทัพภาค 4 หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายกัมพูชา เพื่อแก้ปัญหาการสู้รบและปัญหาอื่นๆ ระหว่างทั้งสองฝ่ายที่เมืองเสียมราฐเสร็จสิ้นลงด้วยดี ถ้อยแถลงของฝ่ายไทยระบุว่า บรรลุวัตถุประสงค์ในการเจรจาครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างกองกำลังของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดน นอกเหนือจากการหารือถึงความร่วมมือกันด้านอื่นๆ อาทิ การปราบปรามการค้ายาเสพติดอีกด้วย

พล.ท.วิบูลย์ศักดิ์กล่าวว่า บรรยากาศการหารือเป็นไปอย่างฉันมิตร แต่ถึงตอนนี้ทางฝ่ายไทยยังคงยืนยันที่จะคงกำลังทหารไว้เนื่องจากเป็นที่ชัดเจนว่ากองกำลังทั้งหมดอยู่ในเขตแดนของไทย

ในขณะที่ พล.ต.เจีย มอน กล่าวหลังการหารือว่า ทั้งไทยและกัมพูชา ตกลงกันที่จะใช้ความอดทนอดกลั้นถึงที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าหรือการปะทะกันด้วยอาวุธ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะหารือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี เพื่อค่อยๆ ผ่อนคลายความตึงเครียดตามแนวชายแดนลง

รอยเตอร์ระบุว่า ในวันเดียวกันนี้ กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ได้ส่งสารถึงกระทรวงการต่างประเทศของไทย เรียกร้องให้ฝ่ายไทยยึดมั่นดำเนินการตามความตกลงชายแดนระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายที่มีอยู่แล้ว ซึ่งรวมถึงความตกลงที่เป็นที่ชัดเจนแล้วเกี่ยวกับเขตแดนบางส่วน และกรอบการปักปันเขตแดนระหว่างกันในส่วนที่เหลือ

"กัมพูชายังคงยึดมั่นพันธะส่วนตนอย่างเต็มที่ว่าจะไม่รุกล้ำดินแดนของไทยแม้แต่นิ้วเดียว และจะยินดีอย่างยิ่งหากไทยตอบสนองด้วยการยึดมั่นในพันธะเดียวกันนี้" ส่วนหนึ่งของจดหมายดังกล่าวระบุ
 
"สมชาย"โทรจากปักกิ่งแจ้งข้อยุติให้ "อนุพงษ์"รู้

พล.ท.วิบูลย์ศักดิ์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งที่ จ.นครราชสีมา ว่าผลการหารือประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ทั้งสองฝ่ายยอมรับและปรับความเข้าใจพร้อมทำความตกลงร่วมกัน จะไม่ให้เกิดการปะทะหรือการเผชิญหน้าอีก ต่างฝ่ายจะอยู่ในดินแดนของตนโดยไม่มีการปลดอาวุธหรือเสริมกำลังเพิ่มเติมอีก และทั้งสองประเทศได้กำหนดตัวผู้บังคับหน่วยทุกพื้นที่เพื่อประสานงานกันอย่างชัดเจน
 

"ภายหลังการหารือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ได้โทรศัพท์จากกรุงปักกิ่ง มาร่วมแสดงความยินดีที่ตกลงกันได้ และได้สรุปผลการเจรจาและข้อตกลงต่างๆ รายงานให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. รับทราบแล้วเช่นกัน" พล.ท.วิบูลย์ศักดิ์กล่าว 
 
"ชัย"เรียกประชุมชายแดนเขมร 28ตค.วาระเร่งด่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า นายพิฑูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ออกหนังสือด่วนมาก ที่ สผ 0014/ร 8 ถึงสมาชิกรัฐสภา (ส.ส.-ส.ว.) เพื่อนัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา เนื่องด้วยนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา มีคำสั่งให้นัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) ในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ เวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา ซึ่งในระเบียบวาระการประชุม มีวาระเร่งด่วนที่ต้องพิจารณาจำนวน 3 เรื่อง คือ 1.กรอบการเจรจาข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนบริเวณเขาพระวิหาร ที่ ครม.เป็นผู้เสนอ 2.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 71,543 คน เป็นผู้เสนอ และ 3.กรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา ตลอดแนวในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา และกลไกอื่นๆ ภายใต้กรอบนี้ที่ ครม.เป็นผู้เสนอ

