จับยามสามตานับถอยหลัง รัฐบาลสมชาย


การสั่งการให้สาดกระสุนแก๊สน้ำตาสลายการปิดล้อมอาคารรัฐสภาของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม เพื่อแลกกับการเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าไปร่วมพิธีกรรมประทับตราให้ "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" แถลงนโยบายเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มภาคภูมิ

ถือเป็นผลงานเลือดที่ทำให้ "รัฐบาลสมชาย" อยู่ในภาวะสั่นคลอน รอนับวันถอยหลังที่จะต้องทิ้งเก้าอี้

การตัดสินใจใช้อาคารรัฐสภาแถลงนโยบายจึงเป็นการบ่งชี้ภาวะผู้นำที่เดินเกมการเมืองระดับอนุบาล
เพราะถือเป็นการวางหมากที่ผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย

ภาพที่รัฐบาลใช้กำลังอาวุธเข้าประหัตประหารประชาชน ทั้งช่วงเช้า บ่าย จนถึงค่ำของวันที่ 7 ตุลาคมนั้น จึงทำให้ภาพลักษณ์ของ "สมชาย" ถูกตีกลับและจัดอยู่ในทำเนียบนายก ที่ใช้ช่วงฮันนีมูนพีเรียดเพียงไม่ถึง 1 เดือน ก็ต้องแปรสภาพจากคนที่สังคมเคยโอบอุ้มในฐานะสัญลักษณ์แห่งความสมานฉันท์กลายเป็น "เพชฌฆาตมาดนิ่ง" ภายในชั่วพริบตา

ปรากฏการณ์การต่อต้าน บอตคอต ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งที่เกิดขึ้นจากกัปตันการบินไทย แพทย์ พยาบาล นักวิชาการ ฯลฯ จึงส่งผลสะท้อนให้เห็นเด่นชัดว่า พฤติกรรมความรุนแรงอันอ้างว่าเป็นมาตรการสากลที่รัฐบาลปฏิบัติต่อมวลชนนั้นไม่มีใครเอาด้วย

เสียงก่นประณามและเรียกร้องหาความรับผิดชอบในฐานะ "รัฐบาลมือเปื้อนเลือด" จึงดังอึงมี่ทั่วทุกมุมเมือง

แต่แล้ว "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" กลับชี้แจงกับเหตุการณ์จลาจลเพียงว่า
"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม เป็นเรื่องที่ ส.ส.จะเข้าประชุมสภา แล้วมีคนจะบุกรุกเข้ามาจนเกิดความวุ่นวาย แต่ไม่ใช่ปฏิบัติรุนแรงหรือไม่รุนแรง ถ้าดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งจะไปยึดสภา ตำรวจก็ใช้แก๊สน้ำตา ซึ่งเป็นไปตามหลักสากลทั่วไปในการระงับเหตุจลาจล"

ถือเป็นน้ำคำของผู้นำประเทศต่อเหตุการณ์ความสูญเสียเลือดเนื้อที่ไม่มีแม้แต่ "ขอโทษ" หรือ "แสดงความเสียใจ" !!!

เมื่อ "รัฐบาลสมชาย" สะดุดขาตัวเองจนตกอยู่ในความเพลี่ยงพล้ำอย่างยากจะกู้คืน จึงเป็นแต้มต่อให้กระแสความชอบธรรมสะวิงเข้าทางพันธมิตรอย่างจัง

หยดเลือดและบาดแผลที่เกิดขึ้นใน "7 ตุลาฯ เลือด" ยิ่งทำให้ผู้คนที่ไม่นิยมความรุนแรงต้องลุกขึ้นมาทวงถามหาความเป็นธรรมและประกาศตัวร่วมกับกลุ่มพันธมิตรอย่างไม่ลังเล ทำให้พื้นที่ของพันธมิตรที่เคยมีผู้คนบางตา กลับมีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาชุมนุมคับคั่งหนาตา

แม้นายกฯสมชายจะแสดงความจริงใจ ด้วยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงและเยียวยาต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็ใช่ว่าคำตอบนี้จะสามารถสมานแผลที่เกิดขึ้นได้อย่างสนิทนัก

เพราะบทเรียนครั้งอดีตที่รัฐบาล "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" เคยตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี และกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ จ.นราธิวาส แต่แล้วผลสรุปก็ไร้เสียงสะท้อนจากคนที่ตั้งขึ้น

ท้ายสุด คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมานี้ อาจเป็นไปเพื่อ "ทดเวลาบาดเจ็บ" ของรัฐบาลเท่านั้น

หากวัดอุณหภูมิของสังคมวันนี้คงไม่มีใครให้โอกาสนายกฯ ที่มีภาพลักษณ์นุ่มนิ่ม แต่แฝงเร้นด้วยความอหังการอยู่ภายใต้หน้าฉากเปื้อนยิ้มได้

จึงไม่แปลกที่ประชาชนจะสะท้อนความนึกคิดต่อบทบาทนายกฯ ผ่านกรุงเทพโพลว่า "ยี้คนชื่อสมชาย"
โดยกว่าร้อยละ 46.5 แนะให้ยุบสภา!!!

สอดรับกับข้อเสนอของ 30 อธิการบดี นำโดย "สุรพล นิติไกรพจน์" ที่เสนอให้นายกฯใช้ดุลพินิจพิจารณานำความกราบบังคมทูลออก พ.ร.ฎ.ยุบสภา

นี่จึงถือเป็นการขีดเส้นให้ถอยเพื่อชาติ

นับจากวันนี้คงต้องจับยามสามตาดูอายุของรัฐบาลสมชาย ว่าจะอยู่ทานทนได้สักกี่น้ำ เพราะในห้วงยามที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเพิกถอนหมายจับ 9 แกนนำ ในข้อหากบฏ และสะสมกำลัง แต่ยังคงหมายจับในข้อหาสร้างความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนไว้นั้น น่าจะเป็นสัญญาณที่ทำให้มวลชนและแกนนำพันธมิตร ฮึกเหิมอยู่ไม่หยอก

ยิ่งเห็นบทบาทของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำพันธมิตรที่ถูกจับไปก่อนหน้านี้ ยอมให้ทนายความยื่นประกัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีทีท่าว่าตอบรับการประกันแม้แต่นิดเดียว ก็เริ่มเห็นแล้วว่า อายุของรัฐบาลสมชายคงสั้นลงเต็มที


ดูท่าว่า....
ศึกครั้งสุดท้ายที่ "สนธิ ลิ้มทองกุล" แกนนำพันธมิตรประกาศในช่วงเช้าวันที่ 9 ตุลาคม ว่า "สงครามครั้งสุดท้ายนี้เราจะแพ้ไม่ได้" กำลังใกล้เข้ามาทุกที

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์