วิเคราะห์!! แถลงการณ์ทักษิณอ้างตัวแทน ปชต.โจมตีคำตัดสินคุก 2 ปี ไร้เหตุผลหรือถูกบิดเบือน


การที่ พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งรู้บทบัญญติในเรื่องนี้เป็นอย่างดี นอกจากจะไม่ห้ามปรามมิให้ภริยาซึ่งร่ำรวยมหาศาลซื้อที่ดินจากหน่วยงานของรัฐซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่งแล้ว กลับสนับสนุนด้วยการลงนามยินยอมในเอกสาร เท่ากับจงใจฝ่าฝืนและกระทำผิดกฎหมายป้องกันการทุจริตอย่างชัดแจ้ง

ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเลือกที่จะแจกแถลงการณ์เป็นภาษาอังกฤษให้แก่สื่อมวลชนต่างประเทศในกรุงลอนดอนแทนที่จะแจกแถลงการณ์ผ่านสื่อมวลชนไทยเหมือนที่ผ่านมา

เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการฟ้องและโจมตีกระบวนการยุติธรรมไทยต่อชาวโลกโดยเฉพาะศาลยุติธรรมว่า ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับตนเอง หลังจากถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 2 ปี ในคดีจัดซื้อที่ดิน ถนนรัชดาภิเษกจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน มูลค่า 772 ล้านบาท เนื่องจากกระทำผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100(1) และ 122 ซึ่งห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดีซึ่งข้อห้ามดังกล่าวให้รวมถึงคู่สมรสของเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย

แถลงการณ์ดังกล่าวของ พ.ต.ท.ทักษิณมีอยู่ 3-4 ประเด็นซึ่งจะขอวิเคราะห์เปรียบเทียบและโต้แย้งเป็นข้อๆดังนี้

หนึ่ง  การถูกตัดสินโทษจำคุก 2 ปี ไม่ใช่เพราะข้อหาทุจริต เหตุผลเดียว แต่เป็นเพราะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

จากคำตัดสินดังกล่าวไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า มีการฉ้อฉล คอร์รัปชั่น หรือกระทั่งการใช้อำนาจในทางมิชอบที่เกี่ยวเนื่องกับประมูล ตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆในการประมูลและทำสัญญาซื้อขายที่ดินเลย ยกเว้นเมื่อต้องเซ็นชื่อยินยอมในเอกสาร
 
"เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่ศาลไม่ได้พบว่าการซื้อขายที่ดินของภรรยาผมมีอะไรที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำนอกกฎหมาย เขาไม่ได้ตัดสินว่า เธอมีความผิด เพราะเธอไม่ใช่นักการเมือง แต่ผมเป็น"

"สิ่งที่ผมจะสามารถทำความเข้าใจได้ดีที่สุดก็คือ ผมถูกตัดสินว่า มีความผิดจริงอย่างง่ายๆ เพียงเพราะผมเป็นนักการเมืองคนหนึ่งเท่านั้นเอง ผมผิดเพราะผมเป็นนักการเมืองที่ประสบความสำเร็จ ผมได้รับเลือกตั้งขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีถึงสองสมัยเพราะเสียงส่วนใหญ่จากประชาชน"

"ผม ..รู้สึกนึกขัน ปนขมขื่นกับคำตัดสินที่ไร้เหตุผล และรู้สึกกังวลแทนนักการเมืองในประเทศไทยว่า พวกเขาสามารถเดินเข้าคุกไปได้ง่ายๆเพียงเพราะภรรยาที่โชคร้ายของพวกเขาพยายามทำตามกฎหมาย "

ข้อวิเคราะห์:พ.ต.ท.ทักษิณ พยายามที่จะบอกว่า ถูกตัดสินจำคุกอย่างไม่เป็นธรรม  ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการซื้อขายที่ดิน นอกจากนั้นไม่มีการฉ้อฉลหรือคอร์รัปชั่นในการซื้อขายที่ดินดังกล่าว  คำตัดสินดังกล่าวจึงไร้เหตุผล