ทั้งนี้ การประชุมร่วมรัฐสภาดังกล่าว ถือว่าเป็นวาระการประชุมที่ค้างมาจากการแถลงนโยบายรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่ได้เกิดเหตุการณ์การสลายการชุมนุม จนต้องสั่งปิดการประชุมทันทีภายหลังจากแถลงนโยบายเสร็จ ส่งผลให้มีวาระการประชุมค้างอยู่

 
 
"สมชาย"มั่นใจใช้เวทีอาเซมกู้ภาพลักษณ์ไทย

สำนักข่าวของจีน รายงานเมื่อวันที่ 24 ต.ค. ตามเวลาในท้องถิ่นว่า  นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีของไทย   ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมสุดยอดเอเชีย-ยุโรป (Asia and Europe Meeting : ASEM) ครั้งที่ 7 ที่กรุงปักกิ่ง โดยระบุว่า ประเทศไทยจะใช้เวทีดังกล่าวฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศ ที่ได้รับความเสียหายจากผลของความวุ่นวายทางการเมืองในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา  พร้อมย้ำว่า การประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดี ที่จะทำให้นานาชาติกลับมามีความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยอีกครั้ง

สื่อจีน   ระบุโดยอ้างคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีของไทยต่อว่า   ตัวเขาได้เตรียมประเด็นสำคัญๆ หลายประเด็น ไปหารือกับประเทศสมาชิก ASEM โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตการเงินโลก ในฐานะที่ประเทศไทย เคยได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีประสบการณ์ในการผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจมาก่อน เมื่อช่วงปี 1997  โดยจะใช้โอกาสนี้ ในการแสดงให้ประเทศอื่นๆ ได้เห็นว่า ประเทศไทยมีความพร้อมในการรับมือวิกฤตครั้งใหม่นี้อย่างไร
 
รายงานข่าวระบุต่อว่า เมื่อนายสมชายถูกถามถึง ปัญหาความสัมพันธ์กับกัมพูชา  นั้นก็ได้รับการยืนยันว่า การเจรจาทวิภาคี หรือการเจรจา 2 ฝ่าย (bilateral talks) ระหว่างไทยและกัมพูชา ถือเป็นวิถีทางที่ดีที่สุด ที่จะยุติความขัดแย้งเรื่องพรมแดนระหว่างทั้ง 2 ประเทศได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง และไม่จำเป็นต้องนำเรื่องนี้ไปให้ประชาคมระหว่างประเทศใดๆ เป็นผู้ตัดสิน

" ไม่มีประเทศอื่นใดในโลกใบนี้ที่จะมาเข้าใจในรายละเอียดของปัญหาในครั้งนี้ดีไปกว่าไทยและกัมพูชา " นายกรัฐมนตรีของไทยกล่าว
 
 
 
นายกฯเล็งถก "ฮุนเซน" 24 ต.ค.

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ภริยา และคณะ ประกอบด้วยนายชูศักดิ์ ศิรินิล เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ส.ส.เชียงใหม่ ออกเดินทาง เมื่อเวลา 10.40 น. วันที่ 23 ตุลาคม ด้วยเครื่องบินของสายการบินไทย เที่ยวบินที่ ทีจี 614 จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) ครั้งที่ 7

นายสมชาย กล่าวก่อนออกเดินทางว่า มีกำหนดหารือทวิภาคีกับผู้นำอย่างน้อย 6 ประเทศ รวมถึงสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาด้วย โดยวาระสำคัญที่จะหารือกับสมเด็จฯฮุน เซน คือการยืนยันในหลักการทั่วไปว่าไทยและกัมพูชาเป็นประเทศใกล้ชิดกัน อย่างไรก็แยกจากกันไม่ได้ ดังนั้น จะต้องมีความสัมพันธ์และมิตรภาพที่ดีต่อกัน ถ้าเกิดปัญหาจะร่วมกันแก้ไขด้วยสันติ ต้องเจรจา พูดคุย และหารือร่วมกัน โดยไม่กระทบกระทั่งกัน และต้องทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยโดยเร็วที่สุด

"นายกฯ กัมพูชาเห็นด้วยว่าจะมีการพูดคุยระดับทวิภาคี จะไม่ยกขึ้นไปในเวทีอื่น เพราะเป็นเรื่องที่เราจะตกลงกันเอง" นายสมชาย กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภารกิจสำคัญของนายสมชายในวันนี้ (23 ตุลาคม) คือการร่วมรับประทานอาหารค่ำกับผู้นำอาเซียน โดยมีนายเวิน เจีย เป่า นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเจ้าภาพ ส่วนในช่วงเช้าของวันที่ 24 ตุลาคม นายกฯจะร่วมหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างรับประทานอาหารเช้ากับผู้นำอาเซียน บวก 3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ที่มหาศาลาประชาชน ก่อนร่วมหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีจีน ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย จากนั้นเวลา 14.00 น. นายสมชายจะหารือทวิภาคีกับประธานคณะกรรมมาธิการสหภาพยุโรป และเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมอาเซมในเวลา 16.00 น.

