สมชายงดเยือน5ประเทศอาเซียน เมินเสียงเรียกร้องยุบสภา-ลาออก บอกเลือกทางออกเหมาะสมที่สุด

"สมชาย" เมินเสียงเรียกร้องยุบสภา-ลาออก บอกเพียงจะเลือกทางออกเหมาะสมที่สุด เร่งทาบ ปธ.สอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ 7 ตุลาฯ ชท.เผย "พรทิพย์" ตอบรับแล้ว พธม.เชียร์ "คณิต" เหมาะสมกว่า ปชป.ร้อง ป.ป.ช.เอาผิดนายกฯ-ผบ.ตร.และพวก เตือน ปธ.วุฒิฯอาจตกเป็นเครื่องมือ หากเข้าถก 4 ฝ่าย คิดคุ้ยองค์ประชุมจับผิดแถลงนโยบาย อสส.ยื่นศาล รธน.ขอให้สั่งยุบ พปช.แล้ว

"สมชาย" ยังไม่เลือกทางออกแก้ปัญหา

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการทาบทามบุคคลเข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม โดยจะพยายามเฟ้นหาคนที่เป็นกลาง และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ไม่ใช่คนของรัฐบาล ขณะนี้กำลังพยายามอยู่ แต่จะไม่ขอเปิดเผยรายชื่อในวันนี้ เพราะคนที่ถูกทาบทามอาจตอบรับหรือไม่ตอบรับก็ได้ เดี๋ยวจะเกิดการลักลั่นกัน สำหรับกรรมการทั้งหมดจะใช้กี่คนนั้น ขึ้นอยู่กับตัวประธาน ให้เลือกเอาตามความเหมาะสม รัฐบาลจะไม่ก้าวก่าย ส่วนคณะกรรมการเยียวยาไม่น่าจะมีปัญหา อาจจะให้รองนายกฯคนใดคนหนึ่งเป็นประธาน 
นายกฯกล่าวถึงเสียงเรียกร้องให้ยุบสภาหรือลาออกว่า ก็รับฟังทุกอย่าง เพราะบ้านเมืองเป็นของทุกคน "แต่ผมจะเลือกทางออกที่เหมาะสมที่สุด" นายสมชายกล่าว

นายกฯห่วงสถานการณ์ ยกเลิกเยือน5ประเทศอาเซียน

นายบุญทรง เตยาภิรมย์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคพลังประชาชน ในฐานะเลขานุการส่วนตัว นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  กล่าวเมื่อวันที่ 10 ต.ค. ว่า ถึง สาเหตุที่นายกรัฐมนตรียกเลิกกำหนดการเดินทางเยือน 5 ประเทศสมาชิกอาเซียน ในสัปดาห์หน้าว่า  นายกฯ เป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ที่ยังไม่เรียบร้อย  แต่ยืนยันไม่เสียกำลังใจ  โดยระบุว่า เมื่อมีปัญหา ก็ต้องแก้ไขต่อไป

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้  นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และกัมพูชา ในวันที่ 12 -13 ต.ค. จากนั้นจะเดินทางเยือนสหภาพพม่า ในวันที่ 15 ต.ค.   ต่อด้วยเดินทางเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการในวันที่ 17 ตุลาคม  และวันที่ 22 ตุลาคม เดินทางเยือนอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ

ยกร่างคำสั่ง-อำนาจหน้าที่รอไว้แล้ว

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) อยู่ระหว่างเตรียมการยกร่างคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี 2 ฉบับ ตามบัญชาของนายสมชาย คำสั่งแรกคือ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภาในวันที่ 7 ตุลาคม สำหรับสาระสำคัญมี 3 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ 1 องค์ประกอบคณะกรรมการ
ส่วนที่ 2 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ อาทิ
1.ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐเข้าควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความเรียบร้อย และสลายการชุมนุมบริเวณหน้าอาคารรัฐสภาว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ดำเนินการโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าดำเนินการไม่ถูกต้อง ต้องมีผู้รับผิดชอบหรือไม่อย่างไร
2.เรียกข้าราชการตำรวจ พลเรือน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริง
3.เรียกเอกสาร ภาพถ่าย เทปโทรทัศน์ได้
4.รับฟังข้อมูลจากประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ สื่อมวลชน และนักวิชาการ เพื่อทำรายงานเสนอต่อรัฐบาล ฯลฯ
ส่วนที่ 3 กรอบเวลาในการทำงาน ซึ่งสามารถขยายเวลาได้ตามความจำเป็น
คำสั่งที่ 2 คือ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ ทันทีที่ได้ตัวประธานกรรมการอิสระ นายสมชายสามารถอาศัยอำนาจตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ลงนามในคำสั่งทั้ง 2 ฉบับได้ทันที หรืออาจนำขอความเห็นชอบของ ครม. ก่อนก็ได้