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯมีวัตถุประสงค์ทั้งใน"ป้องกัน"และ"ปราบปราม"การทุจริต ซึ่งเนื้อหาของกฎหมายในส่วนของการ"ป้องกันการทุจริต"  เช่น  การกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน  ห้ามกระทำที่ขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม  การห้ามการกระทำที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ต่อผลประโยชน์ส่วนตัว

มาตรา 100 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เป็นบทบัญญัติห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐที่ตนมีอำนาจกำกับดุแลอยู่ รวมถึงการห้ามเข้าไปเป็นหุ้นส่วน กรรมการ ที่ปรึกษา กรรมการผู้มีอำนาจจัดการ พนักงานในบริษัทที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐในลักษณะเดียวกัน ก็เพื่อป้องกันการมีส่วนได้ส่วนเสีย การใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ต่อผลประโยชน์ส่วนตัว

พูดง่ายๆก็คือ ป้องกันเพื่อมิให้มีการทุจริตเกิดขึ้นนั่นเอง

พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2542 และมีการประกาศห้ามคณะรัฐมนตรีกระทำการดังกล่าวตั้งแต่ปี 2543 ในสมัยรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย ก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนกุมภาพันธ์ 2544

ดังนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ย่อมรู้กติกาหรือบทบัญญัติใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้นแล้ว หลักการเรื่องการห้ามการมีส่วนได้ส่วนเสียของเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกบัญญัติในลักษณะดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนเรื่องการทำคำสั่งทางปกครอง ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539   รวมทั้งกฎหมายของประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศรวมทั้งประเทศอังกฤษด้วย ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณร่ำเรียนมาถึง"ดอกเตอร์" ทางด้านอาชญวิทยา พูดไทยคำ อังกฤษคำน่าจะรู้ดี

การที่ พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งรู้บทบัญญติในเรื่องนี้เป็นอย่างดี นอกจากจะไม่ห้ามปรามมิให้ภริยาซึ่งร่ำรวยมหาศาลซื้อที่ดินจากหน่วยงานของรัฐซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่งแล้ว กลับสนับสนุนด้วยการลงนามยินยอมในเอกสาร เท่ากับจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับ เป็นการกระทำผิดกฎหมายป้องกันการทุจริตอย่างชัดแจ้ง

ดังนั้น การที่ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ 2 ปี จึงสมเหตุสมผลเป็นอย่างยิ่ง

"จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมาย ไว้วางใจให้บริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการและประชาชน แต่จำเลยที่ 1 กลับฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย ทั้งที่จำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้ารัฐบาล ต้องกระทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ประพฤติตนในสิ่งที่ดีงามตามจริยธรรมของนักการเมืองให้เหมาะสมกับที่ได้รับความไว้วางใจในตำแหน่งหน้าที่อันสำคัญยิ่งนี้ จึงไม่สมควรรอการลงโทษ"

สอง นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีถูกขับพ้นจากตำแหน่ง เพียงเพราะว่าเขาทำรายการโทรทัศน์
 
"ผมไม่ทราบว่าควรจะหัวเราะหรือร้องไห้ดีกับทิศทางที่ประเทศไทยกำลังมุ่งไป ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยถูกขับพ้นจากตำแหน่ง เพียงเพราะว่า เขาทำรายการโทรทัศน์"

ข้อวิเคราะห์: เห็นชัดว่า เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างไร้ยางอาย เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 267 มีบทบัญญัติห้ามมิให้รัฐมนตรีดำรงตำแหน่งใดๆในบริษัทธุรกิจเอกชนหรตือองค์กรที่แสวงหากำไรรวมถึงการเป็นลูกจ้างของบริษัทเอกชนและบุคคลใดๆซึ่งมีเจตารมณ์ในลักษณะเดียวกับ มาตรา 100 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมฯูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

นายสมัครเองก็ทราบบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าวดี แต่ยังจงใจฝ่าฝืน ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบการจ้างจาก"รับจ้างแรงงาน"บริษัทเฟซ มีเดียมาเป็น"รับจ้างทำของ"

การที่นายสมัครต้องพ้นจากตำแหน่ง จึงมิใช่เพราะทำรายการโทรทัศน์ตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ บิดเบือน เพราะถ้าเช่นนั้นจริง นายสมัครควรจะถูกขับพ้นจากตำแหน่งเพราะดันทุรังจัดรายการ"สนทนาประสาสมัคร"ทุกวันอทิตย์มากกว่า

