กทม.ค้านตั้ง´สุวรรณภูมิ´เผยไม่เคยเรียกถกตั้งเมืองใหม่

กรุงเทพธุรกิจ

21 มิถุนายน 2549 18:53 น.
กทม. เรียกฝ่ายสำนักผังเมืองถกหลังรู้ข่าวครม.อนุมัติหลักการตั้งสุวรรณภูมิมหานคร เผยเคยทำหนังสือค้านแต่ไร้คำตอบ เผยรัฐไม่เคยเชิญเข้าร่วมถกจัดตั้งเมืองใหม่สุวรรณภูมิ

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายพิชัย ไชยพจน์พานิช รองปลัดกทม. ได้เรียกรองผู้อำนวยการสำนักผังเมือง เข้าหารือหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ตัดพื้นที่เขตลาดกระบัง และประเวศ ของกทม. ไปรวมกับ อ.บางพลี และกิ่ง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ไปจัดตั้งเป็นจังหวัดที่ 77 วานนี้

โดยกล่าวว่าเรื่องนี้ กทม. ไม่เห็นด้วย และคัดค้านกับแนวคิดดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น โดยตั้งแต่มีการเสนอแนวคิดจัดตั้งนครสุวรรณภูมิกทม. ก็ได้ทำหนังสือคัดค้านพร้อมชี้แจงเหตุผลลงนาม โดยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯกทม. เพื่อรายงานให้ นายโภคิน พลกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในสมัยนั้นรับทราบ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2548 แต่ทางมหาดไทยก็ไม่ได้มีหนังสือหรือชี้แจงเหตุผลตอบกลับมายังกทม.แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เมื่อ ครม.อนุมัติเห็นชอบในหลักการให้จัดตั้งนครสุวรรณภูมิเรียบร้อยแล้ว กทม.ก็คงจะทำอะไรไม่ได้ และคงไม่ส่งหนังสือไปสอบถามหรือคัดค้านอีก เพราะเรื่องดังกล่าวถือเป็นกระบวนการของรัฐบาล รวมทั้ง นายอภิรักษ์ เองก็คงจะพูดอะไรมากไม่ได้เพราะจะกลายเป็นประเด็นทางการเมืองได้

นายพิชัย กล่าวว่า เหตุผลหลักที่กทม. ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งเมืองใหม่ คือ ปัญหาการระบายน้ำ เนื่องจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่รับน้ำ และเป็นทางระบายน้ำจากพื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพฯ ก่อนที่จะไหลลงสู่อ่าวไทย

แต่การสร้างนครสุวรรณภูมิเป็นการสร้างเมืองขวางทางระบายน้ำทำให้เมื่อถึงฤดูน้ำหลากจะทำให้พื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่ติดกับเขตลาดกระบัง และประเวศ เกิดปัญหาน้ำท่วมขังหนักขึ้นกว่าเดิม

รวมทั้งกทม.เห็นว่าไม่จำเป็นต้องสร้างเมืองใหม่ เพราะกทม.ได้วางผังเมืองรวมกรุงเทพฯ โดยกำหนดพื้นที่ฝั่งตะวันออกที่ติดกับสนามบินสุวรรณภูมิ ได้แก่เขตลาดกระบัง ประเวศ หนองจอก มีนบุรี และ คลองสามวา ได้กำหนดแผนพัฒนาเป็นศูนย์ชุมชนใหม่เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของสนามบินสุวรรณภูมิอยู่แล้ว

โดยเฉพาะศูนย์ชุมชนที่เขตลาดกระบัง กทม.ได้ร่วมมือกับ JICA ประเทศญี่ปุ่นในการออกแบบเมืองใหม่ ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่จำเป็นต้องทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อพัฒนาพื้นที่เหล่านี้เป็นเมืองใหม่อีก

แม้กทม. จะไม่ส่งหนังสือคัดค้านเพิ่มเติม แต่ก็ยังไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวอยู่ดี และที่ผ่านมาก็ได้พยายามชี้แจงเหตุผลและข้อมูลทั้งผลดี และผลเสียให้กับประชาชนและหน่วยงานราชการอื่นๆ ให้เข้าใจกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแล้ว "

จากนี้ไปก็คงจะบอกได้แต่ว่ากทม. มีแผนการพัฒนาพื้นที่เขตฝั่งตะวันออกอยู่แล้ว และ ทุ่มงบประมาณไปจำนวนมาก มีโครงการพัฒนาเมืองใหม่หลายแห่ง โครงข่ายถนน และการระบายน้ำ

แต่หากสุดท้ายร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวผ่านการอนุมัติและ ประกาศบังคับใช้ขึ้นมาจริง กทม. ก็คงจะต้องทบทวนโครงการดังกล่าวใหม่ทั้งหมด เพราะไม่รู้ว่าเมื่อนำไปรวมเป็นจังหวัดที่ 77 แล้ว รัฐบาลยังจะสานต่อโครงการเหล่านี้ของกทม.หรือไม่

อย่างไรก็ตาม คาดว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จะต้องผ่านกระบวนการอีกมากทั้งกฤษฎีกา สภาผู้แทนฯ และครม.ชุดใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก1-2 ปี กว่าจะสามารถประกาศและบังคับใช้