ทหาร 2 ฝ่ายถก "เสียมราฐ" วันแรก

ผู้สื่อข่าว จ.ศรีสะเกษ รายงานว่า วันนี้เป็นวันแรกของการประชุมร่วมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคไทย-กัมพูชา (อาร์บีซี) ระหว่างนายทหารระดับสูงของไทยกับกัมพูชา ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 23-24 ตุลาคมนี้ โดยฝ่ายไทยมี พล.ท.วิบูลย์ศักดิ์ หนีพาล แม่ทัพภาคที่ 2 ส่วนเขมร พล.ท.เจีย มอน ผู้บัญชาการภูมิภาคทหารที่ 4 ทำหน้าที่เป็นประธานร่วมกัน และแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มปัญหาด้านความมั่นคง และกลุ่มปัญหาด้านเศรษฐกิจ เพื่อทบทวนผลความร่วมมือทวิภาคีจากการประชุมอาร์บีซี ครั้งที่ 10 และเตรียมประเด็นเพื่อที่จะหารือกันอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 24 ตุลาคม สำหรับประเด็นหลักที่จะหยิบยกขึ้นหารือ คือปัญหาความมั่นคงตามบริเวณแนวชายแดน โดยเฉพาะด้านปราสาทพระวิหาร ภายหลังเกิดการปะทะกันของทหาร 2 ฝ่ายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งความร่วมมือตามแนวชายแดนของ 2 ประเทศ

สำหรับบรรยากาศตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ระหว่างการเจรจา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด้านเขาพระวิหาร ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ ทหารไทยกับทหารกัมพูชายังคงตรึงกำลังกันอยู่ตามปกติ และเฝ้าติดตามข่าวการประชุมอย่างใกล้ชิด

"เตีย บัน" ตีกอล์ฟร่วมทหารไทย

วันเดียวกัน สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานถึงการจัดเจรจาของคณะนายทหารระดับสูงของไทยและกัมพูชา เพื่อคลี่คลายปัญหาพิพาทตามแนวชายแดนระหว่างสองประเทศ ที่จังหวัดเสียมราบ เมืองท่องเที่ยวที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศกัมพูชา โดยโปรยหัวข่าวว่า "กอล์ฟการทูตเพื่อคลี่คลายปัญหาพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา" ซึ่งเอเอฟพีระบุว่า พล.อ.เตีย บัน รัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชา ได้ร่วมออกรอบตีกอล์ฟกับคณะเจ้าหน้าที่ทหารไทย ก่อนที่เจรจาเพื่อแก้ปัญหาพิพาทเหนือพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกัน

เอเอฟพีระบุว่า พล.อ.เตีย บัน ได้เดินทางมายังจังหวัดเสียมเรียบตั้งแต่ช่วงเช้า เพื่อออกรอบตีกอล์ฟกับคณะเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายไทยที่เดินทางมาร่วมการเจรจาแก้ปัญหาพิพาทดังกล่าว ซึ่งรัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชาได้กล่าวกับเอเอฟพีว่า "การถกหารือในวันนี้ได้แก้ไขปัญหาต่างๆ มากมาย ซึ่งการประชุมในวันพรุ่งนี้ (24 ต.ค.) จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้ชัดแจ้งมากกว่า เพราะเราจะหารือกันแนวทางต่างๆ ในการทำให้สถานการณ์ดีขึ้น"
 
ปรับลดทหารพื้นที่พิพาท

ข่าวระบุว่า การเจรจาระหว่างคณะเจ้าหน้าที่ทหารไทยและกัมพูชาในวันเดียวกันนี้เป็นการหารือกันของเจ้าหน้าที่ในระดับกลาง เพื่อปูทางสู่การเจรจาของผู้บัญชาการระดับสูงทางทหารของไทยและกัมพูชาที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 ตุลาคม ต่อไป ซึ่ง พล.อ.เนียง พาท รัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหมกัมพูชา กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าคิดว่าผู้บัญชาการทหารของทั้งสองฝ่ายจะสามารถบรรลุความตกลงในการปรับลดกำลังทหารบริเวณพื้นที่ทับซ้อนที่เป็นปัญหาพิพาทระหว่างกันได้

"เรายังจะคุยกันถึงการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างกันและการปรับลดกำลังทหารในพื้นที่พิพาทกันต่อไป" พล.อ.เนียง พาท กล่าว

ผู้ว่าฯ ชายแดนร่วมถกแก้การค้า

เอเอฟพีระบุอีกว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ยังมีกำหนดพบปะเจรจากันนอกรอบการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 24 ตุลาคมด้วย นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน ยังมีการจัดประชุมผู้ว่าราชการจังหวัด 4 จังหวัดของไทยและกัมพูชาที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาพิพาทตามแนวชายระหว่างกัน ที่จังหวัดเสียมราฐ เพื่อหารือถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือแก่คนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการเผชิญหน้ากันของทหารทั้งสองฝ่าย

นายสุ พิริน ผู้ว่าการจังหวัดเสียมเรียบ กล่าวว่า การประชุมหารือของผู้ว่าราชการจังหวัดของทั้งสองประเทศมุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือในทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงการค้าและการท่องเที่ยว เราต้องการให้ประชาชนในทั้งสองประเทศเชื่อว่าไม่มีความขัดแย้งรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น

ไทยทำบังเกอร์หลบภัยให้ครู-น.ร.

ขณะเดียวกันที่โรงเรียนภูมิซรอลวิทยา ต.เสาธงชัย คณะครูและนักเรียนซึ่งเป็นนักศึกษาวิชาทหาร ประมาณ 200 คน ร่วมกันจัดทำบังเกอร์หลบภัยชั่วคราวขึ้น โดยใช้เลื่อยยนต์ตัดต้นยูคาลิปตัสขนาดใหญ่มาทำเป็นโครงสร้างบังเกอร์ พร้อมทั้งช่วยกันกรอกดินใส่กระสอบปุ๋ยนำไปวางซ้อนกัน เพื่อป้องกันกระสุนปืนใหญ่และลูกระเบิด

ส่วนที่วัดเก่าภูมิซรอล ต.เสาธงชัย ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้ทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ยังมีทหารไทยเฝ้ารักษาความปลอดภัยให้กับพระในวัด ที่มีอยู่ทั้งสิ้น 6 รูป พระครูสุจิตธรรมาภิมณฑ์ เจ้าอาวาสวัดเก่าภูมิซรอล เผยว่า ขณะนี้แม้พระจะหวาดภัยสงคราม แต่พระทุกรูปยังยืนยันว่าจะไม่หนีไปจากวัดอย่างเด็ดขาด หากทหารเขมรบุกเข้ามาก็จะยอมตายคาหลุมหลบภัย

มทภ.1 ยันสัมพันธ์ในพื้นที่ราบรื่น

พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปหารือสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เกี่ยวกับปัญหาชายแดนไทยกัมพูชา ในการประชุมอาเซม ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนว่า ในระดับประเทศตนไม่ทราบ แต่ระดับพื้นที่ของกองทัพภาคที่ 1 ในแนวชายแดนกองกำลังบูรพา เรียบร้อยดีเพราะเรามีความสัมพันธ์อันดีต่อกันทั้งทางทหารการค้าสังคม

"ผมก็หวังอยากจะให้ปัญหามันยุติ แต่การเจรจาจะออกมาในรูปแบบไหนผมไม่ทราบ อย่างไรก็ตาม ในการประชุมอาร์บีซีของกองทัพภาคที่ 1 ครั้งต่อไปน่าจะเป็นไปในทางที่สร้างสรรค์" แม่ทัพภาคที่ 1 กล่าว

ปชป.จี้ "สมชาย" ยันคุยทวิภาคี

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผ้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีควรใช้โอกาสเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย–ยุโรป (อาเซม) ที่อาจจะได้หารือกับสมเด็จนฮุน เซน ยืนยันว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะต้องแก้ด้วยการเจรจาแบบทวิภาคี ภายใต้กรอบความตกลงและบันทึกความเข้าใจระหว่าง 2 ประเทศ ไม่จำเป็นต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่ ลุกลามไปในเวทีนานาชาติ เพราะในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน เรามีความร่วมมือที่ดีอยู่แล้ว หากสามารถเจรจากันได้ ก็จะเป็นโอกาสดี ที่จะพัฒนาร่วมกันต่อไป

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์