สาม ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับผม ล้วนแต่เป็นการกระทำที่เกิดจากแรงขับเคลื่อนทางการเมือง ซึ่งเป็นการสมคบกันของ บรรดาชนชั้นสูงที่มีอภิสิทธิ์ทั้งหลาย ผู้เชื่อในทุกสิ่งอย่าง ยกเว้นประชาธิปไตย ผมเป็นภัยคุกคามต่อพวกเขา เพียงเพราะผมเป็นตัวแทนของหลักการแห่งระบอบเสรีประชาธิปไตย ซึ่งส่งเสริมความหวังและความภาคภูมิใจของคนยากคนจนในประเทศของผม

ข้อวิเคราะห์: ในข้อนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเด็นย่อย

ประเด็นแรก เรื่องการสมคบกันของบรรดาชนชั้นอภิสิทธิ์ แม้พ.ต.ท.ทักษิณมิได้ระบุว่า เป็นผู้ใดหรือกลุ่มใดอย่างชัดเจน แต่มีความพยายามโยงว่า มีอำนาจเหนือกระบวนการยุติธรรมรวมถึงศาลด้วย?

ถ้าศาลตกอยู่ภายใต้อำนาจของชนชั้นอภิสิทธิ์จริง แต่ทำไม พ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงใช้ศาลเป็นเครื่องมือต่อสู้ศัตรูทางการเมืองของตนในคดีหมิ่นประมาท โดยเฉพาะคดีที่มีผู้กล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ทุ่มเงินล้มสถาบันชั้นสูง
 
ประเด็นที่สอง  พ.ต.ท.ทักษิณอ้างตัวเป็นตัวแทนของหลักการแห่งระบอบเสรีประชาธิปไตย นับเป็นข้ออ้างที่น่าหัวเราะปนสมเพชเป็นอย่างยิ่ง เพราะในช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เรืองอำนาจนั้น  มีการใช้ทั้งอำนาจทุนและอำนาจรัฐในการแทรกแซงและซื้อสื่อไว้ในกำมือ เช่น  บริษัทในเครือชินวัตร ตัดโฆษณาสื่อที่เปิดโปงการกระทำมิชอบของ พ.ต.ท.ทักษิณและรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ  สมุน พ.ต.ท.ทักษิณเที่ยวไล่เช็คบิลสื่อที่พยายามขุดคุ้ยการทุจริตในรัฐบาลทักษิณ

นอกจากนั้นลักษณะธุรกิจของครอบครัวชินวัตร ยังเป็นการผูกขาดตัดตอนจนสร้างความร่ำรวยมหาศาลให้แก่ตนเอง  รวมถึงมีการใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจของตนเองและพวกพ้องยังไม่รวมถึงมีการทุจริตเลือกตั้งอย่างมโหฬาร
อย่างนี้หรือที่เรียกว่า เป็นตัวแทนของหลักการแห่งระบอบเสรีประชาธิปไตย

สี่  โจมตีสื่อมวลชนไทย "ผมเชื่อว่า พวกคุณจะตรวจสอบข้อเท็จจริง(เกี่ยวกับการตัดสินคดีนี้)ที่เหลืออย่างอิสระเยี่ยงผู้สื่อข่าวมืออาชีพปฏิบัติกัน แต่น่าเสียดายที่เพื่อนร่วมอาชีพของคุณส่วนใหญ่ในประเทศไทยปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น "

ข้อวิเคราะห์: การที่สื่อมวลชนส่วนใหญ่ไม่ทำตามคำบิดเบือนของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเพราะเห็นว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาชอบแล้ว

ขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณควรถามตัวเองและสมุนว่า ขณะที่สื่อไทยพยายามขุดคุ้ยการทุจริตในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ใครกันแน่ที่พยายามขัดขวางและปิดกั้นการทำงานของนักข่าวไทย

บทวิเคราะห์นี้ไม่มีบทสรุปใดๆทั้งสิ้น เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า คนอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่กล้าเผชิญหน้ากลับความจริง นอกจากการบิดเบือนข้อเท็จจริงเหมือนกับที่ทำมาตลอดในช่วงเรืองอำนาจ

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์