ทหาร-การเมือง เส้นขนานที่ไม่ควรบรรจบ

undefined

เสียงเรียกร้องให้ทหารยืนเคียงข้างประชาชน จากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นเสียงที่ดังสนั่นในโสตประสาทของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

มาตั้งแต่เขาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก
เพราะเขาไม่ใช่  พล.อ.สพรั่ง  กัลยาณมิตร ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นของพันธมิตรฯ
แต่หากเขาเป็นนายทหาร  ตท.10  เพื่อนร่วมรุ่นของ  พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร จึงมีความไม่ไว้วางใจ และคลางแคลงใจมาตลอดว่า ที่จริงแล้วเขาอยู่ฝ่ายไหนกันแน่
เป็นหนึ่งในแขนขาของระบอบทักษิณหรือไม่?
มีเสียงเรียกร้องมาตลอดระยะเวลาที่   พล.อ.อนุพงษ์   เผ่าจินดา   ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ให้แสดงจุดยืนทางการเมือง   ว่ายืนอยู่ข้างไหนและทำเพื่อใคร
มีความชัดเจนครั้งสำคัญในตัวนายทหารผู้นี้อย่างน้อย 2 ครั้งด้วยกัน
ครั้งแรกคือ การแถลงข่าวเมื่อวันที่  2  กันยายน  หลังการปะทะกันระหว่างพันธมิตรฯ กับ นปช.ที่ถนนราชดำเนิน จุดยืน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในเวลานั้นคือ
"ความขัดแย้งทางการเมืองต้องแก้ไขทางการเมือง   ต้องผ่านกลไกทางกฎหมายและกฎที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด"
ขณะนั้นอยู่ในยุครัฐบาลนายสมัคร  สุนทรเวช ซึ่ง ผบ.ทบ.ผู้นี้ฝากแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในชาติไปยังรัฐบาลว่า
"กลไกที่จะดำเนินการได้ต้องเป็นกลไกทางรัฐสภา หรือกลไกพรรคการเมือง"
การให้ความเห็นด้วยมาดนุ่มนอกแข็งใน ณ วันนั้น  หลายคนคิดไปว่าเขามีความเหมาะสมน่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ พันธมิตรฯ เองก็แสดงความชื่นชมในระดับหนึ่ง
ต่อมาครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม หลังเหตุการณ์ 7 ตุลาเลือด ผ่านพ้นไปได้ 3 วัน
เป็นการเรียกร้องให้  รัฐบาลสมชาย  วงศ์สวัสดิ์ รับผิดชอบกับคำสั่งปราบปรามประชาชน จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
"ผมไม่ได้กดดันว่ารัฐบาลผิดหรือไม่ผิด  แต่รัฐบาลต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทำลงไป ต้องไปหาว่ารัฐบาลสั่งแล้วเป็นอย่างไร แล้วก็พิจารณากันเองว่าจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร"
สิ่งที่  พล.อ.อนุพงษ์  เผ่าจินดา  แถลงนั้น กลั่นออกมาจากใจ หรือเป็นเพราะภาวะการเมืองบีบคั้นให้ต้องแสดงจุดยืนก็ตามแต่
แต่มีสิ่งหนึ่งปรากฏขึ้นมาคือ  ทหารถูกขีดวงให้ยืนในพื้นที่จำกัด ไม่เหมือนภาพที่เราเห็น และรับรู้ได้จากพฤติกรรมของบรรดานายพลในอดีตอีกต่อไป
นั่นคือแสดงออกด้วยการส่งสัญญาณไปยังฝ่ายการเมือง ว่าสิ่งที่ควรทำคืออะไร
ทหารควรแสดงจุดยืนทางการเมืองหรือไม่  และจำเป็นหรือไม่ที่ต้องประกาศตัวว่าอยู่ข้างไหน สิ่งเหล่านี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รู้ดี
แต่การก้าวข้ามไปไกลกว่านั้น   คือการยึดอำนาจ  รัฐประหาร  เป็นสิ่งที่ต้องไตร่ตรองและรอบคอบยิ่งกว่า
พล.อ.อนุพงษ์  เผ่าจินดา รู้ดีว่าการนำกองทัพเข้ามาสู่การเมืองด้วยการปฏิวัติ รัฐประหาร เป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะเมื่อได้อำนาจมาก็ไม่รู้ว่าตัวเองมีศักยภาพพอที่จะรักษาอำนาจนั้นไว้ได้หรือไม่
สิ่งที่เกิดขึ้นกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ  (คมช.)  เตือนสติกองทัพว่า พวกเขาไม่มีศักยภาพพอที่จะจัด "การเมือง" ได้อีกต่อไป แม้จะมี "ผู้สนับสนุน" ที่มากไปด้วยบารมีก็ตาม
บทบาทที่ทหารทำได้ดีที่สุดคือ เฝ้ามองการเมืองและแสดงท่าทีไปตามสถานการณ์ โดยไม่เข้าไปคลุกคลีมากเกินไปจนถอนตัวไม่ขึ้น
แต่เสียงเรียกร้องที่ยั่วยวน จะทำให้ทหารอดใจไหวหรือไม่ ?
76  ปีแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่ากองทัพมีบทบาทสำคัญตลอดมา
และล้วนเป็นปฏิปักษ์กับคำว่า "ประชาธิปไตย"