รมต.ย้ำแทนไม่ "ยุบ-ออก"-บริหารต่อ

นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คาดว่าจะสามารถแต่งตั้งในเร็วๆ นี้ ส่วนที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การชี้แจงของฝ่ายตำรวจบิดเบือนความจริง ไม่ตรงกับการตรวจสอบของแพทย์ว่าผู้เสียชีวิตถูกวัตถุระเบิดนั้น ไม่ขอแสดงความเห็น ควรจะรอฟังการสอบสวนของคณะกรรมการกลางที่จะถือเป็นผลที่เป็นมาตรฐาน เชื่อถือได้มากกว่าฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียออกมาพูด

"ไม่เป็นห่วงว่าจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล และขอยืนยันว่ารัฐบาลได้ดำเนินการตามกรอบของกฎหมายซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ยืนยันว่าจะเดินหน้าบริหารประเทศต่อไป จะไม่ลาออกและไม่ยุบสภา อีกทั้งจะดำเนินการภารกิจสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาให้กลไกของบ้านเมืองกลับมาสู่ปกติ" นายสุขุมพงศ์กล่าว

ชท.เผย"พรทิพย์"ตอบรับปธ.สอบแล้ว

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า รัฐบาลต้องการแสดงความรับผิดชอบ และทำให้เห็นว่าพร้อมสะสางสิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด โดยเชิญคนกลางที่เป็นที่ยอมรับมาเป็นคณะกรรมการ ซึ่งในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้เสนอชื่อ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่ง ครม.ทุกคนก็เห็นด้วย และทราบว่าเจ้าตัวได้ตอบรับข้อเสนอแล้ว ส่วนคณะกรรมการที่เหลือจะเป็นนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิด ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสภาพร่างกาย และจะไม่มีฝ่ายการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ขอร้องว่าขณะนี้อย่าเพิ่งวิจารณ์ และขอให้รอดูโฉมหน้าของคณะกรรมการก่อน

"ที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการขึ้นมาก็เพราะต้องการให้สังคมได้รับทราบข้อเท็จจริง ไม่มีใครเจตนาจะปกปิด การได้ พญ.คุณหญิงพรทิพย์มาร่วม ก็น่าจะเป็นความเชื่อมั่นอย่างหนึ่งแล้ว" นายสมศักดิ์กล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่า หากผลสรุปออกมา คนผิดคือนายกฯ จะสามารถลงโทษได้หรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า กฎหมายมีอยู่แล้ว

พันธมิตรหนุน"คณิต ณ นคร"ปธ.

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา คนที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการนั้น จะต้องเป็นคนที่ไม่ใช่คนของรัฐบาล เพราะจะเป็นการเข้าข้างฝ่ายรัฐบาลและตำรวจทำให้การสอบสวนผิดเพี้ยนไป และทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรมกับผู้ที่เสียหาย 

"นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ก็คิดแล้วคิดอีก เพราะท่านเป็นคนที่รู้จักกับผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมาก ท่านก็เห็นว่า นายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด ก็เป็นผู้ที่เหมาะสมในการมาเป็นประธานคณะกรรมการ เพราะท่านเป็นนักกฎหมาย ซึ่งผมเห็นด้วยที่นายคณิตจะมาเป็นประธาน ระยะเวลาในการสอบสวนนั้นไม่ควรจะนานมากเกินไป" พล.ต.จำลองกล่าว