นายพิชัย กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดที่ระบุในร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวกำหนดให้พื้นที่เขตลาดกระบัง และประเวศ มีสถานะเป็นเทศบาลนคร ขณะที่อยู่กับกทม. มีสถานะเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นส่วนพิเศษนั้น คงไม่ถือว่ามีสถานะต่ำลง

เพราะแต่ละจังหวัดก็มีความสำคัญเท่ากัน เพียงแต่ระบบการปกครองจะแตกต่างออกไป คือเทศบาลนครจะมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ขณะที่กทม. ไม่มีระบบดังกล่าวแล้วเท่านั้น

ทั้งนี้เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2548 กทม. โดยสำนักผังเมือง (สผม.) ได้จัดเวทีแสดงความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ เกี่ยวกับการจัดตั้งนครสุวรรณภูมิ ที่สถานบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

พร้อมทั้งได้แจกแบบสอบถามความคิดเห็น โดยผลการสำรวจคิดเห็นพบว่ามีผู้ไม่เห็นด้วยที่จะแบ่ง 2 เขตของ กทม.ออกไป มากถึง 56.65% และเห็นด้วย 43.35% ส่วนประเด็นคำถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ควรมีการปกครองรูปแบบพิเศษภายใต้การกำกับดูแลของ จ.สมุทรปราการ โดยไม่ต้องรวมพื้นที่ของกทม. พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 50.19% เห็นด้วย และ 49.81% ไม่เห็นด้วย

แหล่งข่าวจากสำนักผังเมือง กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมอบหมายให้หน่วยงานรัฐ 3 หน่วยงาน ดำเนินการศึกษาเรื่องการจัดตั้งสุวรรณภูมิมหานคร โดยให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยดูแลเรื่องเขตการปกครองพิเศษ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย วางรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ดูแลการบริหารจัดการสนามบิน

ซึ่งหน่วยงานทั้งหมดมีการจัดประชุมร่วมกันหลายครั้ง แต่ไม่เคยแจ้งให้กทม. ทราบหรือเชิญเข้าร่วมประชุมแต่อย่างใด ขณะที่ต้นปีที่ผ่านมากรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ทำประชาพิจารณ์แบบเงียบๆ ด้วยการเปิดเว็บไซต์สอบถามความคิดเห็นประชาชน ซึ่งผลการประชาพิจารณ์มีประชาชนเห็นด้วย 60%

แต่การจัดทำประชาพิจารณ์ด้วยวิธีดังกล่าวไม่ได้เจาะจงสอบถามคนในพื้นที่ อีกทั้งผลที่ได้อาจไม่มีความเที่ยงตรงมากกว่าการลงไปในพื้นที่ มีเพียง กทม.เท่านั้นพยายามจัดประชุมระดมความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ที่ลาดกระบัง

แต่การรับฟังประชาพิจารณ์ครั้งนั้นกทม.กลับเจอม็อบจัดตั้ง ซึ่ง กทม.ไม่คิดว่าจะการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างเป็นธรรมจะต้องเจอกับการเล่นการเมือง


แหล่งข่าว กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเร็วๆ นี้กรมโยธาธิการและผังเมือง กำลังจะออกกฎควบคุมการก่อสร้างรอบสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งขณะนี้เมื่อมีการเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวอาจเป็นการปลุกระดมให้มีการเก็งกำไรที่ดิน เพราะประชาชนต่างก็หวังว่าหากพัฒนาเป็นเมืองใหม่จะทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้น

แต่ในอนาคตก็อาจมีแนวโน้มว่าราคาที่ดินทั้งหมดจะตกลงก็ได้ เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่รับน้ำ และมีสภาพดินทรุด หากต้องการพัฒนาจะต้องทำการถมที่ดินอย่างต่อเนื่อง

สำหรับพื้นที่ที่จะต้องถูกแบ่งไปจัดตั้งเป็นสุวรรณภูมิมหานคร ประกอบด้วย เขตลาดกระบัง และประเวศ มีเนื้อที่ 176.349 ตารางกิโลเมตร มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 267,576 คน

ส่วนพื้นที่ อ.บางพลี และกิ่ง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ มีเนื้อที่ 345.44 ตารางกิโลเมตร จำนวนประชากรทั้งสิ้น 194,481 คน ทั้งนี้คิดเป็นเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 521.789 ตารางกิโลเมตร จำนวนประชากรรวม 462,057 คน

ทั้งนี้ในส่วนของเขตลาดกระบัง และประเวศ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกทม.นั้น หากถูกแบ่งไปจัดตั้งเป็นสุวรรณภูมิจะทำให้กทม. เสียรายได้จากการเก็บภาษีทุกประเภทไปประมาณปีละ 200-300 ล้านบาท

และหากในอนาคตเมื่อสนามบินสุวรรณภูมิเปิดใช้บริการ กทม. มีการคาดการณ์ไว้ว่าจะมีการพัฒนาเมืองทั้งในด้านธุรกิจ และ ที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น โดยกทม. อาจจะเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นเป็นหลัก 1,000 ล้านบาท

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์