เหตุการณ์นับแต่ พ.ศ.ก่อนกึ่งพุทธกาล  จนมาถึง  14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 เรื่อยมาถึงพฤษภาทมิฬ ปี  2535 และ 19 กันยายน 2549 เกิดขึ้นเพราะทหารมีความเชื่อว่า กองทัพสามารถขจัดปัญหาการเมืองให้ประเทศได้
ต่างจากเหตุการณ์  7 ตุลาคม ที่ทหารไม่เชื่อมั่นในตัวเองอีกต่อไป ว่าจะเข้าไปจัดการปัญหาการเมืองได้อย่างไร  เพราะการเมืองมีพัฒนาการไปไกล  เกินที่ทหารซึ่งมีกรอบความคิดเพียงยึดอำนาจเพื่อรักษาอำนาจนั้นเอาไว้ให้ได้จะตามทัน
แต่การเมืองที่พัฒนาไปไกลที่ว่า หาใช่การเมืองในภาค "นักการเมือง" ไม่
หากเป็น "การเมืองภาคประชาชน" ต่างหาก
ที่ทหารกลัว  มิใช่พวกเขาไม่รู้วิธีที่จะจัดการอำนาจที่ได้จากนักการเมือง แต่เขากลัวและไม่รู้วิธีรักษาอำนาจที่เขาได้จากประชาชน  ไม่รู้  "วิธีการจัดสรรอำนาจ" ในรูปแบบที่กองทัพไม่คุ้นเคยมาก่อนต่างหาก
เพราะประชาชนได้แสดงให้เห็นแล้วว่า แม้  "ระบอบทักษิณ"  ที่มีอำนาจล้นฟ้า มีเงินมหาศาล ยังต้องดิ้นรนต่อสู้กับอำนาจประชาชน และยังต้องต่อสู้กันต่อไป
นี่คือที่มาของคำว่า ทำไมทหารไม่กล้ารัฐประหาร?
แม้มีเสียงเรียกร้องให้ทหารทำการรัฐประหาร  เพื่อเปิดช่องไปสู่การจัดการกับอำนาจรูปแบบใหม่ คือการยึดอำนาจ "นักการเมือง" เพื่อประชาชน
ยกระดับการรัฐประหารให้เป็นการ "ปฏิวัติ"
แต่  พล.อ.อนุพงษ์  เผ่าจินดา  ไม่กล้าทำเช่นนั้น  ไม่กล้าที่จะยกระดับการรัฐประหารให้เป็นการปฏิวัติการเมืองการปกครอง  หรือใครจะเรียกว่าปฏิรูปการเมือง  หรือการเมืองใหม่ก็ตาม เพราะความล้มเหลวของ คมช.ยังคงตามหลอกหลอน 
อีกทั้งไม่แน่ใจว่า อำนาจที่จะได้มีหลังรัฐประหารนั้น  สามารถนำมาใช้เพื่อประชาชนได้จริงหรือไม่ เพราะหากมีการทำรัฐประหารขึ้น  "ผู้สนับสนุน"  อาจไม่ปล่อยให้  พล.อ.อนุพงษ์   เผ่าจินดา ใช้อำนาจตามลำพัง
ในอีกทางหนึ่ง  การเมืองภาคประชาชนเทียมที่มีนักการเมืองชักใยอยู่เบื้องหลัง เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถคาดเดาได้เช่นกัน   ดูจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ที่เมืองทองธานี  ความใหญ่โตมโหฬารที่เห็นเทียมๆ จะคงอยู่ได้นานแค่ไหนไม่มีใครรู้
เมื่อทหารมีความกลัว  แล้วไยประชาชนถึงต้องเรียกร้องให้ทหารเป็นอัศวินขี่ม้าขาว มาเป็นปฏิปักษ์กับนักการเมืองเพื่อประชาชนด้วยเล่า
หากประชาชนคิดว่า   เพราะทหารมีปืนอยู่ในมือ   และเป็นปืนที่มีศักยภาพสูงกว่าตำรวจภายใต้การบงการของนักการเมือง นั่นถือเป็นความคิดที่ผิดมหันต์
จุดเริ่มต้นของการสร้างการเมืองใหม่  หรือการปฏิรูปการเมือง ถือว่ามีความสำคัญมากพอๆ กับการเล็งผลเลิศว่า จะประสบความสำเร็จพาประเทศก้าวสู่มิติใหม่
ดังนั้น ย่างก้าวแรกของประชาชนต้องเดินด้วยตัวเอง และตลอดเส้นทางไม่ควรมีกองทัพเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะตัวละครหลัก
ไม่เช่นนั้นก็เท่ากับว่า   เราถอยไปยอมรับอำนาจทหาร   เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 และสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
เมื่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ส่งสัญญาณว่าทหารจะอยู่ในกรม กอง อยู่ในกรอบกฎหมาย เท่านั้นก็ถือเป็นบุญของประเทศ ที่เรามีทหารอาชีพ และขอให้ท่านยึดมั่นในหลักการนี้ตลอดไป
การถอยออกมาเป็นเพียงคนดูของทหารนั้น   จึงน่าจะเป็นผลดีกับการต่อสู้ของประชาชน  และการเดินหน้าไปสู่การปฏิรูปการเมืองมากกว่า
เมื่อยักษ์ถูกจับและหลับอยู่ในตะเกียงแล้ว ทำไมเราต้องขัดตะเกียงให้ยักษ์ออกมาอาละวาดด้วยเล่า
ไม่มีใครตอบได้ว่า เมื่อไรที่คนเรียกยักษ์ออกมาอ่อนแอ จะถูกมันจับกินเหมือนในอดีตหรือไม่
การเปลี่ยนแปลงประเทศโดยประชาชน ถ้าสำเร็จจะมีความศักดิ์สิทธิ์และยืนยาว
อย่าให้มีรอยด่างและต้องแก้ไขเหมือนที่กำลังเผชิญอยู่อีกเลย!.


ขอบคุณข้อมูลข่าวดีๆจาก

ThaiPost.net : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด 

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์