พล.ต.จำลองกล่าวว่า หากไม่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ก็คงจะได้เจรจากับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เราเองไม่ได้ปิดการเจรจาก็จริง แต่ก็จะยากมาก เพราะการเจรจาคือความปรองดอง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการประหัตประหารกัน ดังนั้น "การเจรจาจึงยากยิ่งขึ้น ถึงแม้จะยากแต่ก็ยังไม่ปิดประตูตายเลยทีเดียว ถือว่าการเจรจาก็เป็นเรื่องที่ดี แต่หวังผลยากกว่าเก่า เราก็เห็นว่ามีช่องทางที่ทำให้มันดีขึ้นได้ แต่ถึงตอนนี้ลำบาก" พล.ต.จำลองกล่าว

กก.สอบชุดกสม.สรุปผลใน1-2วันนี้

ขณะที่นายสุรสีห์ โกศลนาวิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ประชุมร่วมกับ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ นพ.วิรัติ พาณิชย์พงษ์ ส.ว. อดีตหัวหน้าภาควิชานิติเวศศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมอัยการ และผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เพื่อข้อเท็จจริงประเด็นที่สังคมเคลือบแคลงใจจากเหตุสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา
จากนั้น นายสุรสีห์แถลงว่า คณะอนุกรรมการชุดนี้จะเร่งสืบค้นข้อเท็จจริง คาดว่า 1-2 วัน จะสรุปได้ว่าเหตุสลายการชุมนุมมีการใช้วัตถุระเบิดในที่เกิดเหตุหรือไม่ หรือเป็นการใช้แก๊สน้ำตาเพียงอย่างเดียว
พญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าวว่า ขอย้ำว่ากรณีที่ผู้เชี่ยวชาญหรือใครออกมาบอกว่าแก๊สน้ำตาไม่สามารถทำให้ใครขาแขนขาดนั้นจะถูกต้อง หากเป็นการใช้แก๊สน้ำตาที่ได้มาตรฐานมีคุณภาพ และใช้ถูกวิธี

พญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าวว่า ได้รับแจ้งจาก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ว่าจะสนับสนุนการสืบหาข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่ เพราะเมื่อประชาชนคลางแคลงใจ ก็ต้องร่วมมือกันทำให้กระจ่าง
นอกจากนี้ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ยังนำทีมไปตรวจสอบเก็บพยานหลักฐานจากพื้นที่เกิดเหตุทุกจุด ทั้งที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่หน้ารัฐสภา และพื้นที่ใกล้เคียงเมื่อเวลา 13.00 น. ด้วย โดยทำงานร่วมกับนิติเวชของตำรวจ ส่วนอีกทีมไปเก็บข้อมูลการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บตามโรงพยาบาลต่างๆ

"ชัย"ยันเหตุไม่ย้าย-รัฐสภามีไว้ประชุม

นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงเหตุที่ไม่เลื่อนหรือเปลี่ยนสถานที่ประชุมรัฐสภา เพื่อให้รัฐบาลแถลงนโยบายเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา จนเกิดเหตุการสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภาเพื่อเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมว่า ไม่สามารถเลื่อนการแถลงนโยบายออกไปได้เนื่องจากไม่ทราบว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะมา หากจะเลื่อนก็แจ้งสมาชิกรัฐสภาไม่ทัน อีกทั้งกฎหมายกำหนดว่าเมื่อตั้งรัฐบาลแล้วจะต้องแถลงนโยบายภายใน 15 วัน ครบกำหนดวันที่ 9 ตุลาคม หากไม่ทำฝ่ายนิติบัญญัติก็จะผิด จึงจำเป็นต้องทำตามรัฐธรรมนูญ 

"คนแก่นอนตั้งแต่หัวค่ำหลับไม่รู้เรื่อง และเหตุที่ไม่ยอมเปลี่ยนสถานที่ เพราะรัฐสภามีไว้สำหรับประชุมสภา ไม่ใช่ไปประชุมตามโรงเตี๊ยม ส.ส.ก็มีหน้าที่มาประชุมที่สภา เราจะไปหลบหนีเหมือนรัฐบาลไม่ได้ สภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถ้าประชาชนจะฆ่าจะแกงเราก็ตายในสภาเราไม่ไปที่อื่น" นายชัยกล่าว

เลื่อนประชุมสภาล่างจนกว่าคลี่คลาย

นายชัยกล่าวถึงข้อเสนอของประธานวุฒิสภาที่จะให้บุคคลที่เป็นที่ยอมรับของสังคม 3 คน ได้แก่ นพ.ประเวศ  นายคณิต และ พล.ต.อ.วสิษฐ์ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ (รอง อ.ตร.) มาร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบเหตุการณ์ 7 ตุลาคม ว่าขณะนี้รัฐบาลได้มีมติ ครม.ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร และคณะกรรมการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบแล้ว ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติควรปล่อยให้ฝ่ายบริหารเป็นคนทำเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ถ้าเรียบร้อยแล้วฝ่ายนิติบัญญัติจึงจะเข้าไปร่วมสังฆกรรม

ประธานสภาผู้แทนราษฎรกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมกับคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่จะนัดประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม เพื่อผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อเปิดทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร. 3 ขึ้นมา
"ที่หารือนั้นจะทันต่อสถานการณ์หรือไม่นั้นผมไม่ทราบแล้วแต่ลม ฟ้า อากาศจะอำนวย ไม่รู้ล่วงหน้าแต่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีวาระค้างอยู่นั้นคงต้องเลื่อนออกไปก่อนจนกว่าเหตุการณ์จะปกติ เพราะขณะนี้เกิดความแตกแยกค่อนข้างมาก" นายชัยกล่าว

ชท.ชี้ตั้งส.ส.ร.3เป็นทางออกดีที่สุด

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า วันนี้ไม่มีสิ่งใดบอกเหตุว่ารัฐบาลต้องลาออก หรือยุบสภา หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทุกอย่างยังเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย และคิดว่าการปฏิรูปการเมืองด้วยการแก้ไขมาตรา 291 เป็นทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้ โดยกำหนดไปเลยว่าจะใช้เวลา 120 วัน หรือ 180 วัน
"ผมไม่คิดว่าการลาออกหรือยุบสภา ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญฉบับเดิมจะแก้ไขปัญหาได้ เพราะพรรคไหนจะได้รับการเลือกตั้งเข้ามา ก็เป็นที่รู้ๆ กันอยู่ และกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยก็คงไม่ยอมยุติการชุมนุม" นายสมศักดิ์กล่าว

รองปธ.สภาหนุนตั้งรบ.แห่งชาติ

พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร แสดงความคิดเห็นถึงข้อเสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติของ นพ.ประเวศ วะสี ว่า เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเสนอเรื่องนี้ให้มีรัฐบาลแห่งชาติ โดยไม่ให้พรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชาชน (พปช.) เป็นนายกฯ แต่ควรมีบุคคลที่เป็น ส.ส.มาเป็นนายกฯ ได้เสนอขึ้นระหว่างการหารือกับฝ่ายรัฐสภาเพื่อหาทางออกในการแก้ไขวิกฤตก่อนที่นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี จะถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ซึ่งที่ประชุมก็เห็นด้วยแต่ไม่มีการผลักดันให้เป็นรูปธรรม โดยหากจะผลักดันให้มีรัฐบาลแห่งชาติและมีคนจากภายนอกก็ไม่สามารถทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่เปิดช่อง จะยกเว้นรัฐธรรมนูญบางมาตราก็ไม่ได้ ต้องแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อให้เปิดทางก่อน

"สถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้มีกระแสทั้งรักและเกลียดพรรคพลังประชาชนมากจนสร้างความแตกแยกไปทั่ว ถ้าไม่รีบแก้ไขก็จะเกิดสงครามชนชั้นและเกิดสงครามประชาชนได้" พ.อ.อภิวันท์กล่าว

"อภิสิทธิ์" ติงปธ.วุฒิฯอาจตกเป็นเครื่องมือ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คิดว่าควรให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการเรื่องนี้ เพราะคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้น มองไม่เห็นว่ามีหลักประกันความน่าเชื่อ 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวกรณีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ยืนยันจะเข้าร่วมประชุม 4 ฝ่ายต่อไปว่า อาจจะตกเป็นเครื่องมือเพื่อให้รับรองบางสิ่งบางอย่าง เหตุผลที่พรรคไม่เข้าร่วมก็เพราะไม่เห็นประโยชน์ว่าการประชุมในขณะนี้จะเป็นทางออก 

"ผมอยากเตือนไปถึงประธานวุฒิสภาว่าต้องระวัง เพราะเหตุการณ์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าที่เชิญผมและประธานวุฒิเข้าไปเพื่อต้องการให้รับรองบางอย่าง ผมจะไม่ยอมเป็นเครื่องมือให้กับคนที่ทำร้ายประชาชน และอยากถามว่าวันนี้ ส.ส.ร.เกี่ยวข้องอะไรกับการที่จะคลี่คลายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มันไม่ได้เกี่ยวข้องกัน มิหนำซ้ำรัฐบาลก็พูดแล้วว่าไม่สนใจที่จะให้มีฝ่ายค้านร่วม ทำกันเองก็ได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้หลักการสำคัญของการทำ ส.ส.ร.คือทุกฝ่ายมีส่วนร่วมเพื่อนำไปสู่ปฏิรูปการเมือง แต่วันนี้สถานการณ์เฉพาะหน้าหลังวันที่ 7 การปฏิรูปการเมืองไม่ได้เกี่ยวโยงกับปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นแล้ว แต่กำลังนำเรื่องนี้มาบิดเบือนประเด็นว่าเป็นปัญหาที่สังคมไทยต้องสะสาง" นายอภิสิทธิ์กล่าว

เล็งฟ้องอังกฤษหาก "แม้ว" นำไปอ้าง

ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อาจใช้เหตุการณ์ 7 ตุลาคมยื่นเป็นเหตุผลเพิ่มเติม ขอลี้ภัยในอังกฤษ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้ามีการอ้างเรื่องนี้จริง ก็จะเรียกร้องให้รัฐบาลต้องดำเนินการต่อสู้ โดยในส่วนของตนและองค์กรอื่นๆ ก็คิดว่าน่าจะฟ้องประเทศอังกฤษว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พ.ต.ท.ทักษิณ มีส่วนเกี่ยวข้อง

"ถ้าประเทศอังกฤษยังเก็บคนคนนี้ไว้ในขณะที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ฆ่าคนไทยก็จะกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างรุนแรง รวมทั้งประชาชนทั้งสองประเทศ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณถูกสงสัยอยู่แล้วว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หรือไม่ หากมีการเอาเรื่องนี้ไปอ้างผมก็ต้องบอกว่านึกไม่ถึงว่าจะทำกับประเทศแบบนี้ ผมก็บอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณอยู่ในข่ายต้องสงสัยอยู่แล้ว และอยากถามว่ารัฐรู้เห็นเป็นใจในเรื่องนี้หรือไม่ สมคบกันอยู่หรือไม่" นายอภิสิทธิ์กล่าว

ร้องป.ป.ช.เอาผิดนายกฯผบ.ตร.-พวก

ทางด้าน นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เข้ายื่นหนังสือต่อนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. ผ่านทางนายชูศักดิ์ ปริปุญโญ ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ไต่สวนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น. และ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. กับพวก ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จากกรณีที่สั่งการตำรวจใช้อาวุธสงครามเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งบริเวณหน้ารัฐสภา ลานพระบรมรูปทรงม้า และกองบัญชาการตำรวจนครบาล ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

"การสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ถือว่าทำเกินกว่าเหตุ นายสมชายและพวกจึงถือว่าอยู่ในฐานะตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ถือเป็นความผิดต่อหน้าที่โดยชัดเจน จึงอยากให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง และส่งสำนวนไปให้ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดำเนินการต่อไป จึงขอให้ ป.ป.ช.เร่งพิสูจน์ความผิดของนายกฯโดยด่วน ซึ่งการดำเนินการของ ป.ป.ช.มีอิสระ และเป็นกลางมากกว่าการที่รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด ที่น่าจะตั้งขึ้นมาเพื่อฟอกความผิดให้ตัวเอง" โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

โวยคิดแผนให้ม็อบปิดประตูตีแมวอีก

นายวิทยา บูรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่า ได้รับทราบมาว่ากลุ่มพันธมิตร จะพยายามขัดขวางการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติอีกครั้งในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ตาม ภายในวัน 13 ตุลาคมนี้ จะประสานไปยังพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคให้มีการประชุมร่วมกันเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไป

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พปช. กล่าวว่า ทราบมาว่าการประชุมสภาที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จะไม่เข้าร่วมประชุมสภาอีกครั้ง โดยไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชน นอกจากนี้ยังจะเป็นการสร้างความยั่วยุให้กลุ่มพันธมิตรออกมาปิดล้อมรัฐสภาด้วย ดังนั้นขอฝากไปยังพรรคประชาธิปัตย์ว่าอย่าเล่นเอาพรรคพวกมาปิดประตูตีแมวแบบเดิมอีก ถ้าเก่งจริงต้องเข้ามาอยู่ด้วยกัน สำหรับคนที่จะมาทำหน้าที่คณะกรรมการตรวจสอบสอบสวนหาข้อเท็จจริงเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรนั้น ควรที่จะมีภาพลักษณ์ที่เป็นกลางอย่าง พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่เป็นคนตรงไปตรงมา และนายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด ก็มีความเหมาะสม

พปช.ระดมทีมสู้สงครามสื่อกับพธม.

ส่วนที่อาคารไอเอฟซีที ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ สำนักงาน พปช. มีการประชุม ส.ส.พรรคเพื่อประเมินสถานการณ์การเมืองพร้อมวางยุทธศาสตร์ตอบโต้กลุ่มพันธมิตร มีนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรองหัวหน้าพรรค เป็นแกนนำในการประชุม โดยมีรัฐมนตรี ทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทีมโฆษกพรรค อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และแกนนำ ส.ส.จากกลุ่มต่างๆ ของพรรคเข้าร่วมกว่า 30 คน อาทิ นายสุพล ฟองงาม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ โฆษกประจำสำนักนายกฯ นายโภคิน พลกุล นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายวราเทพ รัตนากร ทั้งนี้ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ภริยานายกรัฐมนตรีไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย แต่นางเยาวภาได้ฝากนายยงยุทธมาบอกต่อที่ประชุมว่าพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการดำเนินการทุกอย่าง โดยใช้เวลาประชุมกว่า 2 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าจะต้องเปิดสงครามสื่อเพื่อต่อสู้กับกลุ่มพันธมิตร โดยประเมินว่าข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องใหญ่วันนี้มีการโฆษณาชวนเชื่อตกแต่งให้ยิ่งใหญ่โยงเป็นความผิดรัฐบาล แม้ว่าเวลานานไปข้อเท็จจริงจะกระจ่างและคนจะเข้าใจเองก็ตามแต่ถ้าปล่อยให้ข้อเท็จจริงเคลื่อนต่อไปตามธรรมชาติก็จะช้าเกินไป ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องต้องออกมาหาวิธีชี้แจงโดยเร็ว โดยเฉพาะทีมโฆษกรัฐบาลและ พปช. ส่วน ส.ส.ต้องเร่งลงพื้นที่ชี้แจงกับประชาชน และถ้าพื้นที่ใดประชาชนเรียกร้องให้เปิดเวทีแสดงความคิดเห็นก็ไม่ควรปิดกั้น โดยนายยงยุทธได้ประเมินสถานการณ์ว่าขณะนี้พันธมิตร มีความเข้มแข็งขณะที่ พปช.เริ่มอ่อนแอลง

ปลุกสร้างขวัญแนวร่วม-ดึงมวลชนสู้

ที่ประชุม พปช.เห็นตรงกันว่าการต่อสู้วันนี้เป็นสงคราม จึงจำเป็นต้องตั้งคณะบริหารในสถานการณ์พิเศษหรือวอร์รูมข่าวสารในการดำเนินการ นอกจากนี้ยังเสนอให้ตั้งทีมขับเคลื่อนทางการเมือง เนื่องจากแนวร่วม พปช.เริ่มจะมองว่า พปช.กำลังจะแพ้ ข้าราชการก็จะไม่ทำงานให้รัฐบาล มวลชนของพรรคก็จะเอาตัวออกห่าง ส.ส. ดังนั้น ต้องรีบเดินสายสร้างความเชื่อมั่นอย่างเร่งด่วน รวมไปถึงการสร้างความสามัคคีในพรรค ที่ควรจะมีการดำเนินการควบคู่ไปด้วย
ที่ผ่านมารัฐบาลตั้งรับมากเกินไป จากนี้ต้องมีการบริหารข้อมูลและงานข่าวกันบ้าง ซึ่งที่ประชุมยังมีความเห็นให้ประสานไปยัง ส.ส.ของพรรคให้เตรียมมวลชนเอาไว้เผื่อเกิดความจำเป็นบางอย่าง เนื่องจากที่ประชุมได้วิเคราะห์กันว่าเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคมเกิดความรุนแรงขึ้นเพราะไม่มีกลุ่ม นปช.เข้าไปยึดพื้นที่โดยรอบสภาเหมือนอย่างที่ผ่านมา ดังนั้น วันนี้กลุ่มเพื่อนเนวินต้องหันกลับมาร่วมต่อสู้กับกลุ่มอื่นๆ ในพรรค ส่วนปัญหาในพรรคเอาไว้ทีหลังต้องจับมือกันสู้กับศึกนอกก่อนŽ แหล่งข่าวกล่าว
รายงานข่าวยังแจ้งด้วยว่า นายยงยุทธและนางเยาวภาได้ประสานให้นายเนวิน ชิดชอบ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ได้กลับมาช่วย เตรียมมวลชนในการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว

อสส.ยื่นศาลรธน.ขอให้สั่งยุบพปช.แล้ว

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งนั้น นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ โฆษกอัยการสูงสุดหรือโฆษก อสส. แถลงที่ห้องประชุม 100 ปี สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลา 13.30 น. ว่า นายชัยเกษม นิติสิริ อสส. ลงนามในคำร้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้มีคำสั่งยุบ พปช. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 237 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 มาตรา 94 และ 95 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 11 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบ พปช. และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค รวม 37 คน มีกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรค หรือเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค  ที่เป็นผู้มีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลย หรือรับทราบการกระทำของผู้สมัคร มีผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม แล้วมิได้ยับยั้งหรือแก้ไข เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 237 โดยอัยการสูงสุดได้มอบหมายให้นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการคดีพิเศษและคณะ ไปยื่นคำร้องยุบ พปช.ต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้วเมื่อเวลา 14.00 น. วันเดียวกันนี้

ศาลรธน.ยังไม่มีคำสั่งคดีชท.-มฌ.

ทั้งนี้การยื่นเรื่องให้ศาล รธน.มีคำสั่งยุบ พปช. เป็นผลมาจากคำวินิจฉัยศาลฎีกาที่มีคำสั่งให้ใบแดง และให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีต ส.ส.ระบบสัดส่วนกลุ่ม 1 และรองหัวหน้า พปช. โดยอัยการจะใช้พยานหลักฐานในศาลฎีกาเป็นหลักในการสู้คดีเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ พปช.

ผู้สื่อข่าวถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งจะรับคำฟ้องหรือกำหนดวันไต่สวนคดียุบพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย (มฌ.) ที่ยื่นไปก่อนหน้านี้แล้วหรือไม่ นายธนพิชญ์กล่าวว่า ทั้ง 2 พรรค ศาลยังไม่มีคำสั่งรับฟ้อง และกฎหมายก็ไม่ได้กำหนดห้วงเวลาว่าศาลจะต้องเริ่มพิจารณาเมื่อใด ส่วนจะใช้เวลานานเท่าใดขึ้นอยู่กับศาลว่าจะกำหนดแนวทางการไต่สวนอย่างไร ทั้งนี้อัยการได้ศึกษาข้อมูลคดีไว้แล้ว จะมีนายเศกสรรค์ เป็นหัวหน้าคณะอัยการผู้รับผิดชอบในการไต่สวนคดี 

พปช.พร้อมตั้งทีมสู้คดี"ยุบพรรค"

นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และรองเลขาธิการ พปช. กล่าวว่า พรรคจะรอดูคำสั่งของ อสส.ที่จะยื่นต่อศาลเพื่อจะดูเนื้อหาสาระของคำฟ้อง จากนั้นทางพรรคจะแต่งตั้งคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อต่อสู้คดียุบพรรคโดยเฉพาะ โดยหัวหน้าพรรคจะเป็นผู้แต่งตั้ง เบื้องต้นจะมีตนและนายชูศักดิ์ ศิรินิล เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นหนึ่งคณะทำงานซึ่งดูแลรับผิดชอบการต่อสู้คดี ประกอบด้วยทนายความ ทั้งนี้จะดำเนินการทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญทันทีที่ได้รับคำฟ้องจากทางอัยการสูงสุดที่ได้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์